สารบัญ

ทรงกลด บางยี่ขัน 

ตลอดระยะเวลา 14 ปีในการคุมทิศทางและขับเคลื่อนนิตยสาร a day magazine ‘ก้อง-ทรงกลด บางยี่ขัน’ ได้มอบประสบการณ์มากมายให้กับผู้อ่าน ไม่เพียงในฐานะของบรรณาธิการ แต่รวมถึงในฐานะของนักเขียนอาชีพเจ้าของสำนวนอุ่น ละมุน แยบคาย ที่เขาได้เคยฝากไว้ในพ็อกเก็ตบุ๊กหลากหลายเล่มในเครือสำนักพิมพ์ a book  ทรงกลดได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของนิตยสาร a day จากการเป็นนิตยสารขวัญใจวัยรุ่นที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาฉูดฉาด ให้กลายเป็นนิตยสารสำหรับคนทุกคนที่ต้องการจะมองเห็นและใช้ชีวิตในแง่มุมที่แปลกใหม่ มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมมากขึ้น แต่ยังคงความสร้างสรรค์และแนวความคิดที่สดใหม่ในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คน ทำให้นิตยสาร a day เติบโตขึ้นทางด้านพัฒนาการความคิดและมีบุคลิกที่ลุ่มลึกขึ้นตามวัยเปรียบดั่งเป็นมนุษย์คนหนึ่ง

มีนาคม พ.ศ. 2560 หลังจากอักษรตัวสุดท้ายในบทบรรณาธิการ a day ฉบับที่ 200 เขียนขึ้นบนหน้ากระดาษ ทรงกลด บางยี่ขัน ได้ตัดสินใจสำเร็จภาระหน้าที่ของเขาในฐานะบรรณาธิการนิตยสารที่เขาผูกพันยิ่ง และตัดสินใจสร้างสื่อใหม่ที่เขาต้องการจะเห็นมาโดยตลอดแทบจะทันที นิตยสารออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องสร้างสรรค์เนื้อหาขึ้นภายใต้แนวความคิดทางผลกำไรและเศรษฐศาสตร์ ลอยอยู่เหนือครรลองของโฆษณาสิ่งพิมพ์ และมีเนื้อหาที่เข้าถึงหัวใจของทุกคนได้ไม่ยากอย่าง The Cloud  

เราได้มีโอกาสพูดคุย สำรวจวิธีการคิด และเรียนรู้จากประสบการณ์อันโชกโชนทั้งในโลกของงาน และโลกการเดินทางของก้อง ทรงกลด บางยี่ขัน ร่วมค้นหาคำตอบไปด้วยกัน ว่าอะไรคือพลังที่ทำให้บรรณาธิการอาชีพอย่างเขา ตัดสินใจสร้างสิ่งใหม่ขึ้นในวัยที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการดูแลและรักษาความสำเร็จเดิมของตนเอาไว้

 

 

Q. ความรักในงานเขียนเริ่มต้นเมื่อไหร่

เริ่มรักหนังสือตั้งแต่ช่วงเด็กๆ ก็คือช่วงประมาณชั้นประถม รักการอ่านมาตลอด และก็อ่านเยอะมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงมหาวิทยาลัยก็ยังอ่านอยู่ แต่ไม่ได้เขียนหนังสือ คือเคยลองเขียนมาแล้วแต่ก็ไม่ค่อยเวิร์กเท่าไหร่ ก็เลยคิดว่าตัวเองไม่น่าจะเป็นนักเขียนที่ดีได้ จึงไม่มีความฝันว่าอยากเป็นนักเขียน แต่ก็เป็นคนที่รักการอ่านมาตลอด อ่านหลายๆ แนว เรื่องสั้นก็อ่าน วรรณกรรมเยาวชนญี่ปุ่นก็อ่าน ความเรียงก็อ่าน พอโตขึ้นมาก็อ่านบันทึกการเดินทางด้วย อยู่กับแวดวงการอ่านมาพอสมควร

 

Q. แต่ตอนนั้นยังไม่เริ่มสนใจทำงานเกี่ยวกับหนังสือ

ก็รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะทำได้ ผมเรียนมาด้านเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม ก็ไม่คิดว่าจะทำอะไรนอกสายงานได้ คิดว่าทำแบบนี้น่าจะถนัดกว่าครับ

 

Q. จนมาถึงเมื่อไหร่ที่เป็นจุดเปลี่ยน

บังเอิญว่ามีโอกาสจัดกิจกรรมชวนคนไปเที่ยว ซึ่งตอนจัดกิจกรรมก็มีโอกาสได้เขียนโปสเตอร์ชวนคนไปเที่ยว ก็ทำให้เราได้ใช้ภาษาซึ่งก็สนุกดี โปสเตอร์นี้ไปถึงตาของผมๆ สื่อมวลชน ทำให้ได้เขียนคอลัมน์ท่องเที่ยวในกรุงเทพธุรกิจ นั่นเป็นที่แรกที่เขียน แต่ผมก็ทำงานประจำเป็น NGO ด้านสิ่งแวดล้อม ทำไปเรื่อยๆ จากนั้นก็รู้จักคุณโหน่ง-วงศ์ทนง เขาเลยลองชวนมาเป็น บ.ก. a day

 

Q. งานเขียนชิ้นแรกๆ ที่รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีก็คืองานเขียนคอลัมน์หรือเปล่า

ก็ไม่คิดว่าดีนะ ตอนนั้นก็คิดว่าไม่เคยเขียนหนังสือมาก่อน คิดว่าแค่พอจะเขียนให้ บ.ก. เอาไปเขียนต่อได้ พอวันนี้เรากลับไปอ่านงานชิ้นนั้นอีกทีแล้วก็รู้สึกว่าไม่ดีเลย ก็ต้องขอบคุณ บ.ก. ที่ให้โอกาส ก็สนุกกับการเขียนนะครับ แต่ผมมองเป็นเรื่องสนุกๆ เล่นๆ มากกว่า ก็เขียนแบบคนเพิ่งหัดเขียนน่ะครับ

 

Q. พอมาทำงานที่ a day คิดว่าก็มีประสบการณ์ประมาณหนึ่งแล้วใช่ไหม

ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปจากการที่ผมไม่เคยทำมาก่อน เรียกว่าลองผิดลองถูกดีกว่าเนอะ เนื่องจากการทดลองทำสิ่งต่างๆ ก็ต้องเวิร์กบ้างไม่เวิร์กบ้าง เรียนรู้สั่งสมไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่งานที่ดีอะไรหรอกครับ ไม่ได้คิดว่าตัวเองยอดเยี่ยม ใช้เวลาสักพักหนึ่งจึงจะเริ่มมีผู้อ่านชื่นชม ทำให้คิดว่า อืม…ก็น่าจะสอบผ่านอยู่ระดับหนึ่งล่ะนะ

 

Q. คิดว่าลักษณะของ a day ในยุคตนเอง แตกต่างจาก บ.ก. คนก่อนอย่างไรบ้าง

อาจจะเป็นเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เน้นเรื่องสังคมมากขึ้น และเน้นเรื่องกิจกรรมกับผู้อ่านมากขึ้น คือพา a day ออกไปจากกรอบของหนังสือ เป็นกิจกรรม เป็นแคมเปญ เป็นทุกอย่าง ไร้รูปแบบน่ะครับ

 

Q. เหมือนพยายามจะผลักดัน a day ให้ไปไกลกว่าความเป็นเพียงนิตยสาร

ใช่ครับ คือไม่ได้อยากให้เป็นแค่นิตยสาร แต่อยากให้เป็น Community ไร้รูปแบบ a day ไม่ควรเป็นแค่นิตยสาร

 

Q. ความคิดนี้มาเมื่อไหร่

ตั้งแต่แรกเลยครับ ผมก็เป็นคนจัดกิจกรรมมาตั้งแต่เด็กๆ สมัยมหาวิทยาลัยก็เป็นคนทำกิจกรรมต่างๆ มาตลอด เพราะผมเป็น activist ก็เลยสนใจการจัดกิจกรรม พอมาทำ a day ก็เลยมองว่าเราทำสิ่งต่างๆ ให้เท่ากับความสามารถที่มีได้

 

