Lost in Transla(b)tion : พิพิธภัณฑ์ดิจิทัลแห่งแสงสีที่เจ๋งที่สุดในโตเกียว
หลง เหงา แล็บ
เฉกเช่น ‘ชาร์ล็อตต์’ ที่ ‘หลง’ อยู่ในเมืองที่ไม่เคยหลับเฉกเช่น ‘บ็อบ’ ที่ต้องมาทำงานกับผู้คนที่ไม่เคยหยุด ‘ไหล’ นี่อาจจะเป็นคำอธิบายที่ง่ายแต่ไม่สุดสำหรับการมาเยือน “MORI Building DIGITAL ART MUSEUM teamLab Borderless” โลก ‘แล็บ’ แห่งแสงสีของเมืองโตเกียว ห้องทดลองดิจิทัลที่จะทำให้ใครบางคน ‘หลง เหงา รัก’ ได้เท่ากับตัวละครในหนังมึนๆ ที่โดนใจใครหลายคนของโซเฟีย คอปโปลา
เพียงแค่ก้าวแรกที่ได้เหยียบย่างเข้ามาในห้องแห่งความมืดที่มีผีเสื้อบินว่อนในห้องแรก ความรู้สึกของฝรั่งขี้เหงาสองคนในโตเกียวก็แวบเข้ามาให้ได้สัมผัส ราวกับว่าผีเสื้อแห่งแสงที่กำลังขยับปีกบินว่อนไปมาอยู่ตรงหน้ากำลังจะเตือนเราว่าเตรียมใจไว้ให้ดีเพราะหลังจากนี้คุณอาจจะ ‘ลอย’ นี่คือห้อง ‘แล็บ’ ที่ไม่มีอะไรให้ต้องเข้าใจ แค่ปล่อยดวงตาและความคิดให้ ‘ล่อง’ ไปกับแสงไฟที่ขยับไหวไปมาอยู่ตรงหน้าก็เพียงพอต่อการเสพซึ้งถึงวิญญาณ!
ผลงานเกินจินตนาการของ teamLab กลุ่มคนรักงานศิลป์ที่มารวมตัวกันผลิตงานชิ้นงานในโลกดิจิทัลซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2001 ทั้งดีไซเนอร์ โปรแกรมเมอร์ สถาปนิก ศิลปิน และอีกมากมายที่มารวมตัวกันสร้างสรรค์งานเดิ้นๆ ให้ชาวโลกเห็น ด้วยการตระเวนไปจัดนิทรรศการแสงสีตามหัวเมืองหลักๆ มาแล้วทั่วโลก ก่อนจะมาปักหลักฉายเป็นแล็บถาวรอยู่ในย่านโอไดบะ (Odaiba) ที่โตเกียวในช่วงเดือนมิถุนายน (2018) ที่ผ่านมา บนพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร มันกว้างขนาดที่ว่าเดินกันขาลากก็ยัง (เพลิน) ไม่จบ
แต่ที่ทำให้เจ๋งกว่าพิพิธภัณฑ์อื่นคือการเป็นพิพิธภัณฑ์ ‘เลื่อนไหล’ ตามคอนเซ็ปต์ ‘Borderless’ ที่วางไว้ หรือก็คือการลบเส้นแบ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กั้นกรอบงานศิลป์ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่แสดงงานที่ปกติจะกั้นเขตแดนของแต่ละห้องเอาไว้ หรือจะเป็นกรอบที่กั้นระหว่างชิ้นงานกับคนดูที่เคยมีอยู่ในนิทรรศการงานศิลป์ทั่วๆ ไป ซึ่ง Borderless ไม่เพียงแต่จะทำลายเขตแดนนั้น หากแต่เขตแดนระหว่างคนดูกับชิ้นงานยังถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันด้วยซ้ำ!
