ต้นกำเนิด “กาแฟกระป๋อง”
เชื่อหรือไม่!!
ต้นกำเนิดของเจ้า “กาแฟกระป๋อง” ที่เรากินกันอยู่ง่ายๆ ทุกวันนี้…มาจากญี่ปุ่น!
“กาแฟกระป๋อง” หรือ Canned Coffee (缶コーヒー) ถือกำเนิดขึ้นจากคุณ Ueshima Tadao ผู้ก่อตั้งบริษัท UCC Ueshima Coffee Co. (ใช่แล้วครับ กาแฟ UCC ที่มีวางขายที่ห้างอิเซตันนั่นแหล่ะ)…เมื่อปี 1969 หรือกว่า 49 ปีมาแล้ว!!
เริ่มมาได้อย่างไร? มันมีที่มาจากเมื่อปี 1968 (1 ปี ก่อนการถือกำเนิดของกาแฟกระป๋อง) เขากำลังยืนกิน “นม”…รสกาแฟ อยู่บนชานชาลาสถานีรถไฟแห่งหนึ่ง ทำไมต้องเป็นนม? เพราะยุคนั้นยังไม่มีกาแฟวางขายบนชานชาลา มีแค่นมที่มีส่วนผสมกาแฟ
ตามระเบียบปฏิบัติของญี่ปุ่น เมื่อเราดื่มเสร็จแล้วจะต้องนำแก้วไปคืนที่ร้านค้า ไม่สามารถนำขึ้นไปดื่มบนรถไฟได้ แต่ปรากฎว่ารถไฟขบวนที่เขารอดันมาถึงในขณะที่เขายังดื่มไม่เสร็จ ทำให้เขาต้องจำใจเดินไปคืนนมรสกาแฟทั้งๆ ที่ยังดื่มไม่หมดให้แก่ร้านค้า เขารู้สึกเสียดายและเสียมารยาทมาก เหมือนเป็นคนกินทิ้งกินขว้าง
และนั่นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเขานึกขึ้นในใจว่า “คงจะดีไม่น้อยถ้ามีกาแฟที่สามารถดื่มได้…ที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้!!” นั่นหมายความว่า กาแฟนั้นต้อง ‘พร้อมดื่ม’ พกติดตัวไปเปิดดื่มที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ ตามใจเรา เขาจึงกลับไปคิดค้นวิธีการที่จะทำให้กาแฟเป็น ‘พร้อมดื่ม‘ ได้ ลองผิดลองถูกอยู่นานจนสำเร็จ
1 ปีให้หลัง ในเดือนเมษายน กาแฟกระป๋องแรกของโลกก็ถือกำเนิดขึ้น! เป็น “กาแฟผสมนม” สามารถเก็บไว้ได้นานโดยไม่เสียรสชาติเกินไปนัก การเปิดตัวนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการกาแฟในตลาด แต่ก็ยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก
กาแฟกระป๋องมาถึงจุดที่เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นก็ช่วงงาน Osaka World Expo เมื่อปี 1970 ที่คนญี่ปุ่นให้ความสนใจ รวมถึงมีการโฆษณาและแจกให้ชิมฟรีภายในงาน
4 ปีหลังถือกำเนิด ในปี 1973 บริษัท Pokka ของญี่ปุ่น ก็ได้คิดค้นตู้กดน้ำอัตโนมัติที่สามารถบรรจุเครื่องดื่มได้ทั้งแบบเย็นและแบบร้อน ตู้กดน้ำก็ถือเป็นหนึ่งในตัวจุดประกายให้การแข่งขันในตลาดนี้เริ่มหลากหลายและดุเดือดขึ้น (เครื่องดื่ม Pokka ที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา เห็นจะเป็นชาเขียว)
