Miyama Folklore Museum

ภาพจำของเมืองเกียวโตที่ผู้คนทั่วไปรับรู้คือเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยวัด มีวังเก่ารายเรียงอยู่ตามมุมต่างๆ ของเมืองให้ดูกันเต็มไปหมด แต่เมื่อคุณมาเที่ยวเกียวโตและมีเวลาสำรวจนานพอ การเดินทางออกไปชมส่วนชนบทที่อยู่นอกตัวเมืองก็สามารถสร้างประสบการณ์การมาเยือนให้แตกต่างจากรูปแบบเดิมๆ ได้ 

ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง ขึ้นไปทางตอนเหนือของเมืองเกียวโตราว 70 กิโลเมตร จะพบกับชนบทของเกียวโตที่มีธรรมชาติสวยงามคือ มิยามะ (Miyama) ที่นี่มีความเลื่องชื่อเรื่องอาหาร เมนูที่ต้องลองเมื่อมาเยือน คือไส้กรอกกวาง แต่วันนี้ต้องขอข้ามที่จะพูดถึงรสชาติของเมนูนี้ พาเดินเลาะลัดแม่น้ำมิยามะไปชมสถาปัตยกรรม พื้นถิ่นของเกียวโตกันบ้าง

เมืองชนบทมิยามะ (Miyama) มีพิพิธภัณฑ์ Miyama Folklore Museum

หมู่บ้านเล็กๆ ดูน่ารักที่วางตัวในหุบเขาขนานไปกับแม่น้ำมิยามะชื่อว่าหมู่บ้านคิตะ (Kita) ส่วนที่ชวนจดจำและเป็นจุดเด่นให้เข้ามาชมใกล้มากขึ้นคือกลุ่มบ้านหลังคาฟางที่ดูสะดุดตามากที่เรียกว่า Kitayama-Style Farm House ในหมู่บ้านนี้มีบ้าน 50 หลัง ซึ่งเป็นบ้านหลังคาฟางจำนวน 38 หลัง โดยมีอายุอยู่ในช่วง 150-200 ปี

เอกลักษณ์เฉพาะตัวของหลังคาแบบคิตายามะคือ ส่วนหลังคาที่มีลักษณะเป็นจั่วผสมปั้นหยาที่มี “ชิกิ” และ “ยุคิวะริ” วางทับส่วนสันหลังคา มีฟังก์ชันคือ ช่วยกันไม่ให้หิมะเกาะหลังคาจนหนักเกินโครงสร้างจะรับไหว พร้อมกันกับการสร้างเอกลักษณ์ในตัวมันเอง มองเผินๆ จะคล้ายกับเรือนชนกลุ่มน้อยในเอเชียที่มีเขาบนสันหลังคาหรือเรือนกาแลทางภาคเหนือของบ้านเรา แต่ต่างกันด้วยวัสดุและสภาพอากาศทำให้มีเอกลักษณ์ต่างกัน

Miyama Folklore Museum ในเกียวโต

บ้านหลายหลังยังคงมีการใช้งานอยู่จริงจึงไม่สามารถเข้าชมภายในได้ หากอยากชมภายในบ้านพร้อม รู้เรื่องราวอดีตของชาวนาในสังคมเกษตรกรรมของญี่ปุ่น ขอให้เดินลัดเลาะมายังในหมู่บ้าน ที่บริเวณกลางหมู่บ้านมีพิพิธภัณฑ์ที่บรรจุเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในหมู่บ้านนี้ที่ได้เอาข้าวของเครื่องใช้จากหมู่บ้านในละแวกเดียวกันคือ Miyama Folklore Museum ที่ใช้บ้านเก่าหลังหนึ่งในบ้านเก่าอายุ 200 ปี เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ตัวบ้านเคยถูกเพลิงไหม้ไปเมื่อปี ค.ศ. 2000 แล้วบูรณะขึ้นมาในเวลา 2 ปีต่อมา

