สิบกว่าปีก่อน สมัยที่สมาร์ทโฟนยังไม่เข้ามาอยู่ในชีวิตเรา ฉันผู้ไม่ประสีประสาเรื่องกล้องถ่ายรูป คิดกับตัวเองในใจว่าอยากได้กล้องดิจิตอลสักตัว แต่ไม่เจอที่ถูกใจสักที จนวันหนึ่งขณะเปิดดูนิตยสารญี่ปุ่นในร้านหนังสือ ฉันพบกล้องดิจิตอลแบบเรียบๆ ที่รู้สึกชอบ เป็นรูปเล็กมากในหน้านิตยสารซึ่งมีแต่ตัวหนังสือภาษาญี่ปุ่นและไม่มีชื่อยี่ห้อใดๆ กำกับไว้ นอกจากตัวหนังสือภาษาอังกฤษตัวเล็กๆ ตรงมุมกล้องที่อ่านได้ว่า GR หลังจากหาข้อมูลจึงพบว่าเป็นกล้องรุ่นหนึ่งของยี่ห้อ Ricoh ซึ่งไม่มีใครรอบตัวฉันใช้กล้องยี่ห้อนี้ แถมยังเป็นกล้องดิจิตอลแบบซูมไม่ได้ในราคาที่ค่อนข้างสูงกว่ายี่ห้ออื่น ฉันเองไม่ใช่คนที่สนใจติดตามเทคโนโลยี จะซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับเทคโนโลยีสักชิ้นก็เมื่อต้องการใช้งานจริงๆ ซื้อมาแล้วก็อยากใช้ไปยาวๆ ขณะเดียวกันก็อยากได้ของคุณภาพดี ถ่ายแล้วได้รูปสวย สีสวย และเมื่อได้ลองจับลองถือไว้ในมือก็มั่นใจว่านี่ล่ะคือกล้องแบบที่ตามหา

 

ภาพที่ถ่ายจากกล้อง Ricoh GR

 

ฉันพกกล้องหน้าตาเรียบๆ สีดำขนาดพอดีฝ่ามือตัวนั้นไปไหนต่อไหนอยู่หลายปี จนสมาร์ทโฟนเริ่มเข้ามาแทนที่ และกล้องเริ่มออกอาการว่าถูกใช้งานหนักเกินไป รู้ตัวอีกทีก็แทบลืมการถ่ายภาพด้วยกล้องไปแล้ว แต่เมื่อไม่กี่วันก่อน ฉันตั้งใจไปเดินดูงานศิลปะในชุมชนเก่าย่านฝั่งธนฯ จึงนึกถึงกล้องขึ้นมาเพราะรู้สึกอยากบันทึกสิ่งที่กำลังจะพบเจอด้วยกล้องมากกว่าการถ่ายรูปไวๆ ด้วยสมาร์ทโฟน ฉันหยิบกล้อง GR ตัวเก่าพกใส่กระเป๋า เดินไปตามตรอกซอกซอย ถ่ายรูปสิ่งที่พบ ทั้งแมว โกดังเก่า ศาลเจ้า งานศิลปะ หลายครั้งฉันยกกล้องขึ้นถ่ายรูปคน โดยเอื้อนเอ่ยขออนุญาตก่อนบรรจงกดชัตเตอร์ หน้าตาเรียบๆ แบบถ่อมตนและขนาดที่เล็กมากของกล้อง GR ทำให้ฉันสะดวกใจที่จะยกมันขึ้นมาถ่ายโดยไม่รู้สึกว่ากำลังคุกคามหรือแสดงตนเป็นช่างภาพจนทำให้ผู้ถูกถ่ายอึดอัด ตลอดบ่ายวันนั้นฉันไม่ได้หยิบโทรศัพท์มือถือขึ้นมาเลย ฉันอยู่กับสิ่งที่พบตรงหน้าและบันทึกความทรงจำลงในกล้องเท่านั้น นั่นทำให้รู้สึกเป็นอิสระอย่างไม่น่าเชื่อ กล้องตัวเก่าอายุเกือบสิบปีอาจมีอาการรวนบ้าง แต่เมื่อถือมันไว้ในมือ มันก็ยังสวยและดูดี

