Prabda Yoon | ผ้าใบผืนใหม่ของ คุ่น-ปราบดา หยุ่น
สารบัญ
- PRABDA YOON
- Q. ภาพยนตร์เรื่องที่สองนี้มีความเป็นญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน
- Q. ความตื่นเต้นลดลงไปบ้างไหมในการที่ภาพยนตร์เรื่องที่ 2
- Q. ทำไมถึงเลือกทำภาพยนตร์ในวันที่มีชื่อเสียงจากงานเขียนมากแล้ว
- Q. ทำไมจึงเลือกจะทำเรื่อง Motel Mist เป็นเรื่องแรก
- Q. ซึ่งก็อินกับมันใช่ไหม
- Q. เรื่อง Someone from Nowhere: มา ณ ที่นี้ เป็นการสปริงกลับความคิดที่ว่า “อยากทำหนังเกรดบีไม่ซีเรียส” หรือเปล่า
- Q. มีมาตรฐานในการวัดความสำเร็จงานตัวเองไหม
- Q. การรับฟัง Feedback สำคัญกับนักเขียน คนทำหนัง หรือศิลปินมากแค่ไหน
PRABDA YOON
ผลงานใดก็ตาม หากได้ถูกเซ็นลงท้ายด้วยชื่อของ ‘ปราบดา หยุ่น (Prabda Yoon)’ ย่อมรู้กันว่าจะไม่ลงเอยด้วยความธรรมดาแน่นอน
ไม่เพียงแต่บนปกหนังสือ ชื่อของปราบดา หยุ่น วนเวียนอยู่ในแทบจะทุกแวดวงของสื่อศิลปะและสื่อบันเทิงไทยมาเป็นเวลานานเกือบ 20 ปีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานเขียนบททั้งภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ การดำเนินงานและเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ การสร้างสรรค์งานดนตรีภายใต้ชื่อ ไต้ฝุ่นแบนด์ และอีกมากมาย (ด้วยความสัตย์ บางครั้งก็ลืมไปเหมือนกันว่าปราบดาหยุ่นเคยเป็นนักเขียนรางวัลซีไรต์มาก่อน) ราวกับว่าไม่มีพื้นที่ไหนที่ปราบดาหยุ่นไม่สามารถเดินทางไปถึงได้
ปี 2016 ปราบดา หยุ่น ตัดสินใจเดินทางเข้ามาบนผืนผ้าใบแห่งใหม่ที่เขาไม่คุ้นชิน โดยการแบกหน้าที่ของการ ‘กำกับ’ ภาพยนตร์เอาไว้ ภาพยนตร์ขนาดยาวลำดับแรกของเขา Motel Mist หรือ โรงแรมต่างดาว สร้างแรงกระเพื่อมอย่างรุนแรงต่อวงการหนังนอกกระแสทั้งไทยและต่างประเทศ โดยการได้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกที่ Rotterdam Film Festival และภาพยนตร์เรื่องยาวลำดับที่สอง Someone from Nowhere โดยภาพยนตร์ของเขาได้ฉายรอบปฐมทัศน์ไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ณ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโตเกียว ครั้งที่ 30 (30th Tokyo International Film Festival 2017)
Q. ภาพยนตร์เรื่องที่สองนี้มีความเป็นญี่ปุ่นมากน้อยแค่ไหน
ไม่นะ หนังมันไม่ได้เกี่ยวกับประเทศใดประเทศหนึ่ง หากเกี่ยวก็น่าจะเกี่ยวกับประเทศไทยมากที่สุด แต่ก็นับเป็นความบังเอิญสำหรับผู้สร้างด้วย เช่น ทีมงานในหนังเรื่องนี้มีความบังเอิญที่ว่า เราค่อนข้างคุ้นเคยกับญี่ปุ่น และมีความชอบประเทศนี้อยู่แล้ว ตากล้องของเรา คุณก้อง-พาหุรัต ก็เคยเรียนทำหนังที่ญี่ปุ่น ซึ่งเขาก็จะมีอะไรที่เป็นญี่ปุ่นอยู่ เพราะฉะนั้นในแง่ของภาพมันก็อาจจะมีความเป็นญี่ปุ่นบางอย่างเจืออยู่ในนั้น แต่ก็คงไม่เด่นชัดอะไร แล้วก็โปรดิวเซอร์ของเรา เขาเคยส่งหนังไปเทศกาลนี้แล้ว คือมันก็มีความสัมพันธ์กันอยู่บ้าง
Q. ความตื่นเต้นลดลงไปบ้างไหมในการที่ภาพยนตร์เรื่องที่ 2
ก็ไม่นะ ผมยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นมือใหม่มากๆ ในการทำหนัง แล้วตอนทำเรื่อง Motel Mist กังวลมากอย่างคนที่ไม่เคยทำมาก่อนเลย เหมือนกับมีความหวาดหวั่นว่าเราจะทำได้ไหม มันจะออกมาอย่างไร เป็นความตื่นตระหนกมากกว่าที่จะตื่นเต้น คือถึงจะมีความสนใจในภาพยนตร์มาตลอด แต่ก็ไม่รู้ว่าถ้าทำออกมาจริงๆ มันจะเป็นอย่างไร
Q. ทำไมถึงเลือกทำภาพยนตร์ในวันที่มีชื่อเสียงจากงานเขียนมากแล้ว
