สารบัญ

 

 

ภาพลักษณ์ภายนอก เธออาจดูสงบ สง่า และเป็นที่เคารพนับถือ สมกับตำแหน่งอาจารย์ประจำภาควิชา
การตลาดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่อีกด้าน เธอยังเป็นไกด์
ผู้ชี้แนะ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้คนผ่านบทบาทวิทยากรได้อย่างน่านับถือ ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีอีกบทบาทหนึ่งที่(แฟนเพจ&แฟนหนังสือ) หลายคนต่างรู้จักเป็นอย่างดีคือ ผู้อยู่เบื้องหลังบทความต่างๆ ที่มีญี่ปุ่นเป็นพื้นหลัง ทั้งน่ารัก ชวนหัวเราะ อบอุ่น และให้กำลังใจ ซึ่งคุณสมบัติที่เราเกริ่นมาทั้งหมดนี้มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น “
ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ” หรือเกตุวดีแห่ง Marumura

เชื่อว่าหลายคนคงได้สัมผัสเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ ทั้งด้านการเรียน การใช้ชีวิต รวมถึงความเปลี่ยนแปลงในญี่ปุ่นจากอดีตจนถึงปัจจุบันผ่านนามปากกาเกตุวดีมาบ้างแล้ว ดังนั้น KIJI จึงอยากชวนคุณมารู้จักเธอผู้นี้ให้มากขึ้น โดยเล่าเรื่องราวผ่านมุมมองในอดีตสู่อนาคต จะละมุนเหมือนในบทความที่เราคุ้นเคยหรือไม่ ลองสัมผัสไปพร้อมๆ กันนะคะ

 

 

วัยเด็กแสนแก่นแก้ว : 

Q. ความแก่นในวัยเด็ก

เราเป็นลูกคนเดียว แถวบ้านจะไม่ค่อยมีเพื่อนๆ สมัยเด็ก ก็จะอยู่กับตัวเองค่อนข้างเยอะ ส่วนใหญ่จะจมอยู่กับกองหนังสือค่ะ พ่อแม่ไปทำงานทั้งคู่ก็เลยทิ้งให้เราอยู่บ้าน จำได้ว่าอยู่บ้านคนเดียวตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบเลย ส่วนนิสัยตอนประถมก็จะแก่นเหมือนกันนะ แกล้งเพื่อนผู้ชายถึงขนาดที่ว่าพ่อแม่เขามาดูหน้าเรา
ที่โรงเรียน จำไม่ได้ว่าแกล้งอย่างไร จำได้แค่ว่ามีอยู่วันหนึ่งพ่อแม่ของเด็กผู้ชายมาตามหาเราเลยค่ะ

แต่ต้องบอกว่าตอนนั้นเราจะมี 2 หน้านะคะ คือหน้าเรียบร้อย เรียนเก่ง แต่หน้าข้างหลังก็จะชวนเม้าท์ หรือว่าแก่น แกล้งเพื่อน เป็นเด็ก 2 บุคลิกค่ะ แต่พอตอนหลังๆ เราจะได้อยู่กับผู้ใหญ่มากขึ้น เรียบร้อยขึ้น ได้เป็นหัวหน้าห้องประจำแล้วคอยจดชื่อคนคุย แต่บางครั้งเรากลับเป็นแกนนำซะเอง อันนี้อาจารย์ไม่รู้ เพราะว่าตอนเด็กเราจะหมวยๆ หน้าตานิ่งๆ อาจารย์ก็จะเชื่อถือเราแต่เพื่อนก็ไม่ค่อยได้คิดอะไรหรอกค่ะ

 

Q. ความกล้าเมื่ออยู่ร่วมกับเพื่อน

ความกล้าเมื่ออยู่กับเพื่อนก็คงเป็นตอนที่มีลูกเพื่อนแม่มาที่บ้าน ตอนนั้นเราชอบญี่ปุ่นตั้งแต่เด็กมั้งคะ เพราะว่าคุณพ่อคุณแม่ทำงานอยู่ที่บริษัทญี่ปุ่นค่ะ อยู่ที่ Panasonic พ่อจะไปญี่ปุ่นบ่อยมาก แล้วก็ตอนนั้นบ้าหนังจีนแต่ที่บ้านมันมีดาบซามูไรพอดี เราก็เอาดาบซามูไรยาวๆ แล้วก็ใส่ชุดคลุมเหมือนชุดยูกาตะที่พ่อเอามากับน้องอีกคนหนึ่งแล้วก็เอาดาบมาฟันกัน

ตอนแรกเราจำอะไรไม่ได้เลย จนแม่บอกว่าแม่ดุ แล้วหลังจากนั้นแม่ก็มาเล่าให้ฟังว่า เนี่ยดาบมันเป็นรอยเลยนะ คือก็คงฟันกันจริงจังมาก แต่ก็ไม่ได้แผลนะคะ จำได้ว่าน้องกลัวมาก น้องถือมือสั่นเลย แต่เราก็จะฟันอย่างจริงจังเลย สนุก ชอบ นั่นคงเป็นความกล้าสมัยเด็ก

 

