ก่อนอาทิตย์จะอุทัย
ก่อนอาทิตย์จะอุทัย
ย้อนกลับไปกลางเดือนกรกฎาคมเมื่อราว 3 ปีก่อน ฉันขยี้ตาลุกจากเตียงนอนกลางดึก เป็นการตื่นแบบไม่มีอรุณมารับและไม่มีข่าวในทีวีมารับอรุณ เวลาตี 3 ในฟุกุโอกะ เมืองหลวงแห่งเกาะคิวชู มืดตื๋อไม่ต่างจากเมืองใหญ่เมืองอื่นๆ บนโลก หากจะต่างไปก็เพียงในค่ำคืนนั้น ชาวเมืองฟุกุโอะกะดูจะคึกคักและตื่นเต้นเป็นพิเศษ เพราะในชั่วโมงถัดไปข้างหน้า พวกเขาจะได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมย้อนเวลากลับไปในอดีตอันไกลโพ้นเมื่อกว่า 700 ปีที่แล้ว
ที่นั่งบนอัฒจันทร์ในศาลเจ้าคูชิดะ (Kushida Shrine) ถูกจับจองอย่างรวดเร็ว ส่วนฉันก็กำลังเดินดุ่มๆ ไปกับกลุ่มเพื่อนชาวญี่ปุ่นที่สู้อุตส่าห์มารับถึงที่พัก เพื่อมุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าที่ว่า ยิ่งใกล้ถึงศาลเจ้าคนก็ยิ่งหนาแน่น ริมทางเดินข้างถนนแถวๆ ปากทางเข้าศาลเจ้ามีผู้คนยืนนั่งขวักไขว่ บางคนมาพร้อมเก้าอี้พับ บางคนพกพัดมาโบกรับลมนั่งปูเสื่อ ฉันกับเพื่อนเดินเลาะขึ้นไปถึงอัฒจันทร์ที่จองเก้าอี้เอาไว้ก่อนหน้า นั่งลงรอเวลา…
วันนั้นตรงกับวันที่ 15 กรกฎาคมในปฏิทินสากล สำหรับชาวฟุกุโอะกะช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ในทุกๆ ปี จะมีพิธีปิดเทศกาลฮาคาตะ กิออน ยามาคาซะ (Hakata Gion Yamakasa Festival) จัดขึ้นที่ลานโล่งตรงกลางศาลเจ้า ที่ใช้คำว่า ‘ปิดเทศกาล’ เพราะงานนี้เขาเริ่มจัดกันมาตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมเลย คือจะมีการแข่งขันขบวนแห่จาก 7 ทีมที่มาจาก 7 ชุมชน ในย่านฮากาตะ ฉันเองได้มาดูช่วงซ้อมแข่งไปครั้งหนึ่งเมื่อ 3-4 วันก่อนด้วย ตอนนั้นซ้อมแข่งกันช่วงบ่ายอากาศร้อนจี๊ด คล้ายกับว่า ดวงอาทิตย์ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งโรจน์ ได้ทำหน้าที่อย่างขยันขันแข็ง
นอกจากการแข่งขันกัน เทศกาลนี้ยังมีความน่าสนใจอยู่ที่เรื่องการออกแบบแท่นแห่ประเภทสวยงามคือรู้สึกตื่นตาตื่นใจมาก เพราะขนาดของแท่นแห่นั้นทั้งใหญ่แล้วก็สูง การออกแบบชิ้นงานที่มีน้ำหนักเป็นตันๆ และมีส่วนสูงเป็น 10 เมตร ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เลยนะ (แต่ถ้าเป็นแท่นสำหรับแข่งจะเตี้ยกว่าพอสมควร) สิ่งที่ชอบมากก็คือแท่นแห่ที่จัดแสดงไว้ตามตัวเมือง บางจุดจะถูกประดับด้วยตัวการ์ตูน ซึ่งการได้เห็นโดราเอมอนโนบิตะ ชิสุกะ ขึ้นไปโลดแล่นอยู่บนแท่นแห่ที่มีประวัติศาสตร์ตั้งต้นเมื่อ 700 กว่าปีที่แล้วอย่างลงตัว เป็นเรื่องน่าดีใจ
