สารบัญ

 


“ประสบการณ์” คือสิ่งที่เราจะได้รับจากการออกไปใช้ชีวิตในต่างแดน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย ว่าพร้อมเปิดรับและมีทัศนคติต่อการศึกษานอกห้องเรียนมากน้อยแค่ไหน

‘ชาร์ต-สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์’ อดีตนักเรียนไทยที่ไปใช้ชีวิตเป็นนักเรียนในแดนปลาดิบถึงสามครั้ง…ครั้งแรกไปเรียนชั้นประถมศึกษาที่เกียวโต ส่วนอีกสองครั้ง ไปในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยซากะ และนักศึกษาทุนปริญญาโท มหาวิทยาลัยโตเกียว นอกจากจะเรียนในห้องเรียนแล้ว แน่นอนว่า ไหนๆ ก็ไปทั้งที ก็ต้องใช้ชีวิตให้คุ้มด้วยการหาประสบการณ์นอกห้องเรียน! เพราะเขายึดแนวคิดที่ว่า คนเราเกิดมาครั้งเดียว เมื่อมีโอกาสก็ควรเก็บเกี่ยวประสบการณ์ชีวิตสะสมไว้ให้มาก ลองทำอะไรที่แปลกใหม่

หลังเรียนจบ ชาร์ตจึงกลับมาพร้อมประสบการณ์ที่เก็บเกี่ยวมาเต็มที่ ซึ่งหากว่าต้องชั่งน้ำหนักก่อนขึ้นเครื่องกลับเมืองไทย คงเกินโควต้าน้ำหนักของสายการบินแบบฟูลเซอร์วิสทีเดียว นี่แหละจึงจะสมกับวลีที่ว่า “ใช้ชีวิตได้คุ้มทุน” จริงๆ

 

ชีวิตในญี่ปุ่นที่มากกว่าการเป็นนักเรียนทุน;

Q. ปัจจุบันทำอะไรบ้าง

ผมเป็นคนติดนิสัยชอบทำตัวให้ยุ่งอยู่ตลอดมาตั้งแต่เด็กๆ ครับ งานหลักเลยคือผมทำงานอยู่ที่ธนาคารญี่ปุ่น เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการส่วนงานพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ โดยดูแลในเรื่องของการค้าการลงทุนในต่างประเทศ ทำงานปรึกษาให้กับบริษัทต่างๆ เช่น บริษัทญี่ปุ่นต้องการจะนำสินค้าตัวหนึ่งเข้ามาขายที่เมืองไทย ก็จะให้คำแนะนำว่าสินค้าตัวนี้จะทำตลาดในไทยยังไง หรือขายที่ไหนดี ซึ่งผมก็จะช่วยหาช่องทางในการขายให้เขาอีกด้วย

นอกจากนี้ ผมก็ได้เปิดบริษัทตัวเองซึ่งโคกับทีมงานญี่ปุ่น รับเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ รับทำสำรวจการตลาด (Market Survey) ทำรีเสิร์ช รวมถึงรับประสานงานทั่วๆไปให้กับบริษัทญี่ปุ่นที่ต้องการมาลงทุนหรือทำธุรกิจในอาเซียน โดยผมจะรับทั้งงานบริษัทเอกชนและองค์กรภาครัฐของญี่ปุ่นครับ เช่น เมื่อปีที่แล้วผมได้รับโอกาสเข้าร่วมทำโปรเจกต์ในการให้คำปรึกษาเรื่องการฟื้นฟูพื้นที่ในเกาะคิวชูหลังประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านการโปรโมทการท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงคนไทยให้รู้จักและมาเที่ยวเกาะคิวชูมากยิ่งขึ้น

 

Q. รู้จักญี่ปุ่นได้อย่างไร

ทางครอบครัวผมเองมีความเกี่ยวข้องกับญี่ปุ่นมาค่อนข้างนานครับ จริงๆ แล้วผมได้ยินเรื่องเกี่ยวกับญี่ปุ่นครั้งแรกก็จากคุณยายที่ได้ตามคุณทวดของผมไปใช้ชีวิตอยู่ที่โตเกียวเนื่องจากท่านต้องไปเป็นฑูตทหารประจำอยู่ที่ญี่ปุ่นเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง คุณยายมักจะเล่าให้ผมฟังว่า ใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นสนุกยังไงบ้าง จึงทำให้ผมเริ่มสนใจญี่ปุ่นขึ้นมา และผมก็ได้ไปอยู่ที่ญี่ปุ่นจริงๆ ครั้งแรกเมื่อตอน ป.4 โดยคุณพ่อผมต้องไปทำงานที่เกียวโตอยู่ประมาณครึ่งปี และผมจึงได้มีโอกาสตามท่านไป

ครั้งนั้นผมได้เข้าเรียนที่โรงเรียนประถมของเด็กญี่ปุ่นทั่วไป ผมพูดญี่ปุ่นไม่ได้เลย หลักๆ ก็ไปนั่งเรียนในคลาสของเด็กญี่ปุ่นครับ โดยที่นี่จะมีห้องนักเรียนนานาชาติอยู่ แต่ทั้งห้องก็จะมีอยู่สองสามคนเนื่องด้วยผมไปอยู่ในเมืองชนบทเล็กๆ ผมก็จะไปนั่งเรียนในห้องนักเรียนนานาชาติวันละคลาส ไปเรียนภาษาญี่ปุ่นและเรียนพวกวัฒนธรรมต่างๆ ของเขา แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเล็กก็เลยไม่มีโอกาสได้เรียนอะไรมากครับ ไปอยู่แค่ครึ่งปีแล้วก็กลับมาเรียนต่อที่เมืองไทย

 

Q. ระบบการศึกษาของคนญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง

ผมรู้สึกชอบระบบการเรียนของคนญี่ปุ่น ระบบการศึกษาของไทยจะนั่งเรียนในห้องเสียค่อนข้างเยอะ กลับบ้านก็ไปทำการบ้านต่อ แต่ที่ญี่ปุ่นจะเน้นให้เราออกข้างนอก ไปหาประสบการณ์นอกห้องเรียนจากชีวิตจริง อย่างเช่น วิชาวิทยาศาสตร์ วันนี้เรียนเรื่องแมลง เขาก็จะแบ่งกลุ่มเราให้เดินไปตามสวน ไปศึกษาแมลงจริงๆ หรืออย่างวิชาสังคมศาสตร์ ก็มีเรียนในหนังสือบ้าง แต่ก็มีภาคสนามเยอะมาก บางทีเขาให้เราไปเดินศึกษาดูรอบเมือง แบ่งกลุ่ม ไปเดินคุยกับผู้คนในเมือง คุยกับแม่ค้า ทำให้เราได้รู้จักสังคม ซึ่งวิธีการเรียนแบบนี้ทำให้เราติดกิจกรรม ชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนครับ

 

Q. กลับมาไทยแล้ว ยังอยากกลับไปเรียนที่ญ่ีปุ่นอยู่ไหม

อยากกลับไปครับ พอกลับมาไทย ผมก็พยายามหาทุน ซึ่งสมัยก่อนจะมีพวกทุนนักเรียนชั้นประถมและมัธยมศึกษาอยู่บ้าง ผมก็ลองสมัครไปเยอะ แต่ระดับชั้นศึกษาเหล่านี้จะไม่ค่อยมีทุนเต็มให้ ผมก็เกรงใจที่บ้านเลยตัดสินใจยังไม่ไปเรียน จนเข้าเรียนปริญญาตรีครับ

ผมได้เข้าเรียนที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์จนถึงประมาณปีสาม อาจารย์ท่านก็แนะนำว่ามีทุนแลกเปลี่ยน เรียนฟรี แล้วก็มีค่าใช้จ่ายรายเดือนให้ด้วย ผมก็เลยลองไปสมัครดู ตอนนั้นมีหลายจังหวัดที่เป็นพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยอยู่ให้เลือก มีทั้งเมืองใหญ่ๆ และเมืองเล็กๆ ซึ่งตอนนั้นผมได้ตั้งใจเลือกมหาวิทยาลัยซากะ (Saga University) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ อยู่ในจังหวัดซากะ ด้วยเหตุผลที่ผมเคยได้ยินว่าเมืองซากะค่อนข้างเงียบสงบซึ่งผมเองก็อยากลองไปใช้ชีวิตที่ไม่ใช่ในตัวเมืองของญี่ปุ่นดูบ้าง และผมได้ไปเรียนอยู่ที่นี่หนึ่งปี

ผมมองว่าในแต่ละประเทศจะมีเมืองใหญ่ ซึ่งคล้ายๆ กัน มีซิตี้ไลฟ์เหมือนๆ กัน แต่ตอนนั้นจุดประสงค์หลักของผมคืออยากไปเรียนรู้วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น   

 

Q. ทำไมถึงชอบประเทศญี่ปุ่น

หลังจากที่ไปญี่ปุ่นรอบแรก ผมก็ติดใจระบบการศึกษาและวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น เรื่องที่ประทับใจมากก็คือ ตอนผมจะกลับเมืองไทยสมัยที่ไปเรียนชั้นประถม ทั้งๆ ที่ผมไปอยู่แค่ครึ่งปี แต่ผมกลับรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่นั่น ในวันสุดท้ายของการเรียน คุณครูก็จัดงานอำลาให้ เพื่อนๆ ก็ให้ของขวัญที่ทำขึ้นมาเอง นั่นคือความประทับใจเล็กๆ แต่ติดอยู่ในใจผมจนถึงทุกวันนี้ มันเลยเป็นเหตุผล ที่ผมอยากได้มีโอกาสกลับไปที่ญี่ปุ่นอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ผมได้มีโอกาสเรียนภาษาญี่ปุ่นอย่างจริงจังมากขึ้น แล้วก็เรียนพวกวัฒนธรรมต่างๆ เช่น เรียนชงชา เรียนเคนโด้ และเรียนประวัติศาสตร์ต่างๆ ของญี่ปุ่น

พอเรียนจบ กลับมาก็มาทำงานที่ Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ สำนักงานประเทศไทย ซึ่งเป็นธนาคารญี่ปุ่น ประมาณสองปี ก็ออกไปเรียนต่อปริญญาโท และแน่นอนครับ คำตอบในใจผมตอนนั้น มีเพียงประเทศเดียว คือ ญี่ปุ่น

ผมมองว่าการที่เราเก่งภาษาอังกฤษหรือรู้ภาษาอังกฤษมันไม่ใช่เรื่องแปลกแล้วในยุคสมัยนี้ มันกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องรู้ แต่ถ้าเรารู้ภาษาที่สามอย่างเช่นภาษาญี่ปุ่น และคุยได้แบบในเชิงธุรกิจ เราจะสามารถทำอะไรได้หลายอย่าง เพราะบริษัทญี่ปุ่นในเมืองไทยเองก็มีอยู่หลายพันบริษัท คนญี่ปุ่นที่อยู่ในเมืองไทยก็มีหลายแสนคน และแน่นอน นั่นหมายถึงโอกาสเชิงธุรกิจในอนาคตด้วยครับ

 

Q. ได้ทุนอะไรบ้าง

ตอนไปแลกเปลี่ยนปริญญาตรี ผมได้ทุนของ JASSO  International Student Scholarship for Short-Term Study in Japan เดือนหนึ่งก็ได้เงินแปดหมื่นเยน แต่ตอนไปรอบปริญญาโท ผมไปแบบค่อนข้างเสี่ยงนิดหนึ่ง คือสมัครเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียวได้ (University of Tokyo) แต่ยังไม่ได้ทุน

