Byodoin Museum

ณ เมืองอุจิ ทางตอนใต้ของเกียวโต ที่มักเรียกติดปากกันว่าถนนสายชาเขียว ถนนสายนี้เลียบขนานไปกับแม่น้ำอุจิ จุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่มาย่านนี้คือการเยี่ยมชมความคึกคักของถนนคนเดินแห่งนี้ พร้อมกับจับจ่ายหลากผลิตภัณฑ์จากชาเขียวแต่สุดถนนสายนี้ไม่ได้มีดีแค่ชาเขียวเท่านั้น ในแง่ของ การชมสถาปัตยกรรม “วัดเบียวโดอิน (Byodoin Temple)” เป็นอีกหมุดหมายของการชมสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

 

 

วัดเบียวโดอิน เป็นวัดที่คุ้นตาสำหรับผู้มาเยือนญี่ปุ่นอย่างแน่นอน เพราะในจำนวนเหรียญญี่ปุ่นทั้งหมด มีเพียงเหรียญ 10 เยนเท่านั้นที่มีภาพสถาปัตยกรรมปรากฏอยู่ ซึ่งก็คือวัดเบียวโดอินนี้เอง วัดนี้เป็นวัดพุทธที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานสืบเนื่องไปได้ถึงสมัยเฮอัน (ค.ศ. 794-1185) ซึ่งจัดได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองด้านศิลปะของญี่ปุ่น มีการรับศิลปะวัฒนธรรมจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง จากนั้นถึงมีการปรับปรุงให้กลายเป็นศิลปะวัฒนธรรมแบบญี่ปุ่นขึ้นมาเองในที่สุด และเป็นยุคที่ย้ายเมืองหลวงมายังเกียวโต ในปี ค.ศ.1052 วัดนี้ได้เริ่มต้นก่อตัวขึ้นโดยผู้สำเร็จราชการนามว่า ฟุจิวาระ โนะ โยริมิจิ (Fujiwara no Yorimichi) ได้ผาติกรรมบ้านพักตากอากาศให้กลายเป็นวัดแห่งนี้

วัดนี้มีจุดเด่นคือ Phoenix Hall ที่อยู่ด้านหลังเหรียญ 10 เยน ตัวอาคารมีลักษณะสมมาตร มีอาคารประธานเป็นแกนหลัก ขนาบด้วยอาคารรองที่แกนซ้ายขวา มีการปรับภูมิทัศน์ให้เป็นเกาะ ตัวอาคารมีน้ำล้อมรอบ ส่งเสริมให้ตัวอาคารไม้สีแดงเข้มนี้เบาลอยขึ้นมาจนโดดเด่น ตัวอาคารรายรอบตลอดจนสวนต่างๆ ถูกออกแบบอย่างระมัดระวังไม่ให้ข่มอาคารประธานหลังนี้ได้เป็นอย่างดี รูปแบบศิลปะ ความงาม การอนุรักษ์ยังทำเป็นอย่างดีจนกลายเป็นมรดกโลกอีกเช่นกัน

 

Phoenix Hall ใกล้ๆ กับ Byodoin Museum

 

แต่จุดหมายหลักที่เราจะพาไปชมคือสถาปัตยกรรมใหม่ที่ไม่สามารถมองหาได้เมื่อมองชมแต่ Phoenix Hall พ้นจาก Phoenix Hall มายังด้านทิศใต้ที่เป็นเนินดิน มีส่วนที่เนินดินถูดตัดขาดออก แยกกลายเป็นทางเข้าพิพิธภัณฑ์เบียวโดอิน (Byodoin Museum) ออกแบบโดย คุริว อากิระ (Akira Kuryu) ผนังถูกทำให้แยกออกจากธรรมชาติด้วยวัสดุอย่างคอนกรีตเปลือย หินแกรนิต ผิวขรุขระ พร้อมป้ายบอกว่าคือทางไปยังพิพิธภัณฑ์เบียวโดอิน หากพิจารณาโดยรอบแล้ว ไม่สามารถพบร่องรอยของสถาปัตยกรรมได้เลย ตัวอาคารที่เปิดใช้งานเมื่อปี ค.ศ. 2001 ถูกแทรกเข้าไปยังใต้เนินดินอย่างแนบเนียน มีเพียงทางเข้าที่รายล้อมด้วยแผงหินเท่านั้นที่บอกได้ว่าเป็นของสร้างใหม่

