เมืองเกียวโตมีภาพจำคือเต็มไปด้วยวัดวังมากมาย แต่วัดที่มีชื่อเสียงล้วนกระจุกอยู่ในตัวเมืองเสียมาก แต่ถ้าใครได้ลองใช้เวลาอยู่เกียวโตนานพอ จะรู้ว่าที่นี่มีสถานที่ควรไปเยี่ยมชมที่ไม่ได้นิยมในการท่องเที่ยวกระแสหลัก แต่ในเรื่องรายละเอียดที่สามารถเก็บเกี่ยวได้นั้น ขอยืนยันว่ามีความอิ่มเอมไม่แพ้กัน

ที่สำคัญนักท่องเที่ยวไม่พลุกพล่าน สามารถเดินทอดน่อง เสพรายละเอียดได้อย่างละเลียด

หากสนใจบรรยากาศแบบนี้ ขอแนะนำให้พาตัวเองหนีออกจากตัวเมืองเกียวโต แล้วหาวันว่างสัก 1 วัน เพื่อไปเยือนเมืองโอฮาระ ในหุบเขาฮิเอ (Hie) เมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือที่อยู่ท่ามกลางเขตชนบทเกียวโต ใช้เวลาเดินทางโดยรถประจำทางจากตัวเมืองเกียวโตราว 1 ชั่วโมง ก็จะพบตัวเองอยู่ที่โอฮาระแล้ว เมืองนี้เป็นแหล่งทำการเกษตรที่ส่งผัก ผลไม้ มาขายยังเมืองเกียวโตที่อยู่ทิศใต้ของเขาฮิเอ หลังจากเดินออกจากท่ารถประจำทาง ขอให้พาตัวเองเดินขึ้นเขาที่ค่อยๆ ลาดชัน ก็จะพบกับร้านรวงต่างๆ ที่ขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรต่างๆ ทั้งผักสด ผักดองแบบต่างๆ ในราคาจับต้องได้ เพราะได้มาซื้อที่แหล่งผลิตโดยตรง หากได้มาเยือนโอฮาระในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี เราก็จะได้ชมความงามจากสีโทนร้อนของใบเมเปิ้ลไปตลอดทางเดินขึ้นเขา

ว่าแต่ว่า จะขึ้นเขาไปทำไมกันนะ

จุดหมายปลายเท้าวันนี้ของผมพามาหยุดที่วัดโฮเซนอิน (Hosen-in Temple) เป็นวัดพุทธนิกายเทนได (Tendai) ตัววัดเป็นอารามย่อยของวัดโชรินอิน เพื่อเป็นที่พำนักของพระสงฆ์อาวุโส การเดินทางมาชมวัดโฮเซนอิน ผมตั้งใจเลือกมาเข้าชมในช่วงบ่าย เพื่อชมแสงอาทิตย์ที่ลอดกรอบภาพจากหน้าต่างภายนอก และทำความเข้าใจกับการจับภาพลงในกรอบเวลา ให้เห็นความงามในช่วงเวลานั้นๆ กับพื้นที่ภายในสถาปัตยกรรมญี่ปุ่น ที่มักใช้แนวคิดเรื่องการสร้างกรอบภาพเชื่อมโยงทิวทัศน์ภายนอกและภายในเข้าด้วยกัน

วัดโฮเซนอิน (Hosen-in Temple)

ผมเดินผ่านซุ้มทางเข้า ก่อนพาตัวเองเลี้ยวเข้ามาในวัด พร้อมกับนึกถึงประวัติของวัดนี้ที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1012 ตัวอารามย่อยนี้สร้างจากไม้เก่าของปราสาทฟุชิมิ (Fushimi Castle) ที่เกิดศึกเมื่อปี ค.ศ. 1600 จนเป็นเหตุให้ โทริอิ โมโตทาดะ (Mototada Torii) นักรบของโชกุน โทกุงาวะ อิเอยาสึ (Ieyasu Tokugawa) และกองกำลังจำนวนหลายร้อยของเขา ตัดสินใจจบชีวิตด้วยวิธีเซ็ปปุกุ (ฮาราคีรี) จากการที่ศัตรูปิดล้อมปราสาทในการศึกครั้งนั้น ข้อมูลจากทางวัดบอกว่า คราบเลือดอันโหยหวนนี้ยังติดอยู่บนไม้ฝ้าเพดานเก่าที่นำมาจากปราสาทฟุชิมิ