พอเขารับ ผมก็เลยแจ้งเขาไว้ว่าผมไม่มีทุน แล้วผมก็กังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูงเพราะอยู่โตเกียว อาจารย์เขาก็เลยจัดหาทุนมาให้ เป็นของ JASSO Honors Scholarship จากหน่วยงานเดียวกับที่เคยได้ ทีนี้ก็ได้หนึ่งทุนยืนพื้นแล้ว แต่เงินก็ยังไม่ได้เยอะมาก ไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ทั้งหมด ผมก็เลยหาทุนเพิ่ม พยายามสมัครทุนต่างๆ สมัครไปกว่าสิบทุน แล้วก็ไปได้ทุนอีกทุนหนึ่ง เป็นทุนของบริษัทเอกชนของญี่ปุ่น ชื่อ Shundoh International Scholarship ก็รับสองทุนพร้อมกันครับ

 

Q. มีแบบรับสองทุนด้วยหรือ

มีครับ อย่างของ JASSO เขาให้รับทุนที่อื่นได้ด้วยในจำนวนเงินที่จำกัด แล้วผมก็อาศัยหางานพิเศษทำอีกด้วยไปพร้อมๆ กันครับ

 

Q. ชีวิตในมหาวิทยาลัยซากะกับมหาวิทยาลัยโตเกียวเป็นยังไงบ้าง

ชีวิตเมื่อตอนเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนแตกต่างกับตอนไปเป็นนักเรียนปริญญาโทมากครับ ตอนไปซากะ ผมไปในฐานะนักเรียนแลกเปลี่ยน จะเน้นไปหาประสบการณ์มากกว่าเพราะกิจกรรมของนักเรียนแลกเปลี่ยนจะมีเยอะมาก ไปดูงานตามสถานที่ต่างๆ เช่น เรียนชงชา เรียนทำอาหาร เรียนเค็นโด แต่ว่าตอนที่ไปเรียนปริญญาโท จะเรียนค่อนข้างหนัก ต้องทำวิทยานิพนธ์เล่มหนาๆ และลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างจริงจังครับ

ตอนแรกที่ไป ผมก็ยังติดนิสัยที่เป็นเด็กนักเรียนแลกเปลี่ยนอยู่ เฮฮาๆ พอไปถึง เริ่มเรียนปริญญาโทสัปดาห์แรก เขาก็จะแจกประมวล นักเรียนปริญญาโทจะมีห้องวิจัย มีคอมพิวเตอร์ส่วนตัว มีโต๊ะส่วนตัวให้เอาไว้เขียนงานวิจัย ตั้งแต่สัปดาห์แรก ผมเห็นเพื่อนๆ อ่านหนังสือกันจริงจังมาก มีหนังสือวางกองเต็มโต๊ะเลย ผมก็เลยไปถามว่าทำอะไรกัน เขาก็บอกว่าเขาไปยืมหนังสือตามรายชื่ออ้างอิงในประมวลรายวิชาที่ได้มาล่วงหน้า ทีนี้เราก็รู้แล้วว่ารอบนี้ไม่สนุกแล้ว (หัวเราะ) คือเรียนจริงจังมาก และเป็นการเรียนที่ค่อนข้างเข้มข้นมาก

 

Q. การศึกษาญี่ปุ่นเป็นยังไงบ้าง

เด็กญี่ปุ่นจะรู้กันว่าช่วงเวลาที่โหดสุดคือช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย เด็กจะอ่านหนังสือ ติวหนังสือหนักมาก แต่พอเข้ามหาวิทยาลัยได้แล้วจะสบายขึ้น ซึ่งเด็กญี่ปุ่นก็จะนิยมทำงานพิเศษควบคู่ไปด้วย เพื่อเอาเงินมาใช้จ่ายส่วนตัวหรือเที่ยวในประเทศต่างๆ เช่น ไปเป็นพนักงานตามร้านอาหาร ตามร้านสะดวกซื้อต่างๆ โดยเด็กญี่ปุ่นประมาณ 90% จะมีประสบการณ์การทำงานพิเศษในช่วงวัยเรียนครับ การเรียนปริญญาตรีของญี่ปุ่นจึงดูไม่ค่อยโหดเท่าไหร่

แต่คนญี่ปุ่นเองก็ไม่ค่อยนิยมเรียนต่อปริญญาโท จะเรียนแค่ปริญญาตรีแล้วทำงานเลย ถ้าต่อโทก็มักจะเป็นคนที่ไปเป็นนักวิจัย ทำงานเป็นที่ปรึกษา หรือจะไปทำงานทางด้านการศึกษาซะส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น คนญี่ปุ่นที่ต่อโทจึงถูกมองเป็นคนที่จริงจังกับเรื่องการศึกษา บรรยากาศจะไม่เหมือนกับเรียนปริญญาตรี ทุกอย่างจะจริงจังขึ้นมากครับ

ระบบปริญญาโทที่ญี่ปุ่นโดยมากจะเรียนสองปี ปีแรกเรียนทฤษฎีจากหนังสือ ปีที่สองก็ทำวิจัย ระบบการเรียนที่ญี่ปุ่นเป็นการเรียนแบบอิงที่ปรึกษา อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นเหมือนพ่อแม่เรา เขาจะดูแลเราตั้งแต่เรื่องที่พักไปจนเรื่องทุน ฉะนั้นการเลือกอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากครับ ทุกสัปดาห์ก็จะมีวงถกเถียงแลกเปลี่ยนประเด็นต่างๆ กันในวงที่สังกัดอาจารย์ที่ปรึกษาคนเดียวกันหรือที่เรียกกันว่าเซมิ นักเรียนเองก็จะเอาเรื่องงานวิจัยมาอัพเดตว่าเป็นยังไงบ้าง