Q. ความกลัวเมื่อต้องเจอสิ่งที่ไม่คุ้นเคย

จริงๆ เป็นคนเฉยๆ นะ แม่ก็จะให้เราเรียนทุกอย่างเลย เรียนเปียโน เรียนว่ายน้ำ เรียนบัลเล่ต์อะไรแบบนี้
ก็จะโดนส่งไปเรียนหมด มันไม่เชิงกลัวนะ แต่แม่ก็จะถามว่าเราชอบหรือไม่ชอบที่นี่ เราก็จะเฉยๆ แม่ก็จะให้เลิก เปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่น

เฉยๆ ของเราก็คือ เรียนเปียโนไปเรื่อยๆ ให้เรียนก็เรียน แม่คงรู้สึกได้ว่าเราไม่ได้อิน เขาเลยให้เราเลิกค่ะ แต่ว่าเขาก็ยังส่งเสริมด้านอื่นอยู่เรื่อยๆ นะคะ อย่างว่ายน้ำ ตอนประถมก็ได้เป็นนักว่ายน้ำโรงเรียน จนปัจจุบันก็ยังว่ายได้ทุกท่าค่ะ

ถ้าถามว่ากลัวอะไรก็คงจะเป็นแมลงสาบ แต่แมลงสาบที่ญี่ปุ่นจะตัวใหญ่กว่า เชื่องช้ากว่า ผิดกับแมลงสาบที่ไทย มันจะตัวเล็กกว่า เคลื่อนที่เร็ว แถมเยอะกว่าด้วย

 


รู้สึกโชคดีที่พ่อแม่ไม่ได้บังคับให้ทำอะไร

แค่แนะนำว่าทำอะไรแล้วดีอย่างไร แต่สุดท้ายก็จะให้เราตัดสินใจเอง


Q. ความรู้สึก พ่อแม่คือไอดอล

ตอนเด็กๆ ยังไม่ถึงขั้นมองว่าพ่อแม่เป็นไอดอลค่ะ แล้วตอนเด็กๆ เราไม่มีไอดอล รู้สึกโชคดีที่พ่อแม่ไม่ได้บังคับให้ทำอะไร แค่แนะนำว่าทำอะไรแล้วดีอย่างไร แต่สุดท้ายก็จะให้เราตัดสินใจเอง สมัยนั้นมักมีความเห็นขัดกับแม่บ่อยมาก เช่น ด้วยความที่เราเป็นเด็กเรียนดี พ่อแม่ก็อยากให้เรียนสายวิทย์ อยากให้เป็นหมอ ท่านจะมีตรรกะของตัวเองคือ ถ้าเราเป็นหมอ พอพ่อแม่แก่ตัวจะได้อยู่ดูแลรักษา แต่เราก็ไม่เอาเพราะไม่ชอบเลือด ดังนั้นพอตอนเรียนจบ ม.ต้น ก็เลือกเรียนศิลป์คำนวณเลยค่ะ

ตอนที่อยากไปญี่ปุ่นคืออยู่ ม.6 แล้ว ช่วงแรกก็คงเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ที่ลูกคนเดียวจะไปอยู่ต่างแดน แต่เขาก็ให้เราไปค่ะ ถ้าเราไปแล้วมีความสุข เราก็เลยได้ไปเรียนที่ญี่ปุ่นครั้งแรกตอนนั้นค่ะ

เรื่องการเรียนเขาก็ไม่เคยบังคับเช่นกัน ช่วยคิดแต่ไม่ได้เป็นผู้ตัดสินใจ อย่างที่บอกว่าแม่เขาจะมีตรรกะง่ายๆ เช่น อยากให้เราเป็นทูตเพราะว่าแม่จะได้ตามไปเที่ยวด้วย แต่เราไม่ชอบกฎหมายหรือว่าความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์แทน แล้วจึงเรียนต่อด้านการตลาด เขาก็ตามใจเพราะอยากให้เราเรียนไปจนสุดกับเส้นทางที่เราเลือกเอง พอเรียนจบกลับมาเมืองไทย ตอนแรกพ่อแม่อยากให้ทำงานบริษัทเอกชนเพราะว่าเงินเดือนเยอะ แต่เราอยากเป็นอาจารย์ แม้แม่จะบ่นๆ เรื่องเงินเดือนน้อย แต่จนถึงตอนนี้เราก็เป็นอาจารย์มา 5 ปีแล้ว เขาก็ยอมรับค่ะ

ตรรกะของพ่อแม่ก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามที่เราเป็น ขอแค่เรามีความสุข เขาก็โอเคค่ะ พ่อแม่ไม่เคย
ตีกรอบให้เรา แต่จะบอกหรือสอนแค่สิ่งที่เราควรทำ สิ่งที่ถูกจริยธรรม อย่างเช่น ถ้าเราเรียนเก่ง เราต้องสอนคนอื่นนะ ห้ามหวงวิชา หรือว่าเวลามีโอกาสพ่อแม่ก็จะพาเราไปวัดตั้งแต่เด็กๆ ค่ะ

