เวลาเราคิดถึงร้านหนังสือในโตเกียว เรามักจะนึกถึง Kinokuniya หรือ Tsutaya สองเชนร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แล้วถ้าถามว่า “ย่านหนังสือ” ของโตเกียวล่ะ เมืองที่ผู้คนขึ้นชื่อเรื่องการอ่านติดอันดับโลก จะอยู่ที่ไหนกัน? คำตอบคือ จิมโบโจ (Jimbocho : 神保町) ย่านที่ตั้งอยู่แถวคันดะ (Kanda) ใจกลางมหานครโตเกียว

Jimbocho ย่านหนังสือใจกลางกรุงโตเกียวภาพ: bit.ly

บ้างบอกว่า…นี่คือแหล่งรวมหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก

บ้างบอกว่า…นี่คือย่านปัญญาชน ที่สามารถเดินชนไหล่นักคิด-นักเขียนชื่อดังได้ไม่ยาก

บ้างบอกว่า…นี่คือย่านช็อปปิ้งหนังสือที่ถูกที่สุด เพราะมันคือการ “ลงทุนในความรู้” ที่จะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

บ้างบอกว่า…ย่านนี้คือจุดเริ่มต้นของไอเดียใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดเป็นรูปธรรมในอนาคตต่อไป (ผ่านการอ่านจนตกผลึกทางความคิด)

 

แล้วจู่ๆ Jimbocho กลายเป็นย่านหนังสือได้อย่างไร? 

เราคงต้องย้อนอดีตไปสักเล็กน้อย ในสมัยเมจิราวปลายศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นอยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศอย่างหนักด้วยแนวคิดที่ว่า “ประเทศจะพัฒนาได้ ประชาชนต้องมีความรู้” ช่วงนั้นจึงได้เกิดร้านหนังสือ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ห้องสมุดสาธารณะขึ้นมากมาย 

ในตอนนั้นศูนย์รวมความเจริญทางเศรษฐกิจยังอยู่ที่โตเกียวเป็นหลัก ร้านหนังสือ ห้องสมุด สถาบันการศึกษาต่างๆ จึงได้ก่อตั้งขึ้นในย่านจิมโบโจซึ่งอยู่ไม่ไกลจากพระราชวังอิมพีเรียลที่เป็นศูนย์กลางของโตเกียวขณะนั้น จิมโบโจเริ่มมีชื่อเสียงในการเป็นย่านหนังสือตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา (ร้านหนังสือและสถาบันการศึกษาหลายแห่งยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้)

ปัจจุบันจิมโบโจยังคงเป็นย่านอันดับ 1 ของคนรักหนังสือ ประเมินด้วยสายตามีกว่า 200 ร้านกระจายตัวตามตรอกซอกซอยต่างๆ ของย่านนี้ มีทั้งร้านหนังสืออิสระน้อยใหญ่ หนังสือมือสอง หนังสือเก่าหายาก หนังสือต่างประเทศ รวมถึงธุรกิจอื่นในวงการนี้ทั้งหมด (สำนักพิมพ์ Shueisha ผู้รังสรรค์นิตยสาร Shonen Jump ก็มีออฟฟิศใหญ่อยู่ที่ Jimbocho เช่นกัน)

หนึ่งในเอกลักษณ์ของจิมโบโจคือ แผงหนังสือที่วางอยู่หน้าร้าน ตามริมกำแพง ซอกมุมตึก ในสเกลทั่วพื้นที่ของย่าน พร้อมภาพที่ผู้คนยืนอ่านกินหน้าร้านบนฟุตปาธมันตรงนั้น เดินไปไหนก็เจอ ทัศนียภาพที่ IG-friendly สุดๆ ถ่ายมุมไหนก็สวยมีเสน่ห์ (โดยเฉพาะกล้องฟิล์ม!)