 

Q. นักศึกษาไทยนิยมไปเรียนด้านไหนที่ญี่ปุ่น

ส่วนใหญ่ก็จะนิยมไปเรียนทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ไอที อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีของญี่ปุ่นค่อนข้างล้ำสมัย และในส่วนของด้านการออกแบบ สถาปัตยกรรม การดีไซน์ต่างๆ ก็ค่อนข้างเป็นที่นิยมในนักเรียนไทยครับ

 

Q. นักศึกษาญี่ปุ่นนิยมเรียนอะไรกัน

ถ้าสำหรับคนญี่ปุ่นเองจะค่อนข้างหลากหลายครับ โดยอาชีพที่ได้รับความนิยมมากจะเป็นสายงานด้านการค้าขายนำเข้าส่งออก งานเอเจนซี่โฆษณา หรืองานการเงิน การธนาคาร ซึ่งคนญี่ปุ่นจะมองว่าเป็นงานที่สามารถทำรายได้ค่อนข้างสูงโดยจะมีคนแย่งสมัครเข้าบริษัทในธุรกิจเหล่านี้มากครับ

 

 

Q. นอกจากเรียนแล้วได้ทำอะไรที่ญี่ปุ่นอีกบ้าง

ผมมองว่าไหนๆ เราไปเรียนที่นั่นแล้ว ก็ไม่ควรไปเรียนอย่างเดียว  เนื่องจากไลฟ์สไตล์ส่วนตัวของผมเป็นคนชอบเดินทางท่องเที่ยว หาของกินอร่อยๆ ช็อปปิ้งบ้าง ในเมื่อผมรู้ตัวว่าผมชอบไลฟ์สไตล์แบบนี้ ผมก็ต้องพยายามหาเงินให้เยอะขึ้นด้วยเช่นกันให้เพียงพอตอบโจทย์ในสิ่งที่ผมอยากทำ

ตอนแรกผมพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ ก็เลยไปสอนภาษาอังกฤษ แล้วที่ญี่ปุ่นเขาจะฮิตเรื่อง Globalization มาก คือการอยู่ร่วมกับคนหลายๆ ชาติ จะมีวิชาให้เด็กได้เรียนรู้ว่าแต่ละประเทศมีความแตกต่างอย่างไรบ้าง ผมได้ไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนโรงเรียนมัธยมเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ ว่าเมืองไทยมีอะไร แตกต่างยังไงบ้าง มันจะเป็นคลาสที่มีอาจารย์จากหลายๆ ประเทศมาสอนครับ พอภาษาญี่ปุ่นเริ่มดีขึ้น ก็ไปเป็นครูสอนภาษาไทย สอนตัวต่อตัว รับสอนตามร้านกาแฟ ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด สอนอาทิตย์ละครั้งสองครั้ง แล้วก็ได้มีโอกาสไปทำงานในวงการบันเทิงด้วยครับ

 

Q. หางานเหล่านี้ด้วยตัวเองหรือ

ส่วนใหญ่ก็จะเสิร์ชเอาจากอินเทอร์เน็ต จะมีเว็บไซต์ดังๆ ที่รวมรวบงานสำหรับคนต่างชาติไว้ครับ

 

Q. เข้าไปทำงานในวงการบันเทิงญี่ปุ่นได้ยังไง

ที่ญี่ปุ่นจะมีพี่คนไทยคนหนึ่งที่ทำงานในวงการบันเทิงและค่อนข้างมีชื่อเสียง ออกทีวีบ่อย พอดีว่าตอนนั้นมีโฆษณาของเครือข่ายโทรศัพท์บริษัทหนึ่ง กำลังจะมีแคมเปญใหม่ที่เกี่ยวกับคนต่างชาติ เลยต้องใช้คนต่างชาติเยอะๆ ถ่ายลงนิตยสาร เขาก็หาคนไทย เพราะคนไทยที่ใช้ประจำเหมือนจะไม่ว่าง แถมคนไทยในวงการนี้จริงๆ แล้วค่อนข้างขาดตลาดครับ บางทีเขาก็ต้องใช้คนฟิลิปปินส์ คนเวียดนามแทน เขาเลยเปิดรับสมัคร มีรุ่นพี่ผมชวนให้ไปลองสมัครดู ก็ลองส่งไป ตอนแรกก็ไม่คิดว่าจะทำได้เพราะเราเป็นคนค่อนข้าง
ขี้อาย

เริ่มจากเลือกรูปตัวเองส่งโปรไฟล์ไปที่โมเดลลิ่ง ปรากฏว่าได้งานนี้ เราก็เลยลองเซ็นสัญญา แล้วรับงานมาเรื่อยๆ ไปออดิชั่น แต่ไปสักสิบได้งานสองงาน (หัวเราะ) มีงานละครสั้นบ้าง โฆษณาบ้าง เกมโชว์บ้าง เข้ามาเรื่อยๆ ครับ อย่างเรื่อง My Darling Is a Foreigner นางเอกเป็นนักแสดงตลกชื่อดังคนหนึ่ง ในเรื่องคือเขามีแฟนเป็นคนต่างชาติ พอคบกันก็เจอวัฒนธรรมที่ต่างกัน ก็เลยเลิก อะไรแบบนี้ พอเล่นละครเรื่องนี้ ก็เริ่มมีโฆษณาเข้ามาครับ นอกจากนี้ก็มีพากษ์เสียงด้วย เพราะมีโฆษณาหลายๆ ตัวที่ถ่ายทำเบ็ดเสร็จในประเทศญี่ปุ่นจะถูกนำไปฉายในต่างประเทศ รวมถึงที่ไทยด้วย ก็เลยได้ไปอัดเสียงภาษาไทย