ผมได้แต่แหงนหน้าขึ้นเพ่งผ่านคราบกาลเวลายามบ่ายนั้น

เมื่อพาตัวเองเข้ามายังพื้นที่ภายในอารามย่อยส่วนนี้แล้ว ต้นสนยักษ์อายุกว่า 700 ปี ได้ปรากฏชัดขึ้น แม้ว่าจะเคยเดินผ่านเมื่อเดินเข้ามาแล้วก็ตาม ที่ต้นสนนี้ชัดเจนขึ้นเพราะมันถูกขับเน้นด้วยกรอบหน้าต่าง ภายในอารามมีความสลัวจากชายคา ภาพต้นสนและทิวทัศน์ภายนอกจึงสว่าง ทำให้สถาปัตยกรรมกลายเป็นพื้นที่ชมทิวทัศน์ พร้อมเป็นกรอบภาพ พื้นที่ระเบียงภายในที่ติดหน้าต่างถูกปูด้วยพรมแดง ตรงจุดนี้เจ้าหน้าที่ทางวัดนำขนมพร้อมชาเขียวมาเสิร์ฟพร้อมคำนับอย่างดี ผมคำนับตอบด้วยรู้สึกถึงความเคารพในงานที่พวกเขาทำอย่างเต็มเปี่ยม

ต้นสนใหญ่ที่วัดโฮเซนอิน (Hosen-in Temple)

การเข้าชมอารามย่อยนี้ทำให้ผมพบว่าสถาปัตยกรรมในเอเชียหลายส่วนถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการนั่งพื้น ทั้งกรอบหน้าต่างที่จับภาพต้นสน หน้าต่างสูงไม่เกินเอว แต่กรอบส่วนล่างเปิดติดพื้น ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมที่ออกแบบด้วยวิธีแบบตะวันตก ส่วนนี้จะเป็นส่วนเกินของการใช้งาน เพราะไม่สอดคล้องกับสัดส่วนของเฟอร์นิเจอร์ แต่กับการนั่งลงใช้งานที่พื้นแบบตะวันออก บานเหล่านี้ทำหน้าที่เปิดไปยังสวนด้านข้าง การมาชมสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นในประเพณีแบบนี้ จึงควรนั่งชมที่พื้นด้วยระยะเวลาที่พอสมควร พอที่จะเห็นความงามจากแสงแดดค่อยๆ เปลี่ยนไปตามมุมในแต่ละช่วงเวลา ผมพบเห็นผู้คนเข้าออกชมวิวต้นสน คู่รักมาหยอกล้อกันภายใต้แดดยามเย็น

ก่อนกลับขอให้มาเยือนสวนแห้งข้างอารามนี้ จากปกติจะพบเป็นลานกรวดสีขาว แต่ที่นี่จะเป็นทรายสีขาวละเอียด ก่อทรายเป็นทรงกรวย มีจังหวะจะโคนที่ออกแบบให้รับไปกับสภาพสวนหินโดยรอบ เป็นรายละเอียดที่แปลกตา ไม่ค่อยได้พบนัก ถ้าได้กลับมาเยือนเวลาหิมะตก ที่นี่คงงามด้วยภาพอีกแบบ

Info
Hosen-in Temple
Hour: 9:00-17:00 น.
Holiday:
Entrance Fee: ผู้ใหญ่ 800 เยน, นักเรียนชั้นมัธยม 700 เยน, นักเรียนชั้นประถม 600 เยน
Website: hosenin.net
Access: เดินจากป้ายรถประจำทาง Ohara ใช้เวลาประมาณ 9 นาที

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