Q. จะยังเห็นลักษณะนี้ได้ใน The Cloud ด้วยไหม

ก็เป็นความคิดเดิมๆ ยังเป็นแบบนั้นอยู่นะ แต่ยุคสมัยเปลี่ยน รูปแบบก็คงจะเปลี่ยนตาม แน่นอนว่าความสนใจก็เปลี่ยน แต่ก็น่าจะยังมีสิ่งนั้นอยู่ เรียกได้ว่าเป็นมาทั้งชีวิตดีกว่า

 

Q. อยากให้ลองพูดถึงความแตกต่างของ The Cloud กับ a day

น่าจะแตกต่างกันเยอะนะ เรื่องที่พูดก็พูดคนละเรื่อง คอนเซ็ปต์ก็คนละอย่าง วิธีคิดในการทำงานก็คนละแบบ กลุ่มเป้าหมายก็คนละกลุ่ม ผมว่าน่าจะต่างกันเยอะมาก

 

Q. คิดว่าการออกจาก a day มาเริ่มทำสิ่งที่ตัวเองอยากเห็นในช่วงขณะนี้ ต้องใช้ความกล้าหาญมากไหม

ก็ไม่ได้เรียกว่ากล้าหาญอะไร คือพอคนที่ทำงานมาถึงจุดหนึ่งซึ่งมีสิ่งที่อยากทำมากมาย แล้วบางเรื่องก็ไม่ทำได้ถ้าไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทเอง ฉะนั้น การออกมาทำเองก็เป็นเรื่องที่ดีกับชีวิตวัยหนุ่มช่วงสุดท้าย ก่อนที่พลังแห่งความหนุ่มจะหมดไป

 

Q. อะไรคือเป้าหมายของ The Cloud หากไม่ได้บอกว่าเป็นตัวเลขหรือผลกำไรที่ชัดเจน

จริงๆ ก็วัดได้ แต่สิ่งที่ The Cloud อยากทำคือเปลี่ยนแปลง Business Model ทั้งหมด เราทำงานกับแบรนด์ที่มีเป้าหมายที่ใหญ่กว่าการขายของทั่วไป ถ้าเป็นโปรเจกต์ทั่วไปก็อาจจะคิดแค่ว่าหาเงินจากไหนมาทำให้อยู่รอดได้ แต่ The cloud ไม่ได้คิดแค่ว่าจะหาเงินเท่าไหร่ และหาเงินอย่างไร แต่คิดว่าจะดีที่สุดและเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกๆ ฝ่าย ซึ่งก็ปฏิเสธเม็ดเงินจำนวนมากจากหลายๆ โอกาสไป เพราะผมไม่ได้รู้สึกว่าอยากทำแบบนั้น ผมก็เลือกทำในสิ่งที่อยากทำจริงๆ ดีกว่า

 

Q. ฟังดูเป็นงานทดลองอยู่ระดับหนึ่ง

ทุกงานเป็นเรื่องทดลองอยู่แล้ว หากยังนิยามตัวเองว่าเป็นนักสร้างสรรค์นะครับ นักสร้างสรรค์คือคนที่ทำงานที่แตกต่างออกไป ในเมื่อเลือกแล้วที่จะทำงานที่แตกต่างออกไป ยังไงก็หลีกเลี่ยงเรื่องการทดลองไม่ได้ครับ

 

Q. ฟังดูเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก แต่คุณดูไม่ตื่นเต้นเลย

พอคนที่มีอายุประมาณหนึ่ง เห็นโลกมาประมาณหนึ่ง ในบางเรื่องก็ตื่นเต้นน้อยลงครับ ก็คงประมาณนี้แหละ

 

 

Q. มองอนาคตของ The Cloud ยาวไกลแค่ไหน

พูดในทางพุทธก็ไม่มีอะไรจีรังเนอะ ไม่ได้คิดว่าจะอยู่อีก 100 ปี แล้วก็เพิ่งตั้งได้ไม่กี่เดือนน่ะครับ ผมก็คิดว่าอยากจะทำให้ดีที่สุด และให้ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งในแง่ของธุรกิจและตัวตนของ การทำสื่อก็ควรจะมีคุณค่าอะไรบางอย่าง ถ้าในวันหนึ่งที่ตัวเองไม่มีคุณค่าแล้ว ไม่ได้เป็นที่ต้องการของคนในสังคมแล้ว ถึงแม้จะยั่งยืนทางธุรกิจ แต่ก็จะไม่มีความหมายอะไรอีกต่อไป ดังนั้นก็พยายามสร้างสมดุลสองสิ่งนี้ให้ได้ในระยะยาว แต่ถ้าถามว่ายาวแค่ไหน ผมก็ไม่รู้ แค่รู้ว่าอยากทำปัจจุบันนี้ให้ดีที่สุดเพื่อที่จะได้เกิดอนาคตที่ดี

 

Q. ยังยึดมั่นในความต้องการที่จะเปลี่ยนชีวิตคนอ่านอยู่หรือเปล่า

ผมว่านั่นเป็นสิ่งที่ยึดมั่นอย่างเสมอ และคิดว่าเป็นคุณค่าของการทำงานสื่อ นั่นคือคุณค่าที่สามารถทำได้กับวิชาชีพนี้ แล้วทำไมจะไม่ทำล่ะ ทำไมทำแค่เขียนเรื่อง แค่เล่าเรื่องที่ให้จบได้ยอด ได้จำนวนโพสท์ที่กำหนด ได้สื่อที่ออกมาตามกำหนด ก็เหนื่อยเท่านั้น ถ้าเล่าเรื่องที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนอ่านได้ ทำไมจะไม่ทำล่ะ

 

Q. แล้วงานที่เปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้เป็นงานแบบไหน

คือจริงๆ สุดท้ายแล้วไม่มีใครเปลี่ยนชีวิตใครได้หรอก ถ้าเขาจะเปลี่ยน เขาจะเปลี่ยนชีวิตของเขาเอง ถ้าจะเปลี่ยน ก็คือการทำให้เขาเห็นวิธีคิดที่แตกต่างออกไป วิธีคิดอีกแบบหนึ่ง การใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่ง หรือการทำอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป และเราก็เสนอสิ่งนั้น เพื่อให้คนได้เห็นทางเลือก ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาจะเลือกหรือไม่เลือก ก็เป็นชีวิตของเขา หรือวันนี้เขาอาจจะไม่พร้อมจะเลือก แต่ถ้าสิ่งนี้อยู่ในตัวเขา วันหนึ่งอีกสามปีห้าปี ถ้ายังอยู่ในตัวเขา ก็อาจจะกลับมาก็ได้

 

Q. พยายามจะจุดประกายสิ่งเหล่านั้นในตัวคนทุกคนด้วยงานเขียนใช่ไหม

ก็แค่คิดว่าผมมีหน้าที่นำเสนอสิ่งที่ดี สิ่งที่คิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้อ่าน แต่ไม่ได้หมายความว่าในสื่ออื่นๆ ไม่ดีนะ แค่อยากให้เห็นตัวอย่างที่หลากหลาย การใช้ชีวิตมีหลายแบบ มีตัวอย่างที่หลากหลายมาก การตัดสินใจทำอะไรบางอย่างมีหลากหลายมาก ถ้านำเสนอได้ดีพอ เขาก็อาจจะเห็นสิ่งนั้น ถ้าเขาอิน ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงเขาได้

 

Q. The Cloud มีวิธีการเลือก Subject และหัวข้อบทความอย่างไรบ้าง

ก็เริ่มมาจากว่า The Cloud จะไปไหน จะพูดเรื่องอะไร แน่นอนว่าทีมคนทำงานเป็นส่วนหนึ่งของเว็บไซต์อยู่แล้ว แต่สิ่งที่มากกว่านั้นคือการตกลงร่วมกันว่า The Cloud จะพูดเรื่องอะไร แต่ว่าสิ่งที่เราเลือกมาพูดไม่กี่เรื่องมีพลังคืออะไร พอตัดสินใจว่าจะพูดเรื่องนี้ร่วมกัน ถัดมาคือคำถามว่าพูดไปทำไม เสียเวลาพูดไปทำไม ก็ต้องหาเหตุผลให้เจอว่าสิ่งที่จะพูด พูดเพื่ออะไร แล้วจะนำไปสู่คำถามที่ว่า จะพูดอย่างไร เช่นบอกว่าให้คนตั้งใจทำสิ่งต่างๆ ด้วยความประณีต ผมก็ตั้งคำถามว่าพูดอย่างนั้นเพื่ออะไร แล้วเขาจะได้อะไรจากสิ่งเหล่านั้น ถ้ายังตอบตัวเองไม่ได้ ก็คงสื่อสารลำบาก ผมต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าผมเชื่อในอะไร สิ่งที่อยากจะส่งไปหาผู้อ่านจึงไม่ใช่แค่ข้อเท็จจริง แต่มีพลังพวกนี้ซุกซ่อนอยู่ในเนื้อหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในตัวหนังสือหรือในภาพถ่ายก็ตาม

