คนญี่ปุ่น “รักษ์” สะอาดแค่ไหนในระดับบุคคล
จากหน่วยใหญ่อย่างประเทศ ย่อมประกอบไปด้วยหน่วยเล็กอย่างเมือง สังคม ครอบครัว ไล่มาจนถึงเล็กสุดคือระดับบุคคลตัวพวกเราเอง ญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องความสะอาดซึ่งดูจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไปแล้ว และการที่บ้านเมืองจะสะอาดได้ นอกเสียจากนโยบายภาครัฐ (เช่นกำหนดวันทิ้งแต่ละประเภทขยะ) และเทคโนโลยีในการกำจัดของเสีย (เช่นโรงงานรีไซเคิล) แล้ว ย่อมต้องเกิดจากระดับปัจเจกชนระดับบุคคลเสียก่อน เป็นมารยาททางสังคม (ที่ไม่ได้มีเขียนบอก) ในการ “ไม่เดินไป-กินไป” ที่นอกจากเรื่องบุคลิกภาพแล้ว หนึ่งในเหตุผลหลักก็เป็นเรื่องของความสะอาด ที่ถ้าเกิดหกเลอะขึ้นมา อาจต้องตามมาทำความสะอาดให้ยุ่งยาก
ตามร้านค้าหรือหน้าบ้าน ก็มักจะออกมา “ทำความสะอาด” ปัดเช็ดถูอยู่เสมอ (และอาจรวมถึงพื้นที่ข้างเคียงเพิ่มไปด้วย) แม้ไม่ใช่หน้าที่โดยตรงเพราะเป็นพื้นที่ในส่วนของทางเท้าฟุตปาธสาธารณะ
คนญี่ปุ่นจะแยกประเภทขยะก่อนทิ้ง ขยะเผาได้-เผาไม่ได้ ขวดแก้ว-กระป๋อง-กล่องนม พวกบรรดาขวดน้ำเมื่อกินเสร็จก็อาจ “ล้าง” ให้สะอาดพอประมาณนึง และ “พับ” เศษขยะให้เล็กๆ เพื่อที่จะทิ้งลงถังขยะได้เยอะๆ
บรรดาไฮโซที่เลี้ยงน้องหมาน้องแมว เมื่อพาออกมาเดินเล่นและน้องๆ ดันปล่อยบอมบ์เละเทะ ก็ต้อง “เก็บกวาด” คราบเหล่านั้นด้วย ถ้าเป็นก้อนก็ต้อง “หยิบ” ถ้าเหลวก็อาจถึงกับต้อง “เช็ดถู”
เซ็นเซผมก็เป็นหนึ่งตัวอย่างที่สอนผม (ผ่านการกระทำ) ถึงเรื่องนี้ โดยมัก “เก็บภาชนะ” เมื่อกินเสร็จ
(ตามฟู้ดคอร์ทหรือร้านที่นำไปเก็บคืนได้) และบางครั้งถ้ามีทิชชูก็มักเช็ดๆ ถูๆ โต๊ะเพิ่มไปด้วยเล็กน้อย
เมื่อเข้าร้านอาหารบางแห่งหรือตามศาลเจ้า ต้องถอดรองเท้าก่อนเสมอ เพราะสะอาดกว่าใส่รองเท้า
เป็นไหนๆ เวลาไปเข้าห้องน้ำตามที่ต่างๆ นอกจากปุ่มกดอัตโนมัติอันหวือหวาไฮเทค ก็มักมีเครื่องกดแอลกอฮอล์ที่ไว้ซับกับกระดาษทิชชูเพื่อเช็ดฆ่าเชื้อโรครอบฝาโถส้วม (บางคนพกกระดาษเปียกที่ไว้เช็ดรอบโถส้วมโดยเฉพาะก็มีนะ)
สังเกตอะไรมั้ยครับ? หลากหลายนิสัยการรักสะอาดนี้มี Common หนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือล้วนเกิดขึ้นใน “พื้นที่สาธารณะ” ซึ่งเป็นอะไรที่สำคัญมากๆ ในการอยู่ร่วมกันในสังคม ความ Fail ของเราที่รักษาความสะอาดไม่ได้ จะส่งผลกระทบต่อหลายคนมาก
ประเด็นพวกรักษาความสะอาดเหล่านี้ ส่วนตัวผมว่ามันอยู่ที่ “ทัศนคติ” ด้วยนะ เคยได้ยินคนญี่ปุ่นเผยมุมมองเกี่ยวกับการล้างรถว่า…ไม่ได้ล้างรถเพื่อโฟกัสที่ความสะอาดของรถตัวเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่าคือ เราล้างรถของเราให้สะอาดอยู่เสมอเพื่อไม่ให้รถเราไปทำความสกปรกข้างนอกได้ ความสกปรกเป็นได้ทั้งที่เกิดขึ้นจริง เช่น ล้อรถเลอะคราบเศษดินโสโครก เมื่อขับไปไหนที่นั้นๆ ก็พลอยสกปรกไปด้วย และความสกปรกในทางสายตา (หรือทัศนอุจาด) คือพอคนอื่นมองแล้วไม่น่าอภิรมย์ ก็จะบั่นทอนความสวยของสภาพแวดล้อมแถวนั้นด้วย
ตัวอย่างที่ผมให้มาเป็นเพียงส่วนน้อย แต่ถ้าพวกเรามีทัศนคติแบบคิดถึง “ส่วนรวม” ล่ะก็ (เมื่อความคิดภายในเปลี่ยน)… เราจะระมัดระวังการกระทำของเรามากขึ้น และสิ่งนี้จะกระตุ้นให้เราคิดรอบคอบและละเอียดแทบจะอัตโนมัติไปเอง (ผลลัพธ์ภายนอกจะเปลี่ยนตาม)
การที่เราอยากให้บ้านเมืองของเราสะอาดสะอ้าน
ใช่…นโยบายรัฐมีผลมากในสเกลระดับประเทศ
ใช่…เอกชนก็มีส่วนช่วยเสริมได้ไม่น้อย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น…ลองเริ่มที่ตัวเราเองดูก่อนสิ ^^