จริงๆ แล้วรายได้งานวงการบันเทิงค่อนข้างสูงนะครับ อย่างถ่ายโฆษณาวันหนึ่งเคยได้ข้อเสนอสูงสุดถึงสองแสนเยน ประมาณหกเจ็ดหมื่นบาท หรือพากษ์เสียงชั่วโมงสองชั่วโมงก็อาจได้หมื่นกว่าบาท ซึ่งปกติเรตงานพิเศษทั่วไปที่คนญี่ปุ่นทำจะอยู่ที่ประมาณชั่วโมงละหนึ่งพันเยน หรือประมาณสามร้อยบาท แต่คนจำนวนหนึ่งยังไม่ทราบว่ามีงานแบบนี้ และยังไม่รู้ว่าจะเข้าถึงได้อย่างไรครับ

 

Q. แนะนำได้มั้ย

ยินดีครับ ผมแนะนำว่าก่อนจะลงมือทำอะไร เราก็ต้องศึกษามาพอประมาณ ยกตัวอย่างเวลาเซ็นสัญญาก็จะมีรายละเอียดให้เขียนว่าอะไรที่เรารับ อะไรที่เราไม่รับแสดง ที่ญี่ปุ่น ถ้าเราเซ็นสัญญาแล้วไม่ทำ ค่าปรับโหดมาก บางทีปรับสิบเท่าของค่าตัว เพราะฉะนั้นก็ต้องระวังให้ดี พยายามปรึกษารุ่นพี่ ลองเช็กดูให้ดีว่าเราทำอะไรได้บ้าง และข้อเสนอที่ได้มามีรายละเอียดยังไงบ้าง

 

Q. เรียกว่าเป็นนักแสดงที่มีชื่อเสียงได้หรือยัง

จริงๆ ไม่นะครับ เพราะคนที่จะดังได้ จะต้องออกสื่อทุกวัน คนถึงจะจำได้ อย่างสมมติละครฉายเมื่อคืน
วันรุ่งขึ้นก็ยังพอมีคนจำได้ แต่พอผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง คนก็จะเริ่มลืมแล้วครับ แต่ว่าบางคนเป็นแฟนคลับรายการ ก็จะจำได้ถ้าเราไปออก เพราะเขาดูรายการนั้นประจำ อย่าง
World Ranking ส่วนใหญ่แล้วจะแค่ช่วงหนึ่งแล้วจะหายไป

 

 

Q. สถานที่ที่ชอบไปตอนอยู่ญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นผมติดอยู่สองอย่าง อย่างแรกคือออนเซ็น ผมเป็นคนติดออนเซ็นตั้งแต่สมัยไปอยู่ซากะแล้วครับ ครั้งแรกที่ไป ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าต้องถอดเสื้อผ้าหมดเลย อาจารย์ที่ปรึกษาเป็นคนพาไป เขาบอกว่าต้องเตรียมใจให้พร้อมนะ เราก็งงว่าทำไมต้องเตรียมใจ ก็มารู้ทีหลังว่า อ๋อ ต้องแก้ผ้า ตอนแรกก็เขิน แต่หลังๆ ก็ไม่แล้ว เพราะไม่มีใครสนใจ จากเขินก็กลายเป็นชอบ ไปเที่ยวที่ไหนต้องลงออนเซ็นทุกที่ ต้องไปหาออนเซ็นลง

 

Q. ออนเซ็นที่ชอบ

ที่ประทับใจมากๆ เลยมีอยู่สองที่ครับ ที่แรกคือ อะริมะออนเซ็น เป็นออนเซ็นยอดนิยมติดท็อปของญี่ปุ่นเลย อยู่ที่เมืองโกเบ อีกที่คือออนเซ็นของจังหวัดโออิตะ ที่ผมชอบจะเป็นออนเซ็นโคลนหรือโดโระออนเซ็น เวลาลงไปแช่ก็จะเอาโคลนมาพอกที่ตัว ช่วยให้ผิวดี แต่ที่นี่ก็ทำให้ผมตกใจ เพราะไม่เคยคิดมาก่อนว่ามีออนเซ็นแบบรวม ผมได้รู้จักที่นี่โดยเพื่อนที่อยู่ที่นั่นพาไปเที่ยว ผมบอกให้เขาพาไปที่ที่เป็นแบบดั้งเดิมหน่อย ที่ที่คนต่างชาติไม่ค่อยรู้ เขาก็พาไปที่นี่แหละ ออนเซ็นโคลน พอเข้าไปปุ๊บ ห้องเปลี่ยนชุดก็แยกชายหญิง ยังไม่มีอะไร ช่วงที่เป็นห้องอาบน้ำก็ไม่มีอะไร แต่พอถึงโซนที่เป็นเอาต์ดอร์ ก็เจอลุงๆ ป้าๆ เต็มไปหมดเลย ผมเลยรีบเดินออกไปเลย ไม่กล้าแช่ (หัวเราะ)

 

Q. อีกสถานที่หนึ่งล่ะ

ผมติดคาราโอะเกะครับ คือคาราโอะเกะของญี่ปุ่นไม่เหมือนของไทยนะ ผมไปบ่อยมาก ยิ่งช่วงที่เป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ซากะ ผมไปทุกอาทิตย์ ไปจนได้บัตรสมาชิกวีไอพี (หัวเราะ) ตอนเรียนปริญญาโท เรียนหนักนิดหนึ่ง แต่อย่างน้อยๆ ก็ต้องไปเดือนละครั้ง ตอนแรกเป็นคนไม่กล้าร้องเพลง จนต้องมีเพลงประจำเอาไว้ร้องเวลาไปกับเพื่อน ที่น่าตกใจก็คือ มีเพลงไทยหลายเพลงถูกทำเป็นเวอร์ชั่นญี่ปุ่น และร้านคาราโอเกะที่นี่จะมีเป็นบุฟเฟ่ต์ด้วยนะ ซอฟต์ดริงก์ไม่อั้น แล้วก็ร้องยันเช้าเลยครับ

