“A good photograph is knowing where to stand.”

แอนเซล อดัมส์ (Ansel Adams) ปรมาจารย์ด้านการถ่ายภาพขาวดำชาวอเมริกันเคยกล่าวไว้เช่นนี้ ถ้าใครเคยติดตามผลงานของเขามาบ้างจะจำได้ทันทีว่า แอนเซล อดัมส์ เชี่ยวชาญการถ่ายภาพทิวทัศน์ (Landscape) เป็นพิเศษ​ เขาออกเดินทางและถ่ายภาพสถานที่ต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งอุทยานแห่งชาติในอเมริกาเองด้วย ภาพขาวดำของ แอนเซล อดัมส์ ทั้งสวยงาม มีโทนขาวดำครบถ้วนและมีองค์ประกอบที่ยอดเยี่ยม

แอนเซล อดัมส์ บอกว่าภาพถ่ายที่ดีคือการที่ช่างภาพรู้ชัดว่าตัวเองควรยืนตรงไหน เพราะจุดที่เรายืนอยู่จะมีผลกับมุมมองของภาพเป็นอย่างมากสิ่งที่ครูทางการถ่ายภาพผู้นี้สั่งสอนไว้ ทำให้ฉันนึกถึงสถานที่ที่มีบรรยากาศงดงามแห่งหนึ่งในจังหวัดคางาวะ (Kagawa) นั่นคือ สวนริทสึริน (Ritsurin Garden) สวนสวย 1 ใน 6 ที่ถูกยกให้เป็นมรดกของประเทศญี่ปุ่น

 

 

ริทสึรินเป็นสวนสวยขนาดใหญ่กลางใจเมืองทากามัตสึ (Takamatsu) ที่บอกว่ากลางใจเมืองนี่คือเดินทางสะดวกมากจริงๆ เพราะปอดของเมืองแห่งนี้อยู่ในพื้นที่ชุมชนเลย ถ้าบ้านใครอยู่ข้างสวนนี่คือชีวิตเหมือนมหาเศรษฐีมาก คือไม่รู้ทำบุญมาด้วยอะไร ถึงได้มีอากาศดีก้อนใหญ่ลอยตัวอยู่ใกล้บ้านขนาดนั้น! ด้วยพื้นที่กว่า 750,000 ตารางเมตร ทำให้คนที่ไปเยือนสวนแห่งนี้สามารถใช้เวลาอยู่ในสวนได้ถึงครึ่งค่อนวัน ภายในสวนจะมีเรือนชงชา ซึ่งเป็นเรือนโบราณของขุนนาง มีบึงน้ำกว้าง และมีเรือให้บริการล่องชิลๆ ชมวิวด้วย

กลางบึงน้ำขนาดใหญ่ จะมีสะพานไม้ทรงโค้งที่สร้างขึ้นโดยกรรมวิธีแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมหย่อนตัววางอยู่ เงาสะท้อนของสะพานเหนือผิวน้ำขับให้มิติของทิวทัศน์ดูน่าสนใจมากขึ้น ฉันสังเกตเห็นว่า ไม่ว่าใครที่มาเยือนที่นี่ก็ต้องเก็บภาพของสะพานไม้นี้ไว้ เสมือนว่าถ้าสวนริทสึรินเป็นนางเอก สะพานไม้นี้ก็คือพระเอกคู่ขวัญของสวนแห่งนี้

สิ่งพิเศษที่ฉันนึกถึงทีไรก็ยิ้มได้ทุกทีมีอยู่ว่าในสวนริทสึรินเขาได้จัด ‘จุดสำหรับยืนถ่ายภาพ’ เอาไว้ให้ด้วย ประมาณว่าถ้าใครอยากได้มุมที่สวยที่สุดของสวน ที่มีสะพานไม้เป็นพระเอก ก็ให้เดินขึ้นเนินไปตามทางที่เขาแนะนำไว้ พูดง่ายๆ ว่าใครไปยืนตรงนั้นถ่ายยังไงก็สวย!