 

Q. ลูกค้ามีความต้องการเดียวกัน คือการสร้างคอนเทนต์ที่ดีใช่ไหม

ใช่ ก็คงต้องคุยกัน ธรรมชาติจะดึงดูดสิ่งที่เหมือนกันเข้าหากันเสมอครับ คนทำสื่อ ก็จะดึงดูดคนอ่าน แน่นอนแบรนด์ที่อยากทำงานด้วยกันกับสื่อ ก็จะดึงดูดแบรนด์เหล่านั้นเข้าร่วมกัน

 

Q. ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก

จริงๆ ก็ไม่น้อยนะครับ คนที่คิดแบบนี้ผมว่ามีเยอะมาก ถ้านับแบรนด์ก็เยอะ แต่บางคนอาจจะมีเงื่อนไขบางแบบ บางแบรนด์ หรือบาง media agency อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่างอยู่ ถ้าเขาสามารถปลดล็อกเงื่อนไขเหล่านั้นได้ เขาก็พร้อมที่จะทำ

 

Q. เงื่อนไขเหล่านั้นหมายถึงโครงสร้างองค์กรหรือเปล่า

อาจจะเป็นเป้าหมายของเขา ว่าเขาเคยลงโฆษณาแบบนี้ไป ใช้เงินกับสื่อแบบเดิมๆไป ซึ่งเขาก็เข้าใจว่ามีแค่แบบเดียว แต่จริงๆแล้วมีหลายแบบ แต่เขาอาจจะไม่แน่ใจว่าจะดีรึเปล่าถ้าทำกับเรา แล้วจะได้ผลที่ดีไหม ถ้าเราให้ความมั่นใจเขาได้ เขาก็พร้อมจะทำ ซึ่งก็มีแบรนด์ที่คิดแบบนี้อยู่จำนวนหนึ่งนะครับ

 

Q. การทำแบบนี้เหนื่อยกว่าทำสื่อเดิมเยอะไหม

ใช่ครับ ถ้าเลือกจะเป็นนักสร้างสรรค์ที่ทำสิ่งที่แตกต่าง ทุกอย่างต้องคิดใหม่ตลอดเวลา ไม่มีอะไรง่ายครับ จริงๆ ก็ทุกอาชีพ ถ้าอยากเป็นผู้ริเริ่มทำสิ่งต่างๆ ที่แปลกใหม่ และทำให้ดี ก็ไม่มีอาชีพไหนง่ายหรอก ถ้าทำให้แตกต่างและดีด้วยน่ะนะ คือทำให้แตกต่างเฉยๆ น่ะง่าย แต่ทำให้แตกต่างแล้วดีน่ะ ยากมาก

 

Q. ทุกวันนี้ยังทำงาน 7 วันอยู่หรือเปล่า

ไม่ครับ วันหยุดก็พยายามไม่ทำงาน เสาร์อาทิตย์ก็พยายามไม่ทำงาน

 

Q. แต่ขัดกับธรรมชาติและวิธีการของสื่อออนไลน์ใช่ไหม

ไม่นะ ผมว่าไม่รู้ใครปลูกฝังกันมาว่าสื่อออนไลน์ต้องอยู่กับคนอ่านตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

 

Q. แต่วันหยุดบางคนก็อยากจะมีอะไรอ่านไม่ใช่หรือ

ก็อ่านไปสิครับ (หัวเราะ) ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่เราก็ไม่ต้องทำก็ได้ ถ้าคุณอยากอ่านก็มีให้อ่านมากมายน่ะครับ แต่แค่วันอาทิตย์ เราไม่มีคอนเทนต์ในเว็บไซต์ ก็จะปิดเว็บไซต์ ซึ่งก็ดี คือทีมงานก็ไม่ต้องเหนื่อยวันเสาร์ ไม่ต้องทำงานวันเสาร์อาทิตย์ อีกแง่หนึ่งคือก็เป็นการประกาศตัวตนของเราเหมือนกัน

ในแง่ที่ว่าวันอาทิตย์ควรจะเป็นวันที่ออกไปใช้ชีวิต ก็ปิดหน้าจอบ้าง ก็เป็น work life balance ที่ดี เป็นการเล่าเรื่องอีกแบบหนึ่ง คือผมก็มีความเชื่อหลายๆ แบบ ความเชื่อแบบหนึ่งคือคนเราควรใช้ชีวิตนอกจอบ้าง ฉะนั้นการปิดเว็บไซต์เนี่ยแหละ คือ deliver message อีกแบบหนึ่งที่ไม่ใช่การเขียน แต่เป็นการทำ

 

 

Q. Work life balance สำหรับตัวเองคืออะไร

ผมว่าเป็นเรื่องของการจัดสรรชีวิตส่วนตัวกับงานให้สมดุล คือสิ่งนี้จะมาตอนแก่เนอะ คนหนุ่มสาวอาจจะไม่ได้รู้สึกว่าสำคัญอะไร ผู้คนก็อาจจะอยากมุ่งหน้าไปในทางที่อยากไป และลืมไปว่าชีวิตไม่ได้มีเป้าหมายปลายทางอันเดียว เช่น พออายุมากประมาณหนึ่ง ก็เริ่มพบว่าสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ได้มีแค่เรื่องงาน

การเป็นคนเก่ง ไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการประสบความสำเร็จที่ดี เราอาจจะถูกหลอกก็ได้ ถูกสื่อหลอก สื่ออาจชอบเชิดชูคนที่ทำงานเก่ง ทำงานดี ได้รับรางวัลทั้งหลาย ซึ่งก็ไม่ผิด ผมก็ทำ ทำมาตลอดชีวิตด้วย แต่ถ้าถามว่าคนที่เสพสื่อแบบนี้ทุกวัน หรือคนที่เขาเห็นสิ่งพวกนี้ตลอดเวลา ก็เป็นแรงผลักดันที่ผมอยากจะเป็นแบบนั้นบ้างในสาขาอาชีพ ซึ่งไม่ผิดเลย

แต่ทีนี้คือ สื่อดันไม่บอกว่าการได้หยุดอยู่บ้านเสาร์อาทิตย์ ไปออกกำลังกาย ได้ใช้ชีวิตกับคนที่เรามีความสุขด้วย คือการประสบความสำเร็จอีกรูปแบบหนึ่งในชีวิต ให้อะไรบางอย่างในชีวิตเช่นกัน ชีวิตก็ต้องสร้างสมดุล การหากับการใช้เนอะ เราใช้พลังงานออกไปก็ต้องหาพลังงานเข้ามาเติม ดังนั้น เว็บไซต์เราก็พยายามจะพูดถึงการหยุด การอยู่เฉยๆ ไม่ต้องพูดเรื่องงานซะทีเดียวน่ะครับ ให้คนได้เห็นว่าชีวิตที่ดีไม่ใช่เป็นแค่เรื่องงาน ก็ทำชีวิตให้ดีได้เหมือนกัน

 

Q. คนหนุ่มสาวอาจจะยังไม่เข้าใจสิ่งนี้ดีนัก

ใช่ ซึ่งสำหรับผมไม่ใช่ปัญหาเลยนะ ไม่ใช่ปัญหาเลย แน่นอนว่าในวัยนี้ยังไม่เข้าใจหรอก เดี๋ยววันหนึ่งเขาก็เข้าใจเองแหละ แต่ผมเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของสื่อที่ควรจะให้ข้อมูลอีกแบบหนึ่งนะครับ ก็เหมือนพ่อแม่พร่ำสอนลูก เด็กไม่สนใจหรอก แต่ก็ต้องสอน เพราะว่าตัวเองก็อดเตือนอดพูดไม่ได้ ก็สอนไปก่อน ถ้าบังเอิญเขาจำได้ก็อาจจะคิดได้เร็วขึ้น แต่ผมไม่ได้บอกว่าให้สื่อทำหน้าที่ไปเทศนาคนอื่นนะ แค่ควรจะให้ข้อมูลที่หลากหลายเท่านั้นเอง