ซีนแบบนี้ไม่ได้หาได้ทั่วไปในโตเกียวนะครับ มันเป็นคาแรคเตอร์ที่บอกความเป็น Jimbocho ได้ชัดเจนที่สุด ซึ่งพบเห็นได้ตาม Pop Culture ผ่านภาพยนตร์ ภาพถ่าย และสื่ออีกมากมาย

ภาพ: bit.ly

ศูนย์กลางของย่านคือสถานีรถไฟจิมโบโจ (Jimbocho Station) ซึ่งจะมีถนนยาสึกุนิ (Yasukuni-Dori) กับถนนฮาคุซัง (Hakusan-Dori) ตัดกันเป็นสี่แยกใหญ่ บริเวณรอบๆ ก็จะเป็นตรอกยิบย่อยให้เราได้เดินสำรวจค้นหา โดยร้านหนังสือจะกระจายตัวอยู่ทั่วทุกจุดทั้งถนนใหญ่และตรอกซอกซอย ทีนี้ เราลองมาสำรวจตัวอย่างร้านหนังสือชั้นนำในย่านนี้กัน

 

ร้านหนังสือชั้นนำในย่าน Jimbocho

  • Kitazawa Bookstore (北沢書店)

Kitazawa Bookstore ร้านหนังสือเก่าแก่ใน Jimbochoภาพ: bit.ly

ร้านหนังสือเก่าแก่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1902 เป็นแหล่งรวมหนังสือหายากทั้งหลายแหล่ของญี่ปุ่นและต่างประเทศ ชั้นล่างถูกปรับปรุงใหม่สไตล์โมเดิร์นเรียบหรู มีโซนหนังสือเด็กและพื้นที่ทำกิจกรรมให้นั่งล้อมวงผู้ปกครองอ่านให้เด็กฟัง โซนนี้กลุ่มครอบครัวจะชอบมาก 

เมื่อเดินขึ้นชั้นบน สัมผัสแรกที่รับรู้คือ “กลิ่น” อบอวลของเหล่าหนังสือเก่าหายาก พร้อมการตกแต่งที่ยังรักษาความขลังไว้ได้อยู่ บันไดทางขึ้นเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของร้านที่คลาสสิกมาก แค่ย่างเท้าเข้ามาในร้านก็เหมือนหลุดไปอยู่อีกโลก ไม่เกินเลยจริงๆ หากจะกล่าวว่ามันเหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ภาพ: bit.ly

บรรยากาศได้ หนังสือได้ ปักหมุดเลยครับ แถมสะดวกเพราะอยู่ติดสถานีรถไฟจิมโบโจขึ้นมาก็เจอทันที

  • Yaguchi Bookstore (矢口書店)

ภาพ: bit.ly

ดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1927 อานิสงส์จากหัวมุมแผงหนังสือหน้าร้านอันทรงเสน่ห์ สถาปัตยกรรมตึกเก่าแก่ผ่านกาลเวลา และทำเลที่เรียกได้ว่าใจกลางย่านสุดๆ ทำให้ร้านหนังสือแห่งนี้กลายเป็นแลนมาร์ค เป็นภาพจำของย่านจิมโบโจไปแล้ว! 

Yaguchi Bookstore แลนมาร์คของย่าน Jimbochoภาพ: bit.ly

  • Isseido Bookstore (一誠堂書店)

ภาพ: exci.to

อีกหนึ่งร้านสุดคลาสสิกก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1931 และรอดพ้นจากความเสียหายช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านนี้ขึ้นชื่อเรื่องของสะสมหายากที่มีมาตั้งแต่สมัยเอโดะ-เมจิ และเลิกผลิตไปแล้วในปัจจุบัน รวมถึงหนังสือประวัติศาสตร์ราคาสูงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก

  • Sanseido Bookstore (三省堂書店)