 

“ผมก็ชอบการเซอร์วิสมายด์ของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านราเมนริมทางหรือร้านอาหารหรูในโรงแรม เซอร์วิสมายด์แทบไม่ต่างกัน เขาดูแลเราดี  ถ้าเขาจะช่วยอะไรเราแล้ว เขาช่วยเราจริงๆ”

 

Q. สิ่งที่ชอบในญี่ปุ่น

ถ้าพูดถึงเรื่องคน เรื่องไลฟ์สไตล์เขาเนี่ย ผมชอบที่เขาเป็นคนใส่ใจ ถ้าลองสังเกต ญี่ปุ่นเวลาเขาออกสินค้าสักอย่าง ข้างในอร่อยหรือไม่อร่อย เราไม่รู้หรอก อาจจะเป็นถั่วห่อแป้งหรือแป้งห่อถั่ว เราก็ไม่รู้ แต่ว่าแพ็กเกจจิ้งสวยมาก คือลงรายละเอียดทุกอย่าง เลยรู้สึกว่าเขาเป็นคนใส่ใจ หรือเวลาเราไปเที่ยวบ้านเพื่อน พ่อแม่เขาจะดูแลดีมาก ขณะที่คนไทย สมมติเราไปบ้านเพื่อน เราก็จะแบบผมช่วยนั่นนี่ แต่คนญี่ปุ่นบอกว่าไม่ต้อง นั่งเฉยๆ เขาดูแลดีมาก เวลาอาบน้ำ คนญี่ปุ่นชอบแช่อ่างอาบน้ำ เขาก็จะเปิดน้ำให้เต็มอ่างแล้วให้เราอาบก่อน

แล้วผมก็ชอบการเซอร์วิสมายด์ของคนญี่ปุ่น เวลาเราไปกินอาหารที่ญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นร้านราเมนริมทางหรือร้านอาหารหรูในโรงแรม เซอร์วิสมายด์แทบไม่ต่างกัน เขาดูแลเราดี พูดจากับเราดี ถ้าเขาจะช่วยอะไรเราแล้ว เขาช่วยเราจริงๆ อย่างไปแรกๆ เราก็จะหลงทางบ้าง เวลาถามทางคน ถ้าเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ เขาจะพาเราไปถึงตรงที่ที่ใกล้ที่สุดที่พอจะชี้ทางให้ได้

ถ้าเป็นเรื่องงานสิ่งหนึ่งที่ชอบก็คือ ความเป๊ะและความไว้เนื้อเชื่อใจได้ เราทำงานกับคนญี่ปุ่นเราไม่ต้องกลัวว่าเขาจะโกงเราหรือหลอกเรา แล้วคนญี่ปุ่นจะเป็นแบบถ้าเราทำงานดี เป๊ะ ต่อให้มีคนอื่นดีๆ เข้ามาใหม่ เขาก็ยังจะเลือกเราอยู่ จะเป็นแบบ Long-Term Relationship เพราะฉะนั้นถ้าเราทำงานตามสัญญา ตาม Quotation ทุกอย่างก็ไปได้ราบรื่น เหมือนเขาก็เป็นคนที่ชอบเลี้ยงคน แล้วเราก็โตไปด้วยกันได้

ส่วนเรื่องอาหารญี่ปุ่น ตอนนี้ในเมืองไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นเยอะ เป็นอันดับสองรองจากอาหารไทย เมื่อก่อนคนไทยกินอาหารญี่ปุ่นเป็นแฟชั่น แต่ทุกวันนี้มันกลายเป็นไลฟ์สไตล์ขึ้นมาแล้ว คนกินอาหารญี่ปุ่นเป็นปกติ ผมเชื่อว่าในทุกสัปดาห์ หลายคนต้องมีสักหนึ่งมื้อแหละที่ต้องกินอาหารญี่ปุ่น อย่างผมยอมรับว่าเป็นคนติดอาหารญี่ปุ่น อย่างหนึ่งเลยก็คือมันเฮลตี้ดีครับ แล้วก็ค่อนข้างถูกปาก

อีกอย่างหนึ่งที่ชอบก็คือเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งก็ไม่น่าใช่ผมคนเดียวเหมือนกัน จากปี 2003 คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นแค่แปดหมื่นคนต่อปี เพราะการที่คนคนหนึ่งจะไปเที่ยวญี่ปุ่นได้ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีฐานะระดับหนึ่ง แต่ทุกวันนี้ ตั้งแต่เว้นวีซ่าปี 2013 ปี 2016 คนไทยไปญี่ปุ่นเก้าแสนคน ตอนนี้กลายเป็นว่าคนไทยเข้าญี่ปุ่นเป็นอันดับหกของโลกแล้ว ที่สำคัญจำนวนเก้าแสนคนนั้นมีไม่น้อยเลยนะที่เป็น Repeater หรือคนที่ไปซ้ำ คือไปโตเกียวแล้วก็ไปเกียวโต ไปเกียวโตแล้วก็ไปฮอกไกโด ไปซ้ำๆ ตัวผมเองก็ชอบไป ปีหนึ่งจะไปประมาณสี่ห้ารอบ รู้สึกว่าไปแล้วเราได้ความปลอดภัย เราไม่ต้องกังวล แล้วพักหลังเงินเยนก็ถูกลง ไปได้ทุกฤดู ก็เลยคิดว่าเป็นที่ที่เราจะไปพักผ่อนรีแลกซ์ได้ เหมือนบ้านหลังที่สองครับ

