สารบัญ

tupera tupera
สองศิลปินผู้สร้างงานศิลปะที่มากกว่าบนผืนผ้าใบ

ในวงการศิลปะ ญี่ปุ่นนับว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานออกสู่สายตาผู้คนได้อย่างโดดเด่นและมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร ซึ่งศิลปินคุณภาพที่เราอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้รู้จักใน KIJI ฉบับนี้ อาจจะผ่านตาใครหลายคนมาบ้าง หากยังพอจำได้ พวกเขาเคยมาเปิดเวิร์กช็อปที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2012 ทะสึยะ คะเมะยะมะ (Tatsuta Kameyama) และอะสึโกะ นะกะงะวะ (Atsuko Nakagawa) ศิลปินคู่รัก ที่ใช้นามปากการ่วมกันว่า “tupera tupera”

 

ทะสึยะ คะเมะยะมะ (Tatsuta Kameyama) และอะสึโกะ นะกะงะวะ (Atsuko Nakagawa) ศิลปินคู่รัก ที่ใช้นามปากการ่วมกันว่า “tupera tupera”

 

กว่า 15 ปีในวงการหนังสือภาพศิลปะการตัดแปะสำหรับเด็ก รวมถึงฝีมือการวาดภาพประกอบที่เต็มไปด้วยลูกเล่นชวนอมยิ้ม ทำให้ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในหมู่คนญี่ปุ่น โดยเฉพาะเหล่าผู้ปกครอง หนังสือยังถูกแปลเป็นหลายภาษาทั่วโลก นั่นเป็นเพราะไอเดียความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขาไม่ได้หยุดอยู่แค่กระดาษ ถาดสี กรรไกร หรืออุปกรณ์ต่างๆ เพียงอย่างเดียวแล้วจบงานเท่านั้น แต่กลับถูกนำมาเป็นผู้ช่วยสร้างสรรค์งานชิ้นใหม่จนกลายเป็นผลงานที่น่าอัศจรรย์ แปลกตา ดูน่าสนใจ  ซึ่งผลงานของพวกเขานั้นยังนำมาจัดทำเป็นเวิร์กช็อปศิลปะที่เด็กเล่นได้ แถมผู้ใหญ่ก็สนุกไปด้วยกัน

 

หนังสือภาพ tupera tupera

 

เราได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมสตูดิโอแสนอบอุ่นในเกียวโต ที่พวกเขาตั้งใจใช้เป็นที่สรรค์สร้างงานศิลปะ ซึ่งในปีนี้พวกเขาก็จะมีนิทรรศการครั้งใหญ่ที่ Yokosuka Museum of Art โดยจะหมุนเวียนจัดแสดงไปอีกหลายแห่งทั่วญี่ปุ่น พูดมาถึงตรงนี้แล้ว เราเองก็อยากให้ผู้อ่านได้รู้จักกับพวกเขามากขึ้นจากบทสนทนานี้ รับรองว่าคุณจะรักพวกเขาขึ้นเป็นกอง เหมือนกับงานศิลปะที่ tupera tupera สร้างสรรค์ออกมาเป็นกองโตเช่นกัน

 

ผลงานภาพวาดจาก ศิลปิน tupera tupera

 

Q. หนังสือภาพ tupera tupera มีไอเดียต่างๆ เยอะมาก ไอเดียใหม่เหล่านั้นมาจากไหน

N: การสร้างผลงานของพวกเรามักมีจุดเริ่มต้นมาจากสิ่งต่างๆ รอบตัวมากกว่าผุดขึ้นมาจากภายใน แต่สุดท้ายคนที่คิดไอเดียก็คือพวกเราเอง

K: หนังสือภาพ Kao note ก็เกิดมาจากขั้นตอนการพูดคุยกับผู้ผลิตเครื่องเขียนว่า เครื่องเขียนกับหนังสือจะมารวมกันได้ยังไงบ้าง

N: หลายคนพูดว่าเราทำทั้งหนังสือภาพแล้วก็อย่างอื่นอีกเยอะแยะจัง จริงๆ ไม่ใช่ว่าเราพยายามทำงานประเภทอื่น แต่ส่วนใหญ่คนจากสายงานอื่นที่ได้เห็นผลงานมักจะเข้ามาชักชวนไปทำ  

K: พวกเราไม่ใช่ประเภทที่ชอบทำอยู่แค่อย่างเดียวกันทั้งคู่         

N: แบบว่าไม่ใช่พวกที่ชอบนักร้องแล้วสะสมครบทุกอัลบัม

K: อย่างเล่ม Panda Sento  ก็ไม่ใช่ว่าชอบแพนด้าหรือชอบเซ็นโต (โรงอาบน้ำสาธารณะ) นะ

