Ginkakuji ชมสวนแห้ง ศาลาเงิน เพลินตะวันออกเกียวโต
เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในหมุดหมายสำคัญของการเยี่ยมชมเกียวโตของคนทั่วทุกมุมโลกคือคินคะคุจิ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่าวัดทอง ดูได้จากความยาวของคนที่มารอคิวเข้าชมวัดทองในยามเช้ายามที่หิมะห่มคลุมเกียวโต จนเมื่อผมมาอยู่เกียวโต นักเรียนไทยผู้อยู่มาก่อนต่างบอกว่าวัดทองจะเป็นวัดที่นักเรียนไทยในเกียวโตได้ไปบ่อยนะ เพราะเวลาคนไทยมาเที่ยวเกียวโตก็จะถูกให้พาเที่ยวไปเที่ยววัดทองเป็นประจำ แต่วันนี้ไม่ได้จะพาไปคินคะคุจิ (Kinkakuji Temple) แต่จะพาไปอีกฝั่งเมืองเพื่อชม กินคะคุจิ (Ginkakuji Temple) อีกวัดที่คู่กัน
เรื่องเริ่มต้นราวปี ค.ศ. 1482 โชกุนอะชิคะงะ โยชิมิสะ (Yoshihisa Ashikaya) ผู้เจริญรอยตามโชกุนอาชิคากะ โยชิมิตสึ (Yoshimitsu Ashikaya) ผู้เป็นปู่ และเป็นผู้สร้างคินคะคุจิ เขาเริ่มต้นสร้างคฤหาสน์สำหรับวัยเกษียณแบบปู่ อันเป็นความต่อเนื่องจากการสร้างศาลาทองที่คินคะคุจิ ในเวลาต่อมาคฤหาสน์นี้ถูกเปลี่ยนการใช้งานเป็นวัด และถูกเรียกว่ากินคะคุจิเพราะโชกุนอะชิคะงะมีความต้องการสร้างศาลาเงินด้วยการปิดแผ่นเงิน แม้ว่าในภายหลังจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้เนื่องจากสงคราม คินแปลว่าทอง กินแปลว่าเงิน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดทั้งสองนี้
กินคะคุจิต่างจากคินคะคุจิในแง่การออกแบบสวน การจัดลำดับในการเข้าชมวัดอย่างมาก วัดนี้เป็นวัดในนิกายเซน แน่นอนว่าส่วนที่เด่นของภูมิทัศน์วัดเซนคือสวนแห้ง แต่การเข้าชมสวนแห้งที่นี่มีความโดดเด่นกว่าวัดอื่นในเกียวโตคือลำดับการเข้าถึงส่วนต่างๆ ในสายตาของผมที่เป็นสถาปนิก มันมีลำดับการเข้าชมแต่ละส่วนอย่างมีชั้นเชิง เมื่อเข้ามาถึงหน้าวัดจวบจนผ่านซุ้มขายตั๋ว จะพบกับซุ้มไม้พุ่มสูงราวกับบ้าน 2 ชั้น มันทำหน้าที่อำพรางเรื่องราวด้านหลังให้ชวนสงสัยว่าภายในวัดจะเป็นเช่นไร การคาดเดาไม่ได้ ความรู้สึกแปลกใจมีเสน่ห์เสมอในการเดินทาง
ผ่านพุ่มไม้สูง เดินลัดเลาะจนถึงด่านแรก สถาปัตยกรรมส่วนที่เป็นศาลาเงินถูกทำให้ถ่อมตัวไปด้วยสวนและธรรมชาติโดยรอบ จนมาพบกับโคเก็ตสึไดหรือเนินประสบจันทร์ที่มีรูปทรงกรวยคว่ำ สื่อถึงภูเขาไฟฟูจิที่วางตัวบนอยู่กินยะดังหรือหาดทรายสีเงิน พื้นที่สวนส่วนนี้ถูกวางพาดไปให้สัมพันธ์กับสถาปัตยกรรมในวัด เมื่อมองจากหาดทรายจะพบอารามอยู่ใต้พุ่มไม้กลมกลืนไปกับแนวเขาด้านหลัง พร้อมกับชักชวนให้เดินชมไปรอบวัด ในพื้นที่ระหว่างอาคารมีซอกไม่กว้างนักแต่ก็ถูกสร้างสรรค์สวนแห้งแทรกได้อย่างมีสุนทรียะ เดินลัดเลาะสวนก่อนกลับในฤดูร้อน ผ่านสวนรกครึ้มที่เป็นเชิงเขาฮิกาชิยามะ ต้นมอสห่มคลุมผืนดินจนดูว่าความชื้นจะซึมเข้าไปในลมหายใจทุกย่างก้าว มอสเป็นพืชที่มีหลายนัย นัยหนึ่งมันคือความรกร้างในสถานที่ นัยหนึ่งมันคือความรื่นรมย์ ความรื่นรมย์ในการชมสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นจึงเข้าถึงสุนทรียภาพด้วยการชมและซาบซึ้งธรรมชาติ แม้ว่ามันจะดูคราคร่ำไปด้วยคราบไคลของกาลเวลา
Info
Ginkakuji
Hours: 1 มี.ค.-30 พ.ย. 8:30-17:00 น., 1 ธ.ค.-28 ก.พ. 9:00-16:30 น.
Holiday: –
Entrance Fee: ผู้ใหญ่ 500 yen, นักเรียนชั้นประถมและมัธยมต้น 300 เยน
Nearest Bus Stop: ป้ายกินคะคุจิ มิจิ (Ginkakuji-michi Bus Stop)
Access: นั่งเกียวโตซิตี้บัส (Kyoto City Bus) หมายเลข 5, 17, 32, 100, 102, 203 หรือ 204 ลงที่ป้ายกินคะคุจิ มิจิ
Website: www.shokoku-ji.jp
อ่านคอลัมน์ Ma – 間 อื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่