สารบัญ

ถึงแม้ว่าตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้จะทำให้ใครหลายคนรู้จักณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผลหรือนัทคุงในวงการกูรูแดนปลาดิบอย่างกว้างขวาง ชำนาญทั้งด้านการพูดและเขียนเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆของญี่ปุ่นในอีกมุมหนึ่งจนเป็นที่น่าจับตามอง แต่ทว่าเบื้องหลังรูปร่างสูงใหญ่ นัยตาคมเข้ม ดูน่าเกรงขาม และแอบเกรียนแตกในบางเวลาของชายหนุ่มผู้นี้ ยังมีหลายสิ่งที่น่าค้นหา

หากเราบอกว่า ก่อนที่เขาจะก้าวขึ้นมาสู่จุดนี้ และกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่หลายคนซูฮกยกธงญี่ปุ่นให้ถือ เขาคืออดีตเด็กหนุ่มที่เคยไม่เอาถ่านเรื่องภาษาญี่ปุ่นและเกือบมุ่งหน้าออกค้นหาตัวเองในดินแดนที่วัฒนธรรมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงล่ะ คุณพร้อมจะรู้จักนัทคุงไปพร้อมกับเราไหม

 

 

Q. มีดีกรีตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ แต่เคยติด F ภาษาญี่ปุ่นงั้นหรือ

ผมเรียนเอกภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพราะตอน .ปลายเราใช้ภาษาอังกฤษได้ดีในระดับนั้นด้วยแหละครับ คือพูดได้ อ่านได้ เลยคิดว่าเรียนต่อสายภาษาอังกฤษน่าจะดีกว่า ซึ่งตอนเรียนมันมีภาษาต่างประเทศเป็นวิชาเลือกด้วย ทั้งภาษาญี่ปุ่น ฝรั่งเศส เยอรมัน แต่ภาษาญี่ปุ่นคนแห่กันไปเรียนเยอะมาก แย่งกันลง แล้วเราแย่งได้ แต่ด้วยความที่ผมเกเรนิดๆ ก็ไม่ไปเรียน เอาแต่ทำกิจกรรมอย่างรับน้อง เล่นบาส ดูแข่งกีฬา วิชาภาษาญี่ปุ่นก็เลยติด F ครับ

พอได้ F มาติดใบเกรด เลยเปลี่ยนไปเรียนภาษาเยอรมันแทน เพราะวิชาเลือกมันเรียนแค่ 2 ตัว  6 หน่วยกิต ผมเรียนภาษาเยอรมันผ่าน 1 ตัวแล้ว แต่ภาษาเยอรมัน 2 เขาไม่เปิด เลยกลับมาเรียนภาษาญี่ปุ่น 1 อีกครั้งตอนปี 2 กลายเป็นว่าผมเก็บหน่วยกิตวิชาภาษาเยอรมัน 1 กับภาษาญี่ปุ่น 1 ครบ 6 หน่วยกิตแล้ว แต่มหาวิทยาลัยเขาไม่ให้ไงครับ

มันต้องเป็นภาษาเยอรมัน 1 กับ 2 หรือภาษาญี่ปุ่น 1 กับ 2 เท่านั้น ผมเลยต้องลงเรียนวิชาภาษาญี่ปุ่น 2 ตอนซัมเมอร์ ได้เจอคนที่มีชะตากรรมเดียวกันเยอะอยู่ (หัวเราะ) พอเรียนเล่ม Minna no Nihongo จบ 50 บท หลังจากนั้นก็ไม่ได้เรียนอีกเลยครับ  พอเรียนจบปี 4 ตอนนั้นทางคณะเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่ฝ่ายงานวิเทศสัมพันธ์ ก็เลยสมัครไปแล้วได้ทำงานอยู่ที่คณะต่อครับ ผมทำงานอยู่ 1 ปีกับอีก 3 เดือน

 

