หลากนวัตกรรมอัตโนมัติ ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมญี่ปุ่น
Automation Machine
Automation คือการที่ไม่ต้องใช้แรงงานคน แต่ใช้เครื่องจักรกลมาทำแทน หรืออะไรที่มีเทคโนโลยีมาช่วย โดยที่คนไม่ต้อง manual ทำเองทั้งหมด ฟังแล้วดูเป็นเรื่องแอ็ดวานซ์สำหรับโรงงานภาคการผลิต แต่อันที่จริงมีนวัตกรรมที่ใช้แนวคิดแสน “เรียบง่าย” ก็สามารถมาแทนที่แรงงานคนได้เช่นกัน อาจไม่ต้องใช้เทคโนโลยีซับซ้อนชั้นสูงใดๆ แต่แวดล้อมอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของสังคมญี่ปุ่นไปแล้ว มาดูกัน
ตู้กดอัตโนมัติ
บรรดา “ตู้กดอัตโนมัติ” ที่มีอยู่มากมายหลายล้านตู้ทั่วญี่ปุ่นก็เข้าข่ายเช่นกัน ไม่ว่าจะตู้กดน้ำ/ ตู้กดไอศครีม/ ตู้ขายกล้วย/ ตู้ชงเครื่องดื่มสดๆ (รอประมาณ 1 นาที)/ ไม่ต้องมีคนคอยเฝ้าดูแล เราอยากกินอะไรก็กดๆ จ่ายเงิน ก็ได้รับสินค้านั้นเลย แถมช่วงปีหลังๆ มีการเติบโตของ “ตู้กดน้ำแบบ Touch Screen” ที่มีความไฮเทค สามารถระบุว่าคนที่มายืนกดซื้อเป็นเพศ อายุประมาณเท่าไร สามารถคำนวณเวลาตอนที่ซื้อรวมถึงเช็กสภาพอากาศของวันและ ‘แนะนำ’ เครื่องดื่มที่เหมาะสมให้ผู้ใช้บริการได้
ร้านอาหาร
การกดตู้กดยังถูกนำมาประยุกต์ใช้กับร้านอาหารด้วย บางร้านอาหารในญี่ปุ่น ลูกค้าต้องกดซื้อตั๋วอาหารที่ตู้กดหน้าร้านก่อน จากนั้นจึงค่อยนำตั๋ว(เมนูที่เราเลือก) ไปให้พนักงานในร้านเพื่อลงมือทำอาหารต่อไป อาทิ ร้านราเมงข้อสอบขวัญใจชาวไทย หรือร้านอิจิบังราเมง ก็เข้าข่ายเช่นกัน ^^
ร้านซูชิสายพานหลายแห่งจะมีหน้าจอให้ลูกค้าเลือกกดสั่งได้ที่โต๊ะเลย แถมมีสายพานพิเศษที่จะอยู่สูงกว่าสายพานอื่น เมนูที่เราสั่งจะวิ่งส่งตรงมาถึงโต๊ะเราอย่างรวดเร็ว (ผมเรียกว่าทางด่วนซูชิ อิอิ) และเวลาคิดเงินก็จะวางจานที่เรากินทั้งหมดตั้งๆๆ ให้สูง และใช้เครื่อง “สแกน” รวดเดียวจบ (อาจจะ 2-3 รอบเพื่อความชัวร์) เพราะแต่ละจานมีชิปฝังไว้อยู่ ไม่ต้องคอยนับทีละจานอีกต่อไป
ที่จอดรถ
ที่จอดรถในญี่ปุ่นก็จะมีหลากหลายแบบ แต่แบบที่พบเห็นได้บ่อยที่สุดคือแบบ “มีเหล็กที่พื้นยกปิดใต้ท้องรถ” กล่าวคือ จะมีการตีเส้นช่องจอดไว้ชัดเจน ภายในช่องจอดที่พื้นจะมีลักษณะคล้ายแผ่นเหล็ก เมื่อใครเอารถไปจอดในช่องเหนือแผ่นเหล็กนี้ จากนั้นไม่นานนัก แผ่นเหล็กที่พื้นจะเลื่อนขึ้นมาปิดใต้ท้องรถเองโดยอัตโนมัติ