ยิ่งไปกว่านั้น ในห้องห้องเดิมที่คุณเพิ่งจะเคลื่อนผ่านหากได้ย้อนกลับมาเยือนใหม่อีกรอบ สิ่งที่อยู่ในห้องห้องเดิมนั้นก็จะเปลี่ยนแปลงไป แถมบางห้องยังเล่นกับคนดูแบบ Interactive ด้วยเซ็นเซอร์ที่จับการเคลื่อนไหวและอุณหภูมิร่างกาย การขยับมือไม้ ร่างกาย หรือสัมผัส อาจจะทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของงานแสดงชิ้นนั้นได้ในบัดดล อาทิเช่น สายน้ำตกที่ซ่านกระเซ็นอยู่บนหัว กลีบดอกไม้ที่ร่วงโรยรายามสัมผัส ผีเสื้อแสงที่ขยับปีกเข้ามาหา หรือคลื่นแสงที่กระเพื่อมเข้าใส่เป็นระลอก ฯลฯ ถือเป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่ชวนเคลิ้มฝัน สมราคาพิพิธภัณฑ์ ‘Digital Only’ แห่งแรกของโลกดีแท้
ทว่ามีข้อแนะนำบางประการที่คุณน่าจะรู้ไว้ก่อนที่จะเข้าไป ‘ลอยละล่อง’ อยู่ในนั้น อันดับแรกเป็นไปได้ให้ใส่เสื้อสีอ่อนเข้าไว้ เอาแบบเรียบๆ ไม่ต้องมีลายเลยยิ่งดี เพราะมันจะถูกกลืนไปกับแสงสีได้ง่ายกว่า อันดับต่อมาคือรองเท้า เอาแบบสบายๆ เพราะมันมืด แถมพื้นทางเดินในแต่ละห้องยังเล่นระดับกับแสงไฟด้วย เดี๋ยวจะสะดุดหัวทิ่มเอา ถ้ามาส้นสูงนี่เขาน่าจะให้เปลี่ยนก่อนเข้า อันดับต่อมาคือกล้อง ข้างในห้ามใช้แฟลช ไม่ต้องถือไปให้หนัก ขาตั้งกล้องกับไม้เซลฟี่ก็ไม่ต้องเอามา อันดับต่อมาคือเวลา เอาเป็นว่าหากคิดจะเก็บให้หมดทั้ง 5 โซนของที่นี่ ถ้าไม่ติดอะไรละก็เอาเวลาครึ่งวันมาทิ้งไว้ที่นี่ได้เลย (เอาจริงๆ เผลอๆ อาจไม่พอ เพราะบางจุดนี่ต้องต่อแถวเข้าไปดูด้วย) อันดับสุดท้ายคือห้องน้ำ จัดการตัวเองให้เรียบร้อยก่อนเข้าเถอะเชื่อเรา จริงๆ ข้างในมีนะแต่หาโคตรของโคตรยาก
น่าเสียดายที่ไม่ได้เตรียมเวลามามากพอ ทว่าการ ‘ลอยละล่อง’ เป็นเวลาสองชั่วโมงเศษอยู่ใน ‘แล็บ’ ก็ทำให้เรา ‘หลง เหงา รัก’ ได้ไม่ต่างจากบ็อบบี้และชาร์ล็อตต์ แต่ละฉากที่เคลื่อนผ่านสายตาคือโลกแห่งแสงสีที่เคลื่อนไหล จนทำให้ใครบางคน ‘หลง’ ได้ไม่ต่างจากฝรั่งขี้เหงาสองคนนั้น กระทั่งฉากกระซิบสุดท้ายในหนังที่หลายคนจดจำและสงสัย ก็มีให้ได้สัมผัสไม่ต่างกัน
เราตรงเข้าไปหาใครบางคนที่กำลังเดินสวนมา พร้อมกระซิบด้วยน้ำเสียงแผ่วเบาใส่ แม้จะไม่มั่นใจในภาษา ทว่าดูเหมือนประโยคนั้นไม่น่าจะเป็นปัญหากับอีกฝ่าย ก่อนที่สุดท้ายจะพบว่าความต้องการของเราทั้งคู่นั้นไม่ผิดไปจากกันเท่าไร เมื่ออีกฝ่ายกระซิบบอกเสียงเบา
“ห้องน้ำใช่ไหม กูก็หาอยู่เหมือนกัน”
Info
MORI Building DIGITAL ART MUSEUM: EPSON teamLab Borderless
Location: พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัล MORI Building: teamLab Borderless, โอไดบะพาเลตทาวน์
Ticket Price: ค่าเข้าชม 3,200 เยน
Hour: จ.–พฤ. 11:00–19:00 น./ศ. 11:00–21:00 น./ส. 10:00–21:00 น./อา. และวันหยุด 10:00–19:00 น.
Close: ไม่มีวันหยุด
Station: Aomi Station (Yurikamome Line)
Website: borderless.teamlab.art