มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ หรือ Konbini Ningen (コンビニ人間) นวนิยายขนาดสั้นเจ้าของรางวัลอาคุตากาวะ (Akutagawa Prize)* ประจำปี 2016 เขียนโดยมุราตะ ซายากะ (แปลโดย พรรณวิมล จิตราวิริยะกุล) ตั้งคำถามกับสังคมและโลกถึงการเป็น “มนุษย์” และยังเฉพาะเจาะจงลงไปว่า มนุษย์แบบไหนที่เรียกว่า “ปกติ” แบบไหน “ไม่ปกติ”

คนทั่วไปก็คงคิดเหมือนๆ กันว่ามนุษย์ปกติคือคนที่มีรูปแบบชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ในสังคม เข้าโรงเรียน หางานประจำทำ แต่งงาน มีลูกมีหลาน ส่วนคนที่ไม่ได้มีแบบแผนชีวิตเช่นนี้ก็อาจจะถูกมองหรือถูกจัดประเภทว่าเป็นคนไม่ปกติ

ฟุรุคุระ เคโกะ สาววัยสามสิบหกคือตัวแทนของความไม่ปกติแบบที่คนในสังคมทั่วไปมองกัน อายุปูนนี้แล้วแต่ยังไม่แต่งงาน ไม่สนใจเรื่องความรักหรือการมีความสัมพันธ์ใดๆ แถมยังไม่เคยทำงานประจำด้วย เธอทำงานพาร์ทไทม์ในคอนบินิ (ร้านสะดวกซื้อ) แห่งเดียวแห่งเดิมมาตลอดเวลา 18 ปีตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย

มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ

ตอนเด็กๆ ฟุรุคุระเป็นเด็กมีปัญหาทางกระบวนการความคิด เช่น แทนที่จะเอานกที่ตายแล้วไปฝัง ฟุรุคุระกลับคิดว่าน่าจะเอามาย่างกิน หรือตอนที่คุณครูหญิงแผดเสียงลั่นห้องเรียนจนทำให้เพื่อนๆ ในห้องร้องไห้ ฟุรุคุระก็เข้าไปดึงกระโปรงกับกางเกงในของคุณครู เพราะเคยเห็นในทีวีว่าเวลาผู้หญิงที่โตแล้วถูกเปลื้องผ้าจะเงียบเสียงลงถ้าทำเช่นนี้ เหตุการณ์ต่างๆ ทำให้ฟุรุคุระถูกมองว่าเป็นเด็กไม่ปกติและสร้างปัญหาให้กับคนในครอบครัว พ่อแม่ต้องมาพบคุณครูที่โรงเรียนอยู่เสมอ ดังนั้นวันหนึ่งเธอจึงตัดสินใจว่าจะเลิกทำตามความคิดของตัวเอง แล้วสร้างตัวตนขึ้นใหม่ด้วยการเลียนแบบหรือทำตามผู้คนรอบข้าง รวมทั้งเธอยังคิดด้วยว่า การนิ่งเงียบคือหนทางหนึ่งในการแก้ปัญหา (แต่การเงียบมากเกินไปก็เป็นปัญหาในตัวมันเองอีกเหมือนกัน-เธอว่า)

เพราะฟุรุคุระเติบโตมาด้วยความคิดเช่นนี้ พอเข้าไปทำงานพิเศษที่ร้านสะดวกซื้อ เธอก็พยายามปฏิบัติตามคู่มือของการเป็น “พนักงานร้าน” ด้วยเหตุผลที่ว่ามันจะเป็นหนทางที่ทำให้เป็นเธอกลายเป็นคนธรรมดาสามัญทั่วไป นอกเหนือจากการทำงานตามระบบที่ถูกออกแบบมาให้แล้ว เธอยังแอบเก็บข้อมูลจากเพื่อนร่วมงาน เช่น วิธีการพูด การแต่งตัว กระทั่งความคิดเห็น เพราะอยากให้คนอื่นยอมรับในสถานะคนปกติ บางครั้งเธอจึงต้องเออออห่อหมกไปกับเพื่อนร่วมงานทั้งที่จริงๆ แล้วตัวเองไม่ได้คิดแบบนั้น

Konbini Ningenภาพ: e-aidem.com

แต่ดูเหมือนว่านั่นจะไม่ใช่สิ่งที่ทำให้คนรอบข้างยอมรับว่าฟุรุคุระเป็นคน “ปกติ” ความคิดของบรรดามนุษย์ที่ชอบตัดสินคนอื่นหรืออยากให้คนอื่นเป็นพวกพ้องเดียวกันกับตนเองกลับรุนแรงและถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อ “ชิราฮะ” ชายหนุ่มรุ่นน้องเข้ามาทำงานที่คอนบินิเดียวกับฟุรุคุระ ซึ่งชิราฮะเองก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกตัดสินจากคนรอบข้างว่าเป็นคน “ไม่ปกติ” เหมือนๆ กับฟุรุคุระ ด้วยเหตุผลที่ว่าไม่มีคนรัก ไม่แต่งงาน ไม่มีงานทำ

เมื่อคนที่ถูกมองว่า “ไม่ปกติ” มาอยู่ใกล้กัน มันยิ่งตอกย้ำให้พวกเขาทั้งสองได้มองเห็นอีกโลกที่แตกต่าง แล้ว…พวกเขาจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้เข้ากับผู้คนในสังคมหรือไม่

มนุษย์ร้านสะดวกซื้อ เป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่ฉันอ่านแล้วรู้สึกสะเทือนใจเบาๆ ทั้งยังทำให้ต้องครุ่นคิดอีกครั้งว่า สิ่งที่เรียกกันว่ามนุษย์ปกตินั้นแท้จริงแล้วคือ “ความปกติ” จริงๆ หรือเปล่า

*รางวัลทางวรรณกรรมมอบให้กับนักเขียนที่น่าจับตามอง จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกแก่ “อาคุตากาวะ ริวโนะสุเกะ” นักเขียนผู้ได้ชื่อว่าเป็นราชาเรื่องสั้นญี่ปุ่น

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