 

Q. ถือว่าเป็นความรับผิดชอบของสื่อหรือเปล่า

อาจจะไม่ใช่ แต่ผมว่าไม่เบื่อกันบ้างเหรอที่สื่อเล่าแต่เรื่องเดิมๆ เล่าแต่เรื่องประเภทเดียว มุมเดียวกันหมด ก็แน่นอนว่าคนเลือกเล่ามุมนั้นเพราะว่าป๊อปสุด คนสนใจมากที่สุด แต่ว่ามีเรื่องอื่นๆ ที่น่าเล่าถึงอีกมากมาย เช่น คนดังหรือคนประสบความสำเร็จมีอีกเยอะมาก หรือวงการที่ประสบความสำเร็จก็มีอีกเยอะ

ทุกวันนี้หากยกตัวอย่างว่าถ้าจะจัดงานสักเวทีหนึ่ง แล้วเชิญคนที่ประสบความสำเร็จมาพูดบนเวที เราจะนึกถึงใครบ้าง อาจจะเป็นนักธุรกิจส่วนใหญ่ แล้วก็คนดังหรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลต่อสิ่งหนึ่งที่เรานึกออก อาจจะเป็นคนในวงการบันเทิงเยอะหน่อย หมดแล้วครับ มีแค่นั้นแหละ คำถามคือ หากผมเป็นหมอ แล้วมองไปบนเวทีก็เห็นแต่คนดัง เห็นแต่นักร้อง เห็นแต่ผู้กำกับหนัง เห็นแต่นักธุรกิจ แล้วอะไรคือพลังของชีวิตผมล่ะ ผมเป็นนักบัญชี ผมเป็นครู แล้วมองไปบนเวทีก็เห็นแต่คนประเภทนั้น แล้วอะไรจะทำให้เราบ้าง ก็คิดว่าหาตัวอย่างที่หลากหลายมาให้ดูเพื่อให้ทุกคนได้เห็นทางเลือกเท่านั้นเอง

 

Q. การเลือกเล่าในมุมมองที่แตกต่าง เป็นจุดแข็งของตัวเองมาเสมอใช่ไหม

ไม่รู้ใช่จุดแข็งหรือเปล่า แต่นั่นเป็นสิ่งที่พยายามจะบอก คือรู้สึกว่าชอบเจอคน ชอบคุยกับคนเจ๋งๆ แล้วพอทำสิ่งนั้นบ่อยๆ ผมพบว่าทุกอาชีพเจ๋งนะ เรามีคนเจ๋งๆ เยอะมากที่อาจไม่ได้ทำงานที่แมสเท่าไหร่นัก ไม่ได้ทำงานที่สังคมพร้อมใจกันสาดสปอร์ตไลต์ใส่ แต่เขาให้พลังกับชีวิตของคุณได้ คนเหล่านั้นก็ควรถูกพูดถึงมากหน่อย แล้วถ้าเราเก่งพอ เล่าเรื่องเขาได้อย่างมีพลัง ก็มีประโยชน์ เป็นสิ่งที่ผมพยายามทำมาตลอด อาจเรียกว่าเป็นการแนะนำสิ่งดีๆ ให้เพื่อนก็ได้ครับ เหมือนเราไปร้านหนึ่งมาแล้วชอบมาก ก็แนะนำเพื่อนว่าไปร้านนี้สิ ดีมากๆ เช่นเดียวกันครับ เราเจอคนประเภทนี้ เจอวิธีคิดแบบนี้ เอามาเล่าให้เพื่อนฟัง ไม่มีอะไรมากกว่านี้เลย

 

Q. ทั้งชีวิตคิดว่ามีประสบการณ์แบบไหนมากกว่ากันระหว่างการทำงานกับการเดินทา

ทำงานครับ เพราะว่าทำงานกินเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต แม้ว่าจะเป็นการเดินทางก็ตาม ผมว่าการเดินทางส่วนใหญ่ในชีวิตผม 90% คือการเดินทางไปทำงาน ผมเดินทางไปเที่ยวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ จำไม่ได้ เดินทางไปเที่ยว ไปพักผ่อนจริงๆ น่ะนะ จำไม่ได้จริงๆ

 

Q. การเดินทางไปทำงานก็คือเดินทางไปเขียนหนังสือน่ะหรือ

ใช่ เดินทางไปทำโปรเจกต์ เดินทางไปทำอะไรบางอย่าง ไปดูนั่นดูนี่ เพื่อเอาเรื่องบางอย่างกลับมาเขียน

 

Q. ไม่ใช่ mindset ของการพักผ่อน

ใช่ วิธีคิดแตกต่างกัน ไปพักผ่อนคือไปนั่งเฉยๆ ก็ได้ ไปอ่านหนังสือ ดำน้ำ ถ่ายรูป ได้รูปสวยๆ กลับมา แค่นั้นจบ แต่การเดินทางคือต้องไปเพื่อเข้าใจ เข้าใจบ้านเมืองนั้น เข้าใจคนบริเวณนั้น เข้าใจสถานที่นั้น เข้าใจบริบทนั้นให้มากพอที่จะกลับมาเล่าให้คนอื่นฟังได้ว่าพื้นที่นี้เป็นอย่างนี้ ถ้าไม่เข้าใจมากพอ ก็จะเล่าไม่ได้ พอเล่าไม่ได้ก็แป้ก ก็เท่ากับว่าไม่ได้ผลงานอะไรเลย

วิธีคิดแบบนี้จะทำให้การเดินทางไม่ได้ไปเพื่อเที่ยว แต่ว่าการเดินทางเหล่านั้นทำให้ได้เรียนรู้เยอะขึ้นอย่างมหาศาล เพราะนำพาไปในทิศทางอีกแบบหนึ่ง ไปเพื่อเราต้องรู้จริงๆ จึงต้องคุยกับคน จึงต้องค้นหาข้อมูล ต้องคุยกับคนจนเข้าใจ ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีมากของชีวิตนะครับ ทำให้เราเข้าใจเรื่องต่างๆ เยอะขึ้น ซึ่งเมื่อก่อนเคยถามตัวเองเหมือนกันว่าถ้าไม่ทำงาน แล้วไปที่เหล่านี้ ในสถานการณ์เหล่านี้ เราจะอยากรู้อยากเห็น จะคุยกับเขามากขนาดนี้ไหม ก็อาจจะไม่ ก็ถือว่าเป็นโชคดีของอาชีพสื่อมวลชน

 

Q. ฟังดูเป็นข้อดีที่เหนื่อย แต่ก็ถือเป็นกำไรใช่ไหม

คือคนเราอาจจะมีความสุขได้หลายรูปแบบ บางคนมีความสุขจากการได้นั่งอยู่เฉยๆ ความสุขจากการได้พักผ่อน แต่ผมมีความสุขกับการได้รู้เรื่องที่ชอบ เรื่องที่รู้สึกว่าให้พลังกับชีวิต เพราะฉะนั้นการเดินทางไปเจอสิ่งพวกนี้ ไปเจอคนที่เจ๋งๆ ไปเจอความคิดดีๆ ก็มีความสุข เป็นการเติมอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องไปแลนด์มาร์กก็ได้ ไม่ต้องไปถ่ายรูป แค่ไปคุยกับคนก็มีความสุขแล้ว

 

Q. แปลว่าจริงๆ แล้วไม่เคยอยากเดินทางเพื่อพักผ่อน

พอมาช่วงหลังๆ คิดว่าเสียเวลา จริงๆ นะ คือทุกวันนี้การทำงานยุ่งมาก ยุ่ง งานเยอะ ถ้าต้องไปทำอะไรสักอย่าง ควรจะได้อะไรกลับมาเป็นแรงบันดาลใจบ้าง ไปเที่ยว ไปดูอะไรที่ดี ก็รู้สึกว่าเสียดาย ถ้าเป็นเมื่อก่อน ตอนหนุ่มๆ จะคิดว่าทุกทริปควรจะได้หนังสือกลับมาสักเล่มเสมอ หรือได้งานเขียนกลับมาเพื่อให้รู้สึกว่าไม่เสียเวลาไป ให้ได้ประโยชน์บ้าง

 