Q. เริ่มสนใจประเทศญี่ปุ่นตอนไหน

ตอนทำงานได้เจอโปรเฟสเซอร์ญี่ปุ่นเยอะมาก มีนักเรียนญี่ปุ่นมาแลกเปลี่ยน มีกรุ๊ปจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นมาเที่ยว ทำให้สนิทกับคนญี่ปุ่นมากขึ้น มีครั้งหนึ่งเขาชวนเราไปบ้าน เลยได้แบกเป้ไปเที่ยวต่างประเทศคนเดียวเป็นครั้งแรกในชีวิตเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นยังเป็นเรื่องแปลกสำหรับทุกคนอยู่เลย อาจจะเป็นเพราะไปยาก ข้อมูลมีน้อย ขอวีซ่าก็ยาก นักท่องเที่ยวไทยก็ไม่ค่อยมี แต่ผมแบกเป้ไปเที่ยวบ้านเพื่อนคนเดียว พอลงเครื่องเพื่อนก็มารับที่สนามบิน หลังจากนั้นหากจะไปไหนก็พยายามช่วยเหลือตัวเอง

หลังจากกลับมาแล้วก็ติดใจ เลยคิดว่าไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่นดีไหม เพราะตอนเข้ามาขอวีซ่าในกรุงเทพฯ ซึ่งเดิมอยู่อาคารเสริมมิตร ผมเจอบริษัทญี่ปุ่นเยอะมาก ตอนไปทำธุระแถวศาลาแดง ผ่านโซนธนิยะก็เห็นคนญี่ปุ่นอีก พอกลับมานั่งดูประกาศหางานในเมืองไทย ก็พบว่าถ้าได้ภาษาญี่ปุ่นเงินเดือนก็จะสูง

ที่ผ่านมาผมใช้ภาษาอังกฤษในการทำงาน หาความรู้เพิ่มเติม เลยคิดว่าต่อไปภาษานี้จะเป็นสกิลทั่วไปที่หลายคนควรมี มันไม่ได้แปลกใหม่อะไร และผมเองก็ไม่คิดจะใช้ภาษาอังกฤษในสายงานอาชีพต่อแล้ว จึงคิดว่าเรียนภาษาอื่นเพิ่มเติมดีกว่ามั้ย ซึ่งตอนนั้นภาษาญี่ปุ่นมันน่าจะได้ประโยชน์ตรงนี้เยอะก็เลยตัดสินใจเรียน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้อยากไปเรียนที่อังกฤษนะครับ

 

Q. สิ่งที่ทำให้เลือกตัดสินใจไปเรียนต่อคืออะไร

ตอนแรกยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเรียนด้านไหนดี แค่อยากจะไปเรียนที่อังกฤษเท่านั้นครับ พ่อก็มีทุนให้ไปเรียน แต่เขาไม่อยากไปอเมริกา เพราะถ้าไปอเมริกาอาจจะได้ไปแถวนอกเมืองมากๆ อย่างรัฐเคนทักกีหรืออเมริกาตอนกลาง ภาษาที่เขาใช้สื่อสารก็จะเป็นอีกแบบ ซึ่งผมเองก็ไม่ชอบและไม่อยากเรียนภาษาอังกฤษแบบนั้น

อเมริกาเป็นประเทศใหญ่ ภาษาหรือวัฒนธรรมก็ต่างกันมากนะครับ อย่างคนที่อาศัยอยู่บริเวณตอนกลางกับคนที่อยู่บริเวณตอนขอบคือมนุษย์คนละเผ่าพันธุ์ คุยกันไม่รู้เรื่องเลย ดังนั้นเราก็ไม่อยากไป อังกฤษเป็นประเทศที่ผมสนใจอยู่แล้ว ผมชอบเมือง เพลง วัฒนธรรม และอะไรอีกหลายๆอย่างของอังกฤษ แต่พอพ่อบอกว่าค่าใช้จ่ายแพงไป ผมเลยเปลี่ยนเป็นญี่ปุ่น เอาราคาตอนนั้นให้พ่อดูเขาบอกก็ยังโอเคอยู่

 

 

