วัฒนธรรมหยำเปแบบเจแปนสไตล์
น้องที่น่ารักคนหนึ่งใน KIJI ส่งลิงค์ไอจีที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนเมาในย่านชิบุย่ามาให้เราดู เป็นไอจีที่เต็มไปด้วยภาพคนเมาในสภาพที่ต้องบอกว่าหมดสภาพ เมาเละเทะอ้วกแตกอ้วกแตน บ้างนอนหลับเมาพับอยู่บนรถไฟ บ้างสลบไสลแก้ผ้าแก้ผ่อนอยู่ตามฟุตปาธ ไปจนถึงสภาพนอนจมกองอ้วกของตัวเองตามท้องถนน
ซึ่งบอกตามตรงว่าเป็นภาพที่ออกจะฮามากสำหรับคนที่ได้ดู ทว่าขณะเดียวกันมันก็เป็นภาพที่สะท้อนความน่าสะพรึงบางอย่างในสังคมญี่ปุ่นให้คนนอกอย่างเราๆ ได้เห็น โดยเฉพาะภาพคนเมาหยำเปในชุดสูท หรือที่เรียกคนทำงานเหล่านี้ว่า ‘ซาราริมัง’
แม้ทุกวันนี้ แนวคิด ‘Work-Life Balance’ จะถูกพูดถึงกันมากขึ้นในสังคมการทำงานแบบญี่ปุ่น ทว่าวิถีของซาราริมังในแบบฉบับญี่ปุ่นแท้ๆ ก็ยังฝังคงรากลึกอยู่ในวัฒนธรรมมานานนม คือวิถีการใช้ชีวิตที่สุดโต่งไปทุกทางแบบไม่มีคำว่าสายกลาง
คำว่าไม่มี ‘สายกลาง’ ในที่นี้คือ ทำอะไรก็จะสุดๆ ไปทุกทาง เวลาทำงานก็สุดๆ ถึงเวลาพักผ่อนก็สุดๆ
เช่นกัน อย่างที่เรารู้กันว่าคนญี่ปุ่นคร่ำเคร่งในการทำงานขนาดไหน บทจะทำงานก็เอาเป็นเอาตายกันเต็มที่ แข่งขันกันสุดลิ่มทิ่มประตูแบบไม่มีใครยอมใคร ทว่าเมื่อถึงเวลาพักผ่อนสังสรรค์หลังเลิกงาน พวกเขาก็เต็มที่กันสุดๆ เช่นกัน เป็นความสุดแบบที่คนไทยนึกไม่ถึงเลยเชียวละ
นอกจากวิถีชีวิตที่สุดโต่งไปซะทุกทางแล้ว การดื่มสำหรับชาวซาราริมังยังมีมิติในสังคมการทำงานที่น่าสนใจ สำหรับคนไทย เราอาจจะเคยได้ยินประโยคที่ว่า ‘ดื่มเพื่อเข้าสังคม’ กันมาบ้าง ซึ่งถ้าเป็นบ้านเราก็คงแค่ดื่มนิดๆ หน่อยๆ ก็จบเรื่องจบราวไปได้ ทว่าสำหรับวิธีการดื่มเพื่อเข้าสังคมแบบเดียวกันนี้ สำหรับคนญี่ปุ่นแล้ว ดูจะเป็นอะไรที่จริงจังกว่านั้นหลายเท่า โดยเฉพาะในสังคมของคนทำงานซึ่งการดื่มจะไม่ใช่แค่การดื่ม หากแต่มันยังเป็นวิธีสื่อสารที่สำคัญ อย่างที่หลายปีก่อนมีการบัญญัติศัพท์คำว่า Nomunication ขึ้นมาในญี่ปุ่น เป็นคำที่มาจากการรวมกันของคำ 2 คำ คือคำว่า Nomi ที่แปลว่า ดื่ม กับคำว่า Communication ที่แปลว่า การสื่อสาร
ในกรณีที่เป็นการดื่มระหว่างเพื่อนร่วมงานหรือร่วมแผนก เป้าหมายของการดื่มอาจจะไม่ใช่แค่เมาท์มอยปรับทุกข์สนุกสนาน หากแต่มันยังเป็นการสานสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างเพื่อนร่วมทีม เพื่อนร่วมแผนก เพื่อนร่วมบริษัท ฯลฯ ที่เราอาจจะต้องขอความร่วมมือกันในอนาคต อย่างที่เรารู้กัน ทีมเวิร์กนั้นสำคัญขนาดไหนสำหรับคนญี่ปุ่น ซึ่งการทำความสนิทสนมกันเมื่อมีโอกาสน่าจะเป็นสิ่งที่ควรทำ และการสานสัมพันธ์ที่ว่ามันก็จะง่ายขึ้นมาทันที หากมีแอลกอฮอล์มาเป็นตัวช่วยละลายพฤติกรรมให้
แต่ถ้าหากเป็นกรณีที่หัวหน้างานชวนลูกน้องไปดื่มกันตัวต่อตัว จุดประสงค์หลักก็อาจจะมีทั้งการฝากฝังงาน การว่ากล่าวตักเตือนกันนอกรอบ ทว่าขณะเดียวกัน หัวหน้างานก็อาจจะได้รับฟังความคิดและทัศนคติในการทำงานของลูกน้องตัวเองแบบนอกรอบไปด้วย เพราะมีหลายๆ เรื่องที่อาจจะไม่สะดวกพูดคุยในเวลางาน หรือลูกน้องอาจจะไม่กล้าพูดกล้าบอก รวมไปถึงการระบายความอัดอั้นตันใจต่างๆ นานาที่มีต่อกัน ซึ่งกรณีนี้ แอลกอฮอล์ก็สามารถที่จะช่วยละลายพฤติกรรมเหล่านี้ให้ได้เช่นกัน
ทว่ากว่าที่พฤติกรรมจะละลาย แน่นอนว่าย่อมต้องหมดแอลกอฮอล์ไปหลายจนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘วัฒนธรรมหยำเป’ แบบเจแปนโอนลี่ อย่างที่เราเห็นกันนั่นแล
_
ภาพจาก : shibuyameltdown