Ryukoku Museum : พิพิธภัณฑ์คอนกรีตเปลือยในเกียวโต ที่ทำให้คนรู้จักพุทธศาสนาในเอเชียมากขึ้นกว่าเดิม
ศาสนาพุทธในญี่ปุ่นเดินทางมาจากทิศตะวันตกผ่านเกาหลีและจีนในระลอกแรกเมื่อช่วงพุทธศตวรรษที่ 11 จากนั้นได้หยั่งรากลึกจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่น แม้ว่าจะมีลัทธิชินโตอยู่มาก่อนก็ตาม หากเราได้เดินทางท่องเที่ยวในเมืองเกียวโตซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น เราสามารถพบวัดพุทธหลายแห่งแทรกอยู่ตามชุมชนเก่าแก่
ในแง่การวางผังเมืองเกียวโตก็เช่นกัน แม้ว่าแนวคิดด้านการวางผังเมืองจะเป็นการใช้เรื่องฮวงจุ้ยที่ได้รับอิทธิพลจากเมืองฉางอานของจีน แต่การให้ความสำคัญกับวัดพุทธก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน การวางแกนหลักของเมืองเกียวโตนั้น จุดสูงสุดของเมืองคือพระราชวังหลวง ส่วนแกนเมืองนี้ถูกขนาบด้วยวัดซ้ายและวัดขวา ซึ่งตำแหน่งการเรียกซ้ายขวานี้ไม่ได้อ้างอิงจากทิศเหนือ แต่เป็นการอิงจากตำแหน่งที่จักรพรรดิประทับแล้วมองเมืองเกียวโตจากทางใต้ สำหรับวัดขวาก็คือวัดนิชิฮงกันจินั่นเอง วัดนิชิฮงกันจิเป็น 1 ในมรดกโลกของเมืองเกียวโต มีขนาดใหญ่โตกว่าวัดทั่วไปเพราะเป็นวัดขนาบแกนเมือง วัดนี้ยังเป็นต้นกำเนิดของมหาวิทยาลัยริวโคะคุ ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านพุทธศาสนา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1639 มีจุดกำเนิดมาจากโรงเรียนประจำ ตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดนิชิฮงกันจิ ปัจจุบันเปิดสอนหลายสาขาวิชา อาทิ เกษตรกรรม รัฐศาสตร์ ฯลฯ
หากเดินทางมาชมวัดนี้แล้วลองมองไปยังฝั่งตรงข้ามจะพบกับพิพิธภัณฑ์คอนกรีตเปลือยที่ห่มด้วยม่านไม้เป็นคลื่นอยู่ด้านหน้า พิพิธภัณฑ์นี้คอยบอกเล่าเรื่องราวของพุทธศาสนาในเอเชียและญี่ปุ่นอยู่ภายใน มันคือพิพิธภัณฑ์ริวโคะคุ (Ryukoku Museum) สร้างขึ้นเมื่อมหาวิทยาลัยริวโคะคุมีอายุครบ 321 ปี ซึ่งทำหน้าที่เก็บรวบรวมวัตถุและเอกสารด้านพุทธศาสนาจากมหาวิทยาลัยริวโคะคุ
พิพิธภัณฑ์ริวโคะคุ (Ryukoku Museum) ออกแบบด้านสถาปัตยกรรมโดย Nikken Sekkei ด้วยแนวคิดที่ต้องการสื่อสารเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอาคารกับวัดนิชิฮงกันจิลอนคลื่นม่านไม้ด้านหน้ามีที่มาจาก Nishi Honganji 36 Poets Colllection ซึ่งปรากฏคลื่นพลิ้วในเอกสารสถาปนิกจึงหยิบมาเป็นส่วนเด่นของอาคารคลุมแผงคอนกรีตด้านหน้า แม้ว่าจะไม่ได้ช่วยลดแสงเข้ามายังภายในอาคารนัก แต่ในแง่ของการรับรู้ มันช่วยลดความแข็งกระด้างของคอนกรีตได้ดีทีเดียว หากสังเกตรอบๆ วัด อาคารที่สร้างจะมีความสูงไม่เกิน 15 เมตร เพื่อไม้ให้สูงจนข่มวัดนิชิฮงกันจิ ซึ่งเป็นโบราณสถานข้างเคียงที่ส่งผลกระทบอย่างมากกับการออกแบบ เมื่อมองรายรอบวัดจะเห็นเส้นขอบฟ้าที่เสมอกัน มันช่วยรักษาความสำคัญให้กับโบราณสถาน นอกจากนี้หลังคาของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบให้เป็นทรงจั่ว เพื่อให้รับกับวัดที่อยู่ฝั่งตรงข้ามอีกด้วย
ในการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ดี บางครั้งก็ต้องเคารพสิ่งที่มีมาก่อนมากกว่าจะชิงความโดดเด่น
ผลจากการจำกัดความสูงทำให้ส่วนทางเข้าพิพิธภัณฑ์ถูกกดไว้ที่ชั้นใต้ดิน หากจะเข้ามาชมต้องเดินจากถนนแล้วลงบันไดมายังส่วนต้อนรับ การใช้วิธีที่เลือกให้ทางเข้าอยู่ใต้ดินเพื่อทำให้คอร์ตส่วนทางเข้าดูสงบตัดขาดจากโลกภายนอก ราวกับเตรียมตัวเข้าสู้พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ หรือเตรียมตัวให้สงบนิ่งเพื่อเข้าพิธีกรรมบางอย่าง
จากทางเข้าหลักต้องขึ้นไปยังชั้น 2 เพื่อเข้าชมเนื้อหาว่าด้วยศาสนาพุทธในเอเชีย เราจะได้พบกับของสะสมหลายอย่างที่มีที่มาจากหลายแง่มุมของเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย เมียนมาร์ กัมพูชา และไทย บางชิ้นมีอายุราวเกือบสองพันปี ในส่วนนี้ สิ่งที่สะดุดตาคือหุ่นสวมจีวรพร้อมบาตรแบบไทย ด้วยการที่ภัณฑารักษ์เลือกเครื่องแต่งกายของสงฆ์จากไทยมาแสดงเพียงที่เดียว นอกจากนี้ยังมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์จากไทยอายุราว 1,200 ปี และมีพระสูตรภาษาไทยจากสมัยรัชกาลที่ 5 ด้วย
พื้นที่ชั้น 3 นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของศาสนาพุทธในญี่ปุ่นผ่านงานจิตรกรรมต่างๆ ซึ่งส่วนสุดท้ายจะต้องเข้าไปยังทางเดินรูปตัว U ที่จำลองจิตรกรรมฝาผนังจากถ้ำ Bezeklik ในจีน ซึ่งถ้ำจำลองนี้จะเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของเหล่านักวิชาการที่ทำงานสร้างภาพในถ้ำนี้ขึ้นมาใหม่ในห้องฉายภาพยนตร์ของพิพิธภัณฑ์
พอภาพยนตร์จบลง จอถูกดึงขึ้นพร้อมแสงลอดผ่านหน้าต่างทางทิศตะวันตก มองลอดไปเห็นวัดนิชิฮงกันจิ ซีนนี้แหละที่ทำให้ผมเห็นว่าสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ทำงานร่วมกับสถาปัตยกรรมที่อยู่มาก่อนอย่างแยบยลได้อย่างไร