Q. รู้สึกเสียดายไหมที่ไม่ได้ไปอังกฤษ

ผมอยากไปอังกฤษก็จริงแต่ยังไม่ได้เตรียมอะไรมาก เพราะหาข้อมูลได้น้อยมาก ไม่มีข้อมูลมหาวิทยาลัย ไม่มีแพชชั่นอะไร รู้แค่ว่าอยากไป แต่ตอนที่ได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นได้เจอคน เจออะไรหลายๆอย่าง ทุกอย่างมันดูง่ายเลยไม่รู้สึกเสียดายเท่าไร

เพราะผมสนใจญี่ปุ่นมากขึ้นด้วยแหละ รู้สึกอยากไป ก็เลยคุยกับโปรเฟสเซอร์ที่รู้จักให้เขาช่วยหาข้อมูลเรื่องการสมัครเรียนที่นั่น อาจารย์ส่งเอกสารและรายละเอียดต่างๆทุกอย่างที่ต้องเตรียม พอผมกรอกข้อมูลเสร็จสรรพ ก็เอาไปยื่นให้พ่อเลยครับ บอกเขาว่าอยากไปเรียนที่ญี่ปุ่น เอกสารพร้อมแล้ว เหลือแค่ลายเซนต์กับเอกสารของพ่อเท่านั้น (ยิ้ม)

เหมือนมัดมือชกนิดๆถ้าเกิดให้พ่อจัดการอาจจะวุ่นวาย เลยเตรียมพร้อมทุกอย่างแล้วบอกพ่อทีเดียวดีกว่า พ่อเองก็บอกว่าถ้าอยากไปขนาดนั้นก็ให้ไปครับ ผมเดินเรื่องด้วยตัวเองตั้งแต่ช่วงต้นปีแล้วก็ได้ไปเรียนตอนเดือนกันยายน

 

Q. เรียนปริญญาตรีอีกใบหรือ

ตอนนั้นไปเรียนภาษาก่อนที่ Nagoya Gakuin University ครับ คนส่วนใหญ่ที่เรียนที่นั่นเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน มาเรียนปีเดียวก็กลับไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยประเทศตัวเอง แต่ผมไม่ได้มาเรียนแบบเด็กแลกเปลี่ยน เป้าหมายของผมคืออยากเรียนเพื่อนความรู้ไปเรียนต่ออะไรสักอย่างในระดับมหาวิทยาลัย

ผมเริ่มเรียนภาษาเดือนกันยายน แต่มหาวิทยาลัยเปิดเรียนเดือนเมษายน ซึ่งโควต้าในการอยู่ญี่ปุ่นของผมจะสิ้นสุดแค่เดือนกันยายน ก็เลยปรึกษาอาจารย์ว่าจะทำอย่างไรได้บ้างให้ยืดระยะเวลาออกไปเพื่อรอสอบเข้ามหาวิทยาลัย สุดท้ายจึงไปถอนออกหนึ่งวิชาให้หน่วยกิตไม่ครบ ทำให้เรียนต่อได้อีกเทอม (ยิ้ม)

ความจริงแล้วยังไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อนนะครับ มันก็เป็นช่องโหว่ของกฎจริงๆ กลายเป็นว่าผมได้เรียนภาษาญี่ปุ่นอยู่ปีครึ่งแล้วสอบต่อในระดับปริญญาโท ผมสอบมหาวิทยาลัยเดิมผ่านแต่ไม่เอา ไปเลือก Nagoya Gaidai (Nagoya University of Foreign Studies) แทน

 

ที่งานเขียนสนุกเพราะได้นำเสนอสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้
หรือถ้ารู้แล้ว เราก็เหมือนได้แชร์เรื่องราวร่วมกัน

 

Q. คิดว่าตัวเองมีจุดสนใจอะไรที่ทำให้ถูกเลือก

ตอนสอบเข้า Nagoya Gakuin University ผมเลือกสาขาวิชาเทคโนโลยีการจัดการระบบสารสนเทศ (IT Management) โดยเสนอเปเปอร์เรื่องระบบ File sharing แบบ P2P ส่วนที่ Nagoya Gaidai เสนอเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ปรากฏว่าผ่านทั้งคู่ แต่สุดท้ายก็เลือกเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศครับ เพราะเป็นสิ่งที่เราสนใจมากกว่า แถมอาจารย์ที่สอบสัมภาษณ์ก็โหดมาก เลยคิดว่าถ้าได้เรียนกับอาจารย์คนนี้น่าจะได้ความรู้อะไรอีกเยอะ

