สานต่อไปนะ “คาโกเมะ”
คาโกเมะ
ในบ้านของคนญี่ปุ่น เรามักพบเห็นเครื่องใช้ไม้สอยซึ่งเป็นเครื่องจักสานถูกใช้งานกลมกลืนอยู่กับเครื่องใช้ไฟฟ้าสุดไฮเทค งานดีไซน์สุดเท่ และวิถีชีวิตร่วมสมัยอยู่เสมอ ฉันเองก็ชอบเครื่องจักสานมาก แต่รู้สึกว่าภาชนะจักสานในบ้านเรา แม้จะสวยงามไม่แพ้ของท้องถิ่นอื่น แต่ที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันให้ตรงตามประโยชน์ใช้สอยนั้นบางทีก็หายาก ความอัดอั้นดังกล่าวบวกกับความชอบทำงานฝีมือ หลายปีก่อนนู้นฉันจึงตัดสินใจลงเรียนสานตะกร้าและได้ลองสานตะกร้าใช้เองเป็นครั้งแรก
ในชั้นเรียน ครูนุ-พิษณุ นำศิริโยธิน ศิลปินช่างไม้สอนตั้งแต่วิธีจักตอกไม้ไผ่ การลับมีดที่ใช้จักตอกไปจนถึงการขึ้นรูปตะกร้าและเทคนิคต่างๆ แต่ตะกร้าใบที่เห็นนี้ ฉันใช้เส้นตอกไม้ไผ่สำเร็จรูปที่ซื้อมาและอยากลองสานตะกร้าเป็นลวดลายที่ชอบ ไม่ใช่ลวดลายหรูหราอะไร แต่เป็นลายจักสานแบบที่พบได้บ่อยในเครื่องจักสานไม้ไผ่ในชีวิตประจำวันของคนญี่ปุ่น นั่นคือลายสานแบบหกเหลี่ยมที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า คาโกเมะ (Kagome) หรือที่คนไทยเราเรียกว่า ลายตาเหลวหรือลายเฉลวนั่นเอง
ลายสานแบบหกเหลี่ยมนี้ถือว่าเป็นลายพื้นฐานของการสานตะกร้าไม้ไผ่ก็ว่าได้ เพราะสามารถประยุกต์เป็นลายอื่นๆ ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นได้อีกมากมาย หรือแค่เปลี่ยนความถี่-ห่าง เปลี่ยนขนาดเส้นตอก หรือเพิ่มเป็นสานเส้นคู่ก็จะได้ลวดลายสานที่ต่างออกไป ฉันสรุปขั้นตอนการสานตะกร้าใบนี้ไว้ เพราะอยากชวนมาทดลองสานกัน หากไม่มีเส้นตอกไม้ไผ่อาจใช้วัสดุทดแทนอื่นๆ ตามสะดวก เช่น กระดาษแข็ง หรือ เชือกกล้วยแบบแบนก็ได้
ก่อนเริ่มสาน นำเส้นตอกไปแช่น้ำสักพัก จะช่วยให้เส้นตอกนิ่ม ยืดหยุ่น ชุ่มชื้น ไม่แตกหักง่าย เวลาสานการขึ้นลายคาโกเมะนี้ เกิดจากการเรียงเส้นตอกเป็น 3 แนว คือ เส้นเอียงซ้าย 45 องศา เส้นเอียงขวา 45 องศา และเส้นแนวนอน โดยแต่ละแนวจะใช้จำนวนเส้นตอกเท่ากัน คราวนี้ฉันใช้เส้นตอกแนวละ 6 เส้น โดยวางเส้นเอียงขวาก่อน ให้ทั้งหกเส้นขนานกัน ระยะห่างของแต่ละเส้นเรากำหนดเอาตามความถี่-ห่างที่ต้องการ จากนั้นวางเส้นเอียงซ้ายอีกหกเส้นทับลงไป สังเกตจุดตัดกันและระยะห่างของแต่ละเส้นให้สวยงามเท่ากัน
จากนั้นจะเริ่มสานเส้นขวางโดยเริ่มจากตรงกลาง สานแบบขัดขึ้น-ลงสลับกัน สานทีละเส้นโดยสลับขึ้น-ลงจนครบทั้งหกเส้น ก็จะได้ส่วนฐานของตะกร้าซึ่งเป็นทรงหกเหลี่ยม ก่อนจะทำขั้นตอนต่อไป นำฐานที่สานเสร็จไปแช่น้ำอีกรอบให้เส้นตอก เปียก จากนั้นเตรียมตัวหนีบเสื้อไว้สำหรับใช้ช่วยจับเส้นตอก จับเส้นตอกส่วนที่เกิดจากฐานให้ตั้งขึ้น 90 องศา เมื่อจับตั้งขึ้นเส้นที่อยู่ติดกันจะตัดกันพอดี ให้ใช้ตัวหนีบผ้าหนีบไว้ ทำจนครบทุกเส้นแล้วสานขัดด้วยเส้นแนวนอนขึ้นไปทีละแถวจนได้ความสูงที่ต้องการ ตัดปลาย เส้นตอกให้เลย จากเส้นขวางเส้นสุดท้ายขึ้นมาเล็กน้อยแล้วพับเก็บลงตามแนวเส้นขวาง จากนั้นจะเก็บปากตะกร้าด้วยการประกบเส้นขวางอีกเส้นทับลงไปทั้งด้านในและด้านนอก แล้วใช้ตอกฉีกบางๆ พันวนโดยรอบ ตะกร้าสานลายคาโกเมะก็เป็นอันเสร็จ
ไม่น่าเชื่อเลยว่าลายสานกันห่างๆ ที่ไม่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนอะไร ด้วยเส้นตอกที่ดูบอบบาง จะทำให้เกิดเป็นตะกร้าที่แข็งแรงทนทานได้ นับเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่หากไม่ได้ลองทำเองกับมือก็คงจินตนาการไม่ถึง ทว่าความน่าทึ่งของลายคาโกเมะไม่ได้จบแค่ตะกร้า เมื่อมีนักฟิสิกส์ได้ทำการศึกษาโครงสร้างอันแข็งแรงแบบคาโกเมะ โครงสร้างนี้จึงถูกนำไปใช้ประโยชน์ในงานด้านวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ต่อไปอีก เช่น พัฒนาคุณสมบัติระดับโครงสร้างอะตอมของโลหะให้ทนความร้อนได้มากขึ้นอะไรทำนองนั้น และแม้แต่ในงานสถาปัตยกรรม โครงสร้างคาโกเมะก็เคยถูกนำไปใช้เป็นโครงสร้างของเจแปนพาวิลเลี่ยนในงาน World Expo ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2000 ที่เมืองฮันโนเวอร์ ประเทศเยอรมนี ออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Shigeru Ban และอีกครั้งในปี ค.ศ. 2005 ที่จังหวัดไอจิ ประเทศญี่ปุ่น