ภาพ: bit.ly

เชนร้านหนังสือรายใหญ่ในญี่ปุ่นในจิมโบโจคือสาขา Flagship Store ของเครือนี้เลย มองเผินๆ มันเหมือนห้างสรรพสินค้ามากกว่าจะเป็นร้าน เพราะมีอยู่ถึง 7 ชั้นด้วยกัน! ภายในรวมหนังสือหลายประเภทหลายภาษาแบ่งเป็นโซนๆ ชัดเจน อีกทั้งยังจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ จิปาถะนอกจากหนังสือด้วย

  • Bumpodo (文房堂)

Jimbocho กับร้านเครื่องเขียนและจำหน่ายสินค้าจิปาถะ Bumpodoภาพ: bit.ly

อีกหนึ่งร้านใหญ่เก่าแก่ประจำย่านที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1887 อ้อ นี่ไม่ใช่ร้านหนังสือ แต่เป็นร้านเครื่องเขียนและจำหน่ายสินค้าจิปาถะล้านแปดที่มีชอยส์ให้เลือกเดินดูได้ทั้งวัน หนังสือดีๆ ย่อมมาคู่กับเครื่องเขียนดีๆ ส่วนใครอยากพักผ่อน ขอให้ขึ้นไปคาเฟ่ที่ชั้น 3 มีที่นั่งริมกระจกมองวิวลงมาได้ สั่งเครื่องดื่มจิบไปพลางอ่านหนังสือที่เพิ่งซื้อมาไปพลาง จะมีอะไรดีกว่านี้อีกไหม?

ย่านจิมโบโจไม่ได้มีแต่ร้านหนังสือเก่าแก่ยักษ์ใหญ่เท่านั้นแต่ยังมีร้านหนังสืออิสระ เล็กแต่มากคุณภาพอยู่มากมาย บางร้านก็เชี่ยวชาญเฉพาะด้านแตกต่างกันไป เช่น 

 

ร้านหนังสืออิสระในย่าน Jimbocho

  • Bohemian’s Guild (ボヘミアンズギルド)

แหล่งรวมหนังสือและผลงานศิลปะหายากทั้งญี่ปุ่นและนานาชาติ ใครสายอาร์ตต้องมาร้านนี้

Bohemian’s Guild ร้านรวมหนังสือหายากใน Jimbochoภาพ: bit.ly

  • Ogawa Bookstore (小川図書)

ร้านหนังสือภาษาอังกฤษ เน้นวรรณกรรมอเมริกัน-อังกฤษเป็นหลัก รวมถึงนิตยสารเก่าแก่หายาก

  • Toho Bookstore (東方書店)

ร้านหนังสือภาษาจีน ทั้งที่ตีพิมพ์ในญี่ปุ่นและนำเข้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงหนังสือที่มาจากไต้หวันและฮ่องกงด้วย

  • Italia Bookstore (イタリア書房)

ร้านหนังสือภาษาอิตาลี ก่อตั้งปี ค.ศ. 1958 เป็นร้านหนังสือแรกๆ ในญี่ปุ่นที่รวบรวมหนังสือภาษาอิตาลี สเปน โปรตุเกสมาไว้ด้วยกัน

  • Tamura Bookstore (田村書店)

เปิดให้บริการตั้งแต่ ค.ศ. 1904 หนังสือส่วนใหญ่ในร้านนี้โฟกัสด้านวรรณกรรมคลาสสิกฝรั่งเศส-เยอรมัน โดยเฉพาะ! (ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16-20) หนังสือภาษาอังกฤษบางส่วนจะอยู่ชั้นบน

  • Nanyodo Bookstore (南洋堂書店)

ร้านหนังสือที่โดดเด่นด้วยการตกแต่งหน้าร้านที่สวยคลาสสิก ตัดกับภายในที่มาแบบสวยเรียบโมเดิร์น เน้นแสงไฟสีนวลตัดกับกำแพงสีขาว มองผ่านๆ เหมือนช็อปแบรนด์เนม!