ตรงนี้เลยทำให้เรารู้สึกโชคดีที่มีเขาคอยอบรมเลี้ยงดู แม้ว่าไม่เคยบังคับเราขนาดนั้น แต่เขาจะมีกรอบที่สังคมควรจะเป็น แม้สิ่งที่เราอยากจะเป็นมันไม่มีก็ตาม ยิ่งตอนที่ได้ไปอยู่ญี่ปุ่น ยิ่งรู้สึกขอบคุณพ่อแม่มากขึ้นไปอีก เพราะคนญี่ปุ่นหลายคนที่เจอเรา เห็นเราเป็นคนมีมารยาท อ่อนน้อมถ่อมตน ดูแลผู้ใหญ่ดี เขาชมไปถึงการเลี้ยงดูจากพ่อแม่ ตรงนี้มารู้สึกทีหลังว่าเป็นสิ่งที่พ่อแม่สอนเรามา อาจเป็นเพราะพ่อแม่ทำงานที่บริษัทญี่ปุ่นด้วยแหละค่ะ

อย่างพ่อก็จะซีเรียสเรื่องเวลามาก เวลาไปสนามบิน ก็ต้องไปก่อน 2 ชั่วโมง เวลามีประชุมหรือนัดหมายใครก็ตาม เขาจะต้องบวกเวลาเผื่อเวลาเสมอ ซึ่งพ่อไม่เคยไปสายเลย มีความเป็นญี่ปุ่นเยอะมาก ยิ่งที่บริษัท
พานาโซนิคที่เขาทำงาน ทุกเช้าจะต้องท่องปฏิญาณ 7-8 ข้อ แม่จะจำไม่ค่อยได้เลยต้องมานั่งท่องในรถ ทำให้เราได้ซึมซับจากสิ่งที่เขาเป็น ยิ่งเขานำหลักการทำงานมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้สอนเราทั้งเรื่องระเบียบ การตรงต่อเวลา หรือการนึกถึงผู้อื่น ยิ่งทำให้เราไม่ต้องปรับตัวอะไรมากเมื่อไปอยู่ญี่ปุ่น เคยถูกถามบ่อยนะคะว่าไปอยู่ญี่ปุ่นแล้วรู้สึกแปลกใจเรื่องไหนมั้ย หรือตกใจวัฒนธรรมอะไรบ้างหรือเปล่า ยอมรับว่าแม้จะรู้สึกแปลกๆ แต่ก็ไม่ได้ตื่นเต้นขนาดนั้น เพราะเราคุ้นเคยกับสังคมและวัฒนธรรมผ่านท่านทั้งสองมาบ้างแล้วค่ะ

 

Q. ความภาคภูมิใจที่ไม่คิดว่าทำได้

อันนี้เป็นความภูมิใจส่วนตัวนะคะ เพราะเราเป็นเด็กที่เลียนแบบเสียงคนอื่นเก่ง คือตอนเด็กๆ เวลาที่พ่อแม่ต้องไปต่างจังหวัด เขาก็จะนำเราไปฝากป้าเลี้ยง ป้ามีลูกชาย เราก็จะติดวิธีการพูดจากลูกพี่ลูกน้อง พอกลับมาบ้าน ก็เอามาใช้กับคนที่บ้านด้วย หรือเวลาที่เราพูดคุยกับใคร เราก็จะติดสำเนียงเขามา ซึ่งตรงนี้มองว่ามันเป็นประโยชน์มากเวลาที่เราเริ่มเรียนภาษานะคะ อย่างภาษาอังกฤษ เราจะชอบฟังผู้ประกาศข่าวออกเสียง อย่างช่อง CNN หรือสื่ออื่นๆ หรือเวลาเรียนภาษาญี่ปุ่น เราก็นำ skill(ทักษะ) นี้มาใช้ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าภาษาอะไร สำเนียงเราจะเป๊ะ แต่คำศัพท์และแกรมม่าร์เละเทะหมดเลย(หัวเราะ) ถึงอย่างนั้นเราก็รู้สึกภูมิใจนะคะว่าเราหูดี พูดดี พูดเป็นค่ะ

 

 

วัยมัธยมสดใส กับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย : 

Q. ประสบการณ์สุด ‘แฮปปี้’

แค่เรื่องสอบติดโรงเรียนบดินทร์ฯ สมัย ม.ต้นก็รู้สึกแฮปปี้แล้วค่ะ แต่ที่แฮปปี้ที่สุด คือได้เป็นประธานเชียร์สมัยที่เรียนอยู่เตรียมอุดมฯ เพราะเราสามารถนำเชียร์จนคว้ารางวัลรองชนะเลิศมาให้สีได้  

เราสอบติดที่ 1 สายศิลป์คำนวณตอนสอบเข้า คนส่วนใหญ่ที่รู้จักเราผิวเผินเขาจะมองว่าเราเป็นเด็กเรียน ซึ่งเราไม่ชอบ(หัวเราะ) เลยพยายามหากิจกรรมทำ ตอนนั้นลงสมัครประธานนำเชียร์ของสี ซึ่งมีคู่แข่งอีก 2 คน ไม่คิดด้วยนะคะว่าตัวเองจะชนะ อาจจะเป็นเพราะเราพูดคุยกับน้องๆ บ่อย น้องเลยไว้ใจและเลือกเรา