 

 

Q. สิ่งที่ไม่ชอบในญี่ปุ่น

อย่าเรียกว่าไม่ชอบเลยครับ อาจจะเป็นจุดที่ว่าไลฟ์สไตล์ไม่ตรงกับตัวผมซะมากกว่า บางทีผมรู้สึกคนญี่ปุ่นเครียดเกินไป เวลาไปเรียน แล้วผมอยู่คนเดียว เวลาไม่สบายหรือมีปัญหาชีวิต พอเทียบกับตอนอยู่เมืองไทย ถ้าไม่นับครอบครัวแล้ว เราก็ยังมีเพื่อนๆ ที่สนิทยังพอให้คำแนะนำได้ มีอะไรโทรไปคุยได้ ปรึกษาได้ คนไทยมีความกันเองค่อนข้างมาก แต่ที่ญี่ปุ่นจะมีความเป็นส่วนตัวค่อนข้างมาก บางทีเราไปคุยเรื่องส่วนตัวมากเกินไป ก็อาจจะดูไม่เหมาะสม พอพูดเรื่องความเป็นส่วนตัว สมมติคนไทยเวลาเราไปเที่ยวที่ไหนมา เราก็จะเอารูปมาโชว์ แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะไม่อัพรูปลงเฟสบุ๊ค อย่างเวลาไปเที่ยวที่ไหนกับแฟนเนี่ย เขาไม่ค่อยลงเลยนะ

 

Q. คล้ายๆ กับวัฒนธรรมการห่อปกของคนญี่ปุ่น

ใช่ครับ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เห็นได้ชัด คือตอนแรกผมก็งงนะว่าจะห่อทำไม ในความคิดผม ถ้ามันไม่ใช่หนังสือที่ล่อแหลมมากผมว่าไม่ต้องห่อก็ได้ แต่คนญี่ปุ่นเขาห่อกระดาษสีเทาๆ หรือสีน้ำตาล บางคนอาจเพื่อรักษาปก แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่ห่อเพื่อไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเราอ่านเรื่องอะไรอยู่ เพราะถือว่าค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งจะเห็นได้ชัดตามรถไฟฟ้าครับ

 

Q. คิดว่าอะไรคือจุดอ่อนของประเทศที่ดูสมบูรณ์แบบนี้

การทำงานที่มีขั้นตอน มีความเข้มงวด บางครั้งอาจจะส่งผลให้ทำงานได้ช้าหรือทำนอกกรอบได้ยาก เนื่องจากเขามีการวางระบบไว้แล้ว อาจจะเป็นเรื่องของสังคม ถ้ามองในเชิงธุรกิจ บางทีอาจจะทำให้บริษัทปรับตัวได้ช้า อย่างที่เห็นในตอนนี้โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องใช้ไฟฟ้า จะเห็นว่าพักหลังแบรนด์ของเกาหลีใต้มาแรงมาก ในขณะเดียวกันแบรนด์ของญี่ปุ่นหลายแบรนด์ก็ปิดตัวไป แล้วก็มีบริษัทอื่นๆ ที่กำลังจะปิดตัวอีกค่อนข้างเยอะ ดังนั้นถ้าญี่ปุ่นยังไม่ปรับตัวเรื่องนี้ก็อาจจะเร็วสู้ประเทศอื่นไม่ได้ในธุรกิจที่ต้องคอยอัพเดทตามเทรนด์ครับ

 

Q. แล้วตอนนี้ญี่ปุ่นเริ่มมีการปรับตัวบ้างหรือยัง

ญี่ปุ่นเขาก็พอจะทราบดีในจุดอ่อนตรงนี้นะครับ เขาก็พยายามปรับตัวให้ทันกับโลกมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็พยายามเอาเด็กต่างชาติมาเรียนมากขึ้น ส่งเด็กญี่ปุ่นไปเรียนต่างประเทศให้มากขึ้น หรือบริษัทต่างๆ เองก็จ้างคนต่างชาติมากขึ้น เพื่อให้คนญี่ปุ่นได้ซึมซับการทำงานแบบประเทศอื่นๆ เพิ่มความหลากหลายให้มากขึ้น อย่างทางรัฐบาลญี่ปุ่นเองก็เริ่มมีโปรเจกต์ต่างๆ ที่สนับสนุนในเรื่องนี้มากขึ้นครับ

 

“คนญี่ปุ่นเองโดยทั่วไปก็ชอบคนไทย ชอบมาเที่ยว มาอยู่ที่เมืองไทย
คนญี่ปุ่นที่เกษียณจำนวนมากก็นิยมที่จะย้ายมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในเมืองไทย
เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและแน่นแฟ้นมากๆ”

 

Q. เรื่องแปลกที่เคยเจอในญี่ปุ่น

ผมเชื่อว่าเด็กๆ หลายคนต้องเคยดูการ์ตูนญี่ปุ่น บางเล่มก็จะได้เจอกับโจรขโมยกางเกงใน เอากางเกงในมาใส่เป็นหน้ากาก ซึ่งผมก็ไม่เคยคิดว่าเป็นเรื่องจริง ตอนไปอยู่ที่ซากะ อพาร์ตเมนต์ที่ผมอยู่เป็นแบบรวมชายหญิง เพื่อนคนเกาหลีก็จะบอกว่ากางเกงใน ชุดชั้นในเขาหายประจำ ก็คิดว่ามันคงปลิวไปแหละ มีอยู่วันหนึ่งเพื่อนคนนี้เขาป่วยก็เลยไม่ได้อยู่เรียนเต็มวันแต่กลับก่อน แล้วก็เจอคุณลุงกำลังสอยอยู่พอดีเลย (หัวเราะ)

ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง เป็นอุทาหรณ์ให้นักเรียนไทยที่มาเรียนนะครับ บางทีเราคิดว่าประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ปลอดภัย ไม่น่าจะมีอะไร แต่มันก็เหมือนกันทุกประเทศแหละครับ มีทั้งคนที่ดีและไม่ดี อย่างกรณีเพื่อนคนจีน เขาไปเที่ยวมา ก็เดินลากกระเป๋าจากสถานีรถไฟฟ้ามาอพาร์ตเมนต์และใส่หูฟังฟังเพลง ก็ไม่ได้สนใจอะไร พอเดินมาถึงห้องไขกุญแจ กำลังจะเข้าห้องก็มีคนผลักเข้าห้องแล้วเอามีดจี้เลย

 

Q. ฝากถึงนักท่องเที่ยวไทยที่ไปญี่ปุ่น

อย่างที่ทราบกันดีว่า คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นเยอะ แล้วคนไทยก็ชอบญี่ปุ่นมาก คนญี่ปุ่นเองเขาก็รู้นะ ว่าคนไทยชอบญี่ปุ่นมาก แล้วเขาก็ดีใจที่มีคนชอบประเทศเขา คนญี่ปุ่นเองก็ชอบเมืองไทยมาก จริงๆ ปีนี้ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่นครบ 130 ปี เพราะฉะนั้นสิ่งที่อยากฝากคือ พอคนไปเที่ยวเยอะ คนก็อาจจะปล่อยตัวบ้าง ไม่ทำตามกฎระเบียบ ก็เลยอยากให้คิดว่า เราอยู่ในประเทศเขา เขาไม่ให้จับอะไร ไม่ให้เราเข้าไปตรงไหน ขยะเวลาทิ้งต้องแยก ก็อยากให้ทำตามกฎ หรืออีกเรื่องที่คนญี่ปุ่นค่อนข้างซีเรียส ซึ่งเราคนไทยอาจจะมองข้ามเช่น เรื่องการเอาอาหารอย่างพวกซอส เครื่องปรุงจากข้างนอกมาใช้ในร้าน

อย่าลืมว่าเวลาไปเที่ยวเราไม่ได้ไปแค่ตัวเรา แต่ไปในฐานะของคนไทย การที่เราทำอะไรไม่ดีครั้งหนึ่งเนี่ย เขาก็จะมองเลยว่า เอ๊ะ คนไทย คือติดภาพไปเลย แล้วมันจะมีผลต่อคนไทยที่จะมาในรุ่นหลังๆ ครับ

 

Q. คนญี่ปุ่นชอบอะไรในความเป็นไทย

คนญี่ปุ่นเองโดยทั่วไปก็ชอบคนไทย ชอบมาเที่ยว มาอยู่ที่เมืองไทย เหมือนที่คนไทยชอบญี่ปุ่นครับ ด้วยความที่คนไทยเป็นคนยิ้มเก่ง มีความเป็นกันเอง จึงทำให้คนญี่ปุ่นประทับใจครับ อย่างคนญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาทำงานที่เมืองไทยจำนวนมากไม่อยากกลับ (หัวเราะ) ยิ่งพออยู่ที่นี่มีคนขับรถ มีคอนโดที่สะดวกสบาย และถึงแม้จะคิดถึงอาหารญี่ปุ่น ก็สามารถหากินได้ทั่วไปเรียกได้ว่าแทบจะทุกร้านเชนหลักๆ ของญี่ปุ่นสามารถหากินได้ในไทย คุณภาพก็มีทั้งแบบธรรมดาทั่วๆ ไป ไปถึงแบบที่เรียกได้ว่าไม่แพ้ไปนั่งกินอยู่ที่ญี่ปุ่นเลย ซึ่งนอกจากคนทำงานแล้ว คนญี่ปุ่นที่เกษียณจำนวนมากก็นิยมที่จะย้ายมาใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ในเมืองไทย
จะเห็นได้ว่าเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและแน่นแฟ้นมากๆ ครับ

 

Q. ฝากถึงน้องๆ ที่อยากไปเรียนต่อที่ญี่ปุ่น

พอพูดถึงการไปเรียนที่ญี่ปุ่น น้องก็อาจจะคิดว่า โหยากจัง ที่บ้านไม่มีเงินทุนพอ หรือแม้กระทั่งมีคำถามตั้งแต่ ควรเริ่มต้นตรงไหน จะทำยังไง ก็อย่าเพิ่งท้อแท้ใจไปครับ ให้ลองศึกษาข้อมูล ทำการบ้านเตรียมตัวให้ดีๆ แล้วถ้าเป็นไปได้ก็ลองปรึกษารุ่นพี่ที่เคยมีประสบการณ์ ในเรื่องของทุน นอกจากทุนรัฐบาลญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักกันดี ทุนบริษัทเอกชนเองหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรก็มีให้หลายทุน เรียกว่าทุนเยอะจนบางทุนแทบไม่มีคนมาสมัครเลยก็มีนะครับ

 

Q. ผลงานในช่วงนี้

ตอนนี้ก็มีคอลัมน์ คุยกับชาร์ต ในเว็บไซต์ jeducation.com นอกเหนือจากนี้หากอยากปรึกษาเรื่องการทำงานในญี่ปุ่น และการใช้ชีวิตนอกห้องเรียน หรือการเรียนต่อที่ญี่ปุ่น ก็ส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊ก (Shad Sarntisart) ได้ครับ ผมยินดีและเต็มใจถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งหมดครับ

 

_

ติดตามผลงานได้ที่
Facebook: Shad Sarntisart

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