ผมเป็นคนที่มีความสนใจหลากหลาย แต่ถ้าถามว่าอะไรเป็นสิ่งที่อยากทำมากๆ ก็คือการเขียนหนังสือกับทำหนัง เพราะว่านี่คือสิ่งที่สนใจตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็อยากทำ ตอนเรียนหนังสือก็อยากจะเรียนทางนี้ คือมันเป็นสิ่งที่อยู่กับชีวิตผมมาตลอดเลยก็ว่าได้ แต่บังเอิญว่าตอนเริ่มเป็นนักเขียน ก็เริ่มพร้อมๆ กับตอนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับหนังนะ เพียงแต่ว่าไม่ได้ไปทางนั้นมาก
Q. ทำไมจึงเลือกจะทำเรื่อง Motel Mist เป็นเรื่องแรก
คือเริ่มแรกผมเขียนเรื่องนี้ให้ผู้กำกับอีกคนหนึ่ง เขาอยากจะเอานิยายผมไปทำหนัง เรื่อง ‘นอนใต้ละอองหนาว’ แต่ผมไม่ค่อยอยากเห็นนอนใต้ละอองหนาวเป็นหนัง คือมันเป็นหนังสือไปแล้ว ถ้าจะทำให้เหมือนหนังสือเลย ต้องมีสเกลที่ใหญ่เหมือนกัน เพราะว่ามันมีการเดินทางไปลอนดอน ไปญี่ปุ่น ผมเลยเสนอเขาไปว่าให้ผมลองเขียนเรื่องใหม่ให้ไหม เผื่อจะสนใจ ผมก็เขียนเรื่อง Motel Mist ขึ้นมาแล้วส่งให้เขาอ่าน แต่เขาก็ยังชอบนอนใต้ละอองหนาวมากกว่าอยู่ดี ผมเลยเหลือบทเรื่องนี้อยู่
Q. ซึ่งก็อินกับมันใช่ไหม
ผมอินกับมันในแง่ที่มันไม่ค่อยซีเรียส คือบอกไม่ถูกนะ ความรู้สึกของผมเวลาเริ่มต้นทำอะไรที่ไม่ค่อยถนัดมาก ผมจะช่วยเหลือตัวเองด้วยการใช้วัตถุดิบที่มันไม่ค่อยซีเรียส คือตอนที่ทำเรื่อง Motel Mist ผมคิดว่าอยากทำเป็นหนัง Grade B ที่มันดูตลก แปลกๆ ไปเลย เมืองนอกจะมีสิ่งที่เรียกว่า Midnight Movie อยู่ ซึ่งคือหนังหลังเที่ยงคืน ที่ไม่ได้ถูกยกย่องเชิดชูเป็นหนังดีอะไร
Q. เรื่อง Someone from Nowhere: มา ณ ที่นี้ เป็นการสปริงกลับความคิดที่ว่า “อยากทำหนังเกรดบีไม่ซีเรียส” หรือเปล่า
การได้ทำ Motel Mist ทำให้ผมรู้ตัวว่าไม่มีความคิดแบบนั้นแต่แรก หมายถึงไม่ควรมีภาพว่าอยากทำหนังเกรดบีหรือตัวเองอยากทำหนังอะไร ควรจะทำสิ่งที่คิดว่ามันมีความหมายสำหรับเรานะ ในช่วงชีวิตหนึ่ง แต่เรื่อง มา ณ ที่นี้ เป็นหนังเล็กมากๆ ที่มีข้อจำกัดในเรื่องทุน เรื่องเวลา เรื่องอะไรต่างๆ ซึ่งพอมันออกมา ก็ยังไม่ใช่สิ่งที่รู้สึกว่ามันออกมาจากตัวผมทั้งหมดอยู่ดี คือผมให้ประมาณหนึ่งเท่าที่จะเป็นไปได้ ทำให้รู้ว่าต่อไปเราควรจะทำสิ่งที่มีความหมายมากขึ้น เพราะว่าสุดท้ายมันหนีไม่ได้
Q. มีมาตรฐานในการวัดความสำเร็จงานตัวเองไหม
ก็เริ่มจากจุดที่ว่าเราพอใจกับงานตัวเองหรือเปล่า ถ้าพอใจ ก็โอเค แต่ผมเชื่อว่าผมก็มีความ Critical ในงานของตัวเองได้ หมายถึงว่า เวลาที่ฟังเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เช่น บางจุดก็รู้ว่ามันเป็นอย่างนั้น หมายถึงว่า หากมีการวิจารณ์ในด้านลบ ก็จะรู้ว่า เออใช่ เราก็เห็นตรงนั้นเหมือนกัน หรือว่าหากวิจารณ์ในแง่บวกแบบที่เราไม่เห็นด้วย ผมก็ไม่เชื่อนะ เพราะไม่ได้คิดว่ามันดีจริงเหมือนที่เขาพูด ก็แล้วแต่เรื่องไป
Q. การรับฟัง Feedback สำคัญกับนักเขียน คนทำหนัง หรือศิลปินมากแค่ไหน
จริงๆ แล้วงานศิลปะส่วนใหญ่มันคล้ายกับงานเขียนหนังสือนะ แม้กระทั่งงานจิตรกรรม มันเกิดจากตัวเรา ออกจากตัวเรา และถูกตัดสินโดยตัวเรา แม้แต่การไปแสดงงานในแกลเลอรี มันก็ไม่ค่อยมีใครมาคุยอะไรที่มันลงลึก สร้างบทสนทนาที่มันจริงจังกับงานเราหรอก มันจะทิ้งระยะเวลานานมากเลย แต่ว่าหนังค่อนข้างเป็นเรื่องที่เราต้องเผชิญทันที และเป็นสิ่งที่เราต้องตอบตัวเองให้ได้ในหลายๆ เรื่องทันทีเหมือนกัน
ติดตามผลงานเพิ่มเติมได้ที่
Twitter: @prabdayoon/ @TyphoonBooks