แต่ไหนแต่ไรมาหากได้พูดคุยกับผู้หญิงเรื่องการสวมใส่บรา ฉันมักได้ความเห็นทำนองว่า ‘หาที่พอดีตัวไม่ได้’ ‘อยากสวยต้องอดทน’ ‘ไม่เคยเจอที่ถูกใจ’ หรือ ‘ถ้าไม่ใส่ได้ก็คงดี’ ตัวฉันเองก็เป็นหนึ่งในนั้น แม้ไม่คิดจะลุกขึ้นมาเรียกร้องความเท่าเทียมโดยโยนความไม่พอใจทั้งหมดให้กับบรา แต่ตลอดมาก็รู้สึกเสมอว่าอยากเจอทางเลือกที่สามารถเลือกได้อย่างเต็มใจ มากกว่าเลือกเพราะจำเป็นต้องเลือกเพราะจำเป็นต้องใส่

นอกจากในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง ฉันยังสนใจเรื่องบราและชุดชั้นในจนกลายเป็นงานอีกงานหนึ่ง นั่นคือการทำแบรนด์ชุดชั้นในทางเลือก เพราะเหตุนี้เรื่องราวเกี่ยวกับชุดชั้นในทางเลือกจึงเป็นสิ่งที่ฉันติดตามอยู่เสมอ แล้ววันหนึ่งก็อ่านเจอข่าวเกี่ยวกับบราที่มีชื่อว่า “วาโนวะบรา (Wanowa Bra)” ที่แพร่หลายในเหล่าสตรีชาวญี่ปุ่นที่อาศัยในศูนย์อพยพ ระหว่างที่เกิดภัยพิบัติพายุฝนถล่มในจังหวัดโอคายาม่าเมื่อปี ค.ศ. 2018 ว่าแต่บราแบบไหนกันนะที่เหมาะกับชีวิตในศูนย์อพยพ

ก่อนอื่น ขอให้ลืมภาพบราผ้าลูกไม้บุฟองน้ำพร้อมโครงลวดช่วยกระชับสัดส่วนไปก่อน บราที่ว่านี้ฉันขอเรียกตามลักษณะของมันว่า “บราวง” เมื่อวางอยู่เฉยๆ นั้นดูเหมือนผ้าเช็ดหน้าผืนยาวหรือปลอกหมอนใบเล็กๆ มากกว่า เนื่องจากเป็นบราที่ตัดเย็บด้วยผ้าธรรมดาอย่างผ้าฝ้าย หรือผ้าลินิน ลักษณะเป็นผืนสี่เหลี่ยมคล้ายผ้าแถบ และมีสายเชือกคล้องที่สามารถรูดให้ผ้ารัดเข้ามาให้พอดีตัวทั้งช่วงไหล่และบริเวณรอบใต้อก ซึ่งลักษณะของบราที่หน้าตาไม่เหมือนบรานี่เองที่กลับเป็นข้อดี ลองนึกภาพตามนะคะ…

เมื่อเผชิญกับภัยพิบัติ ผู้คนต้องอพยพจากบ้านของตัวเองมาพักที่ศูนย์อพยพเพื่อความปลอดภัย คนส่วนใหญ่ก็คงไม่สามารถเตรียมข้าวของเครื่องใช้มาอย่างครบครัน หรือบางครั้งเหตุภัยพิบัติก็อาจกินเวลานานหลายวัน กว่าผู้ประสบภัยจะสามารถกลับไปยังบ้านของตนได้ แม้ที่ศูนย์อพยพจะมีข้าวของเครื่องใช้จำเป็นถูกส่งมาจากที่ต่างๆ แต่สำหรับผู้หญิง สิ่งของจำเป็นอย่างบราอาจไม่มีขนาดที่พอดีหรือบางครั้งอาจมีดีไซน์ฉูดฉาดเตะตา เมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนจำนวนมาก การตากชุดชั้นในจึงเป็นเรื่องที่ชวนให้ลำบากใจ

“บราวง” ที่มีลักษณะเป็นแถบผ้าพันรอบตัว ใช้การดึงเชือกรูดแล้วผูกโบว์จึงตอบโจทย์เรื่องความกระชับพอดี กับผู้สวมใส่ที่ขนาดตัวแตกต่างหลากหลาย เพราะสามารถปรับขนาดได้ แถมเวลาถอดออกไปซักและตาก ก็กลายเป็นแค่ผืนผ้าสี่เหลี่ยมที่ไม่ชวนให้สะดุดตา ที่สำคัญกว่านั้นคือแพทเทิร์นของ “บราวง” ยังเรียบง่าย เพียงแค่ใช้เข็มกับด้ายเป็นก็สามารถเย็บบรานี้ด้วยมือได้ ข่าวที่ฉันอ่านพบรายงานว่า ในศูนย์อพยพที่จังหวัดโอคายาม่านั้น “บราวง” ทำมือได้รับความนิยมจากสาวๆ น้อยใหญ่ เพราะทั้งใส่สบายและมีลวดลายน่ารักสวยงาม เป็นบราทำมือที่พวกเธอชวนกันทำให้ตัวเองและทำเผื่อผู้ประสบภัยคนอื่นๆ โดยใช้วัตถุดิบจากสิ่งของที่ได้รับบริจาคมา

