ฟังก์ชันความดีงามของแพ็กเกจจิ้งญี่ปุ่น (ไม่ได้มีดีแค่สวย)
สารบัญ
น้อยคนที่จะปฏิเสธความสวยงามของ ‘แพ็กเกจจิ้งญี่ปุ่น’ (Packaging) ที่ชวนให้เราควักเงินซื้อโดยที่บางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าข้างในจริงๆ แล้วมันคืออะไร แต่ขึ้นชื่อว่า แพ็กเกจจิ้งญี่ปุ่น ก็ไม่ได้มีดีแค่สวย แต่รวยฟังก์ชัน (Function) การใช้งานจริงด้วย
เห็นอะไรในกล่องนี้เอ่ย? ไปดูเฉลยข้างใต้กันเลย
เราขอนำเสนอ แพ็กเกจจิ้งญี่ปุ่น ในชีวิตประจำวันที่หาซื้อและพบเจอได้ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เป็นความง่ายๆ บ้านๆ แต่กลับซ่อนฟังก์ชันการใช้งานที่น่าสนใจไม่น้อย
01 ฝาถ้วยโยเกิร์ตที่โยเกิร์ตไม่ติดฝา
ที่มาภาพ – bit.ly/2WIRB9x
บอกลาปัญหาโลกแตกซะทีเวลาเปิดฝาถ้วยโยเกิร์ตแล้ว ‘โยเกิร์ตชอบติดฝา’ (ซึ่งเราก็มักเอาลิ้นเลียเพื่อความคุ้มไม่ให้เสียของ ฮ่าๆ) ญี่ปุ่นก็เคยเจอปัญหาแบบนี้ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันหลายแบรนด์ เช่น Meiji หรือ Morinaga ได้ใช้วัสดุพิเศษ กับตัวฝา ทำให้เปิดมาแล้ว โยเกิร์ตไม่ติดฝาเลย บ้างแค่ติดหนืดๆ นิดหน่อย แล้วไม่กี่วินาทีโยเกิร์ตก็จะค่อยๆ ไหลลงไป คนซื้อก็ไม่ต้องเลียฝาให้ดูไม่งามอีกต่อไป
ฉีกเปิดมาแล้ว โยเกิร์ตไม่มีติดเลย ที่มาภาพ – bit.ly/2XovKBj
02 ซอสคู่ 2 In 1 ในคราวเดียว
ภาพ: bit.ly/2EPh9I4
นี่คือการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะแพ็กเกจจิ้งออกแบบมาให้ ‘บีบทีเดียวออกพร้อมกัน 2 ซอส’ สะดวกมากๆ ใช้แค่มือเดียวก็สามารถเปิดได้แล้ว แพ็กเกจแบบนี้มักจะเป็นซอสที่กินคู่กัน เช่น ซอสมะเขือเทศกับมัสตาร์ด หรือ เนยกับแยม เป็นต้น
เวลาซื้อของกินตามฟาสต์ฟู้ด เช่น KFC ก็สามารถพบเจอได้เหมือนกันครับ ตัวซอสมีรูปภาพประกอบในการเปิด บีบเบาๆ ก็ออกแล้วง่ายมาก
03 ถุงซอสที่ฉีกตรงไหนก็ได้
ภาพ: bit.ly/2MrzIIy
เคยไหมครับ เวลาจะฉีกถุงซอส เช่น ผงชูรส, โชยุ, วาซาบิ ฯลฯ จะต้องเล็งหาตำแหน่ง ‘รอยแหว่ง’ แหลมๆ ถ้าไม่ได้ฉีกจุดนี้ก็จะ…ฉีกไม่ออก! บิดออกแรงเท่าไรสุดท้ายก็ไม่ออกอยู่ดี ฮ่าๆ
แต่ที่ญี่ปุ่นจะมีแพ็กเกจบางตัวที่สามารถ ‘ฉีกตรงไหนก็ได้’ โดยไม่ต้องเล็งหารอยแหว่ง เพราะพลาสติกตัวหุ้มเบาบางเป็นแบบฉีกได้ง่ายนั่นเอง ซึ่งแพ็กเกจแบบนี้มักจะมีลูกศรและคำญี่ปุ่นบอกกำกับไว้
04 กล่องที่พับแล้วมีคำว่า ‘ขอบคุณ’
ภาพ: bit.ly/2IFRq4H
สำหรับผลิตภัณฑ์พวกกล่องเครื่องดื่มทั้งหลาย เช่น กล่องนม, น้ำผลไม้ หลากหลายแบรนด์ เช่น Kagome, Itoen, หรือ MUJI เวลากินเสร็จแล้วพับด้านข้างขึ้นให้แบนราบ จะพบคำญี่ปุ่นที่เขียนทำนองว่า ‘ขอบคุณที่พับกล่อง’ เป็นกิมมิคความใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่ารักมาก