ถ้าถามว่าอะไรคือข้อดีที่ทำให้ถูกเลือก ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเป็นเพราะหัวข้อในเปเปอร์หรือคาแรคเตอร์ของเรา เพราะตอนนั้นผมฮึดมาก อย่างตอนสอบสัมภาษณ์ เราก็บอกอาจารย์ไปตามตรงว่าไม่ถนัดเปเปอร์ภาษาญี่ปุ่น แต่อ่านภาษาอังกฤษได้ เลยพอชดเชยกันได้ อีกทั้งพวกความรู้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (IR) บทความ หรืองานวิจัยส่วนใหญ่ทดแทนด้วยภาษาอังกฤษได้ เลยเป็นส่วนหนึ่งที่เขารับเข้าเรียนครับ

 

Q. ความรู้สึกตอนสอบสัมภาษณ์ในครั้งนั้น

ตอนสอบสัมภาษณ์มีอาจารย์ 2 คน คืออาจารย์ฮะยะชิ กับอาจารย์ทะกะเสะ อาจารย์ฮะยะชิเนี่ยจะคุยสบายๆหน่อย แต่อาจารย์ทะกะเสะดูโหดมาก แล้วตอนนั้นเพิ่งเรียนปรับภาษาไปแค่ปีครึ่งเอง พอเจอศัพท์ยากๆเราก็จะไม่รู้จักละ

พวกคำศัพท์เทคนิค เช่น เศรษฐกิจเขตการค้าเสรี ความร่วมมือแบบทวิภาคี อะไรทำนองนี้ อาจารย์เลยเอาเปเปอร์กับบทความสั้นๆมาให้อ่านตอนนั้น ตรงนั้น แล้วให้สรุปใจความ เราก็อ่านกระท่อนกระแท่นเหลือเกิน อาจารย์เลยคอมเมนต์ด้านภาษาว่ามีปัญหา เป็นแบบนี้จะเรียนไม่ทันเพื่อน ถ้าคิดว่าไหวก็มาไม่ไหวก็กลับไป ไม่ต้องมาลำบากให้เสียเวลา

ด้วยความที่ผมเป็นคนที่พอโดนท้า ก็ยิ่งอยากทำให้ได้ เลยตัดสินใจเรียนที่นั่น ซึ่งพอเอาเข้าจริงๆ ก็ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน เพราะใช้ภาษาญี่ปุ่นทั้งหมดเลย ที่ตลกคือ ผมได้ไปขอให้อาจารย์ทะกะเสะสายโหดเป็นที่ปรึกษาด้วยครับ (หัวเราะ) ผมเดินก็ไปขออาจารย์เลยครับ อาจารย์ได้โปรดรับผมด้วย รับผิดชอบผมด้วยเพราะคิดว่าต้องได้อะไรจากอาจารย์เยอะนั่นล่ะครับ

 

 

Q. มีช่วงเวลาที่รู้สึกท้อและอยากกลับบ้านบ้างไหม

มีครั้งเดียวคือช่วงเรียนภาษาก่อนสอบเข้าปริญญาโท ตอนนั้นเรามีพื้นฐานอยู่บ้างแล้วแต่ลืม พอไปเข้าคลาสเรียนอาจารย์ก็เลยให้เริ่มเรียนใหม่ เรียนไปได้สักพักเราก็จับทางได้ เลยทำข้อสอบได้คะแนนเต็มเกือบตลอด พอเข้าช่วงหน้าหนาวอาจารย์เขาใจดีเลื่อนชั้นให้ไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น โดยที่ต้องเรียนของคลาสเดิมด้วยเพื่อให้พื้นฐานแน่นขึ้น

