สารบัญ

 

Hiroko Yamagishi     

“ฮิโรโกะ ยามากิชิ” เป็นอีกหนึ่งสาวชาวญี่ปุ่นที่ได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองไทยด้วยเหตุผลหลากหลายประการ  ไม่ว่าจะเป็นเพราะสภาพอากาศและสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม หรือแม้แต่เรื่องพื้นฐานอย่างรสชาติอาหารที่ถูกปากเธอยิ่งนัก แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้เธอตกหลุมรักประเทศไทย ก็คือรอยยิ้ม และความมีน้ำใจของคนไทย โดยเฉพาะในภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จากเด็กมัธยมปลายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ฮิโรโกะเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยครั้งแรกผ่านงานอาสาสมัครในจังหวัดเชียงใหม่ ที่นั่นเธอได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน และได้ค้นหาความต้องการในหัวใจของตัวเองไปพร้อมๆ กัน ภายหลังการเดินทางไปกลับไทย-ญี่ปุ่นอยู่หลายครั้ง ทำให้เธอตัดสินใจว่าประเทศไทยนี่แหละคือดินแดนที่ตนเองอยากจะใช้ชีวิตอยู่

ไม่ต้องประหลาดใจหากคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกคุ้นตากับสาวน่ารักคนนี้ เพราะเมื่อปี 2010 ฮิโรโกะได้ปรากฏตัวในบทบาทอาจารย์ชาวญี่ปุ่นสุดแสนน่ารัก ใสซื่อ จากโฆษณา “อูมามิ อร่อยกลมกล่อม” ของผงชูรสสัญชาติญี่ปุ่นยี่ห้อดัง ทำให้ “ครูอูมามิ” กลายเป็นอีกหนึ่งชื่อเล่นของฮิโรโกะที่เพื่อนๆ ชาวไทยมักจะเรียกเธอ ซึ่งหลังจากการเดบิวต์ครั้งนั้น ทำให้ฮิโรโกะมีงานต่อเนื่องเรื่อยมา ตั้งแต่งานเบื้องหน้าอย่างงานพิธีกร งานถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา ไล่ไปถึงงานเบื้องหลังอย่างการผลิตรายการ หรืองานที่ต้องใช้ความสามารถด้านภาษาอย่างงานล่าม และงานแปลระดับอาชีพ ทุกวันนี้ฮิโรโกะยังคงทำงานทุกด้านที่ตัวเองสามารถทำได้ ไม่เพียงความน่ารักสดใสทั้งภายนอกและภายในที่คนทั้งประเทศเป็นประจักษ์พยานไปเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่เราสงสัยและนำไปสู่บทสัมภาษณ์ครั้งนี้ ก็คือที่มาของความเป็น Generalist ของเธอ ภายใต้ความสามารถอันหลากหลายรอบด้านที่เธอมี เป้าหมายที่แท้จริงในการทำงานของฮิโรโกะ ยามากิชิ คืออะไรกันแน่

 

 

Q. ตอนนี้ทำงานด้านไหนบ้าง

ส่วนใหญ่เป็นงานพิธีกรรายการทีวีและอีเวนต์ งานพากย์เสียง 3 ภาษา (โฆษณาทีวี วิทยุ วิดีโอพรีเซนต์ เสียงตอบรับอัตโนมัติทางโทรศัพท์) และล่ามตามบริษัทต่างๆ ค่ะ ส่วนที่อายิโนะโมะโต๊ะ คือเราจะเน้นไปที่งานด้านพรีเซนเตอร์ และทำกิจกรรมที่โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะที่เราพาเด็กๆ มาชมโรงงานเพื่อเรียนรู้ที่มาที่ไปและความรู้ของรสอูมามิด้วยค่ะ

 

Q. สื่อสารได้หลายภาษาใช่ไหม

ได้ 4 ภาษาค่ะ ญี่ปุ่น ไทย อังกฤษ และเกาหลีนิดหน่อย กำลังสนใจจะเรียนเวียดนามเพิ่มเติมค่ะ

 

