Shoji Masui x Takao Tsuchimoto | คุยกับโปรดิวเซอร์อารมณ์ดีเรื่องมิวสิคัลคอมเมดี้ที่จะชวนคุณลุกขึ้นเต้นรำ
สารบัญ
- Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร
- Q: ทำไมถึงเลือกจับคู่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างสาวออฟฟิศที่มีภาพจำว่าต้องสำรวมกับการเต้นรำร้องเพลงแบบเล่นใหญ่
- Q: คุณต้องการสะท้อนหรือพูดถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า
- Q: เพลงที่นำมาใช้ในภาพยนตร์มีจังหวะและทำนองที่สนุกมาก แต่ละเพลงมีที่มาอย่างไรบ้าง
- Q: อยากให้เล่าถึงนักแสดงนำว่าทำไมถึงต้องเป็นคนนี้
- Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่ไหนในญี่ปุ่นบ้าง
- Q: เรื่องนี้ใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำเท่าไร
- Q: ในระยะถ่ายทำ 2 เดือนกว่าๆ มีเรื่องอะไรที่ทำให้ประทับใจบ้าง
- Q: สุดท้ายฝากผลงานเรื่องนี้หน่อยค่ะ
- ตัวอย่างภาพยนตร์
หากวันหนึ่งคุณโดนสะกดจิตให้ลุกขึ้นเต้นทุกครั้งที่ได้ยินเสียงเพลง
ชีวิตจะแปลกและสนุกแค่ไหนกัน…
ชวนทุกคนมายืดเส้นยืดสายวาดลวดลายไปกับภาพยนตร์เรื่อง DANCE WITH ME ผลงานล่าสุดของ 2 โปรดิวเซอร์มากฝีมือ มาซึอิ โชจิ (Shoji Masui) และ สึจิโมโตะ ทาคาโอะ (Takao Tsuchimoto) ของสตูดิโอภาพยนตร์ Altamira Pictures ที่เคยฝากผลงานในภาพยนตร์เรื่อง Shall We Dance? (1996), Water Boys (2001), Swing Girls (2004) และอีกมากมาย ครั้งนี้ KIJI ได้มีโอกาสล้อมวงพูดคุยอย่างเป็นกันเอง ด้วยบทสนทนาที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะอารมณ์ดีไม่แพ้เรื่องราวในภาพยนตร์ของเขาทั้งสองเลยล่ะ
DANCE WITH ME (2019) ภาพยนตร์มิวสิคัลคอมเมดี้กำกับโดย ยากุจิ ชิโนบุ (Shinobu Yaguchi) ภาพยนตร์ 1 ใน 14 เรื่อง ที่ได้นำมาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ญี่ปุ่นประจำปี 2563 ครั้งที่ 43 (Japanese Film Festival 2020) เล่าเรื่องราวของ “ชิซูกะ” สาวออฟฟิศที่บังเอิญถูกสะกดจิตจนทำให้เธอเริ่มร้องเพลงและเต้นรำอย่างควบคุมไม่ได้ ต้องขยับวาดลวดลายทุกที่ทุกเวลาที่ได้ยินเสียงเพลง ไม่ว่าบนท้องถนน ระหว่างการประชุม ในร้านอาหารสุดหรู หรือแม้แต่เสียงเรียกเข้าโทรศัพท์มือถือ! จนเธอต้องออกเดินทางข้ามจังหวัดเพื่อตามหานักสะกดจิตคนนั้น
ความน่าติดตามของภาพยนตร์เรื่องนี้ชวนคนดูอย่างเราเอาใจช่วยและอยากลุกขึ้นเต้นเป็นเพื่อนเธอเสียทุกครั้ง จนอดสงสัยไม่ได้ว่าอะไรคือแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดเรื่องราวสุดน่ารักนี้ขึ้น มาฟังคำตอบจากโปรดิวเซอร์ทั้ง 2 คนนี้ไปพร้อมๆ กัน
Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร
Masui: เรื่องนี้เราได้ร่วมงานกับยากุจิ ชิโนบุ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่ได้ทำงานด้วยกันมาร่วม 11 เรื่องแล้ว ซึ่งเรื่องล่าสุดนี้จริงๆ ไม่ได้กำหนดตั้งแต่แรกว่าจะทำออกมาเป็นมิวสิคัล เราอยากให้ผู้กำกับคนนี้ทำออกมาในแบบของเขาเอง แสดงตัวตนและถ่ายทอดความเป็นตัวเองออกมาให้ได้มากที่สุด ผู้กำกับคนนี้เคยกำกับภาพยนตร์เรื่อง Water Boys ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องแรกที่ทำให้เราทั้ง 3 คน ทำงานด้วยกันครับ