หลังจากที่ได้เข้ามาทำตรงนี้ ได้บริหารงานหลายๆ อย่าง ซึ่งเป็นโมเมนต์แรกเลยที่รู้สึกว่าตัวเองชอบการยืนพูดต่อหน้าผู้คน เวลาเรานำเพลงเชียร์ น้องๆ จะฟังเรา เพราะเรารู้ว่าต้องพูดอย่างไรให้น้องออกมาซ้อมเชียร์และร้องเพลงได้ เราก็เข้าใจผิดไปจุดหนึ่งที่คิดว่าตัวเองมีความเป็นผู้นำสูง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ ที่เราทำอยู่มันคือการสอนตั้งหาก และที่เราสอนผู้อื่นได้เพราะเราเข้าใจเขา รู้ว่าเขาต้องการอะไร สุดท้ายแล้วจึงคว้ารางวัลที่ 2 จาก 6 สี ที่ตื่นเต้นและดีใจมากอาจเป็นเพราะสีอื่นเขามีตัวเต็งและจำนวนคนเยอะกว่าสีเราด้วยค่ะ แต่เราก็ได้ที่ 2 มาได้

 

Q. ประสบการณ์สุด ‘เฟล’

เฟลสุดๆ ครั้งแรก คือตอนเรียนปริญญาเอกค่ะ อาจข้ามช่วงวัยไปเยอะหน่อย เนื่องจากที่ผ่านมาตัวเอง
เป็นคนที่อยากได้อะไรแล้วก็ได้ตลอด ไม่เคยสัมผัสความรู้สึกผิดหวัง อยากได้ทุนญี่ปุ่นก็ได้ ตอนนั้นสอบตั้ง 800 คน แต่ได้ทุนแค่ 4 คน ซึ่งเราเป็นหนึ่งในนั้น โชคดีที่ได้ไปเรียนมหาวิทยาลัยที่นั่น ผลการเรียนก็ดีไม่มีปัญหา คราวนี้พอได้อะไรมาเยอะๆ แล้ว ก็จะเกิดช่วงที่เราไม่รู้ว่าเราอยากทำอะไรในชีวิตอีกค่ะ พอขึ้นปี 3 เราก็พยายามค้นหาตัวเองนะคะ อยากรู้ว่าตัวเองเหมาะกับอะไร ไปฝึกงานหลายๆ ที่ อย่างไปฝึกที่องค์การสหประชาชาติ(
United Nations) เพราะเราอยากทำงานเพื่อสังคม ตอนฝึกก็คิดว่าที่ทำอยู่นี่มันใช่หรือเปล่า แต่สุดท้ายก็หาคำตอบไม่ได้ไปจนถึงตอนเรียนปี 4 เลยค่ะ

ทางทุนรัฐบาลญี่ปุ่นเขาให้เรียนต่อระดับปริญญาโท เราเลยได้ยืดเวลาคิดเกี่ยวกับชีวิตไปอีก 2 ปี ตอนนั้นเรียนมาร์เกตติ้ง พอเรียนจบแล้วก็กลับมาวนลูปเดิมเลยค่ะ คือไม่รู้จะทำอะไรกับชีวิตต่อ ความจริงแล้วเราชอบทุกอย่าง มีความสุขในสิ่งที่ได้เรียนได้ทำนะ แต่เราไม่อยากทำงานบริษัท เพราะว่าไม่อยากตื่นเช้าไปบริษัทแล้วนั่งทำงานจนถึงเย็น ความรู้สึกอย่างเดียวที่คิดมาตลอดตั้งแต่ตอนได้ทุน คือเราอยากทำอะไรเพื่อสังคม แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรอยู่ดี

ดังนั้นเลยเลือกเรียนต่อปริญญาเอกค่ะ ตอนแรกเข้าใจว่าคงเรียนเหมือนปริญญาโทแหละ แต่กลับพบว่ามันไม่ใช่การเรียน มันคือการต่อสู้เพราะต้องทำวิจัย แล้วคนที่จะเรียนปริญญาเอกได้ดี ควรจะเป็นคนที่มีความอยากรู้อยากเห็น รู้จักตั้งคำถามต่างๆ ได้เสมอ

ตอนนั้นวิจัยเรื่องนวัตกรรมโดยผู้บริโภคค่ะ ซึ่งเราเลือกหัวข้อแบบเบลอๆ ซึ่งความจริงแล้วเราไม่ได้สนใจเรื่องวิจัยเลย ไม่ได้สนใจว่าปริญญาเอกเขาเรียนอะไรกัน แต่เราก็พยายามผลักดันตัวเองนะคะ แต่พอมัน
ไม่ได้มาจากความต้องการที่แท้จริงแล้ว มันทำให้เรารู้สึกแย่มาก ยิ่งการเรียนปริญญาเอกมันแบ่งเป็นกลุ่มเล็ก ดั้งนั้นเราจึงต้องพรีเซนต์เปเปอร์บ่อย และทำงานวิจัยส่งเป็นระยะทุก 2 สัปดาห์ บางครั้ง ทั้งๆ ที่เราคิดว่าทำได้ดีแล้ว แต่มันก็ยังไม่ดีพอเลยโดนว่ามา ต้องไปแก้ เป็นแบบนี้ตลอด 1 ปีค่ะ มิหนำซ้ำยังเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนที่เก่งกว่าด้วย กลายเป็นจิตตกเล็กๆ ไม่ถึงขั้นซึมเศร้านะคะ แต่คนที่เรียนในโปรแกรมเดียวกัน เป็นโรคซึมเศร้าไปแล้ว 4 คน ซึ่งเป็นเรื่องปกติมาก เพราะน้อยคนที่จะเรียนจบระดับปริญญาเอกได้