ภาพ: bit.ly/2IFRq4H
ส่วนข้อสงสัยที่ว่าแล้วทำไมต้องพับกล่อง เพราะที่ญี่ปุ่นเวลากินอะไรเสร็จก่อนทิ้งมักจะ ‘พับ’ ผลิตภัณฑ์นั้นๆ (ถ้าพับได้) เพื่อ ‘ประหยัดเนื้อที่’ ในถังขยะนั่นเอง
ภาพ: bit.ly/2IFRq4H
05 ฝาปิดถ้วยกาแฟร้อนแบบลงล็อค
เวลาสั่งเครื่องดื่มร้อนในญี่ปุ่น เช่น ลาเต้ร้อน, ช็อกโกแลตร้อน และขอถ้วยแบบ Take Away จะมีมาตรฐานเรื่อง ‘ฝาปิด’ อย่างหนึ่งคือจะมีช่องขนาดพอดีให้ฝาเปิดที่นูนๆ ปิดลงล็อคไปได้ เวลาจะดื่มก็ปิดลงล็อค ถ้ายังไม่ดื่มก็กลับปิดฝาได้ปกติ เพราะถ้าไม่มีจุดนี้ เวลากินฝาเปิดนูนๆ มักจะชนขอบปากรู้สึกรำคาญได้
เปรียบเทียบแบบไม่มีช่องฝาปิด เวลาดื่มฝาเปิดนูนๆ จะชนปากตลอด
06 ถ้วยกันความร้อน
ต่อจากข้อเมื่อกี้ เวลาสั่งเครื่องดื่มร้อนกลับบ้าน (เช่นจากแบรนด์ Cafe Danmark) นอกจากเรื่องฝาแล้ว ตัวถ้วยก็มักใช้วัสดุที่กันความร้อนได้ดีระดับหนึ่งเลย สามารถถือร้อนๆ ด้วยมือเปล่าได้นานพอสมควร ไม่ต้องคอยสลับเปลี่ยนมือหรือจับที่ใต้ก้นถ้วยแต่อย่างใด
07 หลอดแกะง่าย
บรรดาแพ็กเกจจิ้งเครื่องดื่มพร้อมดื่มในญี่ปุ่นจะมีติดหลอดมากับตัวข้างๆ เห็นแบบนี้แต่เราไม่ต้อง ‘ฉีก’ ดึงหลอดนั้นออกมานะครับ แต่ ‘กด’ ที่หัวด้านบนเบาๆ หลอดจะทะลุพลาสติกออกมาด้านล่างเลย และเพียงปรับดึงหลอดให้ยาวขึ้นพร้อมดื่มได้ทันที เศษพลาสติกก็ยังติดตัวถ้วยไม่ปลิวว่อนไปไหน หลอดก็สะอาดเอี่ยม แถมใช้แค่มือเดียวก็ยังได้! ถือว่าสะดวกใช้งานง่ายจริงๆ พบเจอได้ทั่วไปเลยครับ เช่น กาแฟพร้อมดื่มยี่ห้อ Mt.Rainier
08 ซิปล็อคปิดถุง
ของกินบางชนิดในซูเปอร์ญี่ปุ่น เช่น ถั่ว ของกินลักษณะนี้ผู้ผลิตรู้ดีว่าอาจไม่ได้กินหมดในคราวเดียว เลยทำเป็น ‘ซิป’ ปิดเพื่อกินเก็บไว้กินคราวต่อไปให้ซะเลย ไม่เฉพาะสำหรับของกินไซส์จัมโบ้ปาร์ตี้เท่านั้น แต่บางอันเล็กๆ อย่างถั่วในรูปก็ทำมาให้ด้วย จึงไม่ต้องกังวลเรื่องการเก็บรักษาและป้องกันอากาศไม่ให้เข้าไปทำลายรสชาติได้ดีระดับหนึ่ง
ฟังก์ชันแพ็กเกจจิ้งเหล่านี้บ้างเพิ่มต้นทุนการผลิตให้บริษัท บ้างก็ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร แต่ล้วนทำให้ลูกค้าผู้บริโภคสามารถหยิบใช้ได้สะดวก ในแง่หนึ่งมันคือประสบการณ์ (User Experience) การใช้สินค้าที่ดี แม้จะเป็นสินค้าท้องตลาดทั่วไป แต่ก็ยังได้รับการใส่ใจในรายละเอียด บางทีนี่อาจเป็นสิ่งสำคัญกว่าสินค้าพิเศษก็ได้ เพราะเราอยู่กับมันทุกวันใน ‘ชีวิตประจำวัน’ นั่นเอง