ทุกๆ ครั้งที่เห็นมาสคอตน่ารักๆ จากญี่ปุ่น มักเกิดคำถามขึ้นในใจเสมอว่า ทำไมในบ้านเราจึงไม่มีตัวมาสคอตที่น่ารักเข้าขั้นกุมหัวใจคนไทยทั้งหลายที่พร้อมจะควักกระเป๋าจ่ายเพื่อครอบครองความน่ารักพวกนี้ได้สักที

 


Kumamon มาสคอตประจำจังหวัดคุมาโมโตะ ที่มาภาพ: knowyourmeme.com

 

ในความเป็นจริงนั้นมีหลายๆ องค์กรในบ้านเราที่พยายามจะทำ หรือพยายามออกแบบมาสคอตให้คนไทยรัก แต่ปัญหาอะไรที่ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จกับเขาสักที สาเหตุทั้งหลายจะเกิดจากอะไรนั้น เราลองมาเดากันดูเล่นๆ ว่าถ้าวันหนึ่งเราจะมีตัวมาสคอตที่น่ารักน่ากอดสักตัวนั้น องค์กรหรือบริษัทต่างๆ ควรต้องเปลี่ยนวิธีคิดและทำกันอย่างไร

  1. ลองเชื่อในศักยภาพและพลังในการออกแบบของนักออกแบบ นั่นคือลองปล่อยให้นักออกแบบทำงานในโจทย์อย่างอิสระกับบรีฟที่ไม่ซับซ้อน ไม่ยัดเยียดหรือพยายามที่จะสอดแทรกความหมายในการออกแบบให้มากเกินไปจนรกรุงรัง
  2. ลองไม่ตัดสินใจเลือกหรือแก้ไขตัวมาสคอตตามความคิดเห็นของทีมผู้บริหาร เพราะกลุ่มคนเหล่านี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวความจริงก็คือ ทุกท่านเป็นผู้บริหารที่วันๆ ทำแต่งานไม่ค่อยมีเวลามาสัมผัสโลกภายนอก โลกของความเป็นจริง หรือโลกในโซเชียลมากนัก จากประสบการณ์ที่ผ่านมาจากหลายองค์กร น่าจะพิสูจน์ได้แล้วว่าไม่เคยมีตัวมาสคอตที่น่ารักหรือน่าสนใจเลยแม้แต่ตัวเดียวจากทุกองค์กรในประเทศนี้ที่มาจากการตัดสินใจของผู้บริหาร ฉะนั้นลองเลิกทำอะไรในแบบเดิมๆ ดูบ้างน่าจะดี
  3. ลองลบความคิดที่ว่า “การ์ตูน ตัวมาสคอตหรือความน่ารักนั้นเป็นเรื่องของเด็กๆ เท่านั้น”  ลบประโยคนี้ออกไปจากหัวให้ได้แล้วลองคิดใหม่ว่า ความน่ารักสดใสของลายเส้นนั้นเป็นเรื่องของคนทุกวัย ไม่มีใครไม่ต้องการรอยยิ้ม ไม่มีใครปฎิเสธความน่ารักสดใส
  4. ลองลบความคิดสำเร็จรูปที่คิดแต่จะจัดประกวดการออกแบบมาสคอต (หรือโลโก้ด้วย หึหึ) และเข้าสู่สูตรสำเร็จเดิมๆ นั่นคือตัดสินผลงานโดยทีมผู้บริหารและกรรมการรับเชิญทั้งหลายที่พร้อมจะตัดสินผลงานเพื่อเอาใจผู้บริหาร ล้มเลิกและลืมมันไปให้ได้ เพราะการประกวดก็คือการแข่งกันตอบโจทย์ แข่งกันใส่ความหมายให้ถูกใจบรรดากรรมการทั้งนั้น มักไม่ค่อยคำนึงถึงความรู้สึกของการมองเห็นในแง่ความน่ารักน่ามอง สุดท้ายก็ได้อะไรที่ไม่น่ามองมาหนึ่งผลงาน และไม่มีใครสนใจ
  5. องค์กรที่มีศักยภาพในการสร้างมาสคอตเป็นของตนเองนั้นควรเปิดใจหรือใช้หัวใจในการทำงาน ลองเลิกใช้หลักการและเหตุผลลงไปเสียบ้าง ท่องในใจว่าเรากำลังหาตัวมาสคอตที่มีเสน่ห์ น่ารัก น่ากอด เป็นที่รักของคนหมู่มาก ไม่ใช่การชิงแชมป์ในการสื่อความหมายเชิงปรัชญาขององค์กรผ่านงานออกแบบ
  6. เห็นความสำคัญของการครองใจผู้บริโภคในแบบที่นุ่มนวล นั่นคือการครอบครองใจที่มาจากข้างในเพราะจะเป็นการครองใจที่ยาวนานและได้ความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์ของคุณในขั้นสูง
  7. คิดให้น้อยลง รู้สึกให้มากขึ้น และในที่สุดมาสคอตของคุณก็จะกลายเป็นตัวแทนขององค์กรที่จะไปโลดแล่นในดินแดนแห่งความรู้สึกผู้บริโภคนั้นๆ ไปตลอดกาล

และในโอกาสที่ตอนนี้ยังไม่มีใครที่คิดจะครอบครองใจผู้บริโภคด้วยความน่ารัก ความยียวน ด้วยตัวมาสคอตอย่างจริงจัง พื้นที่ตรงนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ว่างกว้างขวางที่ยังไม่มีใครกระโดดลงมาเล่น และถ้ามีองค์กรใดสนในที่จะกระโดดลงมาจัดการอย่างจริงจังก็อย่าลืมอ่าน 7 ข้อที่กล่าวมาประกอบการทำงานด้วยก็น่าจะดี ในที่สุดเราก็คงจะมีตัวมาสคอตที่น่ารักเป็นของเรากันสักที และเชื่อว่าคนไทยหลายล้าน

คนก็รอคอยวันนั้นหรือมาสคอตตัวนั้นอยู่เช่นเดียวกัน จริงมั้ย?  :-.)

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