ตัวอย่าง “Wanowa Bra” บราทำมือจากญี่ปุ่นภาพ:www.japantimes.co.jp

“วาโนวะบรา (Wanowa Bra)” เกิดจากไอเดียของคุณโอนิชิ เคโกะ (Keiko Onishi) ซึ่งเธอเองก็เคยเป็นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวครั้งใหญ่มาก่อน เมื่อทราบข่าวพายุฝนกระหน่ำจังหวัดทางตะวันตกของประเทศคราวนั้น เธอจึงโพสต์แพทเทิร์นและสอนวิธีใช้ในบล็อกของเธอเพื่อสื่อสารไปยังผู้ประสบภัย จนบราที่เธอคิดค้นนี้ถูกนำไปใช้ในศูนย์อพยพหลายแห่งในเวลาต่อมา

คุณเคโกะริเริ่มไอเดียบราทำมือนี้ราวปี ค.ศ. 2013 และทำแบรนด์จริงจังในปีถัดมา เป็นบราที่ตัดเย็บด้วยผ้าเส้นใยธรรมชาติ แล้วใช้เชือกร้อยกันเข้าเป็นวง เธอตั้งใจออกแบบบราเพื่อแก้ปัญหาความไม่น่าพึงพอใจจากบราแบบเดิมๆ จุดเด่นคือใส่แล้วหายใจสะดวก ไม่รัดจนแน่นอึดอัด ไม่รั้งไหล่ ไม่ต้องกังวลเรื่องสายบราหล่นบ่อย และช่วยให้แผ่นหลังยืดตรงขึ้น คุณเคโกะเขียนไว้ในบล็อกของเธอว่า เธอหวังว่าบราที่เธอคิดค้นขึ้นมาจะช่วยให้ผู้หญิงที่ได้ใส่รู้สึกดี ไม่ต้องทนฝืนใส่บราที่ไม่สบาย และรู้สึกมีความสุขกับการเป็นผู้หญิง

คุณเคโกะตระเวนจัดเวิร์คช็อปกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้ลูกค้าได้มาลงมือเย็บบราด้วยตัวเอง เมืองแล้วเมืองเล่าที่เธอได้เดินทางไป ชวนสาวๆ มานั่งล้อมวงเย็บบรา โดยคุณเคโกะเตรียมผ้าที่ตัดตามขนาดและอุปกรณ์มาไว้ให้ หากลองพยายามหาข้อมูลของ “วาโนวะบรา” เราจะไม่พบเว็บไซต์หรือช่องทางสื่อสารใดๆ ที่มุ่งเน้นขายสินค้า แต่จะเจอภาพของกลุ่มสตรีนั่งเย็บผ้าร่วมกัน ในบรรยากาศที่ดูอบอุ่นและผ่อนคลาย คุณเคโกะกล่าวย้ำเสมอในบล็อกของเธอว่า เธอไม่ได้ต้องการแค่ทำสินค้าให้ขายดีหรือทำให้บราที่เธอออกแบบแพร่หลายออกไปในฐานะผลิตภัณฑ์หนึ่งเท่านั้น สิ่งที่เธออยากส่งต่อไปยังสตรีชาวญี่ปุ่นคือพลังงาน เธอต้องการสร้างพื้นที่พบปะเล็กๆ ที่จะได้ส่งต่อพลังงานระหว่างผู้หญิงด้วยกัน ให้ตระหนักถึงคุณค่าของตัวเอง ฟังเสียงร่างกาย ฟังเสียงหัวใจตัวเอง โดยมี “บราวง” เป็นเครื่องมือ

ฉันเองในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งและมีความผูกพันกับงานเย็บปักถักร้อย เข้าใจดีว่าการนั่งล้อมวงทำงานเย็บผ้าปักผ้าไปด้วยกันนั้นเป็นช่วงเวลาที่สงบและสบายใจอย่างประหลาด อาจมีบทสนทนาเล็กๆ เกิดขึ้น ใครไม่เข้าใจตรงไหนก็ถามไถ่กัน หรือบางทีต่างคนก็ต่างจดจ่ออยู่กับงานในมือเงียบๆ มองจากภายนอกอาจดูเหมือนกิจกรรมฆ่าเวลาของกลุ่มแม่บ้านที่ไม่สลักสำคัญอะไร คงมีแต่คนที่ได้เคยนั่งล้อมวงแบบนั้นเท่านั้นล่ะที่รู้ว่ามันอุ่นใจเพียงใด

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