ตอนนั้นคิดเหมือนกันนะคะว่าจะลาออกเพราะรู้สึกเฟลจริงๆ คิดมากด้วยค่ะ เราเป็นรุ่นพี่ตัวอย่างที่เรียนดี ได้ทุนมาตลอด กลัวคนอื่นเขาจะมองเราในแง่ลบ แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าทำไมเราต้องฟังคนอื่นด้วย นี่คือชีวิตของเรา เลยตัดสินใจจะลาออก แต่มหาวิทยาลัยเสนอให้ดรอปเผื่ออยากกลับมาเรียนต่อ เราก็เลยดรอปไว้ หลังจากที่กลับมาแล้วก็มีอาจารย์จากจุฬาฯมาชวนเราไปสอน จึงพบว่าตัวเองชอบงานแบบนี้ ครั้งนั้นเราเลยตัดสินใจกลับไปเรียนปริญญาเอกต่อให้จบแบบบินไปบินกลับนะคะ พอเรียนจบถึงได้รู้สึกว่ามันก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด(หัวเราะ)

 

Q. ประสบการณ์สุด ‘ช็อก’

เราไม่ได้รู้สึกช็อกประเทศเขา แต่ช็อกตัวเองมากกว่าที่อยู่ร่วมกับเขาได้ อย่างตอนไปญี่ปุ่นปีแรกแล้วได้เข้าร่วมพีธีชงชา

ในพิธีชงชาครั้งแรก ต้องเข้าไปในห้อง นั่ง แล้วโค้ง 1 ครั้ง ได้รับถ้วยมาก็โค้งอีก มีหมุนซ้าย 2 ครั้งแล้วดื่ม พอดื่มเสร็จก็ต้องหมุนขวาอีก 2 ครั้ง แล้วค่อยดื่มอีก ดื่มเสร็จก็หมุนซ้ายอีก 1 ครั้งแล้วส่งถ้วยชาคืน แล้วโค้งปิดท้าย ความจริงแล้วก่อนดื่มก็ยังต้องโค้งให้คนขวากับคนซ้ายด้วยนะ แล้วมีคำพูดเกริ่นก่อนดื่มว่า “ขออนุญาตดื่มชาก่อนนะคะ” แบบนี้  เราก็โห..แค่ดื่มชาถ้วยเดียว พิธีเยอะอะไรขนาดนี้ ประเทศนี้อาร์ตมาก ทุกอย่างมีรายละเอียด

พออยู่ปีสุดท้ายก่อนกลับเมืองไทย ก็มีเพื่อนชวนไปเข้าพิธีชงชาอีกครั้งหนึ่ง กลับรู้สึกว่าครั้งนี้เราเข้าใจแล้วว่าทำไมต้องหมุนขวา 2 ครั้ง หมุนซ้าย 1 ครั้ง ทำไมต้องโค้งแล้วบอกคนอื่นก่อนดื่ม เมื่อ 8 ปีก่อนเรารู้สึกว่ามันเยอะมาก แต่พอเราผ่านตรงนั้นมา เราจึงทำตามขั้นตอนได้โดยไม่ต้องจำ เพราะเราทำด้วยความเข้าใจจริงๆ

เวลาเจ้าบ้านหรือคนที่ชงชาให้เรา เมื่อชงเสร็จแล้วเขาจะหันถ้วยฝั่งที่มีลายสวยๆ ให้เห็นและส่งให้ ตรงนี้คือความละเอียดอ่อนของคนญี่ปุ่นที่คิดถึงกันและกันค่ะ ดังนั้นผู้ดื่มต้องมองให้ออกว่าการที่เราจะเห็นลาย
สวย ๆ เพียงคนเดียว มันคือการตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเอง เราก็ต้องคิดถึงใจเขาด้วย โดยต้องหมุนถ้วยชา 2 ครั้ง(ห้ามหมุนปืดเดียวเดี๋ยวมันไม่สวย) นับเป็นจังหวะ หมุนหนึ่ง หมุนสอง เพื่อให้เจ้าบ้านได้เห็นลายถ้วยด้วย พอดื่มเสร็จแล้วก็ค่อยหมุนกลับให้ลายหันเข้าหาเรา เพื่อให้เจ้าบ้านรู้สึกดีใจ ว่าเราได้เห็นลายถ้วยของเขาแล้ว