Q. อยากให้เล่าถึงลักษณะงานล่ามที่เคยทำ

            ล่ามกองถ่าย ต้องแปลข้อมูลต่างๆ ที่ลูกค้าต้องการให้ทีมงานฟัง รวมทั้งประสานงานระหว่างทีมงาน ดารา และลูกค้าต่างชาติ จากนั้นก็ได้รับโอกาสให้ทำงานล่ามในที่ประชุมของบริษัทหรือโรงงานอีกหลายแห่ง รวมถึงงานแสดงสินค้าหรือการท่องเที่ยวต่างๆ ค่ะ

 

Q. ความยากของงานล่ามคืออะไร

ยากตรงที่ว่าเขาก็จะพูดไปเรื่อยๆ โดยถ้ามีสคริปต์มันก็จะค่อนข้างง่าย เราก็พูดตามสคริปต์ บางทีถ้าเขาพูดผิดหรือไม่ตามสคริปต์ เราก็จะแก้ไขตามสคริปต์ให้เขาได้ง่าย แต่ถ้าเป็นการล่ามฉับพลันซึ่งบางงานก็มีสคริปต์ บางงานไม่มี เราต้องใช้สมาธิสูงมาก ต้องจัดสมดุลระหว่างการฟังไปแปล เพราะถ้าเราโฟกัสที่การแปล เราอาจจะไม่ทันฟังหรือถ้าเราโฟกัสที่การฟังเกินไป เราจะแปลไม่ครบ

อีกอย่างคือทักษะการเลือกใช้คำต้องรวดเร็ว คือไม่ใช่แค่แปลให้ถูก แต่ความหมายต้องเหมาะกับบริบทด้วย ตรงนี้ความแตกต่างของวัฒนธรรมการใช้ภาษาไทยและภาษาญี่ปุ่นมีบทบาทอย่างมาก หลายๆ ประโยคเราไม่สามารถแปลตรงตัวได้ ในส่วนนี้ประสบการณ์จะช่วยได้มาก

 

Q. ส่วนมากเป็นงานประชุมหรือเปล่า 

พอๆ กันนะคะ แต่โดยส่วนใหญ่ก็จะเป็นล่ามในกองถ่ายหรืองานวิจัยต่างๆ หรือล่ามตอนเป็นพิธีกรค่ะ นอกจากนี้ได้มีโอกาสล่ามงานด้านกีฬา ซึ่งเราภูมิใจมาก ทั้งงาน “J League Asia Challenge Thailand 2017” ตอนนั้นรับหน้าที่ล่ามแปลให้กับสื่อของ J League ล่าสุดเป็นล่ามประชุมการเซ็นสัญญาระหว่างเมืองทองยูไนเต็ดกับคอนซาโดเล ซัปโปโร ซึ่งเกี่ยวกับการเซ็นสัญญาของ คุณเจ-ชนาธิปค่ะ  

 

Q. แล้วสนุกกับงานด้านไหนมากกว่ากัน

ฮิโรโกะชอบเป็นพิธีกรค่ะ นอกจากจะเป็นพิธีกรรายการทีวีแล้ว ส่วนใหญ่ก็รับงานอีเวนต์ด้วย งานเปิดตัวหรืองานแถลงข่าว แต่ละงานจะมีแนวทางและรูปแบบต่างกัน ซึ่งท้าทายความสามารถเราได้ดี เช่นงานของคนญี่ปุ่นจะกำหนดทุกอย่างตามแผนงาน เราก็จะทำงานสะดวก ถ้าเป็นงานของไทยจะผ่อนคลายกว่า เช่นมีการเล่นมุกตลกสดๆ บนเวที ซึ่งบางทีถ้าเป็นมุกใหม่ๆ ฮิโรโกะอาจตามไม่ค่อยทัน ตรงนี้ก็ต้องถือว่ายากเช่นกัน หลังๆ เลยต้องพยายามหัดเรียนพวกมุกตลกใหม่ๆ บ้างค่ะ ให้เพื่อนสอนให้

 

 