N: หลังออกหนังสือ Panda Sento มีหลายคนมาสัมภาษณ์ เขาชอบคิดว่าเราเชี่ยวชาญเรื่องเซ็นโต ก็เลยรู้สึกผิด (หัวเราะ)

 

หนังสือภาพศิลปะการตัดแปะสำหรับเด็กโดย tupera tupera

 

Q. หนังสือภาพ Unko Shiritori มีความเป็นมายังไง

K: มาจากการเล่นคนเดียวในชั่วโมงเรียนสมัยมัธยมต้น คือเล่นต่อคำให้ลงท้ายด้วยคำว่า “ko” ไปเรื่อยๆ แล้วมีครั้งหนึ่งสำนักพิมพ์ติดต่อมาว่าให้ช่วยวาดหนังสืออะไรก็ได้ให้หน่อย เลยเสนอไอเดียนี้ไปเพราะคิดว่าสักวันอยากทำหนังสือเกี่ยวกับอึอยู่แล้ว

N: ในญี่ปุ่นมีหนังสือภาพที่เกี่ยวกับอึ ซึ่งจัดเป็นงานประเภทหนึ่งอยู่แล้ว ถ้าเราวาดให้ดูธรรมดาไปก็จะไม่มีอะไรน่าสนใจ เลยคิดว่าจะวาดอึให้ออกมาดูมีสไตล์ ลงสีเฉพาะอึแล้วให้สีอย่างอื่นเป็นโมโนโทนไป ให้อึมันออกมาดูคมชัด

 

หนังสือภาพศิลปะการตัดแปะเกี่ยวกับพืชผักโดย tupera tupera

Wakusei kyabeji doubutsu zukan

 

Q. หนังสือภาพ tupera tupera ส่วนใหญ่ทำจากภาพตัดแปะ ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ใช่ไหม

N: ใช่ค่ะ อย่าง Wakusei kyabeji doubutsu zukan ก็ใช้เทคนิคการภาพถ่ายผสมกับการตัดแปะ ก่อนอื่นเริ่มจากไปซูเปอร์มาร์เก็ตประมาณ 20 แห่งเพื่อรวมรวมบรรดาผัก ซื้อผักกองโตมาถ่ายรูปในสตูดิโอแล้วเลือกรูป ซึ่งใช้เวลาหนึ่งวัน งานหนักเลย จากนั้นก็วาดฉากหลังแล้วตัดรูปถ่ายแปะลงไป จากนั้นแปะหู ตา จมูก ปาก เป็นสัตว์ต่างๆ      

K: เล่มนี้มีแบบสอบถามให้ผู้อ่านแสดงความคิดเห็นด้วยว่าน่าจะมีสัตว์อะไรอยู่อีกบ้าง ซึ่งมีคนวาดรูปสัตว์ชนิดนั้นๆ แล้วเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับมันตอบกลับมาประมาณ 1,400 คนในเวลา 1 ปี

 

Akachan, tupera tupera

 

Q. แล้วมีเล่มอื่นอีกรึเปล่าที่ใช้เทคนิคแปลกใหม่       

K: เล่ม Akachan ก็เป็นหนังสือภาพที่เราอยากให้คนที่ไม่เคยเป็นแม่ได้ลองสัมผัสประสบการณ์ให้นม ก็ต้องคิดว่าจะสื่อให้เห็นสีหน้าอันอ่อนโยนและสีแดงระเรื่อของเด็กทารกหรือความนุ่มของเต้านมออกมายังไงดี เลยไปที่ร้านขายอุปกรณ์และได้สีฝุ่น Pan Pastel ที่มีลักษณะเหมือนรองพื้นมา ส่วนเล่ม Obakedajo ก็ใช้เทคนิคภาพเงา คือฉายแสงสีต่าง ๆ เช่น สีฟ้าหรือสีเหลืองมาจากข้างหลังแล้วถ่ายรูปด้านหน้า เพื่อแสดงความเคลื่อนไหวของวัตถุสีดำในน้ำที่ส่องประกาย จริงๆ แล้วหนังสือภาพนี้มีจุดเด่นอยู่ที่การใช้เทคนิคซึ่งแตกต่างกันออกไปในแต่ละเล่ม คิดว่าการให้ความสำคัญกับไอเดียและการเล่นกับวิธีสร้างงานเป็นสไตล์การทำงานที่ไม่ค่อยพบในที่อื่นๆ

 

 