เมื่อก่อนเราเข้าใจว่ามันเป็นแค่กฏค่ะ แต่พอเรารู้ที่มาที่ไปด้วยตัวเอง เข้าใจเองด้วยนะ เราก็อยู่ได้โดยไม่มีปัญหาเลยเพราะเราเข้าใจวัฒนธรรมเขา ซึ่งจริงๆแล้วแพทเทิร์นมันมาจากที่ทุกคนคิดเหมือนกัน ทำอะไรเหมือนกัน มันเลยกลายเป็นกฎขึ้นมา แต่ถ้าเราเรียนแค่กฎ ไม่เข้าใจเหตุผลปุ๊บ เราก็จะรู้สึกว่าญี่ปุ่นมีความเยอะ สังคมหรือกฎต่างๆดูเคร่งเครียด แต่ถ้าเห็นความสวยงามใต้กฎนั้น เราจะรู้สึกว่าสังคมนี้อยู่แล้วดีขึ้น จิตใจดีขึ้น สงบขึ้นจริงๆ นี่คือเรื่องที่ช็อกตัวเองว่าอยู่และเติบโตมาในสังคมนี้ได้อย่างไรค่ะ

 

Q. ประสบการณ์สุด ‘สนุกและประทับใจ’

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่รักวัฒนธรรมของตัวเองมาก แล้วเขาจะชอบสอนคนต่างชาติ ทุกปีที่บอร์ดมหาวิทยาลัยจะมีประกาศโครงการโฮมสเตย์ต่างๆ เราเห็นแล้วก็สมัครไปเลยค่ะ เพราะได้ไปกินฟรี เที่ยวฟรี แถมยังอยู่ในบ้านคนญี่ปุ่นฟรีอีกด้วย ได้เรียนรู้วัฒนธรรมผ่านครอบครัวญี่ปุ่น จำได้ว่าสมัครไปทุกปีเลยค่ะ ไปตั้งแต่เหนือยันใต้ อันที่จริงเรามีโฮสแฟมิลีที่โกเบนะคะ แต่เราก็ได้ไปอยู่กับครอบครัวที่คะนะซะวะ โอซาก้า
ฮิโระชิมะ ส่วนที่คะโงะชิมะได้ไปอยู่ 2 บ้านค่ะ 
ครอบครัวโฮสที่เข้าร่วมโครงการ เขาเองก็อยากรู้จักคนต่างชาติ คล้ายๆ กับโครงการ AFS เลยค่ะ ต่างกันตรงที่เราได้ไปอยู่แบบไม่มีค่าใช้จ่าย ประสบการณ์ตรงนี้ก็ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของแต่ละบ้านเหมือนกันนะคะ

ตอนไปอยู่ทางใต้กับครอบครัวสามีภรรยาที่สูงอายุหน่อย คุณพ่ออายุประมาณ 60 ปี ชวนทุกคนมาปาร์ตี้กันที่บ้าน เมื่องานเลิก ทุกคนกลับไปหมดแล้ว คุณพ่อก็เปิดทีวีนั่งดื่มเบียร์อะไรแบบนี้ ปล่อยให้คุณแม่เก็บกวาดทำความสะอาดทุกอย่าง เราก็ช่วยแม่เก็บ ก็รู้สึกเหนื่อยเพราะมันเละเทะไปหมด เราก็งอนพ่อมากว่าทำไมไม่มาช่วยกัน เพิ่งมารู้ทีหลังว่านี่เป็นวัฒนธรรมของฝั่งคิวชู คือผู้ชายจะเป็นใหญ่ในบ้าน ผู้หญิงต้องดูแล ตรงนี้ทำให้เราเข้าใจเลยว่าคุณพ่อเป็นใหญ่จริงๆ คือไม่ต้องทำงานบ้านอะไรเลย แต่พอไปอยู่กับโฮส
ที่ฮิโระชิมะ ซึ่งเป็นครอบครัวที่มีอายุสามสิบต้นๆ คุณพ่อทำงานที่โรงงานรถมาสด้าธรรมดา แต่กลายเป็นว่าคุณพ่อมายืนล้างจาน ซึ่งแตกต่างกับคิวชูที่เราจำฝังหัวมาเลยค่ะ เราก็ช็อก คุณพ่อล้างจานได้เหรอ ผู้ชายญี่ปุ่นต้องเข้มแข็งไม่ใช่เหรอ อะไรแบบนี้ค่ะ

จากประสบการณ์ที่เราได้รู้ได้เห็นจริงๆ เราก็เข้าใจได้ว่าสังคมยุคใหม่มันเปลี่ยนไปแล้ว ทุกคนต้องช่วยเหลือกัน ทำให้เรารู้สึกสนุกที่ได้ไปสัมผัสวัฒนธรรมแต่ละที่ อาหารที่แตกต่างกัน ความเชื่อต่างกัน แต่ละครอบครัวเองก็มีเสน่ห์ต่างกัน อีกอย่างคือ ปกติแล้วคนญี่ปุนจะไม่ยอมให้ใครเข้าครัว ถ้าเราสนิทกับเขาในระดับที่มากพอหรือเขามองเราเป็นลูก เป็นครอบครัวเดียวกัน เราก็จะได้เข้าไปเรียนรู้ทุกอย่างจากของจริงเลยค่ะ นี่ยังเคยช่วยแม่ตากผ้าด้วยนะคะ ได้ทำอะไรอีกหลายอย่างเลย