Q. อยากให้เล่าถึงที่มาตอนเดินทางมาเมืองไทยครั้งแรก

ครั้งแรกเลยมาทำงานด้านอาสาสมัคร ที่เลือกเมืองไทยเพราะว่าสมัยยังเรียนอยู่มัธยมปลาย คุณครูประจำชั้นของเราได้เชิญนางพยาบาลชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อริเอะซัง ริเอะซังมาบรรยายประสบการณ์เกี่ยวกับเมืองไทยให้เด็กๆ ในห้องฟัง เขาทำงานอาสาสมัครด้านดูแลเด็กกำพร้าที่ติดเชื้อ HIV ที่เชียงใหม่ พอได้ฟังเราก็ประทับใจมากๆ จึงคิดในใจว่าถ้ามีโอกาสก็อยากจะไปเมืองไทยบ้าง แต่ตอนนั้นเราก็ยังเด็กมาก อายุ 17 ปีเอง

 

Q. นั่นเป็นครั้งแรกที่ได้รู้จักประเทศไทยใช่ไหม

ไม่นะคะ เราก็ได้ยินเรื่องราวของประเทศไทยมาบ้าง แต่ไม่ได้รู้อะไรมากมายนอกจากมีช้าง มีอาหารอร่อย ต้มยำนี่ดังมาก แกงเขียวหวานเราก็รู้จัก แล้วก็รู้ว่ามีเด็กกำพร้าที่นั่น ถ้ามีโอกาสก็อยากไป แต่ตอนนั้นยังเป็นนักเรียนอยู่ แล้วก็คิดเสมอว่าอยากหาโอกาสไปประเทศไทย

ตอนนั้นยังเป็นช่วงที่ทุกคนพยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันอยู่ เลยลองคิดใหม่ คิดอีกครั้งว่าตัวเองอยากทำอะไร ซึ่งคนญี่ปุ่นส่วนใหญ่เขาจะยังไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไรต่อจริงๆ จังๆ เพราะพวกเขายังไม่เคยได้เรียนสิ่งนั้น พูดง่ายๆ คือประเทศญี่ปุ่นเขาจะมาแยกสายเอาตอนที่อยู่ ม.ปลาย แต่คนไทยอาจจะแยกสายตั้งแต่ ม.ต้นหรือเปล่าคะ

 

Q. คิดว่าน่าจะแล้วแต่ที่

ใช่ไหม แค่รู้สึกว่าแยกสายตั้งแต่ ม.ต้นเลยน่าจะดีกว่า อย่างที่ญี่ปุ่นเราจะเรียนวิชาเหมือนๆ กันเกือบทุกคนตั้งแต่เด็กถึง ม.ต้น แต่เหมือนที่ไทยจะมีวิชาหลากหลายให้เลือกเรียนตั้งแต่ประถม เช่น ภาษาที่สาม คือที่นี่รายวิชาจะเปิดกว้างมากกว่า ส่วนที่ญี่ปุ่น กว่าเราจะได้เลือกเรียนเฉพาะด้านก็ ม.ปลายแล้ว ทำให้หลายคนรู้ไม่ว่าจริงๆ ตัวเองชอบหรือถนัดอะไร คือหมายถึงในยุคนั้นนะคะ ปัจจุบันไม่แน่ใจว่าปรับเปลี่ยนไปแล้วหรือยัง

 

 

 

Q. แล้วช่วงนั้นคิดว่าตัวเองรู้แล้วหรือยังว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร

เราเป็นคนหนึ่งที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนอะไร แต่ตั้งใจไว้แล้วว่าไปประเทศไทยดีกว่า ตอนนั้นฮิโรโกะอยากมาทำงานอาสามากๆ เลยเก็บเงินมาเองเลยนะคะ เริ่มเก็บเงินโดยไม่บอกพ่อแม่ เพราะว่าถ้าบอกก็จะไม่ได้ไปแน่นอน (หัวเราะ) เพราะยังไงเขาก็ต้องให้เราเข้ามหาวิทยาลัยมากกว่าอยู่แล้ว