Q. tupera tupera ยังมีชื่อเสียงเรื่องการเป็นศิลปินที่จัดเวิร์กช็อปอีกด้วย

K: เวิร์กช็อปของพวกเรามีจุดเด่นในการดึงเอาตัวตนของคนออกมา จะไม่ใช่เวิร์กช็อปที่สร้างงานเพราะมีสิ่งที่อยากจะสื่อสาร เราจะเตรียมงานร่วมกับผู้จัดประมาณครึ่งปีถึง 1 ปี และจัดงานที่สนุกสนานเหมือนเทศกาล

 

,,

ไม่อยากทำอีเวนต์ที่สนุกได้เฉพาะเด็ก อยากให้มีคนทุกเพศทุกวัยแบ่งปันความสนุกสนานกัน 
อยากให้เด็กๆ เห็นภาพผู้ใหญ่ที่กำลังสนุกอยู่ด้วย

,,

Q. จัดเวิร์กช็อปที่ไหนบ้าง     

K: ถ้าทางหอสมุดหรือองค์การที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NPO: Non Profit Organization) มาขอให้ทำก็มักจะไม่ปฏิเสธ ตอนนี้กำลังคุยอยู่ประมาณ 20 แห่ง แต่พวกเราเตรียมงานเองทั้งหมดไม่ได้จึงต้องปรึกษากับผู้จัด หลักๆ แล้วผู้จัดจะเป็นคนเตรียม ส่วนพวกเราจะสร้างชิ้นงานใหญ่ๆ ไว้ก่อนวันงานเพื่อให้ความสนุกสนานยังคงอยู่แม้เวิร์กช็อปจะจบลงแล้ว ส่วนที่จะปฏิเสธเลยก็คือโรงเรียนอนุบาลกับตามห้างร้าน

 

งานอีเวนต์ของ tupera tupera ที่สามารถร่วมสนุกได้ทุกเพศทุกวัย

 

Q. ทำไมถึงไม่รับจัดที่โรงเรียนอนุบาล

K: เพราะไม่อยากทำอีเวนต์ที่สนุกได้เฉพาะเด็ก อยากให้มีคนทุกเพศทุกวัย ผู้ใหญ่ก็จะกลายเป็นเด็กและร่วมมือกันสร้างผลงานกับลูกๆ แบ่งปันความสนุกสนานกัน อยากให้เด็กๆ เห็นภาพผู้ใหญ่ที่กำลังสนุกสนานด้วย     

N: การจัดงานมักมีข้อจำกัดทั้งจำนวนครั้งและสถานที่ เลยมีความรู้สึกว่าอยากเปิดกว้างให้ทุกคนเข้าร่วมได้ ถ้าจัดในโรงเรียนอนุบาล คนที่เข้าร่วมได้ก็จะมีแต่เด็กๆ ในนั้น แต่เราอยากให้คุณปู่ คุณย่า หรือนักศึกษาหนุ่มสาวที่ไม่ได้สนใจ tupera tupera เข้ามาแจมได้ด้วย     

K: จริงๆ ผู้ใหญ่ก็น่าจะสนุกไปกับหนังสือภาพได้ด้วย แต่คนที่ยังไม่เคยเห็นก็ยังมีอีกเยอะ     

N: ความคิดที่ว่า “หนังสือภาพ = เด็ก” ก็เริ่มจางหายไปมากแล้วในสังคมญี่ปุ่น หนังสือภาพแบบ Art book สำหรับผ่อนคลายจิตใจของผู้ใหญ่ก็มีเยอะขึ้น

 

ทะสึยะ คะเมะยะมะ (Tatsuta Kameyama)

 

Q. ทำหนังสือภาพไปด้วยทำเวิร์กช็อปไปด้วยคงเหนื่อยแย่

N: ก็หนักพอดู แต่การทำเวิร์กช็อปก็มีความสนุก และยังเป็นโอกาสที่จะได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้อ่านด้วย อย่างตอนที่ได้เห็นแววตาเป็นประกายของเด็กผู้หญิงที่บอกว่าโตขึ้นอยากเป็นนักทำหนังสือภาพก็จะรู้สึกดีที่ได้จัดงาน

K: ศิลปินก็มีหลายแบบ แบบที่เก็บตัวไม่พบผู้คน สร้างโลกของตัวเองขึ้นมาก็มี แต่พวกเราชอบสร้างความบันเทิงให้กับผู้คน อย่างเล่ม Kao note หรือไม่ก็สร้างงานที่ใช้เป็นเครื่องมือในการพูดคุยสื่อสาร หรือทำงานคอลลาบอเรชั่น คือเอ็นจอยกับการติดต่อผู้คน จึงมีนิสัยเหมาะกับการจัดเวิร์กช็อป

 

ร้านหนังสือ Seikosha จังหวัดเกียวโต

หนังสือภายในร้าน Seikosha

 