 

Q. ประสบการณ์ ‘ความรัก’

ตอนอยู่ที่นู่นก็เคยมีแฟนญี่ปุ่นบ้างค่ะ ตอนนั้นแม้จะพูดภาษาญี่ปุ่นได้แล้ว แต่ภายใต้ภาษาญี่ปุ่นมันก็ยังมีเรื่องที่เราไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง เรารู้สึกว่าผู้หญิงญี่ปุ่นต้องคอยบริการ เราก็พยายามจะบริการบ้าง อย่างเช่น สมมติว่าเราปอกแอปเปิ้ลให้แฟน แล้วบอกเขาว่า “ตัวเองกินสิ เราตั้งใจปอกให้เลยนะ” แต่เขาบอกว่า “ปอกเปรี้ยว” พอเราได้ยินแบบนั้นก็ตีความไปว่า เขาวิจารณ์ เขาว่าเรา เราก็รู้สึกไม่ชอบ ซึ่งในเซนส์คนญี่ปุ่นมันอาจเป็นแค่การแซวเล่น

แต่ตอนนั้นเขาพูดนิ่งๆ ทำหน้าตานิ่งๆ เลยยิ่งทำให้ตีความผิดไปแล้วยังไปหงุดหงิดใส่เขาอีก จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างเรามากขึ้นเวลาที่อยู่ด้วยกัน แถมแฟนก็ไม่ค่อยแสดงความรักแบบเปิดเผย ความสัมพันธ์เลยดำเนินไปอย่างเรื่อยๆ แล้วตอนอยู่ไทยเราไม่มีแฟนไงคะ เลยไม่รู้ว่าผู้ชายเขาแสดงความรักกันอย่างไร พอมาเจอหนุ่มญี่ปุ่น ด้วยความที่เขาเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยแสดงออก ความรู้สึกเราก็เลยกลายนิ่งตาม จนสุดท้ายก็ไม่ไหว และเลิกกัน แต่เราจะไม่ค่อยร้องไห้เพราะความรักนะคะ

 

 

วัยทำงาน กับสังคมที่โตขึ้นอีกขั้น : 

Q. ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนเมื่อเข้าสู่วัยทำงาน

ไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปตอนกลับมาอยู่เมืองไทยแล้วค่ะ เนื่องจากเราอยู่ที่ญี่ปุ่นมานานมาก ก็จะถูกฝึกให้ต้องเป๊ะตลอดเวลา แล้วเราอายุน้อยที่สุดในกลุ่มเรียนของอาจารย์ด้วย เวลามีประชุมหรือบรรยายที่ไหนก็ต้องไปถึงก่อนสถานที่ประชุม 2 ชั่วโมง ไปเช็กสถานที่ทุกอย่าง เช่น เก้าอี้จัดดีไหม โปรเจ็กเตอร์เสียบอย่างไร ต้องเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมทุกอย่าง เตรียมความพร้อมถึงขั้นต้องรู้ทางไปห้องน้ำด้วย เผื่อมีใครมาถามเราจะได้บอกทางถูก มันคือความกดดันอย่างหนึ่ง หากเราทำผิดอาจารย์เขาก็จะเตือน ซึ่งต่างกับเมืองไทย พอกลับมาแล้วรู้สึกว่าตัวเองซีเรียสไปหมดทุกเรื่อง เมื่อถึงเวลาประชุม พอเราไปถึงกลับไม่มีใครมากันเลย รายละเอียดการประชุมก็ไม่รู้ เอกสารไม่มี ทุกคนคุยกันไปเรื่อยๆ ข้ามไปนอกเรื่องก็มี ซึ่งเรารู้สึกช็อกมาก

ประเทศญี่ปุ่นเขาเป๊ะทุกอย่างเลยแต่ของไทยจะสบายๆ อย่างเวลาญี่ปุ่นจัดสัมมนาคน 300 คน งานจะ
ยิ่งใหญ่มาก มีการเตรียมพร้อมทุกอย่าง ตั้งแต่อุปกรณ์ไปจนถึงตัวบุคคลเลย มีการจัดแจงหน้าที่ทุกอย่าง พอเทียบกับไทยที่ยืดหยุ่นได้แล้ว รู้สึกได้เลยว่ามันโกลาหลมาก ยิ่งตอนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เช่น มีคนมาถามเราเรื่องบัตรจอดรถ ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องไปถามใคร ใครเป็นผู้ดูแลเรื่องนี้ คนไทยจะวางผู้รับผิดชอบแบบกว้างๆใครช่วยกันตรงไหนได้ก็ทำ และสิ่งที่ตลกคือสุดท้ายแล้วงานก็จัดออกมาได้ดี มีคนชื่นชม ซึ่งมันก็ไม่ต้องเสียเวลาประชุมเยอะแบบญี่ปุ่น