ภาพ: bit.lyภาพ: bit.ly

ไม่ว่าเรื่องที่คุณอยากรู้จะเป็นหมวดหมู่ไหน รถไฟความเร็วสูง พัฒนาการเด็ก การถ่ายภาพด้วยฟิล์ม วิทยาศาสตร์สมอง สถาปัตยกรรมยุคใหม่ โภชนาการเนื้อสัตว์จากพืช ไบโอเทคโนโลยี และอื่นๆ ร้อยแปด ฯลฯ จิมโบโจจะมีให้คุณเสมอ (อยู่ที่ว่าจะหาเจอหรือเปล่า)

อย่างไรก็ตามด้วยสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ ตัวร้านเองก็ต้องหากำไรเพื่อให้อยู่ได้ หลายแห่งจึงจำเป็นต้องปรับตัวตามกาลเวลา สร้างจุดยืนเป็นแหล่งรวมหนังสือเฉพาะทาง บางแห่งที่มีทุนทรัพย์ มักจะปรับปรุงสร้างความแตกต่างให้ร้านด้วยวิธีการต่างๆ เช่น แบ่งโซนและจัดประเภทหนังสือให้เข้าใจง่าย, จัดทำโซนคาเฟ่ให้คนมานั่ง, จัดโซนกิจกรรมและนัดวันเวลานักเขียนพบปะกลุ่มแฟนผู้อ่าน, อาร์ตแกลเลอรี่, ตกแต่งร้านให้ดูน่าเข้าใช้บริการ เป็นต้น

อ้อ ที่นี่ยังมีการจัด Kanda Used Book Festival หรือเทศกาลหนังสือมือสองประจำปี อย่างปี ค.ศ. 2020 จัดขึ้นปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน โดยวันที่จัดจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี ควรเช็คปฏิทินล่วงหน้า

ภาพ: bit.ly

ภายในงานก็จะมีวางแผงหนังสือตลอดสองข้างทางบนฟุตปาธทั้งเส้น พร้อมสตรีทฟู้ดมากมาย นับเป็นเทศกาลที่ใหญ่ที่สุดของย่าน ครึกครื้น และเต็มไปด้วยนักอ่านนักเขียนตัวยง

Jimbocho จึงเป็นย่านที่มีชีวิตชีวา มีความหลากหลายและมีการปรับตัวอยู่ตลอด เป็นแหล่งรวมนักเรียนนักศึกษา ศิลปินนักเขียน นักกวี กลุ่มปัญญาชนทั้งหลาย ที่สำคัญนักท่องเที่ยวไม่มากนัก เราจึงอยากแนะนำให้คุณลองไปเหลือเกิน

ภาพ: bit.ly

เมื่อมีหนังสือ ก็ต้องมีคนอ่าน เมื่อมีคนอ่าน ก็ต้องหาร้านนั่งอ่านหนังสือ

ช่วงหลายปีมานี้จิมโบโจจึงกลายเป็นอีกหนึ่งย่านที่มี “คาเฟ่” สวยเก๋อยู่ไม่น้อย เช่น 

 

ร้านอาหารและคาเฟ่ในย่าน Jimbocho

  • Sabouru (さぼうる)

ภาพ: bit.ly

คาเฟ่สไตล์ย้อนยุคสุดคลาสสิกอายุกว่า 60 ปี ร้านเล็กๆ มืดขรึมตั้งอยู่ในตรอกซอย ว่ากันว่านักเขียนหลายคนเคยมานั่งใช้เวลาขบคิดค้นหาไอเดียใหม่ๆ ที่ร้านนี้

  • Paper Back Café

ภาพ: bit.ly

ตั้งอยู่ชั้นบนของร้านหนังสือเก่าแก่ Tokyodo Bookstore (ที่เปิดมาตั้งแต่ ค.ศ. 1924) คาเฟ่นี้ราคาเป็นมิตร สภาพแวดล้อมโมเดิร์น ตัวร้านหนังสือก็ปรับโฉมสมัยใหม่เช่นกัน แนะนำให้ขึ้นชั้นบนนั่งติดริมกระจกมองเห็นวิวข้างนอกของย่านได้