ตอนนั้นอยากไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ แต่พ่อไม่ให้ไป เป็นเรื่องที่อยากทำแต่ทำไม่ได้ ยังไงก็ต้องขอเงินพ่อแม่ถ้าจะไปเรียนต่อที่อเมริกา แคนาดา หรือประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษใช่ไหม คิดว่าเก็บเงินไปเองเลยดีกว่า เก็บเป็นความลับ แล้วก็ไปสัมภาษณ์ที่สำนักงานของเด็กกำพร้าแห่งนั้น แต่เป็นออฟฟิศสาขาที่ญี่ปุ่นและสัมภาษณ์ผ่าน หลังจากนั้นฮิโรโกะทำงานเก็บเงินทุกวันเลย ประมาณ 3 เดือนก็มีเงินเก็บพอสมควรแล้ว จึงค่อยบอกพ่อ เราเล่าเรื่องนี้ให้เขาฟังกลางโต๊ะอาหารเลย พ่อโกรธมากจนถึงขั้นตัดลูกตัดพ่อ แต่สุดท้ายแล้วก็ไปหาเขาที่บริษัท พอพ่อใจเย็นลงเขาก็มีข้อแม้มาว่าเราจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยก่อนแล้วเขาถึงจะให้ไป

 

Q. แล้วทำตามไหม

เราก็โอเค ทำตามที่เขาต้องการโดยเลือกมหาวิทยาลัยที่มั่นใจว่าเข้าได้ แล้วก็ได้จริงๆ แต่ความตั้งใจของเราคือมาประเทศไทย เลยไปมหาวิทยาลัยเฉพาะวันแรกที่มีปฐมนิเทศ จากนั้นก็ดรอปไปปีหนึ่งเพื่อมาเป็นอาสาสมัครที่เชียงใหม่ค่ะ เคยโทรไปคุยกับทางมหาวิทยาลัย แจ้งว่าเราสอบผ่านแล้ว แต่จะขอดรอปเรียนหนึ่งปี (หัวเราะ) ทางมหาวิทยาลัยก็ตกใจว่าเด็กคนนี้นี่มันยังไงกัน

 

Q. แล้วพ่อว่าอย่างไรบ้าง

พ่อก็โอเคเพราะว่าเราสอบผ่านแล้ว ครั้งแรกที่มาเมืองไทยฮิโรโกะเป็นอาสาสมัครที่มูลนิธิบ้านร่มไทยที่เชียงใหม่ประมาณครึ่งปีในมูลนิธิ ก็ทำทุกอย่างค่ะ ทั้งเก็บขยะและใบไม้ร่วงในสวน เรียบเรียงหนังสือหรือตัดหญ้า งานจิปาถะทุกอย่าง สอนว่ายน้ำด้วยนะคะ หลังจากนั้นก็ไปสอนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนสอนภาษาที่เชียงใหม่อยู่สักพัก แล้วก็กลับญี่ปุ่นค่ะ

กลับไปแล้วก็คิดถึงเมืองไทยมาก เลยเก็บเงินอีกรอบแล้วกลับมาทำงานอาสาอีกครั้ง คราวนี้ไปเป็นอาสาสมัครที่วัดพระบาทน้ำพุ ทำได้สักพักก็ไปเรียนนวดจนได้ใบประกาศมา แล้วก็ไปเรียนขี่ช้างค่ะ

 

Q. ฝึกขี่ช้างเหรอ

ใช่ค่ะ เขาจะมีโปรแกรมฝึกขี่ช้างสำหรับชาวต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่ลำปาง จริงๆ แล้วอยากอยู่เป็นเดือนเลยนะ อยากเป็นควาญช้าง อยากควบคุมช้างเป็น มันดูเท่ดี น่ารักดี ฮิโรโกะชอบสัตว์ค่ะ แต่ก็ฝึกขี่ไม่กี่วันเอง สนุกนะคะ คือเราได้เรียนรู้วิถีชีวิตของควาญช้างที่นั่น ได้เรียนทุกอย่างสมใจแล้ว เลยกลับญี่ปุ่นค่ะ

 

Q. กลับมาเรียนอย่างนั้นหรือ

ค่ะ แต่เรียนได้สักพัก เราเริ่มชัดเจนแล้วว่าเราไม่อยากเรียนมหาวิทยาลัยที่ญี่ปุ่นแต่ไหนแต่ไรแล้ว เราอยากไปเรียนต่างประเทศแต่คุณพ่อไม่อนุญาต ตอนนั้นฮิโรโกะอายุ 20 ปีแล้ว คุณพ่อเห็นว่าโตแล้วก็เลยไม่เข้มงวดเหมือนก่อนหน้านี้ เราเลยเก็บเงินอีกครั้งเพื่อมาเรียนภาษาอังกฤษที่เมืองไทย เพราะที่นี่ค่าครองชีพไม่แพงมาก ไม่ต้องขอเงินค่าคอร์สเรียนจากพ่อแม่