ภายในตัวบ้านเก่าของพิพิธภัณฑ์ Miyama Folklore Museum ในเกียวโต

ส่วนของเรือนประกอบไปด้วยส่วนใช้สอยต่างๆ กันไป มีเรือนประธานและเรือนบริวารรายรอบ ส่วนเรือนหลักใช้รับแขกที่ชั้นล่างเป็นส่วนติดดิน มันมีฟังก์ชัน หลวมๆ ไม่ระบุการใช้สอยชัดเจนแบบเรือนตะวันออก มันประกอบไปด้วยพื้นที่ซักล้าง เตาไฟ ห้องเก็บของ และยังใช้พักผ่อนด้วยเช่นกัน เพียงแต่ใช้ในต่างเวลาเท่านั้น ห้องอื่นๆ ประกอบไปด้วยห้องนอน พื้นที่เลี้ยงสัตว์ในบ้านที่คนและสัตว์เลี้ยงอยู่ร่วมชายคากัน ในห้องอาบน้ำมีถังอาบน้ำทำจากไม้วางปลายห้อง พื้นเป็นไผ่วางเรียงเว้นร่อง ช่วยให้น้ำที่อาบไหลลงสู่พื้นดินด้านล่างไหลออกสู่พื้นที่ลาดต่ำกว่า ชั้นบนเป็นห้องใต้หลังคาทรงสูงใต้แผงฟางซึ่งเป็นพื้นที่ เก็บของไปในตัว การเข้ามาชมยังส่วนนี้ทำให้เห็นลักษณะโครงสร้างของหลังคาเรือนได้ชัดเจน ซึ่งมีระบบการก่อสร้างต่างไปจากระบบของวัดวังในเมืองเป็นผลมาจากวัสดุที่ใช้นั่นเอง ส่วนเรือนที่รายรอบเป็นเรือนบริวาร ซึ่งเป็นเรือนโรงนาสำหรับเก็บอุปกรณ์ทำการเกษตร งานไม้ และเรือนเก็บเมล็ดพันธ์ุ 

เมื่อชมจนครบทุกส่วน ทุกการใช้สอยก็ชวนให้เห็นถึงสภาพความเป็นอยู่ของสังคมชาวนาญี่ปุ่นในอดีตได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ในสายตาของสถาปนิกคนหนึ่ง ผมเห็นการวางส่วนใช้สอยที่มาจากวิถีชีวิตแบบเกษตรกรที่แตกต่างจากเรือนคนเมือง อย่างการอนุญาตให้มีส่วนเลี้ยงสัตว์ในเรือนร่วมกับคนได้ ซึ่งแสดงถึงความใกล้ชิดของคนกับธรรมชาติ  และสะท้อนถึงสภาพอากาศที่หนาวหลายเดือนต่อปีเป็นอย่างดี ต่างกับเรือนไทยที่จะมีส่วนนี้แยกออกไป หรืออยู่พื้นที่ใต้ถุนเรือน

 

ส่วนที่น่าสนใจที่ควรมาชมคือการซ้อมดับเพลิงของหมู่บ้านคิตะ ที่ทางการออกแบบให้ตู้พ่นน้ำเป็นบ้านไม้หลังเล็กสีดำรูปทรงเดียวกับบ้านในหมู่บ้านคิตะ เมื่อจะดับเพลิงหลังคาก็จะเปิดออก แล้วทำการพ่นน้ำออกมาดับเพลิง ซึ่งวันที่ทำการซ้อมดับเพลิงจะทำการซ้อม 2 ครั้งต่อปีในช่วงเดือนพฤษภาคมและธันวาคม ปัจจุบันกลายเป็นอีกเทศกาล ท่องเที่ยวของมิยามะ หากสนใจมาชมลองตรวจสอบปฏิทินซ้อมดับเพลิงทางเว็บไซต์ของเทศบาล แล้วการชมการซ้อมดับเพลิงจะไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป

Info
Hours: เม.ย.-พ.ย. 9:00-17:00 น., ธ.ค.-มี.ค. 10:00-16:00 น.
Entrance Fee: 300 เยน
Website: kayabukinosato.com

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