เมื่อกราฟิกดีไซเนอร์ไทยทดลองไปรับบทเป็นศิลปินแสดงผลงานเดี่ยวที่ญี่ปุ่น (ตอนที่ 3)
ในคอลัมน์ บิ เราได้เริ่มเล่าประสบการณ์ในการไปแสดงผลงานที่ญี่ปุ่นครั้งแรกแบบย่อๆ ให้ทุกคนได้อ่านกันเป็นตอนที่ 1 และ 2 ไปแล้ว (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านย้อนกลับไปหาอ่านใน KIJI ฉบับที่ 69, 70 ได้ครับ) และในครั้งนี้จะมาเล่าต่อว่าระหว่างการเตรียมงานและแสดงผลงานมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง มาอ่านกันต่อเลยครับ
15
ปัญหาที่ต้องขบคิดแก้ไขในครั้งที่แล้วคือ ทางหอศิลป์ไม่สามารถให้ศิลปินจำหน่ายงานศิลปะได้ เพราะเป็นหน่วยงานราชการ ก็เลยต้องเอาปัญหานี้ไปปรึกษากับเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าของหอศิลป์คนหนึ่งที่ดูเป็นคนค่อนข้างเคร่งขรึมและเจ้าระเบียบ หรือลุงคนที่ผมมักจะแอบเรียกในใจเสมอว่าลุงเงียบเพราะแกเป็นคนไม่ค่อยพูด ส่วนทางออกที่แอบไปคิดมาก็คือทางเราอาจจะขอติดระเบียบการซื้อเสื้อยืดและมี QR CODE ของ LINE ติดเป็นโปสเตอร์เล็กๆ เอาไว้ตรงมุมที่ผู้ชมจะมาเขียนเพื่อแสดงความคิดเห็นได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีผู้ชมสนใจจะซื้อเสื้อก็ให้สแกน QR CODE นั้นๆ และส่ง LINE มาติดต่อกับเรา
16
ลุงเงียบแกเงียบไปหนึ่งวัน ทำเอาเราตื่นเต้นและลุ้นว่าแกจะตอบมาว่ายังไง ถ้าตอบว่าไม่ได้เราจะดิ้นหรือด้นต่อไปยังไงดี การแสดงงานครั้งแรกช่างมีครบทุกรสชาติจริงๆ และแล้วในที่สุดก็มีอีเมลจากเจ้าหน้าที่ประสานงานของลุงส่งมาแต่เช้าตอบมาว่า “OK” พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษด้วยนะ เรียนตามตรงว่าดีใจ เพราะไม่ต้องเอาเสื้อยืดมาใส่เองแล้ว เรื่องต่อไปก็คือต้องมาลุ้นกันต่อว่าจะขายได้สักตัวไหม?
17
เอาละปัญหาคงหมดแล้ว ถึงเวลาที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาทำงาน ว่าแล้วในฐานะที่เป็นคนเคยผลิตโฆษณามาก่อนก็อดคิดงานแบบโฆษณาไม่ได้ ว่าแต่คิดแบบทำโฆษณาในฐานะศิลปินน่ะเหรอ คิดยังไงล่ะ?
18
ก่อนอื่นเลย เราต้องชัดเจนก่อนว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายหลักในการแสดงงานครั้งนี้ ทุกเพศทุกวัยใช่หรือไม่? แล้วถ้าเหมาไปขนาดนี้มันกว้างไปหรือเปล่า ไม่ได้สิ เราไม่ใช่พี่เบิร์ดเราทำตัวแมสขนาดนี้ไม่ได้หรอก แล้วถ้าไม่แมสแล้วกลุ่มเป้าหมายหลักของเราคือใคร งานในรูปแบบของเราน่าจะพูดกับใครดี?