Q. เขียนงานระหว่างทางหรือว่าบันทึกด้วยการถ่ายรูปแล้วค่อยกลับมาเขียน

ระหว่างทางครับ จะมีสมุดไว้จด ตอนนี้คืองานเยอะน่ะครับ พองานเยอะเราอาจจะต้องทำเท่าที่จำเป็น เรารู้ว่าทริปนี้ สุดท้ายก้ไม่ได้เขียนอะไรหรอก ไม่ได้ทำหรอก เราแค่มาเพื่อเขียนบางเรื่อง จดบางเรื่องที่เกี่ยวข้อง

แล้วเมื่อก่อน การเดินทางไปต่างประเทศเป็นโลกอีกใบหนึ่งน่ะครับ ที่เราตัดขาดตัวเองออกจากทุกอย่าง ตัดขาดจากสังคมรอบตัว เพื่อน และงาน มีแต่เรากับประเทศนั้น ทำให้ดื่มด่ำกับตรงนั้น เดี๋ยวนี้เที่ยวอยู่ก็มีไลน์ส่งงานเข้ามาให้ช่วยคอมเม้นต์หน่อย คอมเมนต์เสร็จก็พิมพ์แก้กลับไป เดินมาอีกนิดมีคนโทรเข้ามานัดนู่นนี่นั่น โลกเราตอนนี้ผสมผสานกันไปหมด กลายเป็นโลกที่อยู่ในเมืองไทยตามเรามาด้วย ทำให้หยุดดื่มด่ำกับอะไรบางอย่างไม่ได้ ก็เป็นเงื่อนไขอีกแบบหนึ่ง ยกเว้นว่าจะไปที่ๆ ตัดขาดจากทุกสิ่งทุกอย่าง จะมีความสุขมาก

 

Q. ที่เป็นอย่างนั้นส่วนหนึ่งเพราะไม่อยากหยุดทำงานด้วยหรือเปล่า

หยุดไม่ได้หรอกครับ คือเราก็แฮปปี้ถ้าเกิดตัดขาดได้ แต่ในความเป็นจริงก็จะมีงานด่วนบางอย่าง หรืองานบางงานที่คิดว่าอยากเห็นก่อน อยากดูก่อน อยากปรู๊ฟก่อน ป้องกันในทางที่ว่าจะแก้ไขอะไรไม่ทัน แต่ก็พยายามจะทำงานตอนกลางคืนแหละ กลับโรงแรมแล้วค่อยทำ จะได้ทำให้งานไม่รบกวนเวลาเที่ยว คือเวลาเดินทางหรือไปเที่ยว เราไปก็จริง แต่ไอ้งานที่กรุงเทพฯเท่าเดิม ไม่ได้ลดลง สมมุติว่าต้องเขียนงานที่กรุงเทพฯห้าชิ้น แต่พอไปที่อื่น ไอ้ห้าชิ้นนี่ก็ตามมาด้วยน่ะครับ ก็ยังอยู่ตรงนั้นแหละ แล้วทำไงล่ะ เราจะไปทำงานที่นู่น หรือกลับมาใช้หนี้ ทำงานหนักขึ้นที่นี่เพื่อเคลียร์ ก็เป็นอย่างนั้นน่ะครับ

 

Q. ยังมีที่ที่อยากไปเที่ยว แต่ยังไม่ได้ไปอีกไหม

เยอะครับ โลกกว้างใหญ่ไพศาลมาก ยังอยากไปอีกเยอะครับ ถ้าเป็นญี่ปุ่นก็เป็นชายทะเลฝั่งบนน่ะครับ ที่ดังๆ โอซาก้า เกียวโต โตเกียว อยู่ฝั่งใต้หมด ซึ่งว่ากันว่าเป็นทะเลที่น่ารัก คนที่นั่นพูดอังกฤษไม่ค่อยได้ คนญี่ปุ่นก็ไม่ค่อยรู้จัก เดินทางยากหน่อย รู้สึกว่าอยากไปนะ คิดว่าน่าจะเจออะไรอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ชอบทะเลนะครับ แต่ว่าชอบที่ๆได้เข้าใจความเป็นท้องถิ่นมากหน่อย คือ การเดินทางถ้าไปแล้วไปเจอสิ่งที่เหมือนเดิม ก็อาจจะไม่สนุก แต่ถ้าไปแล้วเจอสิ่งที่แตกต่างกับเราเยอะๆ ก็จะสนุก จะได้อะไรเยอะ

 

 

Q. อะไรคือความเป็นญี่ปุ่นในตัวตน และผลงานบ้าง

ผมว่าเด็กทุกคนในรุ่นราวคราวเดียวกันกับผม ในช่วงอายุสักประมาณสี่สิบหรือว่าสามสิบปลายๆ เนี่ย ก็โตมากับความเป็นญี่ปุ่นนะ เกมส์ญี่ปุ่น การ์ตูนญี่ปุ่น มีอยู่ในตัวอยู่แล้ว ก็กลายเป็นความผูกพัน ถึงแม้ว่าจะไม่เคยไปญี่ปุ่น ไม่เคยเข้าใจเขามาก แต่ก็มีความผูกพันที่ให้ความรู้สึกดีกับดินแดนแห่งนี้ คงไม่แปลกที่ถ้าวันหนึ่งเราเลือกจะไปที่ไหนสักที่ ก็เลือกจะไปที่ญี่ปุ่น

 

Q. พอได้รู้จักญี่ปุ่นจริงๆ ได้เรียนรู้อะไรเพิ่มขึ้นบ้าง

เยอะมากเลยครับ เยอะขนาดเขียนหนังสือได้หลายเล่มล่ะ สิ่งที่คิดว่าเรียนรู้แล้วชอบอาจเป็นเรื่องของการบาลานซ์ระหว่างความแตกต่างสองขั้วของทุกอย่าง ด้วยความที่ประเทศเขาไฮเทคมาก ส้วมเปิดเองได้ แต่อีกฝั่งหนึ่งก็นับถือชินโต นับถือแนวความคิดที่ว่ามีจิตวิญญาณอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ในขณะที่เมืองเขาใหญ่โต มีตึกสูงเสียดฟ้า มีรถไฟความเร็วสูง แต่ก็ยังมีป่า มีภูเขา ทุกเมืองมีภูเขาของตัวเอง มีพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่มาก รู้สึกว่าเป็นขั้วของสองอย่างที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงแต่อยู่รวมกันซึ่งทำให้ไม่น่าเบื่อ บาลานซ์กันแล้วสนุกดี

อีกสิ่งหนึ่งคือชอบความใส่ใจในรายละเอียดความเป็นมนุษย์ของคนญี่ปุ่น พอเราไปคุยกับคนมีอายุหน่อย เขาจะมีวิธีคิดทำสิ่งต่างๆ ที่ว่าทำสิ่งเหล่านี้ทำไม ต่อสู้เพื่อสิ่งเหล่านี้ทำไม จะพบว่าเขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาทำเพื่อส่วนรวม ทำเพื่อคนรอบข้าง แล้วเกิดจากความใส่ใจทั้งนั้น อยากเห็นสิ่งอื่นๆ มีความสุข ใส่ใจความเป็นมนุษย์ ลูกค้า ผู้รับบริการ หรือเมือง ซึ่งผมว่าความพยายามเทคแคร์คนอื่นของคนญี่ปุ่นน่ารักจนพลอยทำให้รู้สึกดีไปด้วย รู้สึกอบอุ่นเวลาได้อยู่ประเทศเขา

 

Q. แล้วอยากเห็นสิ่งนี้ในเมืองไทยไหม

เมืองไทยก็มี แต่มีในอีกรูปแบบหนึ่ง ญี่ปุ่นก็จะเป็นความเรียบร้อย สงบเสงี่ยม ถ่อมตัว คนไทยก็จะเอะอะมะเทิ่ง ตะโกนโวยวายกินเหล้ากัน เต้นกัน ซึ่งก็เป็นมนุษยสัมพันธ์อีกแบบหนึ่ง สนุกสนาน ซึ่งผมว่าไม่มีใครดีหรือแย่กว่ากันหรอก เราไม่ได้ชื่นชมญี่ปุ่นเพื่อให้เกลียดเมืองไทย หรือว่าชื่นชมญี่ปุ่นเพื่อให้เราดูถูกเมืองไทย แต่ผมว่าเราเข้าใจญี่ปุ่นเพื่อตั้งคำถามว่า ทำไมเราถึงไม่ไปสนใจญี่ปุ่นเพื่อตั้งใจเรียนรู้ความเป็นไทยแบบญี่ปุ่นบ้าง

