ทำไมคนญี่ปุ่นถึงไม่ค่อยอ้วน?
เวลาท่องเที่ยวในญี่ปุ่นสิ่งหนึ่งที่เรามักสังเกตได้คือแทบไม่มีใครเข้าข่ายคำว่า “อ้วน” เลย (แบบลงพุงท้อง 8 เดือน) นี่ไม่ใช่การเหมารวมแบบคิดไปเอง ในปี 2017 อัตราโรคอ้วนและน้ำหนักเกินตัวในญี่ปุ่นถือว่าต่ำที่สุดในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพียงแค่ 3.7% (จากประชากรที่อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) เมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ 38.20% อังกฤษที่ 26.90% เยอรมันที่ 23.60% เราลองมาสำรวจสาเหตุบางอย่างกัน
01 เดินเยอะ
ปี 2017 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดทำการสำรวจการเดินของผู้คนแต่ละประเทศทั่วโลก พบว่าเฉลี่ยชาวญี่ปุ่นเดินเยอะมาก ถือเป็นอันดับที่ 4 ของโลก (อันดับ 1 คือฮ่องกง) นี่ถือเป็นลำดับที่ไม่น้อยเลย
ผู้คนเดินไปขึ้นระบบขนส่งมวลชนในชีวิตประจำวัน
จริงครับ แม้ความเจริญในเมืองจะกระจุกอยู่รวมกัน แต่คนญี่ปุ่นในหนึ่งวันเดินกันเยอะมาก คงต้องขอบคุณอานิสงค์จากหลายปัจจัยทั้งอากาศ สภาพการออกแบบบ้านเมือง ความปลอดภัย สำคัญสุดคงเป็นเรื่องระบบขนส่งมวลชนที่มีครอบคลุมเชื่อมถึงกันหมด จึงไม่ต้องเอาแต่นั่งขับรถอย่างเดียว รวมถึงกลไกราคาต่างๆ ที่เสริมการใช้ขนส่งมวลทั้งทางตรงทางอ้อม: ที่จอดรถหายากและแพง, แท็กซี่นั่งคนเดียวก็แพงมาก, ไม่มีวินมอเตอร์ไซค์ (เลยต้องปั่นจักรยานหรือเดินแทน ช่วยเบิร์นได้เยอะ)
สร้างเมืองมาให้เดินได้สบาย
คำกล่าวที่ว่า “เดินวันละหมื่นก้าว” ก็มาจากญี่ปุ่นนี่แหละ การเดินไปไหนมาไหนในรัศมี 1 กิโลเมตรสำหรับคนญี่ปุ่นถือว่าเป็นระยะทางที่คนญี่ปุ่นเดินกันได้สบายมาก แน่นอนว่าเพียงแค่การเดินเยอะคงไม่ได้ทำให้เรามีรูปร่างดีเป็นที่ปรารถนาขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้เราอ้วน ถือเป็นการออกกำลังกายได้เคลื่อนไหวก็ช่วยให้ร่างกายเผาผลาญไปในตัว
เดินๆๆๆๆ มันเข้าไป !!
02 อาหาร
อาหารญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารสุขภาพที่มีโภชนาการ ไขมันแคลอรีไม่สูงจนเกินไป คนญี่ปุ่นก็บริโภคปลากันแทบจะเป็นอาหารหลัก อีกทั้ง “ปริมาณ” อาหารที่ได้มักอยู่ในระดับพอดี ไม่เยอะจนเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่จัดมาเป็นเซ็ต ภายในชุดนั้นชุดนั้นมักได้รับการออกแบบให้มีครบตามหลักโภชนาการ (นึกถึงเซ็ทที่ร้านฟูจิก็ได้: ข้าว ซุป ผักสลัด เนื้อโปรตีน และปิดท้ายด้วยผลไม้)
กินปลาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ปริมาณอิ่มกำลังดี แถมได้สารอาหารครบ
รสนิยมก็เป็นสิ่งสำคัญ คนญี่ปุ่นไม่นิยมกินหวาน ซึ่งการไม่กินหวานมากนี้ครอบคลุมถึงอาหารอีกนานาประเภท: ชากาแฟ เค้ก ขนม ช็อกโกแลต ฯลฯ หวานน้อยน้ำตาลก็มักน้อยลง
แม้แต่ขนมของหวานก็ไม่ได้หวานเจี๊ยบ
อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเลือกกินบ้าง อาหารบางอย่าง ‘ดูเหมือน’ จะคลีน แต่อาจไม่ได้คลีนขนาดนั้น อย่างเช่น อย่างข้าวแกงกะหรี่หรือเทมปุระ รวมถึงวัฒนธรรมการกินดื่มหลังเลิกงานเป็นตัวการทำลายสุขภาพชั้นดีเลย
จริงๆ เทมปุระไม่ค่อยคลีนนะ
ทั้งนี้ หากเทียบกับอาหารและวัฒนธรรมการกินกับที่ เช่น อเมริกา เราจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเลย อาหารที่ขายทั่วไปที่นั่นมักมีไขมันสูงกว่ามาก บรรดาแฮมเบอร์เกอร์ โดนัท เบเกิล ฮอทด็อก พิซซ่า เนยชีส เฟรนช์ฟรายส์ ฯลฯ บริโภคกันเยอะมากๆ ต่อปี (ค่าเฉลี่ยคนอ้วนที่อเมริกาถึงได้สูง)
บ้างก็กินแบบนี้…คนเดียว
03 อากาศ
ดังคำที่ว่า มลภาวะอากาศทำให้ร่างกายคนเราอ่อนแอป่วยง่าย ในทางตรงกันข้าม อากาศที่ดีสะอาดบริสุทธิ์ก็ช่วยทำให้ร่างกายเราแข็งแรงได้เช่นกัน แน่นอนว่ามันไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่อากาศดีก็เป็นตัวแปรที่ไปเสริมกลไกการทำงานต่างๆ ของร่างกาย
อากาศดีช่วยได้จริงนะ
อีกอย่าง อากาศที่ดีบริสุทธิ์ (และหากสูดอย่างถูกวิธี) สามารถช่วยในการย่อยกระเพาะอาหารได้เลยนะครับ เริ่มง่ายๆ จากสูดหายใจเข้าลึกๆ และสูดออกช้าๆ ให้ได้อย่างต่ำ 7 วินาที ไปทดลองทำดูได้นะครับ
04 ค่านิยม
นี่เป็นจิตวิทยาส่วนหนึ่งของพฤติกรรมการเลียนแบบจากคนหมู่มาก จากที่กล่าวมา เมื่อเราเห็นคนในสังคมส่วนใหญ่ไม่อ้วน มีรูปร่างดีโอเค ใส่เสื้อผ้าแล้วดูดีดูขึ้น เราก็มีแนวโน้มทำตาม ยิ่งญี่ปุ่นเป็นสังคมแบบกลุ่มแล้ว หากอ้วนโดดเด่นออกมาเป็นอะไรที่คนกลัวจนต้องหลีกเลี่ยงเลย
เจอคนรูปร่างดีได้ทั่วไป
พูดง่ายๆ คือ การเป็นคนอ้วนลงพุงในสังคมหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องซีเรียสอะไร (แถมดูน่ารักเข้าถึงได้ด้วย) แต่กับสังคมญี่ปุ่นเป็นเรื่องซีเรียส อาจถูกดันต้องพยายามหาทางเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดูดีขึ้นนั่นเอง