อย่างที่ทุกท่านคงทราบกัน ว่าประเทศญี่ปุ่นไม่มีศาสนาประจำชาติ แต่ศาสนาที่รุ่งเรือง และเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของญี่ปุ่นที่สุดก็คงไม่พ้นชินโตและพุทธศาสนา ศาลเจ้าและวัดสวยงามมีอายุเก่าแก่ ต่างเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวเมื่อไปเที่ยวชมญี่ปุ่น แต่เมื่อเข้าไปกราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะรู้ได้อย่างไรว่าที่นั่นเป็นวัดพุทธ หรือว่าศาลเจ้าชินโตกันแน่?

แม้ดูเผินๆ จะคล้ายกัน แต่ความจริงแล้วศาลเจ้าและวัดแตกต่างกันมากมายในรายละเอียด มีจุดสังเกตเช่น

 

1. ดูจากชื่อ

  • หากลงท้ายด้วยคำว่า Jinja, Myoujin, Taisha หรือ Gu คือศาลเจ้าชินโต
    เช่น Jishu-Jinja, Kanda-Myojin, Fushimi Inari Taisha, Kitano-Tenmangu
  • หากลงท้ายด้วยคำว่า Dera, Ji, In, Dou คือวัดพุทธ
    เช่น Kiyomizu-Dera, Juzen-Ji, Byodo-In, Sanjusangen-Do

 

2. ดูจากสิ่งปลูกสร้างและส่วนประกอบภายในบริเวณ

แม้ไม่ใช่ทุกศาลที่มี แต่หากพบเห็นเสาโทริอิ มั่นใจได้เลยว่าต้องเป็นศาลเจ้า เสาโทริอิเปรียบเสมือนประตู กั้นแบ่งระหว่างโลกของมนุษย์กับโลกของเทพเจ้าออกจากกัน นิยมใช้สีแดง เพราะแต่โบราณกาลเชื่อกันว่า สีแดงคือสีแห่งชีวิต ทั้งยังช่วยปัดเป่าภัยร้ายต่างๆ ได้ แต่ไม่มีข้อบังคับหรือกฎใดๆ ระบุสีของโทริอิเอาไว้อย่างชัดเจน เราจึงอาจพบเห็นเสาโทริอิไม้ ปูนเปลือย หรือแม้แต่ไม้ไผ่ได้เหมือนกัน นอกจากนี้ ก่อนเข้าไปชั้นในของศาลเจ้า จะต้องมีบ่อล้างมือเสมอ เพราะชินโตเชื่อว่า เราต้องชำระล้างตัวเองให้สะอาดก่อนไปพบพระเจ้า และไม่ใช่แค่สักแต่ล้างเฉยๆ ก็พอ แต่ต้องทำอย่างมีพิธีรีตอง เริ่มจากใช้กระบวยตักน้ำจนเต็ม เทล้างมือซ้าย มือขวา เทน้ำลงในมือซ้ายแล้วกลั้วปากด้วยน้ำนั้น เสร็จแล้วล้างมือซ้ายนั้นอีกครั้งหนึ่ง ก่อนตั้งกระบวยขึ้น ให้น้ำที่เหลืออยู่ราดลงมายังด้ามจับ และวางกลับที่เดิมโดยคว่ำกระบวยน้ำเสมอ

 


(ภาพนี้สังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีกระบวยหงายอยู่ แบบนี้ผิดวิธีนะคะ ห้ามทำเด็ดขาด)

 

  • แม้ไม่ได้มีอยู่ในทุกวัด แต่หากมีเจดีย์อยู่ที่ไหน ที่นั่นคือวัด นอกจากนี้ ในชีวิตประจำวันคนญี่ปุ่นเกี่ยวข้องกับศาสนาชินโตมากกว่าก็จริง แต่โดยมากเมื่อเสียชีวิตมักทำพิธีกรรมแบบพุทธ หลุมศพจึงอยู่ในวัดเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ สวนหินแบบเซ็นซึ่งมีชื่อเสียงในระดับโลก ถือเป็นศิลปะอันมีเอกลักษณ์เฉพาะ สามารถหาชมได้เฉพาะในวัดพุทธนิกายเซ็นเท่านั้น

ขอบคุณภาพจาก : http://life-support-plus.com

สวนหินแห่งวัด Ryo’anji

3. ดูจากเทวรูปภายในบริเวณ

พระเจ้าตามความเชื่อของญี่ปุ่นมักไม่มีรูปร่าง ยกเว้นแต่บุคคลที่ยิ่งใหญ่จนได้รับการยกย่องให้เป็นเทพ เช่นสุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ หรือเทพประจำศาลเจ้า Tenmangu แต่ศาลเจ้าส่วนใหญ่จะมีรูปปั้นสัตว์อยู่ภายใน เชื่อกันว่าสัตว์ดังกล่าวคือผู้นำสารที่รับใช้พระเจ้า มีสัตว์นำสารหลากหลายชนิดแตกต่างกันออกไปตามแต่เทพพระเจ้าประจำศาลนั้น เช่นสุนัขจิ้งจอก กบ สิงโต เต่า หรือวัว เป็นต้น สัตว์นำสารที่หลายคนคงคุ้นตากันเป็นอย่างดีคือจิ้งจอกประจำศาลเจ้าอินาริซึ่งมีศาลสาขาอยู่ทั่วประเทศญี่ปุ่น