คนไทยจำนวนมากไปญี่ปุ่นเพื่อทำความเข้าใจวัฒนธรรมหลายอย่างว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นเรื่องอาหาร วัฒนธรรม พอเข้าใจก็รู้สึกว่า โห…ประเทศเขามีรากเหง้าที่ดีงามเหลือเกิน แต่ว่าพอกลับมาไทยก็ไม่เห็นสนใจจะเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นบ้าง คราวนี้เราก็มองทุกอย่างของไทยว่าเป็นความคร่ำครึ เป็นความเชย แต่สิ่งนั้นเป็นสิ่งเดียวกันกับในญี่ปุ่นที่เรามองว่าเป็นความคลาสสิค เป็นความดั้งเดิม ซึ่งผมว่าก็อาจจะไม่น่ารักหน่อย ถ้าเรากลับมาแล้วสนใจศึกษาอะไรบางอย่างของไทยให้เข้าใจแบบญี่ปุ่น จะพบว่าประเทศเรามีอะไรอีกเยอะมากๆ แล้วก็ต่อยอดทำอะไรอีกเยอะ

 

Q. สังคมการอ่านของไทยกับญี่ปุ่น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร

ผมไม่ค่อยทราบนะครับว่าสังคมการอ่านของญี่ปุ่นเป็นอย่างไร ไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้มากนัก แต่ว่าสังคมการอ่านของไทยก็ลดลง และเปลี่ยนรูปแบบไป ผมว่าคนก็อ่านหนังสือเท่าเดิมหรือมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพียงแต่ว่าเปลี่ยนจากการอ่านหนังสือเล่มๆ เป็นอ่านบนเฟซบุ๊ก ไถหน้าจอมือถือไปเรื่อยๆ ไถทวิตเตอร์ อ่านไลน์ แต่ไม่ได้บอกว่าการอ่านบทความในเฟซบุ๊ก หรือเรื่องราวในเว็บไซต์ไซต์ทั้งหลายแหล่นี้ดีหรือแย่กว่าการอ่านหรือหนังสือเล่มหรือแมกกาซีนนะครับ คิดว่าคงไม่เหมือนกัน

สิ่งที่เปลี่ยนไปคือธรรมชาติการอ่านเปลี่ยน ทำให้เราดูมากขึ้น แม้กระทั่งเฟซบุ๊กยังมีฟังก์ชั่นที่เปลี่ยนข้อความเป็นรูปภาพเลยนะ เหมือนทำให้เราไม่ได้มีสมาธิจดจ่อกับอะไรบางอย่างเป็นพิเศษ จะมีสมาธิยาวนานกับบางสิ่ง แค่พอรู้แล้วก็ผ่านไป รู้แล้วก็ผ่านไป ซึ่งก็จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตรวมๆ ทุกอย่างของตามมาน่ะครับ เราอาจจะอดทนได้น้อยลง อาจขี้เกียจใส่ใจรายละเอียดบางอย่าง แล้วก็อาจจะไม่ได้อยากรู้เรื่องอะไรมากนอกจากหัวข้อข่าว เป็นแบบนั้น พอมีความคิดที่ว่ารู้นิดเดียวก็พอแล้ว เอาแค่คุยรู้เรื่อง ก็จะทำให้รู้อะไรน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งก็ทำให้ชีวิตเราอยู่ในจุดที่ผิวเผินขึ้นเรื่อยๆ

 

Q. แต่สิ่งนี้ไม่ผิดใช่ไหมครับ

ก็ไม่ผิดนะครับ ก็เป็นเทรนด์ที่ทุกคนทำแบบนั้น ไม่ใช่แค่เด็กนะ ผู้ใหญ่ก็กำลังจะเป็นแบบนั้นเหมือนกัน

 

Q. ก็เลยพยายามทำสิ่งที่ต่างใช่ไหม

เรียกว่าสิ่งที่ไม่มีคนทำดีกว่า และคิดว่ามีคนอยากอ่าน ผมไม่ได้เก่งกาจ ผมคิดแค่ว่าคงเป็นคนเหมือนเราสิน่า ที่อยากอ่านอะไรที่ละมุนละไม ละเมียดละไม อย่างน้อยคนที่โตมากรุ่นเดียวกัน คงมีบ้างแหละ แต่ว่าทุกวันนี้ไม่มีอะไรให้เขาอ่านเลย เป็นที่ว่างที่รู้สึกว่าแล้วคนพวกนี้จะทำอย่างไรล่ะ คือเขาอาจจะต้องการสิ่งนี้แต่ไม่มีใครเสิร์ฟ แล้วทำอย่างไรล่ะ เราก็อยากจะเข้าไปแก้ปัญหาด้วยการทำคอนเทนต์แก้ปัญหาตรงนี้

 

Q. จากที่ลองทำดู คิดว่าได้ผลตามที่ต้องการไหมครับ

ได้ครับ ผมว่าล้มล้างความเชื่อหลายๆ อย่างที่เคยเชื่อนะ เช่น คนไม่อ่านอะไรยาวๆ หรอก ทุกอย่างต้องสั้น กระชับ บทความแบบสัมภาษณ์ The Cloud จำนวนมากที่ยาว 8 หน้า A4 ขึ้นไป ยาวสิบเอ็ดสิบสองหน้านี่เขาอ่านกันเป็นหมื่นเลย ซึ่งคิดว่าก็ไม่มีปัญหานี่หว่า ถ้าดีก็ดีแหละ สุดท้ายก็ได้พบว่า จะเกิดการปรับตัวเข้าหาสมดุล สมมุติบอกว่ามีคอนเทนต์ที่ยาวมาก ถ้าคอนเทนต์นั้นดีคนก็ต้องอ่าน อ่านตอนไหนล่ะ อ่านตอนอยู่บนรถไฟฟ้าเหรอ ก็อาจจะไม่มีเวลา สรุปคือเขาก็อ่านตอนมีเวลาว่างไง อ่านตอนเช้า แล้วก็ตอนกลางคืน สุดท้ายก็พบว่า The Cloud เป็นเว็บไซต์ไซต์ที่คนอ่านตอนกลางคืนกับตอนเช้าเท่านั้น

 

Q. เพราะช่วงระหว่างวันไม่ใช่เวลาของการอ่านคอนเทนต์ประเภทนั้นหรือ

ทีแรกก็ไม่เข้าใจเลยว่าทำไมกันนะ อย่างพวกเว็บไซต์ข่าว ยอดกลางวันดีกว่ายอดกลางคืน คนก็อ่าน สุดท้ายคนนอกก็มองเข้ามาแล้วก็บอกว่า เว็บไซต์คุณน่ะ เขาอ่านตอนสั่งก๋วยเตี๋ยว สั่งอาหารเที่ยงแล้วรออาหารมา เขาก็อ่านไม่จบนะ เขาไถเฟซบุ๊กดูไวกว่า เราก็เลยพบว่าไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้อ่านระหว่างรอคิว หรือขึ้นรถไฟฟ้า แต่ไว้สำหรับอ่านในเวลาที่ว่างจริงๆ ซึ่งนั่นแหละ เป็นการปรับตัวของทุกสิ่งทุกอย่าง ทำให้เว็บไซต์ที่มีขนาดยาว และมีคนอยากอ่านมาเจอกัน แล้วก็หาเวลาและรูปแบบในการอ่านมาจนเจอกันได้อยู่ดี

 

Q. จริงๆ ฟังก์ชั่นเหมือนหนังสือเป๊ะเลยนะ เหมือนการที่เราตื่นมาแล้วเราอยากใช้เวลากับการอ่านบางสิ่งก่อนเริ่มวัน ก่อนนอนก็เช่นกัน แต่ไม่ใช่สื่อที่จะอ่านในช่วงเวลาระหว่างวันที่เร่งรีบ

ใช่ครับ ใช่เลย

 

Q. ในบทบาทนักสัมภาษณ์ มีวิธีการสัมภาษณ์คนอย่างไร

ก็ต้องรู้ก่อนว่าไปคุยกับเขาทำไม เลือกคนนี้ ต้องการอะไรจากเขา ปลายทางต้องการอะไร คือเสียเวลามานั่งคุยกับเขาเพื่อที่จะเอาอะไรไปบอกคนอ่าน เช่น สมมุติว่าเขามีโปรเจกต์ใหม่ เราอาจจะถามเรื่องการใช้ชีวิตของเขา เรื่องพลังของเขา เรื่องประวัติของเขา เลือกสักอย่างน่ะครับว่าต้องการอะไร แล้วโฟกัสสิ่งนั้นไว้ให้ชัดเจน