Q. คำถามสุดท้าย ช่วยแนะนำสถานที่สำหรับชาวไทยที่จะไปเที่ยวญี่ปุ่น

K: ในเกียวโตมีร้านหนังสือที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครและน่าสนใจ เช่น ร้าน Keibunsha สาขา Ichijoji ร้าน Seikosha และร้าน Hohohoza

N: พวกเราก็เพิ่งรู้ตอนที่ย้ายมาอยู่ว่าเกียวโตมีร้านอาหารจีนเยอะมาก รสชาติจะไม่ค่อยมันมาก แต่จะมีความเป็นอาหารญี่ปุ่นปนอยู่ด้วย รสชาติไม่จัดจ้าน ร้านก็เงียบสงบ แต่พวกนักท่องเที่ยวจะไม่ค่อยรู้

K: นอกจากนี้ที่เมืองฮะงิ (Hagi) ในจังหวัดยะมะงุจิ (Yamaguchi) ก็สวย เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีกำแพง Namako (กำแพงโบราณสไตล์ญี่ปุ่น) ที่มีต้นส้มขึ้นอยู่ริมกำแพง หากได้ชมในช่วงต้นฤดูร้อนจะสวยมาก อยากให้มาเที่ยวกัน

 

Picture Book World

for You, Me and Everyone

จากผลงานหนังสือภาพศิลปะทั้งหมด 25 เล่มของ tupera tupera

น่ารักจนเราต้องหยิบมาแนะนำคุณผู้อ่านถึง 6 เล่มด้วยกัน  

 

Panda Sento

 

หนังสือ Panda Sento โดยศิลปิน tupera tupera

 

หนังสือภาพ พิมพ์เมื่อปี 2013 แม้แต่ผู้ใหญ่ก็ถูกใจในความแปลกแหวกแนวของแพนด้าที่อาบน้ำในเซ็นโต จนกลายเป็น Best Seller มียอดจำหน่ายมากกว่าสามแสนเล่ม ฮิตไกลไปถึงไต้หวัน

 

Shirokuma no Pantsu

 

หนังสือ Shirokuma no Pantsu โดยศิลปิน tupera tupera

 

หนังสือภาพ พิมพ์เมื่อปี 2012 เมื่อกางเกงในของหมีขาวหายไป ร่วมตามหากางเกงในของเจ้าหมีขาว ผ่านสารพัดสัตว์ที่คอยมาเป็นอุปสรรคขัดขวาง สุดท้ายแล้วจะเจอกางเกงในที่กำลังตามหาหรือไม่นั้น ต้องติดตาม

 

Unko Shiritori

 

หนังสือ Unko Shiritori โดยศิลปิน tupera tupera

 

หนังสือภาพ พิมพ์เมื่อปี 2013 เป็นการเล่นต่อคำที่มีคำว่า อึ (ลงท้ายด้วยคำว่า unko) ต่อกันไปไม่สิ้นสุด เช่น “kodomo no unko” (อึเด็กน้อย) “koinu no unko” (อึลูกหมา) หรือ “kossoriunko” (อึแอบๆ)

 

Akachan

 

หนังสือ Akachan โดยศิลปิน tupera tupera

 

หนังสือภาพพิมพ์เมื่อปี 2016 เพื่อให้ทุกคนได้ลองสัมผัสประสบการณ์การให้นม พิเศษตรงที่เล่มนี้เป็นหนังสือทรงกลม ใช้เทคนิคภาพเงา เพื่อสื่อให้เห็นสีหน้าอันอ่อนโยนของเด็ก และความนุ่มของเต้านมแม่

 

Wakusei Kyabeji Doubutsu Zukan

 

หนังสือ Wakusei Kyabeji Doubutsu Zukan โดยศิลปิน tupera tupera

 

หนังสือภาพ พิมพ์เมื่อปี 2016 สารานุกรมภาพแนะนำสิ่งมีชีวิตอัศจรรย์ที่ผสมผสานกันระหว่างผักและสัตว์ อาศัยอยู่ในดาวเคราะห์กะหล่ำปลีที่อยู่ในมุมหนึ่งของทางช้างเผือก ห่างจากโลก 831 ปีแสง

 

Kao Note

 

หนังสือ Kao Note โดยศิลปิน tupera tupera

 

หนังสือภาพรูปหน้า พิมพ์เมื่อปี 2008 มาพร้อมสติ๊กเกอร์ส่วนต่างๆ เช่น ตา หู จมูก สามารถครีเอตหน้าได้ตามใจชอบ มีวางจำหน่ายใน MUJI เป็นผลงานที่ได้รับความนิยม และขายดีเกิน 1 ล้านเล่ม

Info
tupera tupera
Website : www.tupera-tupera.com

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