
ความงามใหม่ๆ ของงานออกแบบมาจากไหน

Where the new design from?
ในความเป็นจริงแล้วทุกๆ อาชีพล้วนต้องการอะไรใหม่ๆ ที่เหมือนการค้นพบแนวทางใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเดิมๆ เสมอ ไม่ว่าคุณหมอที่ต้องการแนวทางในการรักษาใหม่ๆ ที่ได้ผลที่ดีกว่าเดิม คนกวาดขยะต้องการวิธีใหม่ๆ ในการเก็บกวาดขยะให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพกว่าเดิม คนขับรถเมล์ต้องการวิธีการใหม่ๆ ในการฆ่าเวลาขณะรถติดให้เกิดประโยชน์ ทุกคนล้วนต้องการ “สิ่งใหม่” ให้อาชีพตนเอง และในโลกแห่งความงามของการออกแบบก็เช่นกัน
แต่อะไรล่ะที่จะทำให้นักออกแบบออกไปหาอะไรใหม่ๆ มาป้อนให้อาชีพเกิดความน่าตื่นเต้นและเกิดภาพใหม่ๆ เกิดไอเดียใหม่ๆ ในภาษาออกแบบเพื่อลูกค้า คำตอบง่ายๆ และสั้นๆ สำหรับอาชีพนักออกแบบคำตอบหนึ่งก็คือ “การทดลอง”
การทดลองที่ว่าในเชิงรูปธรรมนั้น ไม่ได้แตกต่างจากการที่นักวิทยาศาสตร์เดินเข้าห้องทดลองด้วยความสงสัยและอยากได้คำตอบในเชิงวิทยาศาสตร์เท่าใดนัก เพียงแต่นักออกแบบเข้าห้องทดลองด้วยสมมุติฐานบางอย่างที่อาจเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าเรื่องของเหตุและผล ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าเราพูดถึงความฉลาด อะไรคือสัญลักษณ์ของความฉลาดในเชิงการคิดแบบนักออกแบบ แน่นอนที่สุด ภาพไอน์สไตน์แลบลิ้นคงลอยมาเป็นภาพแรก แต่ด้วยอาชีพที่ต้องมีการพัฒนา เราต้องหาคำตอบใหม่จากคำถามเดิมนี้ให้ได้ นักออกแบบจึงต้องขอเวลาเพื่อเข้าห้องทดลองที่ไม่ต่างจากนักวิทยาศาสตร์นัก และเช่นเดียวกัน ในแง่ของภาษาในการ “จัดวาง” ของการออกแบบก็ต้องการภาษาใหม่ๆ เช่นกัน
ยกตัวอย่างเช่น นักออกแบบหลายคนคงไม่พอใจในการจัดวางตัวหนังสือแบบซ้ายมาขวา ตลอดอาชีพการทำงานจึงลองจัดวางแบบบนลงล่าง โค้งบ้าง ซิกแซกบ้าง ล่างขึ้นบนบ้าง หรือกลับซ้ายขวาบ้าง แล้วแต่บริบทที่เหมาะสมของงานที่ทำ ที่กล่าวมาทั้งหมดส่วนมากเป็นการพยายามพาสายตาคนดูออกไปเห็นอะไรใหม่ๆ ในแง่การออกแบบ เพราะภาษาทุกภาษาต้องมีพัฒนาการของมัน และภาษาในการออกแบบก็เช่นกัน
และการทดลองที่ว่านั้นต้องไม่สนใจว่าจะล้มเหลวหรือไม่ว่ากันง่ายๆ ก็คือ “ความล้มเหลวเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของการทดลองเสมอ” เพราะฉะนั้น “ความล้มเหลว” จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เราไม่ใส่ใจนัก หากแต่ใจเรามุ่งมั่นไปที่การออกเดินทางจากดินแดนแห่งความปลอดภัยสู่ดินแดนใหม่ สู่การจัดวางใหม่ๆ สู่การใช้ภาษาภาพใหม่ๆ สู่การใช้สี การใช้ตัวอักษรใหม่ๆ ด้วยการทดลองที่ว่านี้ เราจึงเห็นงานที่มีความกล้า มีความงามใหม่ๆ ออกมาให้เราเห็นอยู่มากมาย
มากที่สุดคงใน Pinterest ที่เป็นสนามของการประลองความใหม่ และสนามที่ดีที่สุดในการลงงานทดลอง และเท่าที่สังเกตก็คืองานที่มีภาษาที่ใหม่อย่างลงตัวนั้น มักเป็นงานที่ได้รับรางวัลตามสถาบันต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ และเมื่องานที่ได้รับรางวัลได้รับการเผยแพร่อย่าแพร่หลาย จึงเสมือนการประกาศภาษาใหม่ที่ว่านั้นสู่การรับรู้ของนักออกแบบและลูกค้าในเวลาเดียวกัน ถึงเวลาดังกล่าวนี้ก็เปรียบเสมือนเป็นการรับรองการทดลองนั้นๆ ว่าประสบผลสำเร็จในแง่การสื่อสาร
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นการบอกว่างานออกแบบ เป็นงานที่มีชีวิต จะนิ่งเฉยไม่ได้ ไม่ได้หมายความในทางกว้างที่หมายถึงการติดตามผลงานใหม่ๆ ว่ามีใครทำอะไรบนโลกใบนี้บ้างเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญกว่าที่ว่านี้คือความหมายในทางลึกในการขุดเข้าไปในความสนใจของตนเอง ทดลองขุดด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยความสงสัยอะไรบางอย่างและลงมือที่จะทดลองโดยไม่สนใจว่าจะเสียเวลาในการทำงานหรือไม่ ไม่สนใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยสิ่งที่ได้คือการเดินออกมาจากที่ที่เคยเดินเสียบ้าง เดินออกมาสูดอากาศใหม่ๆ เพื่อค้นหาความงามของภาษาใหม่ๆ ให้ชีวิตการออกแบบไม่น่าเบื่อ และที่สำคัญเพื่อหาอะไรใหม่ๆ ไปให้สายตาคนดู
นี่อาจเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่นักออกแบบทุกคนควรเป็น คือควรเป็นนักผจญภัยที่เก็บอะไรดีๆ งามๆ และมี “ของใหม่” ที่พบระหว่างทางมาฝากคนดูตลอดเวลา :-.)