 

ทางเข้าที่รายล้อมด้วยแผงหินของ Byodoin Museum

 

ล่วงจากทางเข้าหลักแล้ว จะพบกับโถงทางเข้าที่ออกแบบให้เป็นแผงคอนกรีตเปลือยสูงจนถึงพื้นดินด้านบน เพื่อรับแสงธรรมชาติดเข้ามายังส่วนนี้ สภาพแสงภายในพื้นที่ส่วนนี้ดูสลัว แต่มีการออกแบบที่ผ่านการคิดอย่างละเอียดให้สามารถเดินได้โดยสะดวกจากการแยกผนังและพื้นออก แล้วแทรกแนวไฟหลืบให้แสงสว่างกระทบที่พื้นช่วยสร้างบรรยากาศขรึมขลังเข้ากับศิลปวัตถุภายในได้เยี่ยม

 

 

ผ่านพ้นช่วงนี้จะได้พบกับศิลปวัตถุในพุทธศาสนาที่เคยอยู่ด้านนอก แต่ทางวัดได้ตัดสินใจต้องการที่จะเก็บรักษาไว้ให้นานที่สุดเพื่อการศึกษา จึงทำการย้ายเข้ามาในพิพิธภัณฑ์ประจำวัด ซึ่งมีทั้งการจัดแสดงระฆัง ยอดหลังคารูปนกฟีนิกซ์ที่ทำจากโลหะ หรือไม่ว่าจะเป็นเหล่าพระโพธิสัตว์ที่ลอยอยู่บนก้อนเมฆ ซึ่งแต่เดิมติดตั้งอยู่บนผนังระหว่างช่วงเสาในโถงนกฟีนิกซ์ เมื่อมองลงไปรายละเอียดของประติมากรรมเหล่านี้ล้วนเป็นไม้ที่แกะได้อย่างประณีต หลายรูปมีการแกะให้เห็นถึงแววตาในแบบต่างๆ ทั้งดูเมตตา ดุร้าย ตามเรื่องราวในพุทธศาสนาแบบญี่ปุ่น เมื่อเข้าชมจนครบทุกส่วนแล้ว เราจะสามารถเห็นได้ถึงทักษะงานช่างไม้ที่ผ่านกาลเวลามาหลายร้อยปี แต่ยังแสดงจิตวิญญาณที่ศรัทธาต่อศาสนาได้เต็มเปี่ยม

 

ร้านค้าชั้นบนสุดของ Byodoin Museum

 

พอผมพาตัวเองผ่านพ้นทุกส่วนนิทรรศการมายังร้านค้าชั้นบนสุด แสงสลัวที่เคยปกคลุมภายในพิพิธภัณฑ์อยู่พลันหลายไป มีความเจิดจ้าของแสงไหลผ่านผนังกระจกสูงเข้ามาแทนที่ พอเดินวนออกมาภายนอก ดูอาคารส่วนบนสุดที่โผล่พ้นดินมีรูปแบบที่สมัยใหม่มาก แต่เป็นส่วนที่ไม่มีความเชื่อมโยงทางสายตากับ Phoenix Hall ทำให้ส่วนใหม่และเก่าอยู่ร่วมกันได้ ยิ่งจังหวะที่เดินลงค่อยๆ ดูผนังกระจกซึ่งแลดูขัดแย้งมากกับความเก่าของวัด แต่กลับค่อยๆ  กลืนหายไปต้นไม้ที่ถูกวางจังหวะไว้เป็นอย่างดี 

 

ใกล้ๆ กับ Byodoin Museum เป็นผนังกระจกซึ่งแลดูขัดแย้งมากกับความเก่าของวัด แต่กลับค่อยๆ  กลืนหายไปต้นไม้ที่ถูกวางจังหวะไว้เป็นอย่างดี 

 

กลวิธีให้ความใหม่ปะทะความเก่าแบบสวยงาม คือการรู้จักเคารพสิ่งที่มีคุณค่าซึ่งอยู่มาก่อน ไม่ใช้สถาปัตยกรรมเข้าไปหักหาญหัวใจผู้คน แต่ให้ต่างคนต่างรับใช้สังคมตามเวลาที่ต่างกันเท่านั้นเอง 

Website: www.byodoin.or.jp/en/

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