เรารู้สึกว่าที่ไทยมีชาวต่างชาติเยอะกว่า มีความเป็นอินเตอร์มากกว่าที่ญี่ปุ่น เลยตัดสินใจมาติวสอบ TOEFL IELS เพื่อจะไปแคนาดา อเมริกา หรือประเทศที่ได้ใช้ภาษาอังกฤษ ระหว่างนั้นเราเองได้พัฒนาภาษาไทยไปเยอะมาก จนวันที่ผลสอบภาษาอังกฤษออก เราได้คะแนนสูงพอที่จะไปเรียนต่างประเทศได้ แต่เรากลับรู้สึกว่าเราเสียดายทักษะภาษาไทย ถ้าเราไปเรียนที่อื่นกลัวจะลืมภาษาไทย อีกอย่างคิดว่าภาษาที่สามเป็นเรื่องสำคัญ คิดไปคิดมา เลยตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัยที่นี่ เป็นภาคอินเตอร์ค่ะ

ขอเล่าย้อนนิดหนึ่งนะคะ ตอนนั้นกลับไปอยู่ญี่ปุ่นประมาณ 2-3 ปีหลังจากมาเป็นอาสาที่วัดพระบาทน้ำพุ มีอยู่วันหนึ่งที่เราเดินเล่นแถวฮาราจูกุแล้วได้ยินคนพูดภาษาไทย ในสมัยนั้น การที่คนไทยจะไปเที่ยวญี่ปุ่นเป็นเรื่องยุ่งยากมาก ต้องขอวีซ่า นักท่องเที่ยวชาวไทยเลยน้อยกว่าปัจจุบันนี้หลายสิบเท่า ฮิโรโกะเลยมองหาที่มาของต้นเสียง แต่ก็หาไม่เจอ หลังจากแยกย้ายกับเพื่อนแล้ว จังหวะที่กำลังกดตั๋วรถไฟที่ตู้เพื่อกลับบ้าน ก็พบกับกลุ่มคนไทยตรงบันไดด้านล่าง เลยเดินไปถามว่าใช่คนไทยหรือเปล่า

เราก็เล่าให้เขาฟังว่าเคยไปเป็นอาสาสมัครที่เชียงใหม่ พูดภาษาไทยได้นิดหน่อย พี่หนุ่ย (พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์) เขาเป็นหัวหน้าทัวร์ในตอนนั้น ทำให้เราได้รู้จักกัน แล้วหลังจากนั้นเราก็ได้รู้จักคนอื่นๆ ในวงการบันเทิง ได้รู้จักเพื่อนของเพื่อนพี่หนุ่ย  บังเอิญตอนนั้นที่เราได้เจอกับพี่หนุ่ย เราเอารูปเพื่อนคนไทยคนหนึ่งให้ดู ปรากฏว่าเขาเป็นเพื่อนพี่หนุ่ยและอีกหลายคนในลูกทัวร์ค่ะ รู้จักกับเขาก่อนเจอพี่หนุ่ยค่ะ ก็เลยรู้สึกว่าโลกกลมมากจริงๆ ซึ่งการเจอพี่หนุ่ยนั้นก็ทำให้เราอยากกลับไปเมืองไทยอีกครั้ง จากนั้นไม่นานพี่หนุ่ยก็ชวนไปทำงานด้วยกันค่ะ

 

 

 

Q. กรุงเทพฯ กับเชียงใหม่แตกต่างกันอย่างไร

ฮิโรโกะโชคดีตรงที่ได้มาสัมผัสเมืองไทยครั้งแรกคือที่เชียงใหม่ค่ะ เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่ชอบเมืองไทยขนาดนี้  คนที่เชียงใหม่น่ารักมาก พวกเขาดูแลฮิโรโกะเหมือนน้องสาวหรือลูกสาวจริงๆ จะโทรมาถามทุกวันว่าอยู่ที่ไหน กินข้าวหรือยัง ซึ่งครอบครัวฮิโรโกะไม่ได้อบอุ่นขนาดนี้

            