ความร่วมสมัยลงตัวเป็นเรื่องที่ทั้งสามัญธรรมดาและแสนพิเศษ ฉันรู้สึกนับถือชาวญี่ปุ่นตรงนี้ การที่ของโบราณจะอยู่อย่างกลมกลืนและเนียนแนบไปกับวิถีชีวิตปัจจุบัน นี่จะว่าง่ายก็อาจจะใช่ แต่จะว่าไม่ง่ายก็ใช่อีก เพราะถ้าทำออกมาได้ไม่ดีพอ นอกจากจะไม่กลืนแล้วยังน่าคายทิ้งด้วย (ฮี่ฮี่) จากที่สังเกตการณ์ ฉันรู้สึกว่าชาวญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่เก่งมาก เก่งในเรื่องการนำอดีตมาถักทอเข้ากับปัจจุบัน รวมทั้งสามารถเล่าเรื่องราวต่างๆ ในอดีตออกมาในรูปคำของภาษาสมัยใหม่
อดีตคือวันเวลาที่ล่วงไปแล้วก็จริง แต่มันไม่ได้หายไปไหน
การเฝ้ามองขบวนแห่ในเทศกาลฮาคาตะ กิออน ยามาคาซะ ทำให้ฉันรู้สึกว่าอดีตเป็นส่วนหนึ่งของปัจจุบันอยู่เสมอ มันทำให้ฉันรู้ซึ้งลึกลงไปว่า ช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิตมนุษย์ ไม่ได้มีเพียงตอนที่พระอาทิตย์ขึ้นเท่านั้น ชั่วโมงที่มืดสนิท และห้วงขณะก่อนฟ้าสางก็เป็นส่วนหนึ่งของทุกวันนี้ และเป็นส่วนที่เป็นรากฐานของอนาคตข้างหน้า การหมกมุ่นอยู่กับอดีตคงไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก แต่การไม่ละทิ้งอดีตดูจะเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย
. . .
ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นในเช้าวันที่ 15 กรกฎาคม ขบวนแห่ทั้ง 7 ทีม เตรียมตัวและเตรียมพร้อม เสียงโห่ร้องและจังหวะกลองดังกึกก้อง ผู้คนหญิงชาย เด็ก และคนชรามาอยู่รวมกัน ณ ที่แห่งนี้ พวกเขาส่งกำลังใจไปกองรวมไว้ตรงกลางลานโล่ง ปลายฟ้าสีน้ำเงินเข้มเริ่มแปรเป็นสีส้ม ดวงอาทิตย์ยังไม่มาให้เห็นแต่กำลังจะมาในไม่ช้า ขบวนแห่ทีมแรกออกวิ่งจากจุดสตาร์ทเข้ามาในลาน แท่นแห่ขนาดใหญ่ไม่มีล้อ ถูกรองรับด้วยท่อนแขนกำยำของกลุ่มผู้ชาย ดูเหมือนเสียงร้อง ‘โออิซะ โออิซะ’ จะช่วยเรียกพลังให้พวกเขาในระหว่างที่กำลังแบกแท่นแห่ได้เป็นอย่างดี เสียงปรบมือรอบๆ เป็นเสมือนเชื้อเพลิงที่ยิ่งโหมเพิ่มพลัง
กลุ่มชายฉกรรจ์ที่ทำหน้าที่แบกแท่นแห่ ทั้งต้องรับน้ำหนักที่หนักอึ้งไว้บนบ่า และต้องวิ่งด้วยความเร็วสูง นาฬิกาจับเวลาทำหน้าที่ควบคุมสถิติของแต่ละทีม สิ่งที่ฉันมองเห็นจากระยะไกลไม่ใช่แค่แท่นแห่สีสันสวยงามบนบ่าของพวกเขาเท่านั้น ดูเหมือนว่าเขาทั้งหลายกำลังเป็นตัวแทนของความหวังและความรับผิดชอบ สิ่งที่พวกเขาแบกรับไว้คือทั้งอดีตและปัจจุบัน เป็นอดีตในระยะหลายร้อยปีกับปัจจุบันในชั่วขณะนี้
บางทีมพาเด็กๆ มาร่วมวิ่งอยู่รอบขบวนด้วยกัน ฉันเห็นพวกเขากำลังวิ่ง วิ่ง วิ่ง และวิ่ง ทุกฝีก้าวมุ่งไปข้างหน้า เหมือนพวกเขากำลังมุ่งไปสู่อนาคต
ณ ขณะที่ทุกคนรวมใจ ในที่สุดพระอาทิตย์ก็มา
: )