Sorry! เบียร์อะไรใส่ปลาแห้ง อุมามิแค่ไหน ถามใจดู
ผลงานของค่ายเบียร์เอาแต่ใจชิ้นล่าสุดจาก YO-HO Brewing หลังจากที่เคยเงียบหายไปพักใหญ่กับซีรีส์เบียร์เก๋ๆ ที่มีชื่อว่า ‘Sorry!-โทษทีที่ไม่ได้ถาม’ (Sorry! Didn’t Ask You What You Like)
สำหรับชื่อซีรีส์ มาจากคอนเซปต์เอาแต่ใจของทางค่ายที่ว่า อยากจะกินเบียร์ตามใจและอยากจะทดลองทำเบียร์ใหม่ๆ ในสไตล์ของตัวเอง โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเดินตามขนบการปรุงเบียร์แบบเดิมๆ อันเป็นที่มาของชื่อ ‘Sorry!’ เพราะไม่อยากให้มีดราม่าเบียร์ ก็เลยต้องกล่าวขออภัยกันล่วงหน้าด้วยเหตุที่ว่าไม่ได้ปรึกษาคนกินก่อน เป็นความเอาแต่ใจของทางค่ายล้วนๆ ที่อยากจะทำเบียร์มันๆ สนองนี้ดตัวเอง กลายเป็นที่มาของชื่อซีรีส์เบียร์แนวทดลองประจำค่ายว่า ‘Sorry!’ นั่นแล
และการกลับมาคราวนี้ก็น่าจะถูกใจคนที่ชอบลองของแปลกเหมือนเดิม กับ ‘SORRY UMAMI IPA’ เบียร์ไอเดียบรรเจิดที่หยิบเอาวัตถุดิบที่ถือเป็นจิตวิญญาณของอาหารญี่ปุ่นอย่างคัตสึโอะบุชิมาทำเบียร์!?
สำหรับคนที่ไม่รู้จัก ‘คัตสึโอะบุชิ’ แปลเป็นไทยก็คือ ‘ปลาโอแห้ง’ อาหารที่กินเนสต์บุ๊กเคยบันทึกไว้ว่าแข็งที่สุดในโลก มันคือเครื่องปรุงที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในครัวญี่ปุ่น ซึ่งหลักๆ เลยก็คือการนำเจ้าสิ่งนี้ไปใช้ทำเป็นน้ำสต๊อกสำหรับต่อยอดไปสู่อาหารญี่ปุ่นเมนูต่างๆ นอกจากนี้ คัตสึโอะบุชิยังถูกนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของอาหารโดยตรงอีกมากมายหลายเมนูสำหรับใครที่นึกหน้าตาของคัตสึโอะบุชิไม่ออก มันคือปลาแห้งขูดฝอยที่โรยหน้าอยู่บนทาโกยากินั่นไง และก็เป็นเจ้าคัตสึโอะบุชินี่แหละ ที่เป็นที่มาของรสอร่อยในแบบญี่ปุ่นที่เรียกกันว่า ‘อุมามิ’
–
–
อืม จะว่าไป การเอารสอุมามิมาใส่ในเบียร์ ฟังดูก็เข้าท่าอยู่นะ
สำหรับใครที่เป็นแฟนเบียร์ค่าย YO-HO Brewing น่าจะคุ้นเคยกับเบียร์ของค่ายนี้ที่เต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆ ที่น่าสนุกอยู่เสมอ อย่างคราวนี้ที่หยิบเอาคัตสึโอะบุชิมาเป็นวัตถุดิบพิเศษ ก็ถือว่าแหวกแนวเหลือหลาย น่าสนใจเหมือนกันว่า เมื่อวัตถุดิบที่เป็นหัวใจของอาหารญี่ปุ่นอย่างคัตสึโอะบุชิมาเป็นส่วนหนึ่งของ White IPA มันจะเป็นยังไง
และเมื่อมีโอกาสก็ไม่ควรรอช้า จัดมาหนึ่งกระป๋องจาก LAWSON ญี่ปุ่น
‘SORRY UMAMI IPA’ เป็น White IPA แนวทดลองที่มาพร้อมกับมอลต์ 2 ชนิด คือ Pilsner Malt กับ Wheat Malt ขณะที่ฮอปส์จะจัดมาให้ถึง 7 ตัว ปริมาณแอลกอฮอล์ 7 เปอร์เซ็นต์ เห็นตัวเลขแล้วเหมือนจะแรงแต่จริงๆ ดื่มง่ายชะมัดสำหรับกลิ่นปลาโอแห้งแม้จะมีแค่เพียงจางๆ แต่ก็ถือว่าสร้างเอกลักษณ์ในเรื่องรสชาติได้ดี บอดี้เบากว่าที่คาด ขณะที่ความ ‘อุมามิ’ ก็ไม่ได้โฉ่งฉ่างอย่างที่คิดเหมือนกัน
โดยรวมก็เป็น White IPA ที่มีดื่มง่าย เบาๆ ลอยๆ หวานนิดๆ ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ของฮอปส์และเปลือกส้มที่เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบที่ใส่เข้ามาก็ทำให้สดชื่นดี เหมาะสำหรับคนที่ชอบ White IPA หวานๆ บาลานซ์กลิ่นรสดีๆ
–
–
หรือต่อให้ไม่ชอบ White IPA ก็ยังถือว่าเหมาะที่จะซื้อหามาลองอยู่ดี เพราะนี่คือเบียร์ไอเดียสนุกที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ อีกทั้งยังเป็นการช่วยเปิดเส้นทางใหม่ๆ ให้กับเหล่าบรูว์มาสเตอร์ทั้งหลาย
แต่ถ้าใครลองแล้วไม่ชอบก็ขออย่าได้ติดใจ
เพราะยังไงเขาก็ขอโทษเราแล้วนี่นะ