ตอนนั้นเราเองก็สมัครใจด้วยเพราะกลัวว่ามีบางส่วนที่ไม่ได้เรียนแล้วเดี๋ยวจะไม่รู้เรื่อง ทั้งเรื่องงานและเรื่องเรียนจึงเพิ่มเป็น 2 เท่า แรกๆ ก็คิดว่าไหว แต่พอเอาเข้าจริงๆ ก็รู้สึกท้อนะ เพราะมีเรื่องที่เรียนแล้วไม่เข้าใจ เหมือนเราข้ามขึ้นมาเยอะมาก 

คลาสพื้นฐานจะเน้นเรื่องไวยากรณ์และบทสนทนาง่ายๆจากในหนังสือ Minna no Nihongo แต่อีกเลเวลที่เลื่อนขึ้นมาเป็นเรื่องการอ่านบทความ ซึ่งความยากง่ายมันเป็นคนละเรื่องเลย เราไม่ชินกับการอ่านบทความมาก่อน ช่วงนั้นเลยท้อใจสุดๆ แต่ก็คิดนะว่าที่บ้านเขาส่งมาเรียนแล้ว ค่าเรียนก็แพง จะมายอมแพ้กับเรื่องแค่นี้หรอ ผมเลยปรับวิธีการเรียนโดยศึกษาเองเพิ่มให้มากขึ้น ลดเวลาเล่นและเวลาพักผ่อน จนสุดท้ายก็จบมาได้ครับ

 

Q. เรียนที่ญี่ปุ่นแต่ไม่เคยทำงานในบริษัทประเทศญี่ปุ่นจริงหรือ

ไม่เคยเลยครับ กลับมาก็ทำงานที่เมืองไทยเลย ตอนเรียนจบใหม่ๆก็คิดนะครับ แต่อยากกลับมาอยู่เมืองไทยมากกว่า แต่ก็ด้วยสาเหตุอะไรหลายๆอย่าง ผมยังไม่รู้จักกรุงเทพฯ ดีพอเพราะตัวเองเป็นคนขอนแก่น เคยมากรุงเทพฯ ไม่กี่ครั้ง ตอนนั้นรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ยังมีศักยภาพในการเติบโตได้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังค่อยๆพัฒนา ยังมีความสดใหม่ กระปรี้กระเปร่า และน่าสนใจ จึงตัดสินใจกลับมาครับ

ผมคิดว่าอยู่กรุงเทพฯ แล้วสบายใจกว่าอยู่ญี่ปุ่นด้วยแหละ แล้วก็เป็นห่วงครอบครัวที่เมืองไทยด้วย เลยตัดสินใจกลับดีกว่า แต่ตอนนี้กลับรู้สึกว่าอยู่โตเกียวน่าจะสนุกมากกว่า (หัวเราะ) เป็นธรรมดาครับ พอเราทำอย่างหนึ่ง เราก็จะรู้สึกเสียดายอีกอย่าง ดังนั้นมันจึงยากที่จะตอบว่าสิ่งไหนน่าสนใจมากกว่ากัน ถ้ามีโอกาสได้ไปทำงานที่ญี่ปุ่น ผมก็อาจจะกลับไป เผลอๆอาจจะอยู่ที่นั่นเลย เพราะความเป็นห่วงทางนี้ก็มีไม่มากเท่าเมื่อก่อนแล้ว ส่วนเรื่องเพื่อนเราก็ยังคุยกันทางออนไลน์ได้

ผมเรียนจบจากมหาวิทยาลัยในนะโงะยะมา 13 ปีแล้ว นะโงะยะเป็นเมืองใหญ่ครับ แต่เรียบง่าย ไม่หวือหวา ส่วนตัวแล้วผมชอบโตเกียวมากกว่า ถ้าได้ทำงาน ผมก็อยากเลือกทำที่โตเกียวไม่ก็โยะโกะฮะมะมากกว่า

 

 