ภาพ: bit.ly

  • Curry Bondy (ボンディ)

ภาพ: bit.ly

Jimbocho ไม่ใช่แค่สถานที่อย่างเดียวแต่คือ “ผู้คน” ดังที่กล่าวไปว่ามีสถาบันการศึกษามากมายในละแวกย่านนี้ นักเรียน-นักศึกษาจึงมักมาเดินเล่นฝากท้องกับ “แกงกะหรี่” ที่ Curry Bondy คือหนึ่งในร้านแกงกะหรี่ขวัญใจเยาวชน ถูก-อิ่ม-อร่อย แถมใกล้สถานีสุดๆ

อนึ่ง ร้านหนังสือส่วนใหญ่ในย่านนี้จะเปิดทำการเวลาประมาณ 10:00 น. เป็นต้นไป ส่วนตัวมองว่าเสน่ห์ของย่านนี้จะเปล่งประกายมากที่สุดในช่วงกลางวัน เพราะเมื่อตกดึกนอกร้านเริ่มมืดคนก็ไม่ค่อยยืนอ่านหนังสือกันแล้ว แถมบางร้านก็ปิดค่อนข้างเร็ว ทั้งหมดเป็นตัวอย่างเพียงเสี้ยวหนึ่งของทั้งย่าน ยังมีอะไรน่าสนใจรอให้คุณมาพบเจอด้วยตัวเองอีกเยอะ!

โลเคชั่นที่อยู่ใจกลางเมือง ทำให้จิมโบโจอยู่ห่างจากย่านสำคัญอื่นๆ ในโตเกียวที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างอูเอโนะ ชิบูย่า หรือชินจูกุ ราว 10-15 นาทีโดยรถไฟเท่านั้น!

กลุ่มคนรวยผู้มีอันจะกินจากย่านคากุระซากะ (Kagurazaka) ก็มักใช้เวลายามว่างมาเดินหาซื้อหนังสือดีๆ อ่านกันที่นี่เพราะสองย่านนี้อยู่ห่างกันแค่ประมาณ 1 กิโลเมตรเอง

ทำความรู้จักย่านคากุระซากะได้ที่นี่

ภาพ: amba.to

ส่วนตัวผมคิดว่า แม้คุณจะไม่ใช่นักอ่านตัวยงก็ควรค่าแก่การแวะมาสำรวจจิมโบโจอยู่ดี มันเป็นมากกว่าแค่ย่านหนังสือ ผมมองว่ามันคือทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) ไปแล้วที่อยู่คู่โตเกียวผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน

เมื่อเรามองว่ามันไม่ใช่หนังสือ แต่คือวัฒนธรรม
เมื่อนั้น มุมมองการเที่ยวของเราจะเปลี่ยนไป…

อนึ่ง หากอยากได้หนังสือภาษาอังกฤษ (และภาษาอื่นๆ) ให้มองหาคำนี้ 洋書 (Yosho) ซึ่งแปลว่า “หนังสือต่างประเทศ” นั่นเอง

 

การเดินทางไป Jimbocho

เฉกเช่นทุกย่านสำคัญในญี่ปุ่นก็ว่าได้ สิ่งหนึ่งที่ผมชอบมากคือ ทุกย่านจะมีรถไฟไปถึงหน้าใจกลางย่านเลย จิมโบโจก็เช่นกัน ให้เรานั่งรถไฟใต้ดินมาลงที่สถานีจิมโบโจ (Jimbocho Station) ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางพอดีเป๊ะ สะดวกสบายมากเพราะมีรถไฟหลายสายวิ่งผ่าน ได้แก่ Hanzomon Line (Metro), Shinjuku Line และ Mita Line (Toei)

โลเคชั่นที่อยู่ใจกลางเมือง ทำให้ Jimbocho อยู่ห่างจากย่านสำคัญอื่นๆ ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Ueno, Shibuya, Shinjuku เพียง 10-15 นาทีด้วยรถไฟเท่านั้น!

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