เคยทำอาหารให้ใครซักคนรับประทานมั้ยคะ?

ทำทั้งๆ ที่คุณก็ทำไม่เก่ง แต่ก็ยังอยากพยายาม เพราะอยากให้เขาได้รับประทานอาหารดีๆ การทำอาหารแบบนี้มันต้องมีวัตถุดิบพิเศษนอกเหนือไปจากผักหญ้าที่เราโยนๆ ลงไปในกระทะว่ามั้ยคะ

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังเรื่องใหม่ออกฉายที่ญี่ปุ่นชื่อ パパのお弁当は世界一Papa no Obento wa Sekai Ichi น่าจะแปลเป็นไทยได้ว่า ข้าวกล่องที่พ่อทำให้มันคือที่หนึ่งในโลกเลย!’ เป็นเรื่องราวของคุณพ่อซาลารี่แมนชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง (โอทซึ โทคิคาซึ) ที่เลี้ยงลูกสาว (มิโดะริ) ด้วยตัวเอง ในวันที่มิโดะริเข้าโรงเรียนมัธยมปลาย พ่อบอกมิโดะริว่า จากนี้ไปจะทำข้าวกล่องให้ลูกเอาไปโรงเรียนเอง ปัญหามีอยู่นิดเดียวคือ พ่อเป็นหนึ่งในซาลารี่แมนญี่ปุ่นที่ไม่เคยจับกระทะมาก่อนในชีวิต!

จากข้าวกล่องหน้าตาดูไม่จืดในวันแรกที่ทำให้ลูกสาว เป็นข้าวกล่องที่พอเปิดออกมา เธอรีบเอาหลบเพื่อนแทบไม่ทัน แต่พ่อเธอก็ไม่ย่อท้อ อดทนตื่นแต่เช้ามืด พยายามเรียนรู้จากอินเทอร์เน็ต ลองผิดลองถูก (ทั้งๆที่งานประจำก็หนักหนาสาหัสอยู่แล้ว) จนเวลาผ่านไป 3 ปี พ่อคนที่จับกระทะแทบไม่เป็นในตอนแรก มีรูปข้าวกล่องที่ทำให้ลูกสาวถ่ายไว้รวม 400 กว่ารูปนอกจากใส่อาหารนู่นนิดนี่หน่อยลงไปแล้วพ่อของเธอก็มักจะใส่เมสเสจลงไปในข้าวกล่องด้วยบางทีก็เป็นข้อความที่เขียนด้วยลายมือในกระดาษแผ่นเล็กๆ บางทีก็ตัดสาหร่ายเป็นตัวคันจิที่มีความหมายให้กำลังใจมิโดะริ

ในวันสุดท้ายของการเรียน พ่อของเธอใส่รูปข้าวกล่องหน้าตาดูไม่จืดที่ตัวเองทำให้ลูกสาวในวันแรก พร้อมเขียนข้อความถึงเธอ มิโดะริโพสต์รูปข้าวกล่องนั้นลงในทวิตเตอร์ พร้อมแคปชั่นว่า 「パパのお弁当は世界一」ข้าวกล่องที่พ่อทำให้มันคือที่หนึ่งในโลกเลย!’ คือ คำขอบคุณจากลูกสาวในความใส่ใจและความทุ่มเทที่พ่อเทมาให้ในข้าวกล่องของเธอทุกวันจนล้นเป็นเวลา 3 ปี

 

ข้าวกล่องในวันสุดท้ายของชีวิต นร.มัธยมปลายที่พ่อทำให้มิโดะริ – ขอขอบคุณภาพจาก corobuzz.com
ขอขอบคุณภาพจาก corobuzz.com

โพสต์ข้าวกล่องที่พ่อทำให้กลายเป็นกระแสในทวิตเตอร์ และถูกสร้างเป็นหนังในชื่อเดียวกันในเวลาต่อมา ส่วนหนึ่งของความสนใจที่ได้รับอาจเป็นเพราะมันสะท้อนสภาวะสังคมปัจจุบัน ที่มีอัตราการหย่าร้างสูง มีพ่อหรือแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเองโดยลำพังมากมาย และถ้าหน้าที่นี้ต้องตกเป็นของคุณพ่อ ก็มีกระแสสังคม (โดยเฉพาะที่ญี่ปุ่น) รอบๆ ตัวที่กดดันกลายๆ ว่า งานดูแลบ้าน ทำอาหาร เป็นหน้าที่ของผู้หญิง กระแส パパ弁 (Papaben) ที่เกิดขึ้นนี้เป็นจุดเปลี่ยนใหญ่ที่ทำให้คุณพ่อซาลารี่แมนที่ทำข้าวกล่องให้ลูกเองหลายคนออกมายืดอกยอมรับ ไม่ต้องปิด ไม่ต้องอายกันอีกต่อไป