19
โดยส่วนตัวคิดว่าศิลปินในแนว Pop Art สมัยนี้จะมาติสท์แ_ก แบบ 100% ก็คงจะไม่ดีแน่นอน ตัวตนของเราน่ะต้องมีนี่คือเรื่องสำคัญที่สุด แต่ตัวตนของแกจะไปถูกโฉลกกับคนแบบไหน อันนี้ต้องคิดให้ออก และเมื่อหาเจอแล้วก็ค่อยตะลุยไปทางนั้นอย่างชัดเจน
20
เราทำงานทั้งหมดก็อยากให้คนดูมาดูความเป็นตัวเรา รักในสี ในลายเส้น รักในรสนิยมและความคิดของเรา แต่เราก็ไม่ลืมที่จะมีจุดเชื่อมโยงให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมหรืออินไปกับเราด้วย เพราะเหตุผลทั้งหมดนี้ ก่อนเริ่มลงมือทำงาน เราสรุปกับตัวเองว่ามันคือการทดลองครั้งที่ 1 ของงานแสดง มันคือการทดลองเอางานของเราในแนวทางต่างๆ ไปเผชิญหน้ากับคนดูครั้งแรก และต้องมีการเฝ้าสังเกตผลตอบรับด้วย
21
เมื่อเข้ามาดูในรายละเอียด ผลงานของเรานั้นถึงจะมีคนเคยบอกว่าดูออกง่ายว่าเป็นงานเรา แต่ในมุมของคนทำงานนั้น งานเราแอบมีหลายประเภทในรายละเอียด แบ่งง่ายๆ ก็คือ ประเภทเข้าถึงง่าย ดูปั๊บรู้สึกปุ๊บ กับอีกประเภทคือดูปั๊บ อะไรของมัน?
22
ด้วยเวลาทำงานไม่มากเพราะดันตอบตกลงว่าจะแสดงเป็นคนแรก จึงหมดเวลาที่จะออกแขกรำลิเก ต้องเริ่มทำงานกันแล้ว สรุปว่าเราจะทดลองทั้ง 2 แบบ เหมือนที่ว่ามาในข้อ 21 เป็นการหว่านเมล็ดพืชลงไป 2 แบบเพื่อถามคนดูว่า คนดูจะชอบในแนวทางไหน
23
งานที่ทำไม่ใช่งานใหม่ทั้งหมด แต่เป็นงานที่ทำไว้บ้างแล้วผสมกับงานใหม่ที่เพิ่งทำ และต้องหาประเด็นใหญ่ๆ มาจับให้เป็นธีมของงานให้ได้ เราเลยตั้งชื่องานให้หลวมๆ เพื่อครอบคลุมนิดนึงว่า “Nice T-Shirts”
24
Nice T-Shirt หรือ T-Shirt by try2benice คือชื่องานแสดงในครั้งแรก อีกอย่างที่จำเป็นต้องตั้งชื่อให้ง่ายก็เพื่อให้เหมาะกับการจดจำของชาวญี่ปุ่น ควรเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆ ให้เขาออกเสียงง่ายๆ เป็นคำที่เขียนทับศัพท์จากภาษาญี่ปุ่น (ตัวคาตาคานะ) ซึ่งคนญี่ปุ่นสามารถอ่านได้ง่าย
25
ในกรณีนี้ “Nice” เป็นคำที่คนญี่ปุ่นค่อนข้างคุ้นเคยในการอ่านทับศัพท์ คำว่า T-Shirt ก็เช่นกัน เป็นคำที่เรียกทับศัพท์ในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องคำนึงถึงเรื่องนึงเพราะเรากำลังพูดกับเขา กำลังทำงานให้เขาดู
26
อย่าเพิ่งเบื่อว่าเล่ายาวนะครับ อยากเขียนให้อ่านเหมือนว่ากำลังอ่านไดอารี่ศิลปินมือใหม่ ลำดับเรื่องราวเป็นข้อๆ เพราะไม่เคยมีประสบการณ์แบบนี้มาก่อนเลย ทุกอย่างที่เกิดขึ้นคือประสบการณ์ใหม่หมด และอยากถ่ายทอดให้อ่านกัน แล้วมาอ่านต่อในตอนที่ 4 นะครับ :-.)