จงใส่ 5 ประโยค 1 ภาพ และ 1 โลโก้ ในพื้นที่ 10 X 7 cm. ให้สวยงาม น่าจับต้อง
ญี่ปุ่นน่าจะขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีเครื่องดื่มสารพัดรส สารพัดรูปแบบให้ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้เลือกมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว เมื่อเป็นเช่นนั้นการออกแบบฉลากและการออกแบบขวดย่อมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในตลาดที่ดุเดือดในแง่ของการแข่งขัน รองลงมาจากการขายรสชาติข้างใน เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ผู้บริโภคสามารถซื้อเครื่องดื่มได้ในแทบทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะการซื้อผ่านตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายมากที่สุดในโลก และเพื่อเป็นการแย่งชิงสายตาลูกค้าที่ปรายตามองขณะเปิดตู้แช่ในร้านสะดวกซื้อ หรือสายตาที่จับจ้องไปที่ตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติให้สะดุดตาเพื่อจ่ายเงินซื้อ นั่นหมายถึงว่าต้องมีการลงทุนและการทำการบ้านอย่างหนักหน่วง เพื่อการออกแบบฉลากและขวดอย่างแน่นอน
คิริน ถือเป็นค่ายเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ค่ายหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบฉลากและขวดอย่างเสมอมา และเมื่อถึงยามที่ลมหนาวพัดผ่านพ้นไป ญี่ปุ่นก็ย่างเข้าสู่อากาศอันอบอุ่นสบายๆ และเมื่อนั้นก็ถึงวันเวลาแห่งการประกาศสงครามของเครื่องดื่มที่เป็นพระเอกของหน้าร้อนอย่างประเภทผสมโซดา เพื่อการดับกระหายอย่างสดชื่นให้แก่ชาวอาทิตย์อุทัยเข้ามาในสนามประลองแย่งชิงลูกค้ากัน และแน่นอนที่สุดพระเอกในปีนี้ที่ทางคิรินส่งลงสนามสำหรับร้อนนี้ก็คือ ‘คิรินเลมอน’ ที่น่าสนใจก็คือการออกแบบของฉลาก ในปีนี้ทำออกมาได้โดดเด่น สดใหม่ น่าหยิบ น่าลิ้มลองยิ่งนัก
วันนี้เรามาสังเกตการออกแบบและจัดวางของฉลากคิรินเลมอนกัน เท่าที่ลองนับดูด้วยสายตา มีประโยคและโลโก้ที่ต้องจัดวางลงบนฉลากทั้งหมดดังนี้
- รูปมะนาว (Lemon สีเหลืองสดใส)
- รูปฟองอากาศ (เพื่อบอกว่าเป็นเครื่องดื่มประเภทโซดา)
- 90TH ANNIVERSARY (การครบรอบ 90 ปี ที่น่าจะเป็นไฟท์บังคับของการบรีฟจากลูกค้า)
- KIRIN LOGO (อันนี้เป็นหัวใจสำคัญดวงหนึ่งที่ต้องโดดเด่นเป็นสง่า)
- KIRIN LEMON (อันนี้คือหัวใจของจริง)
- SUPERIOR QUALITY AND HONEST CRAFTMANSHIP SINCE 1928. (คำบรรยายที่ต้องมี)
- 瀬戸内レモンと天然水のさわやかな味わい (สำหรับคนญี่ปุ่นโดยเฉพาะ)
- KIRIN BEVERAGE (บอกว่าเป็นของใครอีกครั้ง นี่ก็อาจเป็นไฟท์บังคับในบรีฟว่าต้องมี)
ในฐานะที่เป็นนักออกแบบยอมรับว่ามีการจัดวางที่ดีมาก นั่นคือในแวบแรกที่เห็นเราเข้าใจทันทีว่าเป็นน้ำมะนาว เพราะรูปร่างของลูกมะนาวสีเหลืองทำงานพร้อมกับคำว่า KIRIN LEMON ได้ในทันทีที่มองเห็นและลงตัว ส่วนการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในชื่อของสินค้าก็เป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะคำว่า LEMON เป็นภาษาอังกฤษที่ง่ายต่อการอ่านและความเข้าใจของคนญี่ปุ่น (แต่อย่างไรก็ตามมีการใส่อักษรคาตากานะที่อ่านว่า คิริน เลมอน ไว้ที่คอขวดอีกครั้ง) หลังจากการทำงานของลูกมะนาวและชื่อสินค้า การทำงานต่อมาคือการมองเห็นโลโก้คิรินที่ใหญ่และเด่นมากอยู่บนสุด พร้อมตัวหนังสือการครบรอบ 90 ปี แค่ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็สามารถบอกใจความสำคัญที่คนอยากรู้ได้หมดแล้ว
ฉะนั้นที่เหลือตามมาทั้งหมดคือส่วนประกอบที่ต้องลดบทบาทตนเองให้เป็นแค่ตัวประกอบนี่คือหลักการง่ายๆของการทำงานกันเป็นทีมของการลำดับการใช้เสียงในการออกแบบที่ดี นั่นคือการออกแบบความสำคัญของสารก่อนที่จะลงมือออกแบบในแง่ของการจัดวาง ต้องเข้าใจว่าอะไรสำคัญที่สุดอะไรสำคัญรองลงมาจนถึงสำคัญน้อยที่สุด นี่คือรสนิยมในการออกแบบที่เป็นตัวอย่างที่ดีเคสหนึ่งเลยทีเดียว ในฐานะที่เคยลิ้มรสมาแล้วบอกได้คำเดียวว่าแค่ถือขวดก็รู้สึกดี เพราะขวดจริงสวยมากจนน่าสะสม พิมพ์ออกมาได้ดีมาก และที่สำคัญคือรสชาติสดชื่นมากเช่นกัน นี่คือความพิถีพิถันในการออกแบบเพื่อสายตาผู้บริโภค หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็นการให้เกียรติรสนิยมของผู้บริโภคที่ดีและน่าเอาเป็นตัวอย่างที่สุด เพื่อความสวยงามของการออกแบบฉลากเครื่องดื่มในบ้านเรา :-.)