โตเกียวเป็นเมืองใหญ่ที่มีสิ่งน่าสนใจระดับเวิลด์คลาสมากมายให้เราพบเจอ แต่เมื่อมีเหตุให้ต้องไปพักอยู่หลายๆ วัน ฉันก็กลัวว่า “โรคแพ้เมืองใหญ่” จะกำเริบ กลัวความวุ่นวายจะทำให้จิตใจหดหู่และหมดพลัง เมื่อต้องจองที่พักจึงอยากหาที่เล็กๆ ในย่านเงียบๆ ให้พอได้มีมุมสงบไว้พักใจบ้าง ทีแรกฉันพุ่งเป้าไปหาที่ Airbnb แต่กลับมาเจอที่พักขนาดเล็กมากๆ เข้าที่หนึ่ง ภาพแรกที่เห็นคือผ้าม่านลายสวยสีสดใสแขวนเต็มผนัง กับพื้นปูเสื่อทาทามิ วางโต๊ะเตี้ยและเบาะผ้าไว้สำหรับนั่งพื้น แค่นั้นเองก็เพียงพอให้ฉันตกหลุมรักแทบจะทันที

ที่นี่คือ Sheena and Ippei อยู่ห่างจากสถานีอิเคะบุคุโระ (Ikebukuro) อันคราคร่ำไปด้วยโรงแรม ร้านค้าและห้างสรรพสินค้ามาเพียงหนึ่งสถานี โดยต้องต่อรถไฟท้องถิ่นสาย Seibu Ikebukuro มาลงที่สถานี Shiinamachi บรรยากาศรอบๆ สถานีเป็นย่านการค้าบนถนนสายเล็กๆ ค่อนข้างเงียบสงบ แตกต่างจากย่านอิเคะบุคุโระราวกับหน้ามือเป็นหลังมือ เดินมาไม่ไกลก็ถึงจุดหมาย ที่พักของเราเป็นอาคารไม้สองชั้นแบบโบราณ อายุราวๆ ห้าสิบปี ได้รับการบูรณะอย่างดี ทว่ายังคงเสน่ห์แบบห้องแถวไม้โบราณไว้ ชั้นล่างเปิดเป็นคาเฟ่ที่ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นแบบนั่งกับพื้นเหมือนอยู่บ้าน และมีจักรเย็บผ้าไว้ให้ลูกค้าใช้งานด้วย ฝั่งหนึ่งของร้านเป็นเคาน์เตอร์สำหรับให้บริการเครื่องดื่มและขนม ด้านหลังมีห้องพักหนึ่งห้อง และห้องอาบน้ำ ชั้นสองมีห้องพักอีกสี่ห้องและห้องน้ำ รวมแล้วมีห้องพักเพียง 5 ห้อง เมื่อเทียบกับพื้นที่ 55 ตารางเมตรของแต่ละชั้นแล้ว ในมุมมองของฉันที่เรียนจบอินทีเรียดีไซน์มา นับว่าจัดสรรได้น่าปรบมือให้จริงๆ เพราะรู้สึกได้ถึงความเป็นสัดส่วน และไม่อึดอัดเลย

ห้องที่เราพักเป็นห้องขนาดใหญ่ที่สุด พื้นปูเสื่อทาทามิ นอนบนฟูตอง (หรือฟูกนั่นเอง) เป็นห้องที่อยู่ด้านหน้าของอาคาร จึงได้รับแสงสวยๆ ตอนเช้า มีประตูบานเลื่อนกรุกระดาษสาช่วยกรองแสงให้ยิ่งดูนวลตา ห้องพักอื่นๆ มีทั้งแบบนอนพื้น และที่เป็นเตียงสองชั้นสำหรับพักรวม บรรยากาศน่านอน ตกแต่งด้วยไม้ ผ้าสีสดใสและแสงไฟอบอุ่น

ในแง่กายภาพ ฉันถูกใจ Sheena and Ippei เอามากๆ แต่เป้าหมายของการเลือกอยู่ที่พักเล็กๆ มีมากกว่านั้น นั่นคือโอกาสที่เราจะได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนได้ง่ายขึ้น ใกล้ขึ้น เพราะบรรยากาศและขนาดของสถานที่เอื้ออำนวย และเราก็ไม่ผิดหวัง เพราะคุณจูลี่ ผู้จัดการที่นี่ ต้อนรับเราดีมากตั้งแต่ยังมาไม่ถึง ด้วยการส่งรูปพร้อมคำบรรยายให้เราเดินจากสถานีมาถึงโดยไม่หลง นอกจากนี้ เธอยังชวนให้เราร่วมปาร์ตี้มื้อเย็นที่เธอแสดงฝีมือทำราเมนกับสลัดเอง โดยมีเพื่อนของเธอและแขกสองสาวจากจังหวัดนากาโน่ร่วมวงด้วย มื้อค่ำเรียบง่ายเป็นกันเอง ทำให้เราได้แลกเปลี่ยนเรื่องราวต่อกันมากมาย และช่วยให้เราผ่านช่วงเวลาที่อยู่ไกลบ้านไปอย่างเพลิดเพลิน

ฉันชอบเย็บผ้าและคลุกคลีกับงานผ้ามาตลอด จึงอดถามจูลี่ไม่ได้เรื่องแนวความคิดที่นำจักรเย็บผ้า มาไว้ในคาเฟ่ รวมถึงที่มาของชื่อ Sheena and Ippei เธอเล่าให้ฟังว่า เดิมที่นี่เป็นร้านขายหมูทอดทงคัตสึ ชื่อ Tokatsu Ippei ซึ่งเป็นที่รักของคนในชุมชน เมื่อเจ้าของร้านเสียชีวิตจึงปิดกิจการลง เจ้านายของเธอซึ่งทำงานด้านการออกแบบสถาปัตยกรรม ผู้สนใจด้านการอนุรักษ์อาคารเก่า จึงเข้ามาปรับปรุงอาคารหลังนี้ให้กลับมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง และเลือกใช้ “ผ้า” มาเป็นตัวเชื่อมความสนใจของคนต่างวัยในชุมชน รวมถึงคนต่างชาติ ต่างภาษาให้อยากมารู้จักที่นี่ด้วย ตัวจูลี่เองก็สนใจเรื่องการเย็บผ้า นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เธอถูกเลือกให้มาดูแลที่นี่

ช่วงเวลาสามวันที่ฉันพักอยู่ พบว่ามีลูกค้าเข้ามาใช้บริการคาเฟ่เล็กๆ นี้เป็นระยะ ทั้งคนที่มาเพื่อนั่งดื่มกาแฟและกินขนมอย่างเดียว ทั้งคุณแม่ที่พาลูกมาหัดใช้จักร รวมถึงชายหนุ่มที่มานั่งเย็บผ้าคนเดียว ความน่าสนใจของ Sheena and Ippei ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ คุณอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า homestay แต่การมาพักที่นี่ ทำให้เรารู้จักประสบการณ์การพักแบบ townstay ไว้ฉันจะเล่าให้ฟังต่อในฉบับหน้า

ดูรายละเอียดที่พักได้ที่ http://sheenaandippei.com/

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