ระหว่างการพูดคุยก็จะไม่เขว แต่ก็เปลี่ยนแปลงได้ สมมุติว่าคุยๆ ไปแล้วพบว่ามีเรื่องที่น่าสนใจมากกว่า ก็นำมาเรียบเรียงและเปลี่ยนแปลงได้ ตอนสัมภาษณ์ผมมองว่าเป็นการเรียนรู้นะ ผมจะสัมภาษณ์เองอยู่ตลอดเวลา ทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง เป็นอย่างน้อย แต่ก็ไม่ใช่แค่คนใหญ่ๆ นะ คนเล็กๆ ก็สัมภาษณ์ คือบางคนที่คิดว่าผมเป็นนักสัมภาษณ์รุ่นใหญ่ งานเล็กๆ ไม่ทำ ผมไม่ได้คิดอะไรแบบนั้น ผมคิดว่าทุกการพูดคุยคือการเรียนรู้

ทุกการสัมภาษณ์คือการเรียนรู้ เราเลือกไปสัมภาษณ์คนๆ นี้เพราะอยากเรียนรู้จากเขา ซึ่งก็ไม่ได้แปลว่าเรียนรู้แค่ชีวิตเขานะ สมมุติว่าผมไปสัมภาษณ์คนปลูกต้นไม้ ก็อาจจะอยากรู้ว่าเทรนด์การปลูกต้นไม้ตอนนี้เป็นอย่างไร หรืออาจจะรู้ว่าความหมายของต้นไม้กับมนุษย์เป็นอย่างไร ก็คึอคุยกันไปเรื่อยๆ ทุกเรื่องที่อยากรู้สิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นั่งฟังเขาคุยเขาสอน วันนี้คุยกันเรื่องต้นไม้ พรุ่งนี้ไปคุยเรื่องหมอ คุยเรื่องหมา ก็เป็นจิกซอว์ที่ทำให้เรารู้จักโลกใบนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจอคนใหม่ๆ ก็จะมีแบกกราวนด์ที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้ชีวิตเราไม่แบน ที่รู้แค่เรื่องเดียวน่ะครับ

พอยิ่งแก่ตัวมาเนี่ย เวลาผมสัมภาษณ์พูดคุยจะง่ายมากครับ นั่งคุยกันไปเรื่อยๆ แล้วเราอยากรู้อะไรก็ถาม อาจจะมีประเด็น มีการแลกเปลี่ยนนิดหน่อย คำถามก็อาจไม่ได้ซื่อตรง ทำไมถึงทำแบบนั้น ทำไมจึงทำอย่างนี้ แต่ว่าก็จะมีคำถามที่เรารู้สึกบางอย่างกับเขา เช่น เขาเปิดกิจการตอนอายุห้าสิบ ก็คิดว่าวัยอย่างนี้ยังมีพลังหลงเหลืออยู่อีกเหรอ ยังพร้อมจะเสี่ยงอีกเหรอ แทนที่จะถามว่าทำไมถึงยังเปิดกิจการใหม่ครับ วันและวัยทำให้เรามีอะไรบางอย่างแลกเปลี่ยนในหัวกับเขา

 

Q. นั่นเป็นสิ่งที่พยายามจะสอนนักสัมภาษณ์รุ่นใหม่ด้วยใช่ไหม

ผมคิดว่าเราต้องสอนเขาให้เป็นเขา ไม่ได้สอนให้เขาเป็นเรา ผมอาจจะถามสิ่งแรกเพราะผมอายุสี่สิบ แต่สำหรับเด็กอายุ 25 เขาอาจจะยังไม่ไปถึงจุดนั้นได้ แต่ว่าทำอย่างไรจะให้เด็กอายุ 25 ได้ถามหรือได้แลกเปลี่ยนในสิ่งที่เด็กอายุ 25 ควรจะเป็น

 

Q. ควรจะเป็นหมายถึงอะไร

อย่างเช่น สมมุติว่า ผมอาจะถามได้ว่าผมพูดอย่างนี้จริงเหรอ พูดเล่นหรือเปล่า หรือว่าผมเห็นมาแล้วว่าแบบนี้ เจ๊งมาเยอะนะครับ ประมาณนี้ ผมอาจจะถามได้ แต่คนสัมภาษณ์อายุ 25 จะไปถามคำถามแบบนี้ไม่ได้ไง ซึ่งผมเอาสิ่งนี้ไปสอนคนอื่นไม่ได้ แต่ผมต้องดูว่าเขาเป็นใคร เขามีประสบการณ์ชีวิต มีวุฒิภาวะมากแค่ไหน จากนั้นจึงพยามยาม Generate หลักสูตรสำหรับเขาว่าวัยเพียงเท่านี้ คุณควรจะทำสัมภาษณ์แบบไหน

 

Q. จริงๆ ก็เหมือนงาน บ.ก. ใช่ไหม การได้ต้นฉบับมาเราก็ต้องพยายามทำให้เป็นเขาที่สุด ซึ่งเราต้องเข้าใจตัวเขาก่อน

ใช่ เมื่อก่อนตอนผมแก้งานใหม่ๆ ผมแก้เลยนะ คือคิดว่าเดี๋ยวแก้ให้ง่ายกว่า เรียบเรียง อีดิตให้เป็นรูปลักษณ์ เปลี่ยนภาษาเปลี่ยนประโยคเปิดปิดก็จบ ทำอย่างนั้นอยู่หลายปีนะครับกับเด็กๆ แล้วก็วันหนึ่งก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่หรือเปล่าวะ

คือตอนนั้นคิดว่าทำแล้วดี เด็กได้เห็นตัวอย่าง มาเลย มานั่งทำด้วยกัน แล้วมาดูว่าต้องแก้ตรงไหนบ้าง คนถูกแก้ก็ชอบ เพราะว่าจะได้รู้ว่าแก้อย่างไร อย่างเช่น เฮ้ย…เปิดทื่อไปว่ะ ขอคมๆ หน่อย เด็กก็จะคิดว่า คมๆ เป็นอย่างไรวะ ก็เขียนให้ดูเลยว่าแบบนี้ คนก็เรียน รู้แล้วก็อ๋อ โอเค

มีคนส่วนมากเก็บต้นฉบับที่ใช้หมึกสีแดงวงแก้ของผมไว้นะ เขาก็บอกว่าทั้งคู่แฮปปี้ เสียเวลาน้อยมาก ก็นั่งดูด้วยกัน จบ แต่พอโตๆ มาก็พบว่าไม่ใช่หรือเปล่า ควรจะให้แนวทางเขาหรือเปล่า เพราะว่าแต่ละคนมีแนวทางในการแก้ปัญหาที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคนแต่ละสไตล์ ไม่มีทางแก้อะไรเหมือนกัน

สิ่งที่ผมพยามทำก็คือผมจะพยายามจะบอกว่า งานชิ้นนี้มีปัญหาตรงไหน ถ้าดีก็จบ เช่น ผมว่าชิ้นนี้มีปัญหาตรงนี้นะ ไม่มีประเด็นว่ะ จบไม่ลง หรือคุยมาผิดเรื่อง นี่คือปัญหา ถ้าเด็กเก่งหน่อย ก็ไปแก้ของได้ เราก็ทำตัวเป็นคนนอกมองเข้ามา ผิดวัตถุประสงค์การสัมภาษณ์ เขาเอาไปแก้ก็จบ เด็กไม่เก่ง เราก็บอกว่าตัดตอนนี้เปลี่ยนใหม่นะ ไปแก้เอง ผมก็จะพูดปากเปล่าแล้วเด็กไปแก้เอง หรือถ้ายังทำไม่ได้อีกก็จะไกด์ มากกว่านั้นอีก เช่นเอาข้อมูลถอดเทปมาดูซิ หรือชวนคุยว่าเขาพูดเรื่องอะไรบ้าง ประเด็นนี้น่าสนใจต่อไหม แต่สุดท้ายผมจะไม่แตะต้องต้นฉบับ

