โมไอ ปฏิสัมพันธ์สร้างความสุข
ฉันดูรายการโทรทัศน์ทางช่อง NHK WORLD รายการหนึ่ง พูดถึงระดับความสุขกับสังคมผู้สูงอายุ พิธีกรถามผู้ร่วมรายการว่าพฤติกรรมและการใช้ชีวิตแบบใดช่วยทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวขึ้น การมี “ปฏิสัมพันธ์” ที่ดีกับผู้คนคือผลสรุปที่ออกมาเป็นปัจจัยอันดับแรก (โดยมีปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาหารการกิน การดูแลสุขภาพ ฯลฯ)
ได้ฟังแบบนั้น ฉันก็คิดถึงปรัชญาและวิถีการใช้ชีวิตจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวียที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางไปทั่วโลก เช่น “ฮุกกะ” (Hygge) ที่หมายถึงศิลปะในการสร้างความใกล้ชิดและการสร้างความสุขแบบวิถีคนเดนมาร์ก ตัวอย่างเช่น “บูเฟลเลสสเกบ” (Bufellesskap) โครงการที่พักอาศัยที่เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์ก ออกแบบขึ้นด้วยวิธีคิดที่ให้แต่ละครอบครัวมีบ้านเป็นส่วนตัวและใช้ส่วนกลางร่วมกับครอบครัวอื่นๆ เช่น สวน, ครัว และสนาม-เด็กเล่น นอกจากนี้พวกเขายังช่วยเหลือกันและกันในยามประสบปัญหา เด็กๆ มีคนช่วยดูแล และผู้สูงอายุรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ซึ่งการมีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกันก็ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชุมชน ถือเป็นโครงการที่ส่งผลให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
กลับมาที่ประเทศญี่ปุ่น มีการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่เรียกว่า “โมไอ” (Moai: 模合) หมายถึงกลุ่มคนที่มารวมตัวกันโดยมีจุดมุ่งหมายร่วมกันในจังหวัดโอกินาว่าและหมู่เกาะอามามิในจังหวัดคาโกชิม่า โดยผู้คนจะรวมกลุ่มและเก็บออมเงินกองกลางเพื่อทำอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะในครอบครัว เพื่อนที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือในระดับองค์กร แต่ละคนจะมีกลุ่มลักษณะนี้หลายกลุ่มก็ได้ ซึ่งการรวมกลุ่มที่เรียกว่า โมไอ (Moai) นี้ วิธีคิดแรกเริ่มเดิมทีนั้นเป็นระบบการช่วยเหลือกันทางการเงินของผู้คนในหมู่บ้าน ที่โอกินาว่ายังมีการเรียกชื่อกลุ่มลักษณะนี้ว่า “ยูเร” ซึ่งภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “โยริไอ” (寄合) หมายถึง “การรวมตัวกัน”
เมื่อพูดถึง “เงิน” บางคนอาจจะมีอคติ แต่สำหรับคนโอกินาว่าเองมองว่าการรวมตัวลักษณะนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะจริงๆ แล้วมีนัยมากกว่าเรื่องเงินๆ ทองๆ มันหมายถึงการมี “เพื่อน” ที่สามารถร่วมแชร์ทั้งความสุขและปัญหา ช่วยเหลือและแบ่งปันกัน ตลอดจนให้ความนับถือและไว้เนื้อเชื่อใจกัน
แน่นอนว่าโดยพื้นฐานของคนเรา การได้รับความเอาใจใส่ การได้ทำกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน การมีคนช่วยซับพอร์ตยามทุกข์ยาก หรือการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีนั้น ให้ทั้งความรู้สึกสบายใจ ปลอดภัย รวมถึงความสุข และไม่แน่ว่าอาจจะสัมพันธ์กับปัจจัยที่ทำให้ผู้คนมีชีวิตยืนยาวยิ่งขึ้น (จังหวัดโอกินาว่าและคาโกชิม่าของญี่ปุ่น เคยมีผู้ที่อายุยืนยาวที่สุดในโลก) รายงานความสุขโดยองค์การสหประชาชาติระบุไว้ว่า “…ความสุขจะแปรผันตามคุณภาพความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันมากกว่ารายได้” (ฉันอ่านข้อความนี้มาจากหนังสือ ฮุกกะ: ปรัชญาความสุขฉบับเดนมาร์ก เขียนโดย ไมก์ วิกิง)
การรวมกลุ่มอย่างบูเฟลเลสสเกบและที่มีรากฐานวิธีคิดใกล้เคียงกันนี้ จึงเป็นไอเดียที่สามารถพัฒนาต่อยอดสู่นโยบายที่จะช่วยรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุในอนาคต แน่นอนว่ามันมีข้อดีในระดับปัจเจกอย่างยิ่ง เช่น เมื่อเราอายุมากขึ้น มีภาระการงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยไปเจอเพื่อนเก่าหรือครอบครัว ดังนั้นการทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มคนที่มีจุดมุ่งหมายหรือสนใจกิจกรรมคล้ายๆ กันในแต่ละช่วงชีวิต ก็อาจเป็นหนึ่งในวิธีป้องกันความห่างเหินจากผู้คนและโลก รวมทั้งอาจช่วยสร้างความสุข ตลอดจนนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี