ทำไมฟุตปาธในญี่ปุ่น ถึงเดินได้อย่างสบายใจ?
สารบัญ
ไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ไม่ว่าสถานที่อันสวยงามจะตั้งอยู่ที่ใด ย่อมมีทางเท้าไปที่นั่นเสมอ…
และเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่คนไทยทุกคนที่ไปท่องเที่ยวในญี่ปุ่น ได้สัมผัสแล้วรู้สึกสบายใจอุ่นใจ และรู้สึกดีด้วยคือ “ทางเท้า”
นำมาสู่คำถามที่ว่า “ทำไมฟุตปาธในญี่ปุ่น ถึงเดินได้อย่างสบายใจ?” ต้องเรียนว่าความสบายใจที่ดูเรียบง่ายเบื้องหน้านี้ แต่ “เบื้องหลัง” มีรายละเอียดที่คำนึงถึงผู้ใช้งานมากมายและเต็มไปด้วยงานออกแบบที่ผ่านการคิดทางวิศวกรรมมาแล้ว ลองมาดูกันครับ
1) ความกว้าง
อย่างแรกเลยต้องดูถึงหน้าที่พื้นฐานที่สุดของการมีฟุตปาธเลยก็คือ “มีไว้เดิน” การที่ผู้คนในเมืองจะเดินผ่านไปมาได้ นั่นหมายถึงทางเท้าต้องมี “ความกว้าง” มากพอที่จะสามารถรองรับผู้ใช้งาน ‘หลากหลายกลุ่ม’ ได้
โดยมาตรฐานคนเดินปกติทั่วไปใช้พื้นที่ความกว้าง 0.75 ม./ คนขี่จักรยาน 1 ม./ ผู้ใช้รถเข็น 1 ม./ รถเข็นเด็ก 1 ม./ ผู้ใช้พิการทางสายตาที่ใช้สุนัขเดินนำทาง 1.5 ม. ฯลฯ
ในบริเวณที่เป็นทางเดินแคบๆ ทางเท้าต้องมีความกว้างประสิทธิผลอย่างต่ำ 2 ม. เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นสวนกันได้ (ความกว้างประสิทธิผล = ความกว้างที่ใช้งานได้จริงในทางปฏิบัติ) ส่วนฟุตปาธที่อนุญาตให้จักรยานขึ้นมาขี่ได้ ต้องมีความกว้างประสิทธิผลขั้นต่ำ 3 ม. (ทั้งนี้ระวังคนขี่จักรยานด้วยก็ดี บางคนมาอย่างเร็ว ฮ่าๆๆ ^^)
2) ตัวฟุตปาธ
ผิวฟุตปาธที่ญี่ปุ่นจะ “เรียบสนิท” ก่อสร้างอย่างพิถีพิถัน ปูบล็อกอัดแน่น ทำให้เดินได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด ไม่ต้องมานั่งกังวลหรือคอยจำว่า จุดนี้ จุดนั้นผิวขรุขระ พื้นมีปัญหาต้องระวัง แถมเมื่อฝนตก…น้ำไม่ดีด! (มันดีตรงนี้)
3) สะอาด
“ฟุตปาธในญี่ปุ่นสะอาดระดับที่สามารถลงไปนอนได้” เป็นคำแซวเล่นที่ได้ยินบ่อยเหลือเกิน ความสะอาดของฟุตปาธเริ่มมาจากการเลือกใช้ “วัสดุ” ในการปูทางเท้าที่มีคุณภาพ รวมถึง “ขั้นตอนการสร้างทางเท้า” ที่เก็บงานได้เนี้ยบเป็นระเบียบ เศษฝุ่นไม่เยอะจนเกินไป
ต่อไปก็อยู่ที่ “พฤติกรรมคนเดิน” แล้วล่ะ ว่าจะให้ความร่วมมือรักษาความสะอาดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งคนญี่ปุ่นก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี คนญี่ปุ่นจะพยายามหลีกเลี่ยงการเดินไปกินไป เพราะของที่กินอาจหกลงพื้นได้ ไม่บ้วนสิ่งไม่พึงประสงค์ลงบนทางเท้า ไม่ทิ้งขยะเรี่ยราด เมื่อมีเศษขยะในมือก็ไม่แอบไปทิ้งไว้ข้างพุ่มหญ้าหรือข้างเสา แต่จะเก็บไว้กับตัวจนกว่าจะเจอถังขยะ เมื่อพาหมาแมวออกมาเดินเล่น จะเตรียมผ้าเช็ดทำความสะอาดไว้เผื่อกรณีน้องๆ อุจจาระ และไม่มีการทิ้งบอมบ์ไว้กลางทาง
นอกจากนี้ที่อยู่อาศัยหลายแห่งในตอนเช้าๆ ก็จะมี ‘อาสาสมัคร’ บ้างมาแบบส่วนตัว บ้างนัดกันเป็นกลุ่ม ออกมาทำความสะอาดบริเวณละแวกที่ตนอยู่อาศัย หรือบรรดาออฟฟิศบางแห่ง (มักไม่ใช่ตึกออฟฟิศใหญ่โต) ก่อนเริ่มงานในตอนเช้าก็มักจะให้พนักงานออกมาทำความสะอาด เก็บขยะเล็กๆ น้อยๆ หน้าตึก เหล่านี้เป็นการสร้างจิตสำนึกว่าเราอยู่ในชุมชนนั้นๆ ก็ควรบำรุงรักษาแหล่งพำนักพักอาศัยของตนเอง
สิ่งใดก็ตามที่สะอาดมากๆ ย่อมดูดีดูพิเศษไปโดยปริยาย
4) ทางเชื่อมเป็น Slope ทางลาด
สังเกตไหมครับว่า ทางเดินที่เป็นจุดเชื่อมต่ออย่างเช่น ทางม้าลาย จุดเริ่มต้นจากฟุตปาธทางเท้าจะค่อยๆ ลาดชันเป็นสโลปลงไป และเมื่อจะเดินขึ้นอีกฝั่งหนึ่งก็จะค่อยๆ สโลปลาดชันขึ้น ทำให้เดินได้อย่างต่อเนื่องไม่มีสะดุด ผิวทางเท้าไม่ได้ถูกแบ่งระดับอยู่สูงกว่าระดับผิวถนนหรือผิวทางม้าลายเลยทำให้ “ไม่ต้องก้าวขึ้น-ก้าวลง” ฟุตปาธ แถมเป็นผลดีกับผู้ใช้รถเข็น Wheelchair ก็สามารถผ่านทางได้อย่างสบายราบรื่น
5) ไม่มี “สิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็น”
ทางเท้าในญี่ปุ่นออกแบบมาเพื่อเดิน พยายามลดสิ่งกีดขวางที่ไม่จำเป็นอาทิ โต๊ะนั่งของร้านค้า และคงไว้เฉพาะที่จำเป็นอาทิ ต้นไม้/ ป้ายรถเมล์/ จุดจอดจักรยาน/ ป้ายจราจรติดริมทางเดิน
เมื่อไม่มีสิ่งกีดขวาง ทางเดินที่ออกแบบมาตั้งแต่ต้นจึงใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพไม่ต้องคอยเดินหลบ ^^ (ทั้งนี้ที่เมืองฟุกุโอะกะ (Fukuoka) มีพื้นที่บางแห่งอนุญาตให้มีแผงลอยค้าขายได้ แต่มีการจัดระเบียบอย่างเข้มงวด)
ตามในซอยแคบหลายแห่งไม่มีทางเท้าด้วยข้อจำกัดด้านกายภาพต่างๆ แต่ญี่ปุ่นก็ยังเผื่อพื้นที่สำหรับคนเดินเสมอ โดยจะตีเส้นขอบถนน แบ่งพื้นที่ระหว่างรถกับคนเดิน และบรรดาท่อระบายที่อยู่ริมทางเดิน ผิวจะเรียบสนิท ไม่มีท่อน้ำตัว V ที่เดินไม่ระวังอาจสะดุดข้อเท้าพลิกได้
Part1 ขอพอเท่านี้ก่อน ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย สามารถอ่าน Part2 ต่อได้ที่นี่