Q. งานปัจจุบันในตอนนี้

ตอนนี้เป็นผู้จัดการของ Japan Aviation Academy Bangkok Office ครับ เป็นองค์กรที่คอยให้คำปรึกษาการเรียนต่อในระดับมัธยมปลายที่ญี่ปุ่น ความจริงแล้วองค์กรนี้เป็นโรงเรียนการบินที่ก่อตังขึ้นเมื่อ 80 กว่าปีก่อน โดยเน้นการเรียนการสอนที่ปูทางไปสู่สายงานอาชีพนักบิน พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวของกับการบิน แต่ปัจจุบันก็มีการเรียนการสอนทั่วไปในระดับมัธยมปลายเข้ามาด้วย

องค์กรนี้เข้ามาประสานงานในประเทศไทยเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้วครับ ผมก็เริ่มเข้ามาทำตั้งแต่ตอนนั้น คอยประสานงานกับทางญี่ปุ่นเพื่อคัดเลือกเด็กไปศึกษาต่อ คอยให้คำปรึกษากับผู้ปกครอง หรือซับพอร์ทนักเรียนไทยที่กำลังเรียนอยู่ที่นั่นครับ


Q.
อะไรคือสิ่งดลใจให้ลงสนามแข่งขันแฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น

บังเอิญเปิดเจอประกาศในเฟซบุ๊กที่แชร์กันมาเรื่อยๆ พอเห็นหัวข้อแล้วก็รู้สึกว่ามันกว้างมากนะแต่ก็น่าสนใจดีเลยสมัครไปครับ จากนั้นเขาก็โทรเรียกไปสัมภาษณ์ อยากบอกว่าตอนไปแข่งจริงไม่มีความมั่นใจเลย (หัวเราะ) แค่ได้แข่งก็โอเคแล้ว คิดอย่างเดียวว่าอย่าพลาดตอบผิดข้อง่ายๆก็พอ ผมจะแม่นเรื่องสังคม ประวัติศาสตร์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย แต่ไม่ค่อยชัวร์เรื่องสถานที่ท่องเที่ยวเลย (ยิ้ม)

 

Q. ชีวิตหลังซิวตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้ เปลี่ยนแปลงแค่ไหน

พอได้เข้ารอบเรื่อยๆ ก็รู้สึกอยากชนะนะ โดยเฉพาะตอนเหลือ 2 คนสุดท้ายคือผมกับพี่หน่า (Marumura) ช่วงแรก เพราะอาจจะเป็นเพราะผมโชคดีที่ได้คำถามที่ตัวเองถนัดด้วยแหละครับ พอมาถึงจุดนี้แล้วถ้าพลาด มันคงจะเจ็บใจไปตลอดชีวิตแน่ เลยรู้สึกว่าขอเถอะ รอบสุดท้ายแล้ว (หัวเราะ)

คำถามสุดท้ายไม่มั่นใจเรื่องหนึ่งคือนามสกุลครับ เพราะเราหาข้อมูลจากสื่อภาษาอังกฤษ แม้คำตอบข้อวัดแชมป์จะเป็นชื่อของคนไทย แต่เสียงอ่านภาษาบาลีสันสกฤตไงครับ พอเขียนเป็นภาษาอังกฤษมันเลยดูแปลกๆ แม้จะมั่นใจว่าคำตอบเป็นคนนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าพูดถูกไหม เลยได้แต่ลุ้นระหว่างรอเฉลยนี่ละครับ ระทึกมาก

หลังจากที่ได้เป็นแชมป์ ได้มีนามกุลแฟนพันธุ์แท้ก็ดีนะครับ เหมือนเราดูมีพลังขึ้นมาอีกนิด หลายคนก็จะนึกถึงเราในฐานะนี้ อีกทั้งเราก็มีคอนเน็กชั่นกับนักเขียนในวงการข่าวอยู่แล้ว ทำให้มีงานติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ ครับ

 

Q. บทบาทนักเขียนเริ่มตั้งแต่เมื่อไร

ผมอยู่วงการนี้ตั้งแต่เป็นฟรีแลนซ์แปลมังงะในสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์แล้ว ทำอยู่ 10 กว่าปีครับ แต่ที่ได้มาเขียนหนังสือให้สำนักพิมพ์ SALMON BOOKS เพราะเขากำลังหานักแปลหนังสือญี่ปุ่น แล้วมีคนรู้จักในทวิตเตอร์แนะนำเรามา เลยได้ทำงานนี้