เมื่อจะเอารถออก ก็ต้องไป “จ่ายเงินที่ตู้” ซึ่งมักตั้งอยู่หน้าทางเข้า กดหมายเลขช่องจอดของเรา(ตัวเลขเขียนอยู่ที่พื้น) จ่ายเงินเสร็จแผ่นเหล็กจะเลื่อนลงกลับเหมือนเดิม ก็นำรถออกได้ วิธีนี้ไม่ต้องใช้คนดูแลเลยแม้แต่คนเดียว สะดวกสบาย และประหยัดต้นทุนอีกด้วย
ที่จอดรถแบบข้างถนน ก็จะมีตีเส้นกำกับไว้ชัดเจน พร้อม “ตู้จ่ายเงิน” ประจำอยู่ช่องใครช่องมัน ไม่ต้องมีคนคอยคุมดูแลหรือเรียกเก็บตังค์ใดๆ (มีกล้องวงจรปิด) แม้แต่ในห้างบางแห่ง เวลาเข้าก็รับบัตร เวลาออกก็คืนบัตรพร้อมจ่ายเงินกับ “ตู้” ไม่ต้องรับบัตรคืนบัตรกับพนักงานแล้ว หรือบางแห่งที่จอดรถน้อยมาก ก็มีการทำเป็นที่จอดรถ automatic (คล้ายที่ห้าง Emquartier)
ห้องน้ำ
เมื่อพูดถึง Automation คงจะพลาด “ห้องน้ำไฮเทค” ของญี่ปุ่นไปไม่ได้ เพราะชัดเจนมากในเรื่องนี้ ยิ่งนานวันเข้าห้องน้ำญี่ปุ่นยิ่งมีความไฮเทคมาเพิ่มความสะดวกสบายให้แก่เรา ไม่ว่าจะปุ่มกดน้ำอัตโนมัติ/ เสียงปลอม/ ฮีตเตอร์บริเวณฝานั่ง/ ระบบเป่าแห้ง ฯลฯ แต่ละแบบก็จะมีรายละเอียดยิบย่อยลงไป เช่น น้ำแรงประมาณแค่ไหน ตำแหน่งจุดที่ต้องการ และอีกมากมาย เรียกได้ว่าเราคนนั่งแค่ใช้มือกดปุ่มก็เป็นอันเสร็จกิจเรียบร้อยแล้ว
อีกทั้งบริเวณอ่างล้างมือ เดี๋ยวนี้บางแห่งมีการทำเป็นอ่างล้างมือแบบครบวงจร มีทั้งน้ำล้างมือ สบู่ และที่เป่าแห้ง รวมอยู่ในบริเวณอ่างที่เดียวและเป็น ‘เซ็นเซอร์’ ทั้งหมด ไม่ต้องใช้มือสัมผัสเลย
จ่ายเงินในห้างสรรพสินค้า
เวลาจ่ายเงินซื้อซูเปอร์ในญี่ปุ่น หลายแห่งจะแบ่งพื้นที่ระหว่างช่องจ่ายกับพนักงานและช่อง self-service จ่ายเอง (ที่อังกฤษก็เป็นมาตรฐานเยอะแล้ว) ซึ่งช่อง self-service จ่ายด้วยตัวเองอาจเป็นเพียงยุคบุกเบิกของอนาคต ที่เราหยิบอะไรมาก็สแกนกับมือถือตัวเองได้ทันที (แบบที่ Amazon Go วาดฝันไว้) หรืออาจมีเครื่องสแกนที่เราแค่เข็นรถเข็น ‘ผ่าน’ ปรื้ดเดียวก็สแกนสินค้าเราได้ทั้งหมด…ล้วนเป็นไปได้ทั้งนั้น
หุ่นยนต์พนักงาน
หุ่นยนต์ที่มีชื่อว่า Pepper ของบริษัท Softbank ที่ตอนนี้ออกมาบริการลูกค้า ส่งเสียงพูดคุย สแกนใบหน้าพอประเมินความรู้สึกอะไรได้แล้ว…ก็เป็นอีกตัวอย่างของอนาคตยุคต่อไปที่เริ่มเป็นรูปธรรม ของการ Automation/ หุ่นยนต์/ หรือ AI ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้นเรื่อยๆ Automation มีประโยชน์มากมาย แต่ก็มาพร้อมกับความท้าทาย เราคงต้องพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงนี้ในอีกไม่นาน