Q. แล้วเรื่องมหาวิทยาลัยในไทยเป็นอย่างไรบ้าง

ฮิโรโกะเลือกเรียนหลักสูตรอินเตอร์เพื่อที่จะได้ใช้ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยค่ะ แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ ได้เพื่อนใหม่ สังคมใหม่ๆ ได้พัฒนาทักษะภาษาทั้งไทยและอังกฤษอย่างที่ต้องการ แล้วยังได้เรียนภาษาเกาหลีที่มหาวิทยาลัยด้วยค่ะ

 

Q. เลือกเรียนคณะอะไร

คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ค่ะ แต่ตอนนั้นอยากเรียนบริหารที่จุฬาฯ มาก เพราะจะได้เดินทางสะดวก แต่ว่าคณะอินเตอร์ของจุฬาฯ นี่แพงไปหน่อย (หัวเราะ) แล้วตอนนั้นฮิโรโกะก็รู้จักแค่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ไกลไป ก็เลยเลือกที่นี่ แล้วก็มีไม่กี่คณะที่สมัครได้ ก็เลยเลือกสาขาการสื่อสารภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ (Business English Communication)

 

Q. ชีวิตมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไรบ้าง

ฮิโรโกะไม่ค่อยได้คุยกับเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเพราะเราก็อายุมากกว่าเขาประมาณหนึ่งแล้ว ตอนนั้นประมาณยี่สิบสามได้ แล้วเพื่อนร่วมรุ่นอายุสิบแปดสิบเก้ากันหมด เราอยู่ที่นั่นก็เลยเหมือนเป็นพี่เนอะ (หัวเราะ) เป็นพี่ฮิโรโกะ ก็น่ารักดี สักพักก็ปรับตัวได้ ทุกอย่างก็ราบรื่น จนตอนนี้เรียนจบมานานแล้ว ก็ยังติดต่อเพื่อนๆ น้องๆ อยู่เหมือนเคยค่ะ

            

Q. เคยท้อจนอย่าล้มเลิกบ้างไหม

แรกๆ ท้อมาก แต่ก็พยายามเรียนไปเรื่อยๆ ปีแรกก็จะแย่หน่อย แต่พอปีสองสามสี่ก็ค่อยๆ ดีขึ้นจนเราคิดว่าทำได้ เราเรียนจนได้เกียรตินิยมอันดับ 2 และรางวัลนักศึกษาดีเด่นด้วยค่ะ ดีใจมากๆ

 

 

Q. ชีวิตหลังจากจบมหาวิทยาลัยแล้วเป็นอย่างไรบ้าง

พอจบก็มีบริษัทแห่งหนึ่งของญี่ปุ่นมาชวนฮิโรโกะไปทำงาน คือคนที่มาชวนเป็นไอดอลของเราด้วย ตอนนั้นก็อยากไปมาก แต่ก็มาคิดดูว่าตัวเองเหมาะกับบริษัทเขาไหม บริษัทนี้เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น แต่เราไม่ถนัดงานในตำแหน่งที่เขาเสนอมา ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งที่สูงมาก เราเองยังไม่มีประสบการณ์ขนาดนั้น กลัวจะเป็นผลเสียกับคนที่มาชวน เลยตัดสินใจปฏิเสธไป

 

Q. หลังปฏิเสธบริษัทนั้นไปแล้วเลือกทำอะไรต่อ

ตอนนั้นคิดแค่อยากจะเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ (ไทย-ญี่ปุ่น) เราก็เลยเลือกทำในสายงานที่ทำได้มาตลอดค่ะ (ยิ้ม)

 

Q. คิดว่าจุดแข็งหรือข้อดีของตัวเองในการทำงานคืออะไร

ฮิโรโกะคิดว่าตัวเองอาจจะไม่เก่งด้านบริหาร แต่ข้อดีก็คือเป็นคนที่มีความมุ่งมั่นค่ะ อย่างเช่นสมัยที่อยากมาเมืองไทยแรกๆ ก็ทำงานเก็บเงินมาเอง คือถ้ามีความฝันหรืออะไรสักอย่างให้ฮิโรโกะคิดและลงมือทำ ไม่นานก็จะทำให้ตัวเองไปถึงตรงจุดนั้นแน่นอน แต่ถ้าหลังจากนั้นก็คือไม่รู้นะ (หัวเราะ) เพราะว่าคุณพ่อเป็นคนสอนฮิโรโกะ ถ้าเราอยากไปจริงๆ ก็มุ่งไปเลย แม้ว่าจะมีคนไม่เห็นด้วยก็ตาม แต่คนส่วนใหญ่ก็มักจะเชื่อฟังพ่อแม่ใช่ไหมคะ อันนี้ก็เข้าใจ ก็ถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่ตัวเองอยากทำจริงๆ ก็อย่าท้อ อย่าทิ้ง และทำด้วยดีกว่าค่ะ