ตอนนั้นแปลเรื่อง The Catalogue of Death: สูตรสุคติ แต่แปลเสร็จแล้วก็ยังไม่ได้ตีพิมพ์เลยเพราะต้องรอให้ทางสำนักพิมพ์ญี่ปุ่นคอนเฟิร์มก่อน ผมเลยเสนอแนวคิดหนังสือที่ตัวเองอยากเขียน เขาก็เลยให้ลองส่งต้นฉบับมาพิจารณา กลายเป็นว่าปัจจุบันนี้มีหนังสือที่ตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ 4 เล่มแล้วครับ (ยิ้ม)

 

 

Q. จุดเด่นที่ทำให้หนังสือของตัวเองดูแตกต่างคืออะไร

ปัจจุบันมีหนังสือนำเสนอประเทศญี่ปุ่นเยอะมากนะครับ ผมเลยเลือกที่จะนำเสนอให้แตกต่างออกไป อย่างเล่ม เอ๊ะ! เจแปน เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนญี่ปุ่น คนชาตินี้เป็นแบบไหน มีที่มาอย่างไรในสังคม โฮสต์เกิดขึ้นเมื่อไร อาชีพของสาวนั่งดริงก์ต้องทำอะไรบ้าง ซาลารี่แมนคือใคร หรือทำไมต้องเป็นผู้ชายกินพืช อะไรทำนองนี้ ซึ่งผมสนใจเรื่องพวกนี้และเห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครเขียน

สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องแปลกสำหรับผู้ที่สนใจญี่ปุ่นด้วย หนังสือของผมยังถูกนำไปอ้างอิงในวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาด้วย เห็นแบบนี้แล้วก็รู้สึกประทับใจเหมือนกันนะครับ เพราะงานเขียนที่ตัวเองถนัดได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น

 

Q. แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือมาจากไหน

ส่วนใหญ่ผมเขียนจากประสบการณ์ที่เจอมาตลอดตอนอยู่ญี่ปุ่น อย่างเคยเจอยากูซ่าตัวจริงที่เป็นเพื่อนบ้านของเพื่อน เคยพูดคุยกับยากูซ่าที่ลาออกมาอยู่เมืองไทยเพราะกลับประเทศไม่ได้ หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเด็กนั่งดริงก์หรือเหล่าโฮสต์

อาจเป็นเพราะคาแรคเตอร์ส่วนตัวของผมด้วยครับที่สนใจเรื่องผู้คน อยากรู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ จึงทำให้เวลาเจอคนที่อยู่นอกขอบเขตความรู้ของตัวเอง ก็จะชวนเขาคุยเยอะๆ มันเลยกลายเป็นข้อมูลที่นำมาเขียนได้เลย จึงออกมาเป็นเล่ม เอ๊ะ! เจแปน ส่วนเล่ม เอ๊ะ! เจป๊อป คือภาคต่อเพราะเนื้อหาที่อยากเล่ามันมีเยอะมากจริงๆ

แต่พอมาเป็นเล่ม Japan did เนื้อหาจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย เป็นความสนใจของผมที่อยากเล่าว่า ญี่ปุ่นสามารถนำสิ่งหลายๆมาคิดต่อยอดและทำให้เกิดผลประโยชน์ได้อย่างไร ส่วนเรื่อง Joy on Japan เป็นเรื่องเราตั้งใจสะท้อนให้เห็นมุมมองอีกด้านหนึ่งของญี่ปุ่น ให้คนอ่านทำความเข้าใจสังคมญี่ปุ่นในอีกลักษณะ หรือเรียกง่ายๆว่าคือหนังสือคู่มือทำใจก่อนไปญี่ปุ่นในระดับหนึ่งนั่นเองครับ

 