นิ้วผมจะไม่โดนคีย์บอร์ด แต่ถ้ารอบสองมาไม่เวิร์ก ผมก็จะพูดเหมือนเดิม ไปหาทางออกของปัญหาคุณให้เจอ จนกระทั่งค่อนข้างสมบูรณ์ ผมถึงปรับแก้ภาษาให้ ตัดคำเกิน เชื่อมประโยค คือเก็บรายละเอียด ซึ่งก็สนุกดีนะ ผมว่าคือโอเค เหนื่อยกว่า แต่ก็ทำให้เขาได้เป็นเขานะครับ แล้วหลายครั้งนะครับ น้องๆ ในทีมเนี่ยแหละ เราอ่านบทสัมภาษณ์แล้วคิดว่า โห…อาการหนักว่ะ

 

Q. อย่างไรงั้นหรือ

คือบทสัมภาษณ์ที่อ่านมาอาการหนักมากน่ะ ผมก็จะบอกไปอยู่แล้วว่าแก้อย่างนี้ไหม ให้ไปทางนี้ หรือคิดในใจว่า แก้ให้เลยดีไหมนะ เวลารีบ แก้ให้เลยก็แล้วกัน ชิ้นหน้าค่อยทำเอง แต่ก็คิดว่า ไม่เป็นไร ลองให้ไปทำมาก่อน เด็กแก้กลับมาปรากฏว่าดีกว่าที่ผมคิดอีกนะ คือที่ผมคิด ผมคิดว่าจะแก้ปัญหาประมาณนี้แหละ แต่เด็กไปได้ไกลกว่านั้น เราก็คิดว่าโหย เราคิดไม่ถึงว่ะ

 

Q. ถ้าไปแก้เขาก่อน ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยงั้นหรือเปล่า

ใช่ จริงๆ ทุกคนมี Potential ที่ใหญ่โตมาก เราอย่าไปจำกัดด้วยทักษะหรือเพราะไปแก้เขาด้วยกรอบของเรา ถ้าเปิดกรอบให้กว้าง ก็อาจจะได้อะไรใหม่ๆ ที่น่าสนใจก็ได้

 

 “การทำสื่อที่มีเนื้อหาที่ดีเป็นเรื่องดีนะครับ
แต่การมีทีมงานที่เติบโตไปด้วยกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

 

Q. มีเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากทำ The Cloud ให้ดีขึ้นอีกไหม

สร้างคนมั้งครับ (ใช้เวลาคิด) คือการทำสื่อที่มีเนื้อหาที่ดีเป็นเรื่องดีนะครับ แต่การมีทีมงานที่เติบโตไปด้วยกันเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ผมแทบไม่เคยรับใครที่เก่งแล้วมาเลยนะ ผมรับคนที่เป็นเด็กจูเนียร์สุดๆ แล้วมาโตไปด้วยกัน เหมือนต้นไม้ ผมไม่ชอบต้นไม้ที่ล้อมมา เพาะจากเมล็ดเล็กๆ นี่แหละ ให้เติบโตไปกับสภาพภูมิอากาศของเราด้วยกัน แล้วผมคิดว่า DNA ใช่ คือ มาจาก Academy เดียวกัน เล่นฟุตบอลสไตล์เดียวกันแล้วจะไม่มีปัญหาเรื่องอื่นๆ เลย

แน่นอนว่าเหนื่อยแหละ เขาเป็นเด็ก เขาไม่เคยมีประสบการณ์ชีวิต แต่ว่าพอเวลาผ่านไป เราจะพบว่าเมื่อเขาเก่งแล้ว ดังแล้ว เราจะมีความสุขมากเลยครับ เห็นมาตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานน่ะ ค่อยๆ ทำงานจนสุดท้ายวันหนึ่งได้เป็น บ.ก. ถูกคนเชิญไปพูด มีหนังสือ ได้ออกหนังสือ เรามีความรู้สึกว่าดีว่ะ คือไม่ได้รู้สึกว่าต้องดูแลอะไรหรอก แค่ชื่นชมว่า ในวันหนึ่งก็จะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ที่งดงาม

 

Q. นั่นคือสิ่งที่พยายามสอนทีมใช่ไหม

ผมพยายามจะทำให้ทุกคนเป็นแบบนั้น ทำให้ทุกคนเติบโตขึ้น ให้ทุกคนมีคุณค่าในตัวเอง ตอนนี้เรากำลังสร้างแรงบันดาลใจคนอ่าน คือการบอกพวกเขาว่าลองใช้ชีวิตไปทางนี้สิ คุณอาจจะได้พบความสุขต่างๆ นานา แล้วมาคิดว่าทำไมเราไม่สร้างแรงบันดาลใจให้ทีมงานเราบ้างล่ะ ทำไมถึงไม่ทำสิ่งนี้กับคนใกล้ตัว ทำไมเราถึงสนใจความฝันคนไกลตัว แล้วไม่สนใจความฝันคนในทีมเราล่ะ

ดังนั้นจึงเกิดทีมนี้ขึ้น เหมือนเป็นทีมที่ทุกคนใส่เสื้อหลวม ซื้อเสื้อเผื่อโตกันหมดเลยน่ะครับ อยากจะให้โตขึ้นอีกสักหน่อย แล้วก็อยากจะให้ทุกคนโตขึ้นในแบบที่เขาเป็น ผมโชคดีตรงที่ทุกคนพร้อมจะเรียนรู้ พร้อมจะเหนื่อย ไม่มีใครคิดว่าหน้าที่การงานเขียนว่าเป็นช่างภาพ งานก็คือช่างภาพ คุณไม่ต้องมาใช้ผมเขียนหนังสือ ไม่ใช่งานผม ไม่เคยมีใครมาพูดแบบนี้ครับ แต่เวลาเราเจอสิ่งดีๆ ที่เหมาะกับเขา เราก็เสนอให้เขาไปว่าอยากลองเขียนสิ่งนี้ไหม ซึ่งเราคิดว่าเป็นงานที่เพิ่มขึ้นมา แล้วเขาไม่ถนัดเลย เราก็ช่วยกันสอน ช่วยกันปั้น ซึ่งช่วงแรกก็เหนื่อยมากแหละครับ เขาก็เหนื่อย แต่ว่าพอถึงจุดที่เริ่มโอเค เริ่มเขียนดี เริ่มอยู่ตัว เขาก็มีความสุขว่าเขาได้รับการยอมรับจากผู้อ่านว่าเราเป็นผู้รู้ นี่คือเป้าหมายที่ผมอยากให้เกิดขึ้นกับทุกๆ คนในทีมครับ

 

Q. นี่คือเหตุผลที่ชอบสอนหนังสือใช่ไหม

ใช่ครับ ทุกคนในทีมจะบอกว่าผมเป็นคนชอบสอนหนังสือคน แล้วพอยิ่งแก่ตัว บทเรียนของผมก็เปลี่ยนไป เช่น พอมีเว็บไซต์ขึ้นมาเว็บไซต์หนึ่ง แล้วอาจจะไม่ได้ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควรนัก ผมก็จะเรียกทุกๆ คนในทีมมาดูเลย แล้วก็ถามว่า ทำไมเว็บไซต์ๆ นี้แป็กล่ะ แต่ละคนคิดว่าอย่างไร ผมจะโยนคำถามเหล่านี้ไปแล้วให้เขาคิด เพื่อให้เขาเกิดฐานข้อมูลบางชุดขึ้นมา ให้เกิดเป็นการเรียนรู้จากสถิติ ให้เขาคิดว่าอ๋อ เลือกเรื่องผิดว่ะ เลือกคนผิดว่ะ แทนที่ผมจะเดินไปบอกว่า เฮ้ย ที่เป็นแบบนี้เพราะเลือกคนผิดว่ะ แบบนั้นไม่สนุกเลย

แล้วแน่นอนว่า อาจจะไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเลือกคนผิดอย่างเดียว อาจจะเป็นสาเหตุอื่นเช่นช่วงเวลาผิด แล้วพอเขามีนิสัยแบบนี้นะ ต่อไปไม่ต้องบอกแล้ว เขาจะวิเคราะห์ ตั้งคำถาม แล้วก็มีบทเรียนของตัวเองขึ้นมาได้เลย ก็สบาย ก็ถึงเวลาที่เขาไม่ต้องการการสอนอีกแล้ว เพราะเขาสอนตัวเองได้ ผมก็หวังจะให้ถึงวันนั้น วันที่เขาสอนตัวเองจากเนื้องาน จากประสบการณ์ที่เขาเจอมา

 

ติดตามผลงานได้ที่ :

Facebook: zcongklod
Facebook: ZcongklodPage
Instagram: zcongklod
Twitter: zcongklod

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