Shiba Ryotaro Memorial Museum

ประเทศญี่ปุ่นนั้นให้ความสำคัญกับศิลปินในหลากหลายสาขามาก  แม้แต่เมืองขนาดเล็กก็มีพิพิธภัณฑ์กระจายตามแหล่งประวัติศาสตร์อยู่เสมอ ในสายตาคนไทยที่มาจากต่างแดนแบบผมเองก็แปลกใจกับความใส่ใจเรื่องในศิลปะของคนญี่ปุ่น ซึ่งมันเป็นจุดน่าสนใจสำหรับผมมาก ทำให้ได้เห็นถึงบรรยากาศของประเทศที่เห็นคุณค่าของการเรียนศิลปะ จนทำให้ญี่ปุ่นผลิตงานศิลปะระดับโลกได้เป็นจำนวนมาก

 

Shiba Ryotaro Memorial Museum ภายในพิพิธภัณฑ์ที่เรียบง่ายแต่มีเอกลักษณ์

 

ในวงการสถาปัตยกรรมมีรางวัลใหญ่สำหรับสถาปนิกที่ยังมีชีวิตอยู่ ที่เรียกกันว่าเป็นรางวัลโนเบลของสถาปนิกคือ Pritzker Prize ซึ่งสถาปนิกญี่ปุ่นได้รับรางวัลนี้ถึง 9 คน นับว่ามากที่สุดในเอเชียเลยทีเดียวหนึ่งในสถาปนิกญี่ปุ่นที่ได้รับรางวัลนี้คือ อันโดะ ทาดาโอะ ผู้ได้ฉายาว่าแชมป์เปี้ยนระดับเฮฟวีเวทแห่งคอนกรีต เขาได้รับ Pritzker Prize ในปี ค.ศ. 1995 และในย่านพักอาศัยหนาแน่นของเมืองโอซาก้า อันโดะ ได้ออกแบบพิพิธภัณฑ์ขนาดเล็กที่แทรกตัวไปกับที่พักอาศัยอย่างแนบเนียน พร้อมบรรจุด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นผู้มีชื่อเสียง ชิบะ เรียวทะโร

 

 

เรียวทะโรได้สร้างงานเขียนมากมายหลายแขนงทั้งนิยายกว่า 500 เล่ม เรียงความ บทความวิจารณ์งานเขียนส่วนใหญ่ของเขาเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ เขาเริ่มต้นการเป็นนักเขียนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ทำงานของเขาคือสตูดิโอในบ้านสวนของเขาเอง จนเมื่อปี ค.ศ. 1996 เขาได้เสียชีวิตอย่างกะทันหัน อันโดะจึงได้รับหน้าที่ออกแบบพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่เรียวทะโร โดยสร้างในเขตบ้านสวนของเรียวทะโร จนเปิดใช้งานเมื่อปี ค.ศ. 2001

 

Shiba Ryotaro Memorial Museum

 

วันที่เดินทางมาชมพิพิธภัณฑ์นี้ ผมเริ่มเดินทางจากสถานีรถไฟ แล้วเดินผ่านชุมชนในย่านฮิกาชิโอซาก้า ใช้เวลาไม่นานก็มาถึงโดยไม่ได้สังเกตว่าตัวอาคารพิพิธภัณฑ์นี้อยู่ไหน ทางเข้าจะต้องเดินผ่านสวน และบ้านของเรียวทะโร จากในสวนสามารถมองเห็นห้องทำงานของเขาได้ พ้นจากสวนถึงพบกับทางเข้าที่เป็นสะพานโค้งค่อยๆ ยกตัวขึ้นจากพื้นดิน ถูกหุ้มด้วยกระจกที่ติดจากด้านนอก ทำให้ผนังด้านนอกแลดูเบากว่าที่เป็นผนังคอนกรีตเปลือย เมื่อมาถึงทางเข้าจึงเกิดความรู้สึกว่าอาคารนี้มีขนาดเล็กเกินกว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก็บเรื่องราวนักเขียนคนสำคัญ

