Center For Southeast Asian Studies : อุษาคเนย์ศึกษาภายใต้สถาปัตยกรรมสวยสะดุดตาในมหาวิทยาลัยเกียวโต
ญี่ปุ่นเองมีความสนใจในภูมิภาคอุษาคเนย์หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานแล้ว หลายประเทศในแถบนี้มีความสัมพันธ์กันยาวนานในหลายมิติ สำหรับหลายประเทศนั้นทางญี่ปุ่นใช้ประเด็นการเชื่อมโยงผ่านการเรียนรู้ แลกเปลี่ยนด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม สำหรับวัฒนธรรมการบันทึกที่ดีของญี่ปุ่น พร้อมกับการให้ความสำคัญเรื่องค้นคว้าองค์ความรู้อย่างจริงจังเป็นระบบ ทำให้องค์ความรู้ด้านอุษาคเนย์ศึกษาที่ญี่ปุ่นมีนั้นอาจจะหาไม่ได้ในเจ้าของประเทศเอง แต่มาพบได้ที่ญี่ปุ่นแทน
มหาวิทยาลัยเกียวโต ซึ่งเป็นทั้งสถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นและของโลก เปิดการเรียนการสอนในหลายสาขาวิชา หนึ่งในสาขาที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยคือการศึกษาด้านอุษาคเนย์ ในชื่อว่า Center for Southeast Asian Studies หรือ CSEAS เป็นศูนย์สำหรับศึกษาองค์ความรู้ด้านต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายใน CSEAS มีนักวิชาการที่สนใจความเป็นไปของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากหลายมุมโลก อาจารย์หลายท่านที่นี่สนใจศึกษาประเทศไทยเป็นอย่างมาก ในระดับที่ว่าใช้ภาษาไทยในการให้ความรู้กับนักเรียนที่มาจากไทยอย่างเช่นผมรู้เรื่องได้นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมวิชาการด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาเป็นระยะ มีศาสตราจารย์รับเชิญจากต่างประเทศมาร่วมทำงานวิจัยเพื่อขยายองค์ความรู้จากหลายประเทศ
และส่วนที่น่าสนใจไม่แพ้การเรียนการสอนคือ ที่นี่ยังเก็บรักษาข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ทั้งแผนที่ หนังสือ เอกสาร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ ในส่วนของห้องสมุดมีเอกสารที่รวบรวมมาจากประเทศในอุษาคเนย์กว่า 180,000 รายการ เฉพาะเอกสารภาษาไทยก็มีมากกว่า 9,000 ฉบับ แล้วส่วนใหญ่เป็นหนังสือฌาปนกิจที่สามารถใช้ตั้งต้นสืบค้นประวัติศาสตร์ในบ้านเราได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังแบ่งเป็นคอลเลคชั่นต่างๆ อย่างคอลเลคชั่นของฟิลิปปินส์ราว 7,000 ฉบับ สำหรับสื่อสิ่งพิมพ์ และอีกราว 1,000 เล่ม สำหรับประวัติศาสตร์ของฟิลิปปินส์ นอกจากนี้ยังมีคอลเลคชั่นของอิสลาม-อินโดนีเซียราว 2,000 เล่ม
เราอาจจะเจอเอกสารหลายอย่างที่หายากในบ้านเรา แต่มาเจอเอาเสียที่นี่ก็ได้
สิ่งที่สะดุดตานอกจากความรู้ที่อยู่ภายในแล้ว อาคาร CSEAS ก็สะดุดตาสำหรับผู้นิยมคอนกรีตเปลือยเช่นกัน อาคารนี้ออกแบบสถาปัตยกรรมโดย Nikken Sekkei ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น มีงานออกแบบในหลายมุมโลก รวมทั้งที่ไทยด้วยเช่นกันอย่างเช่นอาคารศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในมหาวิทยาลัยบูรพา และเร็วๆ นี้ก็ได้ร่วมออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิเฟสใหม่กับทีมที่ชนะประกวดแบบ