 

 

ในวัดพุทธย่อมต้องมีพระพุทธรูป แต่เนื่องจากพุทธศาสนานิกายมหายานแพร่หลายในญี่ปุ่น บางครั้งจึงมาในรูปแบบของเทวรูปพระโพธิสัตว์ เช่นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และบางครั้งอาจมีเทวรูปอื่นๆ ทางพุทธศาสนา เช่นพระอินทร์ หรือพระพรหม อยู่ด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก : http://nora-pp.at.webry.info

 

4. ดูจากสถานที่บูชา

บริเวณที่ให้คนสักการบูชา หากเป็นศาลเจ้า จะมีกล่องบริจาคขนาดใหญ่วางไว้ ด้านบนมีเชือก ผูกโยงเข้ากับกระพรวนขนาดใหญ่ เวลาไหว้ให้ใส่เงินลงกล่องบริจาค สั่นกระพรวน หย่อนเงินบริจาค โค้ง 2 ครั้ง ปรบมือ 2 ครั้ง แล้วโค้งอีก 1 ครั้ง จึงเป็นอันหมดพิธี

 

 

กลับกัน หากพบเห็นสถานที่ใด มีกระถางธูปและเชิงเทียนอยู่ล่ะก็ มั่นใจได้เลยว่าเป็นวัดทางพุทธศาสนา แต่ไม่ใช่ว่าวางไว้ทุกแห่งนะ มีแค่บางวัดเท่านั้น นอกจากนี้วัดขนาดใหญ่หลายแห่งยังมีหอระฆังอยู่ภายในอีกด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก : http://coolnara.net

 

5. ดูจากผู้ดูแล

ผู้อยู่อาศัยจำวัดคือพระ เพราะฉะนั้นหากพบเห็นพระสงฆ์ ซี่งจีวรอาจแตกต่างจากทางไทยอยู่บ้างล่ะก็ มั่นใจได้เลยว่าคุณกำลังอยู่ในวัด

 

ขอบคุณภาพจาก : https://www.amazon.co.jp/dp/B018HVTR2U

 

ผู้ดูแลศาลเจ้าเรียกว่าคังนุชิ สวมเสื้อขาวและกางเกงฮากามะของญี่ปุ่น แบ่งสีตามระดับขั้น ส่วนหญิงผู้รับใช้พระเจ้าจะเรียกว่ามิโกะ มิโกะที่คนส่วนใหญ่นึกถึงมักใส่ฮากามะสีแดง แต่ในความเป็นจริงก็มีมิโกะที่ใส่ฮากามะสีอื่นอยู่บ้างเช่นกัน เช่น สีเขียวสำหรับเด็กฝึกหัด เป็นต้น

ขั้นของคันนุชิแบ่งตามสีฮากามะ จากระดับล่างขึ้นไประดับสูงสุดได้เป็น สีเขียวอมฟ้า ขั้น 3, สีม่วง ขั้น 2, สีม่วงลายจาง ขั้น 2 ชั้นบน, สีม่วงลายเข้ม ชั้น 1, สีขาวลาย ขั้นพิเศษ

 

ขอบคุณภาพจาก : http://www.akiba-scope.net

 

เป็นอย่างไรบ้างคะ พอจะแยกวัดกับศาลเจ้าออกกันได้แล้วหรือยัง ลองมาทดสอบกันดูดีกว่า ชื่อ/ภาพ ด้านล่างนี้ คือวัดหรือศาลเจ้ากันแน่ (เฉลยอยู่ด้านล่าง)

1. Hasedera

2. Meiji-Jingu

3. 

 

4.

5. Toshogu

เฉลย

1. วัดเพราะลงท้ายชื่อด้วยคำว่า Dera วัด Hasedera อยู่ในเมืองคามาคุระ จังหวัดคานากาวะ

2. ศาลเจ้า เพราะลงท้ายด้วยคำว่า Gu ศาลเจ้า Meiji-Jingu ตั้งอยู่ใจกลางเมืองโตเกียว สถานี Harajuku

3. ศาลเจ้า Kitano-Tenmangu จังหวัดเกียวโต มีวัวเป็นผู้นำสารของพระเจ้า

4. ศาลเจ้า Nonomiya-Jinja จังหวัดเกียวโต มีโทริอิทำจากไม้ลงรักอันเก่าแก่

5. ศาลเจ้า เพราะชื่อลงท้ายด้วย Gu ศาลเจ้า Toshogu ตั้งอยู่ในเมือง Nikko

ทายถูกกันไหมเอ่ย ใครทายถูกครบรับรองว่าไม่สับสนระหว่างวัดกับศาลเจ้าอีกเลย

แต่ต้องระวัง เพราะบางที ศาลเจ้ากับวัดอาจอยู่ติดกันจนดูเป็นบริเวณเดียวกัน หรือศาลเจ้าอาจอยู่ข้างในวัดอีกทีก็เป็นไปได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ได้แก่ Jishu-Jinja ซึ่งตั้งอยู่ภายในบริเวณวัด Kiyomizu-Dera อีกทีหนึ่ง

 

ภาพทางเข้า Jishu-Jinja ซึ่งเดินเข้าจากภายในบริเวณวัด Kiyomizu-Dera

ขอบคุณภาพจาก : http://kyoto.gp1st.co

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