ดูเหมือนจะจริง

ฉันเองก็ไปลองยืนตรงจุดนั้น และกดชัตเตอร์มากับเขาด้วย

ไม่ใช่แค่ฉันคนเดียวนะ ตรงจุดที่ว่านี้ยังมีใครต่อใครอีกหลายคนมายืนถ่ายภาพกันให้เพียบ (เป็นที่ยืนเล็กๆ ยืนได้ทีละคนสองคน) ถึงแม้ว่าการจัดองค์ประกอบในเฟรมภาพของแต่ละคนจะต่างกันอยู่บ้าง แต่ ณ จุดนี้ ทุกคนก็ได้ภาพที่น่าพอใจ เพราะได้ส่วนประกอบสวยๆ มาครบ ทั้งสะพาน บึงน้ำ เรือนชงชาด้านหลัง และภูเขาที่โอบล้อมอยู่โดยรอบ ภาพที่ฉันถ่ายมานี้เป็นภาพของริทสึรินในฤดูใบไม้ผลิ สีเขียวขจีก็เลยครอบครองพื้นที่ไปซะส่วนใหญ่ ไกด์อาสาสมัครประจำสวนบอกกับฉันว่า จริงๆ แล้วริทสึรินจะดูสวยงามแตกต่างกันไปตามแต่ละฤดูกาล ในฤดูใบไม้ร่วง ใบของต้นไม้โดยรอบจะเปลี่ยนเป็นสีส้ม ภาพที่เก็บบันทึกในช่วงนั้นก็จะสวยไปอีกแบบ

ฉันว่าจุดบนเนินสูงที่เหล่านักเดินทางต่างแวะมาสลับผลัดตัวเรียงแถวเข้ามายืนถ่ายภาพนี่น่าสนใจดีนะฉันแอบสนใจประเด็นนี้ มันทำให้ฉันนึกถึงคำพูดของ แอนเซล อดัมส์ สำหรับคนที่รักการถ่ายภาพวิวแล้ว จุดที่เรายืนอยู่ถือเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นของการได้มาซึ่งทัศนวิสัยที่ดีหรือไม่ดีเลยทีเดียว

ฉันเชื่อว่าเมื่อพูดถึง ‘จุดที่เรายืน’ สำหรับช่างภาพแล้ว มันคงไม่ใช่แค่พื้นที่ที่เรายืนเหยียบอยู่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงพื้นที่ในช่องมองภาพ และแนวคิดที่ตัวช่างภาพยืนหยัดรักษาไว้ด้วย เพราะก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จะยืนถ่ายจากบนเนินจุดเดียวกัน แต่ภาพผลลัพธ์ก็ไม่ได้ออกมาเหมือนกันทุกคน  เมื่อเรายกกล้องขึ้น สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่ากำลังถ่ายอะไรในนั้น และจุดมุ่งหมายในการถ่ายชอตนั้นคืออะไร

อย่างไรก็ตาม เราแต่ละคนคงมีวิธีคิดต่อการถ่ายภาพที่แตกต่างหลากหลาย …บ้างเพื่อผ่อนคลาย บ้างเพื่อสื่อสาร เพื่อฝึกฝน เพื่อส่งต่อความรู้สึก ฯลฯ สำหรับฉันแล้ว สิ่งที่ แอนเซล อดัมส์ สอนไว้นั้นเป็นมากกว่าเรื่องของการยืนที่ไหน เพราะมุมมอง (Perspective) และความนึกคิดในขณะที่กดชัตเตอร์ก็เป็นรายละเอียดที่สำคัญ ถ้าเรามีจุดยืนอยู่ในใจ ภาพของเราก็น่าจะถูกถ่ายทอดออกมาในมุมมองที่ชัดเจนที่สุด

หรืออย่างน้อยที่สุด ก็ชัดเจนพอให้เราเข้าใจตัวเองได้บ้าง

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