แต่มีความลับที่ถูกซ่อนฝังลงไปในดิน ต้องเดินลงชั้นใต้ดินเสียก่อนจึงจะเข้าใจ ผมพบว่าเนื้อหาหลักของนิทรรศการอยู่ที่ชั้นใต้ดิน สถาปนิกเลือกที่จะฝังอาคารให้โผล่ขึ้นมาเหนือผืนดินไม่เกินความสูงบ้านเรือนโดยรอบที่มีความสูง 2 ชั้น แล้วยังใช้การปลูกต้นไม้บังรอบภายนอก ทำให้ยากต่อการสังเกตถึงการมีตัวตนของก้อนคอนกรีตแม้ว่าจะมีพื้นที่อาคารกว่า 2,600 ตารางเมตรก็ตาม

 

พิพิธภัณฑ์ในโอซาก้า

 

วิธีนี้ทำให้สถาปัตยกรรมใหม่ไม่ข่มเส้นขอบฟ้าเดิมของหมู่บ้านโดยรอบ โดยปกติอาคารประเภทพิพิธภัณฑ์จะตั้งห่างจากเขตชุมชน เพื่อป้องกันการรบกวนความรู้สึกเป็นส่วนตัวของผู้คน ซึ่งประเด็นนี้ในสังคมญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก แต่เมื่อพิพิธภัณฑ์นี้ต้องมาตั้งในเขตชุมชนท่ามกลางย่านพักอาศัยด้วยเหตุผลด้านความสำคัญของจิตวิญญาณสถานที่อันเนื่องมาจากเป็นบ้านของเรียวทะโร กลวิธีนี้ก็นับว่ามีความเหมาะสมในตัวของมันเอง

 

Shiba Ryotaro Memorial Museum ชั้นหนังสือสูงจรดฝ้าบนความสูงกว่า 2 ชั้น ที่มีหนังสือมากกว่า 20,000 เล่ม

 

พื้นที่นิทรรศการถูกฝังลงไปใต้ดินราว 2 ชั้น พื้นที่ชั้นใต้ดินมีทั้งส่วนห้องฉายภาพยนตร์เล่าชีวประวัติของเรียวทะโรตั้งแต่เด็ก การเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 บทสัมภาษณ์ พร้อมกับตู้นิทรรศการจัดแสดงภาพถ่าย และต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือของเขา แต่ส่วนที่ตราตรึงใจที่สุดของจากทั้งพิพิธภัณฑ์นี้คือ ชั้นหนังสือสูงจรดฝ้าบนความสูงกว่า 2 ชั้น ชั้นหนังสือนี้โค้งไปตามผนัง ทั้ง 2 ด้านบรรจุหนังสือของเรียวทะโรกว่า 20,000 เล่ม

 

 

ปลายชั้นหนังสือเป็นผนังกระจกทำกรอบลักษณะสุ่มขนาดแบบศิลปะสมัยใหม่ที่หันไปทางทิศตะวันออก ซึ่งเป็นทางไปยังบ้านของเรียวทะโร มีแสงธรรมชาติย้อนเข้ามาแบบย้อนแสงตลอด การนั่งชมชั้นหนังสือส่วนนี้ทำให้ชั้นหนังสือที่ดูสูงหนักมีความเบาขึ้น การชมหนังสือกว่า 20,000 เล่ม ทำให้ชวนจินตนาการไปถึงหนังสือทั้งหมดที่เรียวทะโรอ่านจนกลั่นมาเป็นตัวเขา ราวกับนั่งอยู่ท่ามกลางสมองของเขา ชวนให้คิดว่าเบื้องหลังงานเขียนทั้งหลาย พื้นที่โถงนี้คือแหล่งรวบรวมข้อมูลจนกลายเป็นเขาในที่สุด

มุมนี้ทำให้ผมใช้เวลาชมนานที่สุด แม้ว่าเนื้อหาภายในพิพิธภัณฑ์จะมีแต่ภาษาญี่ปุ่น แต่ภาษาสถาปัตยกรรมของอันโดะทำให้ตกอยู่ในภวังค์ไปกับความเงียบของบ่ายวันนั้น

Info
Shiba Ryotaro Memorial Museum
Open Hours
: อ.-อา. 10:00-17:00 น.
Holiday : วันจันทร์
Website : www.shibazaidan.or.jp

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