 

Q. สิ่งที่ชอบในประเทศไทยที่สุดคืออะไร   

(ใช้เวลาคิด) ผู้คนค่ะ ตอนที่มาเมืองไทยครั้งที่สาม มาอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งคนกรุงใจร้ายก็มีเยอะเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ไม่ต่างจากโตเกียวหรอก แต่หากจะให้เปรียบเทียบก็ยังดีกว่าค่ะ มีความสัมพันธ์มากกว่า เห็นอกเห็นใจกัน ดูแลกันมากกว่า

 

Q. แล้วข้อเสียของคนไทยที่รับจากคนญี่ปุ่นมาปรับปรุงได้มีอะไรบ้าง

คนญี่ปุ่นมักจะคิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ เขาจะคิดมากว่าตัวเองจะถูกมองยังไง อันนี้ก็เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่คนเขาก็คิดอย่างนี้ เช่น สมมุติว่ามีคนยืมกรรไกร จังหวะที่หยิบกรรไกรส่งให้ เขาจะยื่นด้านที่ไม่มีคมมาให้ มีดก็เช่นกัน หรือตอนปอกเปลือก คนไทยปอกจากฝั่งตัวเขาเองออกไปข้างนอก แต่คนญี่ปุ่นปอกเข้าหาตัวเอง ตอนขึ้นลงรถไฟก็ลงให้คนข้างในออกมาก่อนแล้วจึงจะเข้าไปใหม่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าไม่นึกถึงคนอื่นก็จะไม่ทำอย่างนั้นใช่ไหม แต่อันนี้ก็ใช้ได้กับหลายเรื่องมาก ซึ่งบางทีมันก็มากไป ตึงเครียดเกินไป เราก็เลยคิดว่า เอานิสัยคนญี่ปุ่นมาบวกกันกับนิสัยคนไทยแล้วมาหารสองน่าจะลงตัวดี (หัวเราะ)

 

Q. มีจังหวัดไหนในเมืองไทยที่ยังอยากไปอยู่บ้าง

ฮิโรโกะชอบอยู่เชียงใหม่ ชอบอยู่ต่างจังหวัดด้วย แต่ก็อยู่ตลอดไปไม่ได้หรอก เพราะเราชอบทำงาน งานส่วนใหญ่จะอยู่ที่กรุงเทพฯ ถ้ามีเวลาว่างฮิโรโกะจะเครียด คิดมาก ต้องหาอะไรทำตลอดเวลา ทำตัวเองให้ยุ่งอยู่ตลอดเวลาเพื่อไม่ให้คิดมาก

 

Q. คิดว่าการอยู่ต่างจังหวัดทำให้รู้สึกว่างตลอดเวลางั้นหรือ

ใช่ ซึ่งบางทีมันก็อาจจะนานไป สามสี่วันน่าจะพอแล้ว มากกว่านั้นอาจจะไม่เวิร์ก

 

 

Q. แล้วมีจังหวัดไหนในญี่ปุ่นที่อยากแนะนำบ้าง

ฮิโรโกะได้มีโอกาสเป็นพิธีกรรายการอาทิตย์อุทัย The Journey ทางช่องสาม HD (ดูย้อนหลังได้ทาง Line TV และ Youtube หรือ เว็บไซต์ช่อง 3 ค่ะ) คอนเซ็ปต์ของรายการคือตามรอยพระบาทในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง ซึ่งเราก็จะไปตามรอยพระองค์ท่านไปยังที่ต่างๆ ที่ท่านเคยไป ลักษณะของรายการเป็นการตามรอยโครงการหลวงในหลายๆ ที่ที่นำเทคโนโลยีต่างๆ จากญี่ปุ่นนำกลับมาใช้ในเมืองไทย จึงพูดถึงเทคโนโลยีที่ใช้ร่วมกันของทั้งสองประเทศสถานที่ที่ประทับใจอยู่ที่จังหวัดวาคายาม่า (Wakayama) จังหวัดนั้นค่อนข้างไปลำบากนิดหนึ่ง ที่ที่เราไปคือคุมาโนะโคโดะ (KumanoKodo) เป็นเส้นทางแสวงบุญและยังเป็นมรดกโลกด้วย สวยและน่าประทับใจมากค่ะ