การมาถึงของ “กาแฟกระป๋อง และ ตู้กดน้ำอัตโนมัติ” ช่างเป็นจังหวะเวลาที่ลงตัวเหลือเกิน มีส่วนสำคัญในการทำให้ “วัฒนธรรมการดื่มกาแฟ” ของคนญี่ปุ่น แพร่หลายไปยังผู้คนหมู่มากในที่สุด เพราะเดิมทีคนญี่ปุ่นนิยมดื่มชาเขียวมากกว่า อย่าว่าแต่เชนร้านกาแฟใหญ่ๆ เลย เพราะยุคนั้นกาแฟยังดื่มกันเฉพาะในคนกลุ่มเล็กซึ่งมักเป็นคนมีฐานะระดับหนึ่ง)
กาแฟกระป๋องมีราคาไม่แพง โดยทั่วไปราคาอยู่ที่ประมาณ 100-120 เยน เป็นที่เข้าใจได้ว่าคุณภาพและรสชาติอาจสู้กาแฟทำสดได้ยาก แต่ด้วยคุณภาพที่พอรับได้และตอบโจทย์สังคมที่แสนเร่งรีบสุดๆ อย่างสังคมญี่ปุ่น การที่สามารถซื้อกาแฟระหว่างทางไปทำงานได้ง่ายและรวดเร็ว เป็นความสะดวกที่เป็นต้องการของสังคม เรียกได้ว่ากาแฟกระป๋องตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมาก
ด้วยความสะดวก เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่าย ปัจจุบันสามารถพบเจอกาแฟกระป๋องวางขายได้ตามทั่วไป (จริงๆ คือทุกที่!) ทั่วประเทศญี่ปุ่น ตามร้านสะดวกซื้อ/ ซูเปอร์มาร์เก็ต/ ตู้กดน้ำอัตโนมัติ มีหลากหลายยี่ห้อ หลากหลายรสให้เลือก (อันที่มีส่วนผสมของ ‘นม‘ มักได้รับความนิยม)
การดีไซน์ Packaging ตัวกระป๋องก็เป็นสิ่งสำคัญในตลาดนี้และมีวิวัฒนาการมาโดยตลอด จากสมัยก่อนที่จะเรียบๆ ทื่อๆ เน้น Functional…มาวันนี้เมื่อมองไปยัง shelf ชั้นวาง สีสันดีไซน์จะดู Colorful ละลานตามากขึ้น
ณ ปัจจุบัน ตัวอย่างยี่ห้อในตลาด นอกเหนือจาก UCC ผู้ริเริ่ม ได้แก่ BOSS ของ Suntory เปิดตัวตั้งแต่ปี 1992 โดยปัจจัยหลักที่ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือชุดโฆษณามีคุณ Tommy Lee Jones นักแสดงฮอลลีวู้ดชื่อดังร่วมแสดงด้วย (โฆษณาประสบความสำเร็จมาก) กลายมาเป็นภาพลักษณ์ที่ติดตัวไปแล้ว เมื่อนึกถึงกาแฟ BOSS ต้องพ่วงคุณ Tommy มาด้วยเสมอ ฮ่าๆๆ
Georgia…(ของ Coca-Cola), Nescafe…(ของ Nestle), Wonda…(ของ Asahi), Fire…(ของ Kirin), Cafe La Mode, Itoen และอีกมากมาย ฯลฯ ยังมีมากกว่านี้เยอะครับ คือมันเยอะมากมายจริงๆ ถ้ารวมทุกแบรนด์ทุกรสชาติ มีมากกว่า 100 ตัวเลือกแน่นอน!
จากยุคแรกที่กาแฟกระป๋องเริ่มต้นและมีวางขายแค่ในญี่ปุ่น ถึงปัจจุบันมีหลายบริษัทในหลายประเทศทั่วโลก ต่างก็ผลิตกาแฟกระป๋องออกจำหน่าย กลายเป็นสินค้าปกติที่เราดื่มกันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว (ผู้นำตลาดกาแฟพร้อมดื่มในบ้านเรา ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คือ เบอร์ดี้)
แต่อย่างไรก็ตาม กว่า 50% ของมูลค่าตลาดกาแฟกระป๋องทั่วโลกก็อยู่ที่ญี่ปุ่นนั่นเอง.