พูดถึงเบ็นโตะ’ (弁当) หรือข้าวกล่องสไตล์ญี่ปุ่น มันอาจเป็นหนึ่งในสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่าที่สุดของญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ คอนเซปต์ของเบ็นโตะก็คล้ายๆข้าวกล่องในบ้านเรา แต่ข้าวกล่องของเราเน้นแพ็กสะดวกกินง่าย ในขณะที่ข้าวกล่องของญี่ปุ่นจะเน้นให้มีส่วนผสมหลากหลาย ผักนิด เนื้อสัตว์หน่อยเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วน ขณะเดียวกันก็ต้องมีสีสันหน้าตาที่สวยงามด้วย ข้าวกล่องญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะทำเพื่อให้สามารถเปิดรับประทานได้ทันทีที่อุณหภูมิห้อง 

 

ขอขอบคุณภาพจาก http://mi-journey.jp/foodie

ในปัจจุบันเบ็นโตะของญี่ปุ่นพัฒนาไปไกล นอกจากเบ็นโตะที่ห่อไปเองจากบ้านแล้ว ก็จะมีเอะกิเบ็ง’ (駅弁) หรือเบ็นโตะที่ขายตามสถานีรถไฟสำหรับซื้อรับประทานเวลาเดินทาง (การเลือกเอะกิเบ็งเป็นกิจกรรมอันสนุกสนานอย่างหนึ่งของคนญี่ปุ่นก่อนจะขึ้นรถไฟ)

 

ขอขอบคุณภาพจาก livedoor.blogimg.jp

นอกจากนี้ยังมีเคียะระเบ็ง’ (キャラ弁) หรือเบ็นโตะที่ทำเป็นรูปตัวการ์ตูนคาแรคเตอร์ต่างๆ สำหรับเด็กเล็กเอาไปโรงเรียน

 

ขอขอบคุณภาพจาก rocketnews24.com

ไม่ว่าจะเป็นเบ็นโตะแบบไหน เราว่ามันสะท้อนถึงความใส่ใจของคนญี่ปุ่นในสิ่งที่ตัวเองเลือกกินให้แก่ร่างกายเข้าไป เราได้ยินคนพูดบ่อยๆว่า อยากมีผิวสวยแบบสาวญี่ปุ่น แข็งแรงแบบคนแก่ญี่ปุ่น กุญแจสำคัญอาจจะเริ่มจาก ข้าวกล่องเล็กๆ ที่เราเลือกเองว่าจะใส่วัตถุดิบอะไรลงไปทุกวันๆ ก็ได้

ย้อนกลับมาที่มิโดะริกับคุณพ่อของเธอ เราอดถามตัวเองดูไม่ได้ว่า ถ้าเป็นเราในสถานการณ์ที่คุณพ่อคนนี้เผชิญอยู่ เราจะทำเหมือนพ่อของเธอมั้ย? ในเมื่อมีทางเลือกอื่นๆ อีกหลายทาง เช่น อาจจะบอกมิโดะริว่า เป็นนักเรียนมัธยมปลายก็ค่อนข้างโตแล้ว ให้ลองหัดทำข้าวกล่องไปโรงเรียนเอง หรือไม่ก็ให้เงินลูกไปซื้ออาหารกลางวันกินเอง เพราะงานประจำของพ่อก็ยุ่งมากอยู่แล้ว ไหนจะทำกับข้าวไม่เป็นอีก เป็นต้น แต่พ่อของเธอก็ไม่พูด และเลือกที่จะตื่นเช้าอีกนิดและทำสิ่งที่หลายคนอาจคิดว่าไม่จำเป็น

แต่คิดอีกที การที่พ่อของเธอทำอาหารให้ลูกไปกินที่โรงเรียนเอง นอกจากจะเลือกอาหารที่มีคุณค่าได้แล้ว ยังทำให้ลูกสาวรู้สึกอบอุ่นใจว่า ถึงจะมีแต่พ่อคนเดียว ก็ดูแลลูกและทำหน้าที่ได้ไม่ขาดตกบกพร่อง และในชีวิตประจำวันที่ยุ่งๆของทั้งพ่อและลูก เบ็นโตะยังเป็นช่องทางการสื่อสารของครอบครัวที่มีกันอยู่สองคน ในการให้กำลังใจให้ฝ่าฟันแต่ละวันไปด้วยกัน บางทีเวลาเราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ที่ไม่คาดคิด การเลือกทางที่ต้องใช้ความพยายามมากกว่าทางเลือกอื่นอีกนิด อาจให้ผลตอบแทนในระยะยาวที่ลึกซึ้งและคุ้มค่ากว่าแค่ความสะดวกสบายในระยะสั้นๆก็ได้ คุณพ่อของมิโดะริทำให้เราตระหนักในความจริงข้อนี้

 

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