 

Q. ถือเป็นโชคดีในการทำงาน

ใช่ โชคดีมากจริงๆ ที่ได้ทำรายการเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9

 

Q. ทำให้เรารู้จักท่านมากขึ้นใช่ไหม

ใช่ ตอนนี้ฮิโรโกะรู้จักและจำคำราชาศัพท์ได้แม่นมาก เคารพนับถือท่านมากขึ้น ฮิโรโกะเป็นคนที่ชอบทำงานอาสาสมัครมากอยู่แล้ว ตอนนี้ก็ยังทำอยู่ ไปตามชุมชน สลัม หรือว่าไปแจกของที่โรงเรียนผู้พิการบ้างบางวันที่ว่าง ฮิโรโกะชอบไปเก็บขยะตามที่ต่างๆ เช่น สนามหลวง ถนนสุขุมวิท ก็ใส่ถุงมือ เตรียมถุงดำไป เดินเก็บไปเรื่อยๆ ได้ขยะถุงเบ้อเริ่ม ราวๆ 4ชั่วโมง ทำหลายครั้งจนชินค่ะ

 

Q. จริงๆ แล้ว แพชชั่นคืองานเพื่อสังคมใช่ไหม

เคยสำรวจตัวเองเหมือนกันว่าทำไมถึงชอบงานอาสาสมัคร แล้วก็พบว่าเพราะฮิโรโกะเป็นคนที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง จึงพยายามทำทุกอย่างที่ทำให้ตัวเองรู้สึกดีมากขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็ฟังดูเห็นแก่ตัวไปหน่อย เคยมีพี่ที่รู้จักคนหนึ่งบอกว่า “งานอาสาสมัครเนี่ย มันเห็นแก่ตัวมากๆ เลยนะ” ตอนนั้นฮิโรโกะไม่เข้าใจหรอก แต่ทุกวันนี้เริ่มเข้าใจแล้วว่า งานอาสาสมัครคืองานที่เราต้องการจะทำใช่ไหม มันเป็นความต้องการของเราฝ่ายเดียว ซึ่งถ้าอีกฝ่ายหนึ่งไม่ได้ประโยชน์จากเรา มันก็จะกลายเป็นเราทำเพื่อตัวเองล้วนๆ เข้าใจใช่ไหมคะ (หัวเราะ)

 

Q. มองเป้าหมายการทำงานในอนาคตที่เราอยากใช้พลังทำให้เกิดขึ้นอย่างไรบ้าง

อยากเป็นทูตระหว่างสองประเทศนี้ค่ะ ก็คือทำให้คนไทยรู้จักประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ทั้งสองประเทศมีจุดเด่นของตัวเองอยู่แล้ว ความสัมพันธ์ที่ดีก็แน่นแฟ้นมาอย่างยาวนาน ก็อยากให้สายสัมพันธ์นี้ยั่งยืนตลอดไป ฮิโรโกะเองแม้จะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ แต่ก็อยากมีส่วนในการเป็นเสมือนทูตวัฒนธรรมของทั้ง 2 ประเทศค่ะ

 

Q. ถ้าได้เป็นทูตก็คงเป็นงานที่เหมาะสมทีเดียว

ถ้าสักวันมีโอกาส ก็จะถือเป็นเกียรติสูงสุดในชีวิตค่ะ

 

_

ติดตามผลงานได้ทาง

Facebook: Hiroko Yamagishi / Hiroko Yamagishi-山岸浩子 (HirokoThailand)
Instagram: HirokoThailand
Twitter: HirokoThailand
Youtube: Hiroko Yamagishi ฮิโรโกะคนญี่ปุ่นหัวใจไทย山岸浩子

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