Q: ทำไมถึงเลือกจับคู่สิ่งที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างสาวออฟฟิศที่มีภาพจำว่าต้องสำรวมกับการเต้นรำร้องเพลงแบบเล่นใหญ่
Masui: ที่ผ่านมานอกจากภาพยนตร์เรื่อง Water Boys และ Swing Girls (ภาพยนตร์คอมเมดี้ที่มีพาร์ทมิวสิคัลรวมอยู่ด้วย) ทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่มีอิสระในการร้องเล่นเต้นรำเป็นปกติ ส่วนครั้งนี้เราไม่ได้อยากทำให้ภาพยนตร์ดูมีความเป็นวัยรุ่นขนาดนั้น เราอยากให้แสดงออกมาในรูปแบบของผู้หญิงวัยทำงาน ซึ่งโดยปกติถ้ามีผู้หญิงคนหนึ่งลุกขึ้นมาเต้น คนรอบข้างก็จะมองด้วยสายตาประหลาดๆ เกิดคำถามว่า “ทำไม” “เพราะอะไรกันนะ” เราตั้งใจทำให้คนรู้สึกสนใจและตั้งคำถามว่าทำไมผู้หญิงถึงลุกขึ้นมาเต้นร้องเพลงแบบนี้
Q: คุณต้องการสะท้อนหรือพูดถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า
Masui: โดยปกติแล้ว ยากุจิ ชิโนบุจะไม่ได้สร้างภาพยนตร์ที่ตั้งใจจะบอกอะไรคนดูขนาดนั้น ระหว่างที่เขาสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เขาตั้งคำถามตลอดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่ดีๆ ผู้หญิงก็ลุกขึ้นมาเต้นเลย โดยใช้วิธีการถ่ายออกมาให้ดูสนุกสนาน ให้รู้สึกแปลกประหลาด ส่วนความรู้สึกจากภาพยนตร์ไปสู่ผู้ชม อยากให้ผู้ชมรู้สึกเองมากกว่าครับ
Q: เพลงที่นำมาใช้ในภาพยนตร์มีจังหวะและทำนองที่สนุกมาก แต่ละเพลงมีที่มาอย่างไรบ้าง
Masui: เพลงญี่ปุ่นที่ประกอบในภาพยนตร์ จริงๆ แล้วเป็นเพลงยุค 70-80’s ต้นๆ ทั้งหมดเลยนะ คนส่วนใหญ่ที่ไปดูไม่ค่อยรู้จัก หลายคนก็จะคิดว่าเป็นเพลงที่แต่งใหม่ขึ้นมา แต่รุ่นพ่อแม่ของเราหลายคนเคยฟังมาก่อนแล้วแน่นอน เราคิดว่าอาจทำให้คนที่ได้ฟังเข้าถึงความเป็น J-POP ได้มากขึ้น นอกจากจะมีเพลงเก่าแล้วก็ยังมีบางเพลงที่นำมาคัฟเวอร์ใหม่ด้วย เวลาเลือกเพลงก็จะหารือร่วมกันกับโปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ คนคิดท่าเต้น และทีมที่รับผิดชอบเรื่องเพลง แต่ละช่วงของเพลงก็จะสอดคล้องกับเรื่องราวของภาพยนตร์ในตอนนั้นด้วยครับ
Q: อยากให้เล่าถึงนักแสดงนำว่าทำไมถึงต้องเป็นคนนี้
Tsuchimoto: นักแสดงนำเรื่องนี้คือ มิโยชิ อายากะ (Ayaka Miyoshi) อายุ 24 ปี ตอนแรกเคยเป็นไอดอล ร้องเพลงเต้นมาก่อน
Masui: เคยเป็นไอดอลก็จริง แต่ก็เลยเลิกไป (หัวเราะ) เมื่อก่อนเธอเคยเป็นนางแบบลงนิตยสาร Seventeen (นิตยสารสำหรับผู้อ่านวัยมัธยมปลาย) หลังจากเลิกเป็นไอดอลก็กลับไปเป็นนางแบบอีกรอบหนึ่ง และได้ไปเป็น Top Model ของงาน Tokyo Collection ด้วย
Tsuchimoto: พอได้มาร่วมแสดงภาพยนตร์ในเรื่องนี้ เธอก็เริ่มแสดงละครด้วยนะ เรื่องนี้เป็นครั้งแรกที่เธอรับบทนางเอกในภาพยนตร์ด้วย เก่งมากๆ
Q: ภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทำที่ไหนในญี่ปุ่นบ้าง
Tsuchimoto: ในเรื่องนี้เป็นเรื่องผู้หญิงต้องออกเดินทางตามหานักสะกดจิตตั้งแต่โตเกียวไปถึงซับโปโร ในภาพยนตร์ ผู้ชมจะเห็นภาพถนนหนทางในญี่ปุ่นหลายๆ แห่ง มีจังหวะขึ้น-ลงเรือเพื่อเปลี่ยนไปอีกเกาะหนึ่งด้วยนะ เราอยากให้ผู้ชมเพลิดเพลินไปกับวิวทิวทัศน์ใหม่ๆ ที่ญี่ปุ่น เราไม่ได้ตั้งใจไปถ่ายพื้นที่สวยๆ แต่เราตั้งใจไปถ่ายความธรรมดาของญี่ปุ่นออกมาให้สวยงามที่สุดเท่าที่จะทำได้
