แล้วเราจะรู้จักกัน “เกียวโต”
สิ่งที่ยากที่สุดของการเขียนคอลัมน์คือ งานชิ้นแรกในคอลัมน์ใหม่ ตามธรรมเนียมญี่ปุ่นคงต้องบอกว่า
“ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ”
บก. บอกว่า อยากให้เล่าประสบการณ์การเรียนที่เกียวโต โอ้โห…บก. คะ มีคนอยากอ่านด้วยหรือ? เพราะถ้าบอกว่า ไปเรียนตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 คนที่อ่านคอลัมน์นี้อยู่ตอนนี้อาจจะยังไม่เกิด ดังนั้นทุกอย่างที่จะปรากฏต่อๆ ไปในคอลัมน์นี้อาจจะให้อารมณ์ประมาณ คนแก่เล่าเรื่องเก่า เขียนมาบรรทัดนี้ก็แทบสิ้นกำลังใจ
ทำไมถึงเลือกไปเรียนญี่ปุ่น?
เพราะชอบประเทศญี่ปุ่น ชอบภาษาญี่ปุ่น ชอบอาหารญี่ปุ่น ชอบผู้ชายญี่ปุ่น ชอบสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ชอบสวนญี่ปุ่น ชอบการชงชา ชอบวัด ฯลฯ ใช่หรือไม่? คำตอบคือ ไม่!
ณ ขณะที่ฉันอายุ 21 ปี เป็นสตรีสันคะยอม บ้านขายหมู ไม่เคยมีสมาชิกในครอบครัวคนไหนเคยไปเมืองนอก เมืองนา แค่ไปกรุงเทพฯ หรืออยุธยา จันทบุรี ก็ตื่นเต้นกันจะแย่แล้ว ในยุคที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต และการขอโทรศัพท์บ้านต้องรอเป็นปีๆ เราจึงไม่เคยเข้าถึงข้อมูล ข่าวสาร เห็นรูปภาพ อ่าน “เรื่องราว” อะไรต่อมิอะไรที่เราได้อ่านกันโดยไม่ต้องเสียสตังค์อย่างทุกวันนี้ และนิตยสาร หนังสือ ก็มีราคาแพงจับใจ
ว่าจะเขียนเรื่องญี่ปุ่น แต่เขียนมาถึงบรรทัดนี้แล้วเพิ่งนึกขึ้นได้ว่า ในยุคนั้น เราอยากอ่านนิตยสาร และนิตยสารต่างๆ ก็แพงเสียจนมีร้านเช่านิตยสารอ่าน แล้วการเช่านี่เราก็เฝ้ารอเล่มใหม่ที่จะออก และภาวนาว่าเราจะได้เช่าเป็นคนแรกๆ ไม่อย่างนั้นกว่าจะได้อ่าน มันก็เก่า ตกขอบกาลเวลาไปเสียแล้วในโลกแคบๆ และขาดแคลนทรัพยากรเช่นนั้น ฉันจึงไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นเลย เคยดูหนังไอ้มดแดง…ใช่ เคยดูยอดหญิงสิงห์นักตบ…ใช่ แต่มันไม่ได้ทำให้รู้จักอะไรเกี่ยวกับญี่ปุ่นเลย อ่านโดราเอมอน…ใช่ แต่ก็ไม่ได้ทำให้หลงรักญี่ปุ่น กลับรู้สึกว่าประเทศนี้ต้องมีความบ้าๆบอๆ ถึงเขียนการ์ตูนแบบโดราเอมอนออกมาได้
เหตุผลเดียวที่เลือกญี่ปุ่นคือ สิ่งที่เรียกว่าทุนมมบุโช หรือทุนรัฐบาลญี่ปุ่นนั่นเอง
เงื่อนไขของการสมัครขอทุนรัฐบาลญี่ปุ่นค่อนข้างใจดีมากๆ นั่นคือ ไม่ต้องสอบวัดระดับความสามารถภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นโทเฟลหรืออื่นๆ เพราะหากต้องเอาคะแนนโทเฟล ฉันก็ไม่ผ่านอย่างแน่นอน
(ทุกวันนี้ยังไม่กล้าไปสอบเลย) มากไปกว่านั้น ไม่ต้องรู้ภาษาญี่ปุ่นก็สมัครสอบได้ ทุนอะไรใจดีใจกว้างขนาดนี้ เงื่อนไขเดียวที่วางเอาไว้คือ ต้องได้เกรดเฉลี่ยของปริญญาตรีตามที่กำหนด เกณฑ์นี้ฉันผ่านอย่างหวุดหวิดอีก นี่คือความโง่ ความไม่ใส่ใจ แต่ก็สะท้อนว่าต้นทุนทางสังคมและครอบครัวสำคัญมาก ฉันไม่เคยรู้มาก่อนว่า เกรดเฉลี่ยตอนเรียนปริญญาตรีมีผลต่ออนาคต มีผลต่อการสมัครงาน สมัครขอทุน พ่อแม่ก็ไม่รู้ ก็เรียนไปวันๆ คิดว่าแค่ไม่ติดเอฟ เรียนจบๆไป ก็ดีถมเถ
ขอตัดตอนเรื่องการสมัคร การสอบ และอื่นๆ ไป เพราะเคยเขียนและพูดไว้หลายครั้งต่างกรรมต่างวาระ เอาเป็นว่า ฉันเลือกมหาวิทยาลัยเกียวโต
ทำไมถึงเลือกที่นี่? เพราะเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้นของประเทศ? การได้ชื่อว่าเรียนเกียวได จบเกียวได มันช่างเป็นบางสิ่งบางอย่างในชีวิต? เปล่าเลย ฉันไม่เคยรู้จักชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยนี้ แต่เลือกเพราะ ใครๆเขาว่าเกียวโตเหมือนเชียงใหม่
โถ…อีเด็กบ้านนอก!
จะไปเรียนเมืองนอกทั้งที ยังเลือกเมืองที่เขาว่าคล้ายตัวเอง มีแม่น้ำ มีภูเขา คนน้อย ชีวิตช้าๆ และฉันทำบุญด้วยอะไรไม่รู้ อาจารย์ที่ปรึกษาอันตรงกับงานวิจัยที่เลือกทำ อยู่มหาวิทยาลัยเกียวโต พอดี๊ พอดี เวลาที่ชีวิตมันจะลงตัว มันก็ลงได้เหมาะเจาะของมันเสียเหลือเกิน ตอนนั้นไม่ได้คิดหรอกว่า ไม่รู้เรื่องภาษาญี่ปุ่นจะทำยังไง จะเรียนยากไหม เรียนได้หรือเปล่า ด้วยความมักง่าย คิดแค่ว่า ดีใจจังเลย จะได้ไปอยู่ไกลบ้าน จะได้ไป “เมืองนอก” (อายนะเนี่ย)
ชีวิตสตรีเชียงใหม่ จึงจะไปเริ่มต้นที่เกียวโต เร็วๆนี้..