Memory Bottle : ภาพของความทรงจำ
ดูเหมือนว่า “ความทรงจำ” จะเป็นสมบัติส่วนตัวที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ บางคนบอกว่าความทรงจำเป็นที่มาที่ไปทั้งหมดของตัวเรา เป็นตัวตนที่ทำให้เราแต่ละคนเหมือนกันทว่าแตกต่าง นักวิทยาศาสตร์ต่างพยายามค้นหาว่าความทรงจำถูกจัดเก็บอยู่ที่สมองส่วนไหนและทำงานอย่างไร แล้วในมุมมองของศิลปินเล่า? เมื่อมองความทรงจำผ่านงานศิลปะ เราจะสามารถเก็บความทรงจำไว้ในรูปแบบใดและนำเสนอด้วยวิธีไหนได้บ้าง?
มายุมิ คุริ (Mayumi Kuri) ศิลปินเจ้าของผลงาน “ขวดแก้วแห่งความทรงจำ” หรือ “Memory Bottle” ชวนให้ฉันได้ทดลองเข้าไปค้นหาความจริงที่แสนเรียบง่ายเกี่ยวกับความทรงจำของผู้คนผ่านสิ่งของชิ้นเล็กๆ ในขวดแก้วใส ฉันได้มีโอกาสเห็นงานศิลปะขนาดใหญ่ชิ้นนี้ ซึ่งเป็นงานติดตั้งถาวรจากเทศกาลศิลปะนานาชาติเซโตะอุจิ (Setouchi International Art Festival) เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2015 ภายในบ้านโบราณเพดานสูงหลังหนึ่งบนเกาะโองิจิมะ (Ogijima) จังหวัดคางาวะ (Kagawa)
ขวดแก้วจำนวนราว 1,000 ใบ ถูกเกี่ยวร้อยเข้าด้วยกันและแขวนติดตั้งในแนวดิ่งทิ้งชายลงเหนือพื้น ภายในขวดแต่ละใบมีของเล็กๆ บรรจุอยู่พร้อมหลอดไฟขนาดจิ๋ว สิ่งที่ฉันเห็นในนั้นมีตั้งแต่เบ็ดตกปลา ของเล่น ภาพถ่าย นาฬิกาข้อมือเก่า กระดิ่ง ลูกหิน ลูกแก้ว ฯลฯ อันเป็นสมบัติของชาวบ้านที่อาศัยอยู่บนเกาะเล็กๆ ที่ยาวเพียง 2 กิโลเมตรแห่งนี้ ขวดแก้วทั้งหมดถูกแขวนเรียงในโครงสร้างรูปทรงกระบอก พาดเรียงจากเพดานลงมา
คุณมายุมิเลือกที่จะรวบรวมเอา “ชิ้นส่วน” ต่างๆ เหล่านี้เข้ามาเก็บรวมกันไว้ คล้ายกับว่าเธอพยายามจะเลือกเก็บเอาชิ้นส่วนแห่งความทรงจำของผู้คนบนเกาะมาจัดแสดงร่วมกัน คำถามธรรมดาๆ ที่ชวนให้ประหลาดใจสำหรับฉันก็คือ ทำไมสิ่งของจึงสามารถใช้เป็นตัวแทนของความทรงจำได้?