ที่อาคาร CSEAS ยาวขนานไปกับแม่น้ำคาโมะกว่า 120 เมตร ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เปลือกภายนอกเป็นคอนกรีตเปลือยที่เราจะพบได้ทั่วไปในญี่ปุ่น แต่สิ่งที่สะดุดตาคือผนังคอนกรีตเปลือยที่ใช้ไม้แบบชนิดแผ่นเล็กราว 10 เซนติเมตร ตีไม้แบบเรียงชิดแนวนอน ไม้แบบที่เลือกใช้ไม่ได้เป็นไม้อัดแผ่นใหญ่แบบที่นิยมใช้กันทั่วไปที่มีขนาด 122 x 244 เซนติเมตร แต่เป็นการใช้ไม้แผ่นที่มีลวดลายเสี้ยนไม้ชัดเจน ทำให้ก่อเกิดพื้นผิวที่น่าสนใจ เมื่อมองเข้าไปใกล้ๆ จะเห็นถึงเงาที่เกิดจากแดดกระทบผิวคอนกรีต จนเกิดลวดลายคอนกรีตที่มีเสน่ห์ และยังก่อสร้างด้วยความประณีตในแบบญี่ปุ่น ทำให้การสัมผัสคอนกรีตเปลือยงานนี้รู้สึกอดีตของไม้แบบที่ถูกดึงออกไปเมื่อคอนกรีตบ่มตัวแล้ว การสัมผัสผนังคอนกรีตเปลือยลายไม้นี้ ทำให้ชวนคิดไปถึงหินลายไม้ประกอบเข้ากันเป็นสถาปัตยกรรม
สถาปนิกมีการออกแบบอาคาร CSEAS ที่แปลความหมายของสถาปัตยกรรมประเพณีสู่สถาปัตยกรรมร่วมสมัย ด้วยการถอดเรื่องราวจากอดีตเรือนแถวมะชิยะที่มีเอกลักษณ์ของเมืองเกียวโต มะชิยะคือเรือนค้าขายแบบประเพณีของญี่ปุ่นที่มีอยู่มากมายตามตรอกซอกซอยในเกียวโต ภาพที่ชินตาของเรือนมะชิยะคือบ้านไม้ผสมผนังดิน มีชายคาคลุมเหนือหน้าต่าง ชายคายื่นยาวเพื่อบังแสงแดดในฤดูร้อนที่แสนโหดของเกียวโต หน้าต่างด้านนอกบ้านจะถูกบังทับไว้ด้วยไม้ระแนง ในหน้าร้อนที่แดดแรง เหล่าหน้าต่างจะถูกติดตั้งม่านไผ่หรือสึดะเระไว้บังแดด เพิ่มความเป็นส่วนตัวภายใน
เอกลักษณ์เหล่านี้ของเรือนมะชิยะ ถูกแปลความให้ร่วมสมัยจากสถาปนิก พร้อมสวมลงไปกับประโยชน์ใช้สอยด้วยกลวิธีการออกแบบ ตัวอาคาร CSEAS วางขนานไปกับแม่น้ำคาโมะตามแนวเหนือใต้ของเมืองเกียวโต ด้านหน้าหันออกไปยังทิศตะวันตกซึ่งมีแสงแดดแรงจ้า มาพร้อมกับมุมทแยงลึกในยามบ่าย ซึ่งจะรบกวนผู้ใช้ภายในอาคารอย่างมาก การนำของเก่ามาแปลความคือการนำลักษณะชายคาของเรือนมะชิยะมาออกแบบเป็นชายคาที่เป็นแผ่นคอนกรีตเรียบ ดูบางเบา ยื่นยาวออกมาบังแดดรอบอาคาร พร้อมกับออกแบบรายละเอียดส่วนปลายหลังคาให้ดูร่วมสมัยจากการใช้เหล็กตัว C ติดตั้งเข้าไปที่ปลายชายคาคอนกรีต เส้นชายคาเหล็กนี้ช่วยเน้นเส้นนอนของอาคารให้ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะเวลาบ่ายที่แดดเดินทางมาจากทิศตะวันตก เงาชายคาที่พาดลงบนผนังคอนกรีตจะทำให้อาคารดูเหมือนถูกดันเข้าไปลึกขึ้น และเมื่อแดดที่ทแยงมายามบ่ายแก่ ม่านไผ่สึ-ดะเระที่ถูกแปลความใหม่เป็นระแนงบานเกล็ดทำจากโลหะสีเงินติดตั้งที่ด้านนอกหน้าต่าง จะเลื่อนขึ้นมาบังแดดทิศตะวันตกอีกทาง ม่านบังแดดนี้ออกแบบให้เป็นแนวนอนแบบเดียวกับม่านไผ่แบบเดิม แต่มันถูกเรียบเรียงใหม่ให้ทันสมัยใช้งานได้เหมาะกับยุค
สำหรับผู้สนใจงานคอนกรีตที่เป็นผิวลายไม้เนี้ยบๆ CSEAS เป็นอีกที่ในเมืองเกียวโตที่ควรแวะมาชมพร้อมไปกับชื่นชมแม่น้ำคาโมะ