Furoku นิตยสารสำหรับผู้หญิงฉบับแรกของประเทศญี่ปุ่นถือกำเนิดขึ้นในช่วงปลายสมัยเมจิ เมื่อวันที่ 11 เมษายน ค.ศ. 1902 นิตยสารเล่มนั้นมีชื่อว่า “โชโจะไค” (少女界)

 

Furoku นิตยสาร “โชโจะไค” (少女界)ภาพ: http://archives.pref.yamaguchi.lg.jp

 

นอกจาก “โชโจะไค” ยังมีนิตยสารอื่นๆ ที่ตีพิมพ์ตามออกมาอีกหลายหัว นิตยสารผู้หญิงที่มีบทความเกี่ยวกับความรู้ทั่วไปเหล่านี้มักตีพิมพ์ผลงานของนักเขียนชื่อดังต่อเนื่องเป็นตอนๆ มีภาพวาดหรือภาพประกอบบทความจากศิลปินที่สาวๆ หลงใหล คอยอัพเดตข่าวคราวข้อมูลเกี่ยวกับแฟชั่น ดนตรีและมีหน้าตอบจดหมายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากผู้อ่าน ทั้งหมดนี้ล้วนมีอิทธิพลต่อสาวๆ ในสมัยนั้น ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้หญิงญี่ปุ่นนิยมศึกษาต่อในระดับสูงขึ้น และยังไม่มีโทรทัศน์

 

Furoku นิตยสารผู้หญิงในสมัยเมจิภาพ: http://hiroshioka1125.life.coocan.jp

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับนิตยสารผู้หญิงจากสมัยเมจิผ่านสมัยไทโชมาจนถึงสมัยโชวะ นั่นก็คือการบุกเบิกของแถมพร้อมนิตยสารที่ดูมีค่าและน่าสะสม เรียกกันว่า “ฟุโระขุ” (付録) เมื่อนึกถึงของแถมที่มากับนิตยสารผู้หญิงญี่ปุ่นในปัจจุบัน ฉันก็จะเห็นภาพพวกสติ๊กเกอร์ กระเป๋าเล็กๆ สำหรับใส่เครื่องเขียนหรือเครื่องสำอาง จาน แก้วน้ำ ที่รองแก้ว กระเป๋าสะพาย ถุงผ้า สมุดไดอารี่ ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นคอลลาโบเรชั่นกับแบรนด์แฟชั่นทั้งในและนอกประเทศที่สาวๆ กำลังปลื้ม ไม่ก็เป็นสินค้าที่ตกแต่งด้วยภาพและลวดลายน่ารักๆ จากคาแรคเตอร์ชื่อดังระดับโลก (อย่างเช่นมูมินที่มีให้เห็นบ่อยสุดๆ) 

 

ภาพ:https://www.hmv.co.jp

Furoku ของแถมต่างๆ จากนิตยสารผู้หญิงญี่ปุ่นภาพ:https://www.hmv.co.jp

 

แต่ของแถมในสมัยก่อนแตกต่างออกไป เพราะส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษและเป็นคอลลาโบเรชั่นกับจิตรกรญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น อย่าง Takehisa Yumeji (กวีและจิตรกรที่ฉันชอบมากๆ), Junichi Nakahara, Chiaki Fujii, Haruki Sato, Hiroshi Katsuyama ฯลฯ ซึ่งของแถมเหล่านี้ก็ช่างเหมาะกับไลฟ์สไตล์แสนเรียบง่ายในยุคสมัยของพวกเธอ เช่น ที่คั่นหนังสือ สมุดฉีก โปสการ์ด กระดาษกับซองจดหมาย ปฏิทิน หนังสือไซส์มินิ ตุ๊กตากระดาษ แผ่นเกมกระดาษ (แบบที่ใช้ลูกเต๋าทอยแล้วเดินหมาก เป็นของแถมที่นิยมแจกคู่กับนิตยสารฉบับแรกของปี) ฯลฯ

 

ภาพ: https://ameblo.jp

 

ในยุคโน้นแม้ว่านิตยสารบางเล่มจะพิมพ์ภาพ-วาด สวยๆ แถมมาในทุกฉบับ (เป็นเหมือนโปสการ์ด) แต่นักอ่านสาวๆ สมัยโน้นก็อาจจะยังไม่ได้มองว่าเป็นของแถมก็ได้ เพราะทางนิตยสารเองก็ระบุไว้ในหน้าสารบัญว่าเป็น “คุจิเอะ” (มีความหมายว่าภาพปกด้านในของนิตยสาร) ซึ่งมักจะตีพิมพ์ผลงานของจิตรกรเป็นภาพสี่สีสวยงามบนกระดาษคุณภาพดี ฉันอ่านจากเว็บไซต์ของ Yamaguchi Prefectural Archives และได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า สาวๆ นิยมเก็บสะสมภาพเหล่านี้ด้วยการตัดแยกออกมาและเย็บรวมเล่มเก็บไว้เป็นคอลเลคชั่นส่วนตัวด้วยล่ะ

 

 

ภาพ: https://blogs.yahoo.co.jp

 

ดูเหมือนว่า Furoku ในยุคบุกเบิกของนิตยสารผู้หญิงญี่ปุ่นจะถูกทำขึ้นเพื่อเป็นของสมนาคุณจริงๆ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าของแถมที่ค่อยๆ ได้รับการปรับเปลี่ยนไปตามวันเวลาเหล่านี้ถือเป็นแม่เหล็กสำคัญในแง่ธุรกิจ เพราะทำให้สาวๆ ยอมควักเงินซื้อนิตยสารเพื่อให้ได้มาซึ่งของแถมเล็กๆ น้อยๆ แทนที่จะรอขอยืมเพื่อนอ่านเท่านั้น 

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