การเดินชมงานศิลปะชิ้นนี้ทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้เดินลอดเข้าไปในอีกมิติหนึ่ง เป็นมิติที่มีเรื่องราวมากมายไหลพรูลงมาซ้อนทับกัน เป็นมิติที่เป็นโพรงขนาดใหญ่ของจินตนาการความรู้สึก เป็นมวลความทรงจำของผู้คนหลากหลาย ทั้งเด็กน้อย คู่สามีภรรยา และคนชรา ตัวฉันเองจริงๆ แล้วไม่เคยมีประสบการณ์หรือเรื่องราวใดๆ กับสิ่งของแต่ละชิ้นในขวดแก้วแต่ละใบมาก่อน แต่ในขณะเดินชมงานกลับรู้สึกว่าได้ถูกถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้นเข้ามาสู่การรับรู้ส่วนตัว เป็นความรู้สึกที่ซับซ้อนทว่าเรียบง่ายอย่างที่สุด บางทีอาจเพราะเราเป็นมนุษย์เหมือนกัน ถึงทำให้เราเข้าใจความรู้สึกนึกคิดระหว่างกันและกันได้อย่างง่ายดาย
ฉันถ่ายภาพสิ่งที่เห็นเก็บไว้ในกล้องถ่ายรูป นึกๆ ดูแล้วก็แปลกดีเหมือนกัน เพราะการถ่ายภาพครั้งนี้ยิ่งทำให้ฉันรู้สึกมากกว่าทุกครั้งว่าตัวเองกำลังเก็บ “ภาพของความทรงจำ” อยู่ โดยมีกล้องเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมเอาความทรงจำของฉันไว้ร่วมกับความทรงจำของชาวเกาะทุกคนอีกที และนี่เองที่ทำให้ฉันได้พบความรู้สึกใหม่อีกอย่าง นั่นก็คืออันที่จริงความทรงจำของเราอาจไม่ได้เป็นของเราก็ได้ โดยเฉพาะความทรงจำที่ใช้กล้องบันทึกไว้ เพราะมันพร้อมจะเป็นของทุกๆ คนที่ผ่านมาพบเจอ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานแค่ไหน
ว่าแต่…จริงๆ แล้วความทรงจำสำคัญขนาดไหนกันนะ?
ฉันนึกอยากรู้
จะว่าไปแล้วฉันก็ไม่แน่ใจหรอกว่าคนอื่นๆ เห็นยังไงกันบ้าง แต่สำหรับตัวฉันเอง ฉันว่าประสบการณ์ตรงหน้าวินาทีตรงหน้าสำคัญที่สุดเสมอ ไม่ว่าความทรงจำที่ผ่านมาจะดี ร้าย หรือเรื่อยเฉื่อย ความดีงามที่สุดก็คือโมงยามที่เราได้มองเห็นความทรงจำทั้งหลายเหล่านั้นจากมุมมองในตอนนี้ เดี๋ยวนี้ เปรียบเทียบเหมือน ณ ขณะที่เราทุกคนกำลังยืนดูขวดแก้วแห่งความทรงจำแต่ละใบในชีวิต ไม่ว่าข้างในจะบรรจุไว้ด้วยของแหลม ของเล่น ภาพอดีตที่แหว่งวิ่นหรือสุขสมบูรณ์ ความภูมิใจอย่างที่สุดก็คงหนีไม่พ้นวินาทีนี้ วินาทีที่เราได้ยืนดูมัน ได้ทำความเข้าใจความทรงจำต่างๆ ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามา พอขึ้นชื่อว่าความทรงจำ ไม่ว่าดีหรือร้าย ถ้าเราผ่านมันมาได้ เข้าใจ และเรียนรู้จากมันได้ก็ถือว่าดีที่สุดแล้วล่ะนะ!
แสงไฟในขวดแก้วทำให้ฉันรู้สึกมีความหวัง และรู้สึกดีมากๆ ที่ได้เข้ามาชมงานศิลปะชิ้นนี้ด้วยตาของตัวเอง สำหรับคนที่สนใจไปชมผลงาน Memory Bottle ฉันได้ให้ข้อมูลเบื้องต้นไว้ท้ายเรื่องแล้ว แต่ยังไงก็ตาม เพื่อความมั่นใจก็ขอให้สอบถามผ่านทางเว็บไซต์ setouchi-artfest.jp อีกทีดีกว่านะ เพราะไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ในปัจจุบันกับเรื่องราวในความทรงจำของฉัน มันจะเหมือนหรือเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว
บางทีขวดแก้วแห่งความทรงจำอาจจะกลายเป็นเพียงความทรงจำไปแล้วจริงๆ ก็ได้