Wayfinding : ป้ายบอกทางตัวช่วยสำคัญในสถานีรถไฟญี่ปุ่น
เป็นที่รู้กันดีว่าสถานีรถไฟขนาดใหญ่ที่มีอยู่นับไม่ถ้วนในญี่ปุ่น มีความซับซ้อน ผู้คนพลุกพล่าน และทางเชื่อมทางออกเยอะแยะมากมาย (สถานีชินจูกุมีทางออกยิบย่อยมากกว่า 20 ทางออก) ชวนให้ผู้โดยสารและนักเดินทางนักท่องเที่ยวหลงทางได้ (ไม่ได้เข้าใจง่ายแบบ BTS ที่ทางเข้าออกมักอยู่ฝั่งถนนละ 2 จุด รวมเป็น 4 จุด)
ด้วยสเกลสถานีที่ใหญ่มโหฬารขนาดนี้ ก็ยังสามารถนำทางผู้โดยสารให้ขึ้นขบวนรถไฟหรือนำทางเข้าและออกไปยังจุดหมายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพในระดับที่พึงพอใจ ผู้อยู่เบื้องหลังนี้คือระบบ Wayfinding หรือเข้าใจง่ายๆ คือ “ระบบป้ายบอกทาง” ที่ตั้งประจำอยู่ทั่วบริเวณสถานี
เริ่มแรกเลยป้ายบอกทางในสถานีรถไฟญี่ปุ่น โดยเฉพาะสถานีใหม่ๆ และสถานีที่ได้รับการรีโนเวต มักมี “ไฟ” ภายในตัวป้ายและตัวอักษรเองเป็นมาตรฐานไปแล้ว นอกจากนี้ยังแบ่งสีสัน ไปตามจุดหมายมองง่าย ผู้โดยสารไม่ต้องเพ่งตามอง หรือจุดไหนอับแสงก็หมดปัญหา อีกทั้งตัวไฟยังดูสะอาดตาด้วยนะ
เข้าใจภายในเสี้ยววินาที International-ซ้าย / Domestic-ขวา
Exit ทางออกใหญ่ มักทำเป็นไฟสีเดียวทั้งแถบ
“ความถี่” ของป้าย ตั้งอยู่ทุกระยะทางเดิน ไม่ปล่อยให้ผู้โดยสารเดินอย่างล่องลอยหรือเดินอย่างไม่มีความมั่นใจ (กลัวว่า เอ ทางนี้จะใช่มั้ยน้า…) ซึ่งนั่นส่งผลต่ออารมณ์ในทริปการเดินทางได้ การทำให้ทุกอย่างราบรื่นไม่ติดขัดเป็นสิ่งสำคัญไม่น้อยเลยทีเดียว
ทางเดินตรงยาวนี้มีป้ายบอกทางมากกว่า 10 ป้าย
ตั้งติดกันรัวๆๆ
จุดเด่นอีกอย่างคือ มีการนำ “รูปภาพ” ที่เป็นสัญลักษณ์มาช่วยเสริมให้เด่นสะดุดตาและเข้าใจได้ง่ายขึ้นเพราะเวลาผู้โดยสารเดินกวาดตามอง สิ่งแรกที่สะดุดตาก็คือรูปภาพเหล่านี้ และเสี้ยววินาทีหลังจากเห็นรูปภาพ ก็จะพบกับตัวอักษรชื่อสถานที่ซึ่งทำหน้าที่ยืนยันว่าใช่ทางที่จะไปยังจุดหมายของเรา
ปราสาทฮิเมจิไปทางซ้าย
ใครกำลังหา Hello Kitty หรือเจ้าม่อนอยู่ เห็นปุ๊ปรู้เลย…ตรงไป!!
ซ้ายมือคือตู้ซื้อตั๋ว ที่เหลือตรงยาวโลด
ถ้าไม่มีรูปหรือรูปภาพไม่เคลียร์ คงได้ตาลายกันแหงๆ
ที่ใส่ใจรายละเอียดอีกอย่างคือ ระบบ Wayfinding ไม่ได้มาในรูปแบบป้ายแขวนเพดานเสมอไป แต่หลายแห่งมีการติดสติ๊กเกอร์ที่พื้นด้วย เป็นการเสริมอีกมุมมองหนึ่งและยิ่งยุคนี้พฤติกรรมคน เดินก้มหน้าเล่นมือถือกันมากขึ้นจึงช่วยได้มาก
Sticker ใหญ่ชัดเจน มีสีสันบอก
บอกว่าทางออกมี 4 ช่องตามลูกศร
แต่ทั้งนี้ ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ ยังมีรายละเอียดข้อบกพร่องบางจุดที่อาจนำทางผู้โดยสารไปผิดทางได้ดังรูปข้างล่างนี้ เส้นขีดแบ่งไม่ชัดเจนเท่าที่ควร บางคนถ้าเดินเร็วๆ มองผ่านๆ อาจนึกว่าเบอร์ 5-6 ไปทางซ้าย แต่ถ้าดูให้ดีๆ เฉพาะเบอร์ 7-8 ต้องไปทางซ้ายต่างหาก ส่วน 5-6 และ 1-2-3-4 ไปทางขวา จุดเล็กจุดน้อยเหล่านี้ผู้โดยสารยังคงต้องมีสติและอาศัยการสังเกตที่ดีอยู่พอควร
โดยรวมโอเคมาก แต่รายละเอียดบางจุดอาจต้องปรับแก้อีกหน่อย
สถานีรถไฟเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเดินทาง และระบบป้ายบอกทางก็เป็นตัวแปรที่สำคัญมาก ในการทำให้ทริปของผู้โดยสารเป็นไปอย่างปลอดภัย ราบรื่น และรวดเร็วที่สุด