Q: เรื่องนี้ใช้ระยะเวลาในการถ่ายทำเท่าไร
Tsuchimoto: ปกติภาพยนตร์ส่วนใหญ่จะใช้เวลา 1 เดือน แต่เรื่องนี้ใช้ 2 เดือนกว่าๆ เลยครับ เพราะว่ามีซ้อมร้องเพลง ซ้อมเต้น เลยใช้ระยะการสร้างมากกว่าเรื่องอี่นๆ เท่าหนึ่งเลย
Masui: ก่อนที่จะเริ่มถ่ายจริงก็จะต้องเตรียมงานทุกอย่างก่อนประมาณ 3-4 เดือนด้วย อย่างเช่นท่าเต้นก็ต้องให้เข้ากับสไตล์ของนักแสดงที่มาเล่น ซึ่งค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะมากเลย
Q: ในระยะถ่ายทำ 2 เดือนกว่าๆ มีเรื่องอะไรที่ทำให้ประทับใจบ้าง
Masui: ด้วยความที่เราเป็นคนสร้างภาพยนตร์ ทุกวันของเราจึงเป็นวันที่เหนื่อยมากเลยครับ (หัวเราะ) แถมภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายในช่วงฤดูร้อนของญี่ปุ่นด้วยซึ่งมันร้อนมาก เหนื่อยสุดๆ ผู้กำกับก็เคยหมดสติไปในระหว่างรอเตรียมรอถ่ายด้วยนะ ส่วนนักแสดงนำอย่างมิโยชิ อายากะ ก็ต้องใส่รองเท้าส้นสูงเต้นทุกวัน เธอเจ็บสะโพกตั้งแต่วันแรกเลย ตั้งแต่วันนั้นมาที่กองถ่ายก็จะมีหมอนวดคอยซัพพอร์ทอยู่ตลอดเวลาด้วย แบบนี้เรียกว่าความประทับใจได้ไหมนะ (หัวเราะ) แต่ทุกคนตั้งใจกันมากจริงๆ
Tsuchimoto: อีกอย่างที่เป็นความประทับใจสำหรับผมคือในเรื่องนี้จะมีตัวละครที่เล่นเป็นนักสะกดจิตเสกเวทมนตร์ให้ผู้หญิงคนนี้ลุกขึ้นมาเต้น ชื่อคุณ ทาคาราดะ อาคิระ (Akira Takarada) เป็นนักแสดงภาพยนตร์เรื่องก็อตซิลลา (ภาค 1) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2014 ตอนนี้ก็อายุประมาณ 80 ปี แล้ว ซึ่งปกติเขาจะไม่ค่อยแสดงภาพยนตร์ เขามักจะเล่นละครเวทีมากกว่าและนี่เป็นครั้งแรกที่เขารับข้อเสนอมาเล่นในภาพยนตร์ครั้งนี้ ผมเลยดีใจมากเลย
Q: สุดท้ายฝากผลงานเรื่องนี้หน่อยค่ะ
Masui: อยากให้ลองมาดูภาพยนตร์เรื่องนี้กันครับ อย่างก่อนหน้านี้เราเคยไปฉายที่มอสโก ประเทศรัสเซีย, เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน และเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติมอนทรีออล (Montreal Fantasia Film Festival) ประเทศแคนาดา หลายคนก็หัวเราะเสียงดังมาก แต่ถ้าคนญี่ปุ่นดูก็จะเรียบร้อยๆ สไตล์ญี่ปุ่น ผมว่าอาจจะเป็นอุปนิสัยของคนแต่ละประเทศด้วยแหละ ไม่ค่อยแสดงอารมณ์ออกมาเท่าไรนะ ถ้าคนไทยดูไปแล้วเต้นไปด้วยกันด้วยก็จะสนุกมากๆ เลยล่ะครับ (หัวเราะ)
ตัวอย่างภาพยนตร์
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ (6 – 16 ก.พ. 63)
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น (21 – 23 ก.พ. 63)
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า เมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ เชียงใหม่ (28 ก.พ. – 1 มี.ค. 63)
- โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เอ็กซ์ ซีเนม่า ศูนย์การค้า เซ็นทรัล ภูเก็ต (6 – 8 มี.ค. 63)
*Shoji Masui-มาจากจังหวัดเอฮิเมะ ภูมิภาคชิโกกุ เมืองมัตสึยามะ (Matsuyama)
*Takao Tsuchimoto-มาจากจังหวัดเกียวโต