 

ภาพอาคารที่ถูกถ่ายจากกล้อง Ricoh GR II

 

ในขณะที่สินค้าเทคโนโลยีโดยมากพยายามนำเสนอความหวือหวา น่าตื่นเต้น มาเร็วไปเร็ว รูปลักษณ์เตะตา แต่การออกแบบกล้อง GR กลับเลือกเดินสวนทาง คุณโทโมฮิโระ โนะกุจิ (Tomohiro Noguchi) หรือที่ใครๆ เรียกว่า Mr.GR ผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบ เคยพูดถึงการออกแบบกล้องรุ่นนี้ไว้ว่าเขาต้องการออกแบบเครื่องมือที่ใช้งานง่าย สำหรับบันทึกสิ่งที่ตาเห็นได้อย่างรวดเร็ว เงียบ และเฉียบคม เป็นกล้องแบบไฮเอนด์ที่ดูเรียบง่าย ไม่โดดเด่น ทว่าคงอยู่เหนือกาลเวลา เร็วๆ นี้ ฉันเห็นข่าว กล้อง GR กำลังจะออกรุ่นใหม่ แต่หน้าตาก็ดูเหมือน GR Digital II ปี ค.ศ. 2007 ของฉันแบบแทบแยกกันไม่ออก

 

ภาพที่ถ่ายได้จากกล้อง Ricoh GR II

 

ประโยคหนึ่งที่เขียนไว้ในเว็บไซต์ของ GR กล่าวถึงกล้องที่กำลังจะออกวางขายว่า “เราไม่อยากให้คุณซื้อเพียงเพราะว่าเป็นกล้องรุ่นใหม่ ขอให้คุณใช้ GR ที่มีอยู่แล้วไปจนกว่ามันจะเต็มไปด้วยริ้วรอยเสียก่อน” ประโยคเดียวสั้นๆ นี้เองสื่อชัดถึงความตั้งใจของผู้ออกแบบ ที่มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้มีคุณสมบัติที่ดีและรองรับการใช้งานไปยาวๆ กล้องรุ่นใหม่คือ เทคโนโลยีใหม่จริงๆ ไม่ใช่ใหม่เพียงแค่หน้าตาภายนอกหรือชื่อรุ่น ยิ่งถ้าลองมองไปที่การทำการตลาดของ กล้อง GR จะพบว่าไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การออกรุ่นใหม่ถี่ยิบ สเปคเทพๆ ลูกเล่นแพรวพราว หรือคุณสมบัติที่หวือหวาตามเทรนด์ ซึ่งกล้องดิจิตอลยี่ห้อต่างๆ มักทำกันเพื่อแข่งขันกับสมาร์ทโฟนอย่างดุเดือด ในทางกลับกัน GR ยืนหยัดในการเป็นกล้องที่ใช้งานง่าย แต่ได้ภาพสวยคุณภาพสูง และพยายามชักจูงให้เรากลับมาหาการถ่ายภาพด้วยกล้อง กลับมาหาความรู้สึกที่อยากจะยกกล้องขึ้นมาบันทึกความสวยงามตรงหน้า แค่มองแล้วกดชัตเตอร์ แค่ปล่อยให้ตัวเรากับกล้องกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่ต้องทำอะไรมากมาย แต่ได้ภาพแทนความทรงจำที่จะอยู่ตลอดไป  

 

กล้อง Ricoh GR II

 

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ.  2007 ตอนที่ฉันกำลังจะตัดสินใจซื้อกล้องตัวแรก พี่ช่างภาพที่ทำงานด้วยกัน ตอบคำถามเมื่อฉันขอคำแนะนำว่า “กล้องที่ดีที่สุดคือกล้องที่เราอยากหยิบมันขึ้นมาถ่ายบ่อยๆ” เป็นคำแนะนำจากช่างภาพมืออาชีพที่ช่วยให้วันนั้นฉันตัดสินใจได้อย่างไม่ลังเล และคำแนะนำนั้นยังคงใช้ได้มาจนถึงวันนี้

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