Q.นักแปลหรือนักเขียนเทใจให้ทางไหน

ผมชอบงานเขียนครับ เพราะงานแปลคือการที่เราเป็นสื่อกลางถ่ายทอด A ออกมาเป็น B แต่งานเขียนมันคือการที่เราสร้างสรรค์ผลงานขึ้นมา สไตล์ของผมคือสาย non-fiction เน้นการให้ข้อมูลเรื่องราวต่างๆ ในสังคม ผมจะประเมินก่อนว่าอยากเขียนในมุมมองไหน อยากสื่อสารอะไร แล้วถึงจะเขียนออกมา

อย่างเมื่อไม่นานมานี้ผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่ไอดอลประกาศแต่งงาน เราก็นำมาเขียนในมุมมองที่ว่าทำไมไอดอลถึงมีความรักไม่ได้ ซึ่งต้องคุยกับทีมงานว่าเราจะเขียนแบบไหน ที่งานเขียนสนุกเพราะได้นำเสนอสิ่งที่หลายคนอาจยังไม่รู้ หรือถ้ารู้แล้วเราก็เหมือนได้แชร์เรื่องราวร่วมกัน

 

Q. คิดอย่างไรกับประโยคญี่ปุ่นเหมาะไปเที่ยว แต่ไม่เหมาะที่จะอยู่

สำหรับคนไทยอาจจะเป็นอย่างนั้น เพราะมักจะชินกับความสบายๆ ไม่เข้มงวด ซึ่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่ค่อนข้างจุกจิกโดยเฉพาะเวลาทำงาน เขาจะให้ความสำคัญทุกขั้นตอน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็ควรจริงจัง ไม่ควรจะเล่น เข้มงวดตั้งแต่ต้นจนจบ นี่คือวิธีการทำงานของคนญี่ปุ่นซึ่งคนไทยอาจไม่เข้าใจ

เนื่องจากส่วนใหญ่เราเน้นให้ผลลัพธ์ของงานออกมาดี มีปัญหาค่อยแก้ไข ทำงานเสร็จแบบฉิวเฉียดก็ไม่เป็นไรเพราะยังทันเวลา ดังนั้นถ้าคนไทยไม่ชินกับสังคมญี่ปุ่นจะรู้สึกอึดอัดแน่นอน คนที่จะอยู่ญี่ปุ่นได้ ต้องมีภูมิคุ้มกันและเข้าใจสังคมบ้านเมืองเขาระดับหนึ่งด้วยครับ ในหนังสือ Joy on Japan บอกเล่าเรื่องราวลักษณะนี้ไว้ อยากให้ทุกคนรู้และเข้าใจว่าญี่ปุ่นไม่ได้สวยหวานนะ (ยิ้ม)


Q. ผลงานที่ติดตามได้ในช่วงนี้

นอกจากหนังสือรวมคอลัมน์ใน The MATTER แล้วขอฝากรายการ Journal Journey ที่จะออกอากาศวันที่ 29  กรกฎาคมนี้ด้วยนะครับ เป็นรายการพาท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นทางช่อง Voice TV ทุกวันเสาร์ เวลา 21:30 .

ซึ่งมีทั้งหมด 6 ตอน 6 เมือง ได้แก่ จังหวัดอิบะระกิ (Ibaraki) เมืองชิชิบุ (Chichibu) และเมืองคะวะโงะเอะ (Kawagoe) ในจังหวัดไซตะมะ (Saitama) เกาะเอะโนะชิมะ (Enoshima) และเมืองโยะโกะฮะมะ (Yokohama) ในจังหวัดคะนะงะวะ (Kanagawa) และสุดท้ายคือคิชิโจจิ (Kichijoji) ในโตเกียว (Tokyo) ครับ เป็นแนว One day trip โดยเริ่มต้นเดินทางจากชินจูกุ เหมาะสำหรับคนที่อยากท่องเที่ยวมากกว่าในโตเกียวและสามารถเดินทางได้ด้วยรถไฟทั้งหมดครับ

ติดตามผลงานได้ที่

Facebook: Nut Kun นัทคุง

IG: @nut_kun

Twitter: @nut_kun

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