ถ้าเป็นญี่ปุ่นเขาจะมีการคิดกรณีฉุกเฉินเผื่อไว้ด้วยแต่ของไทยก็จะเป็นแบบง่ายๆ แล้วก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้าเอาเพราะว่าคนไทยจะดูที่ผลสุดท้าย ถ้างานเสร็จก็จบ ไม่มีการใส่ใจในรายละเอียดมากเท่าญี่ปุ่นคนของเขาจึงทำงานหนัก สำหรับเราแล้วคิดว่ามันคือการปรับตัว พออยู่ที่ญี่ปุ่นเราก็ทำให้ได้มาตรฐานของญี่ปุ่น แต่พอกลับมาไทยเราก็สบายๆ ไม่ต้องเป๊ะทุกอย่าง ไม่เครียดด้วย แค่เราปรับที่ตัวเราเองก็พอ อะไรที่เราต้องเป๊ะเราก็จะเป๊ะ แต่อะไรที่เราไม่ต้องเป๊ะก็ปล่อยมันไป

 

Q. การทำงานกับคนญี่ปุ่นในญี่ปุ่น

ตอนอยู่ญี่ปุ่นทำงานพิเศษเยอะมากค่ะ ทำในร้านอาหาร ในห้างก็มี เรารู้สึกว่าเมื่อเทียบกับคนไทยแล้วคนญี่ปุ่นเป็นคนที่ค่อนข้างห่วงเรื่องความเสี่ยงมาก เขาจะป้องกันความเสี่ยงทุกอย่าง เช่น จัดงานเทศกาลอาหารนานาชาติ เขาก็จะคิดว่าถ้ามีคนกินแล้วท้องเสียจะทำอย่างไร คือเขาจะคิดและเตรียมพร้อมทุกอย่าง ทั้งกฎที่ต้องปฏิบัติ หน้าที่ที่ต้องทำ ที่ตั้งของบูธ ทางเดิน เพื่อที่จะให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
ทุกคนก็จะมุ่งมั่นกับตรงนั้นและแชร์ข้อมูลกันตลอดเวลา ซึ่งใครที่เป็นเจ้านายก็จะได้รับอีเมลความคืบหน้าเยอะมาก แต่ก็ทำให้สะดวกสบายเพราะเราได้รับข้อมูลความคืบหน้าค่ะ

 

Q. การทำงานกับคนญี่ปุ่่นในไทย

ระหว่างที่เรียนปริญญาเอกก็เป็นอาจารย์พิเศษที่จุฬาฯ รับงานล่ามและงานต่างๆ บ้างค่ะ การได้ทำงานกับคนญี่ปุ่นในเมืองไทย บางครั้งก็รู้สึกว่าเขามองคนไทยอยู่ในระดับล่าง มีอคติเล็กน้อย คนไทยไม่ยอมคิด
มาสาย ไม่รู้จักรับผิดชอบ ซึ่งบางทีเราก็อยากให้เขาเข้าใจที่มาที่ไปด้วยว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ดังนั้นตอนรับงานล่าม ทำให้เราเห็นว่าเขาก็มีปัญหาเวลามาทำงานที่เมืองไทยเหมือนกัน โดยเฉพาะคนที่เชื่อว่าประเทศเขาดีที่สุด ประสบความสำเร็จที่สุด(Japan is the success model) ในทางกลับกัน คือเขารู้อยู่แค่โมเดลเดียวและพยายามจะเอากรอบนี้มาใส่เรา เปรียบเหมือนเอาเสื้อผ้าตัวเล็กมาใส่ให้คนอ้วน ซึ่งมันก็ไม่พอดี ไม่สบายตัว

ถึงอย่างนั้น เราก็เคยเจอมาหลายแบบ คนญี่ปุ่นที่เขาทำงานดีก็มี เขาจะพยายามเข้าใจวัฒนธรรมไทย พยายามพูดภาษาไทย พยายามเข้าใจนิสัยสบายๆ รักสนุกของคนไทย แล้วสนุกไปด้วยกัน พอมีปัญหา
ก็จะค่อยๆ แก้ไข อย่างบางคนลูกน้องมาสาย ถ้าเป็นเจ้านายที่ญี่ปุ๊นญี่ปุ่นเขาก็จะเครียด หักคะแนน กดดัน แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นที่ไม่เครียดก็จะคิดหาวิธีแก้ไขแบบสร้างสรรค์ที่ไม่ขัดกับนิสัยพื้นฐานของคนไทย อย่างเอากล่องออมสินมาวาง ใครมาสายก็หยอดห้าบาท สิ้นเดือนเอาเงินไปซื้อขนม แล้วให้คนมาสายไปซื้ออะไรแบบนี้ มันจะทำให้ทุกคนสนุกสนาน แบบนี้คือเขาเข้าใจคนไทย หรือไม่ก็วันนี้คนมาสายน้อย จึงให้เงินไปซื้อขนมกินกัน เป็นต้น แต่ก็มีคนญี่ปุ่นที่มาทำงานไทยบางส่วนที่มีสามัญสำนึกของตนเองอยู่ มันก็เหมือนตอนที่เราไปอยู่ญี่ปุ่นมานาน พอกลับมาไทยเราก็งงว่าคนไทยไม่ประชุมก็ทำงานได้เหรอนั่นแหละค่ะ(หัวเราะ)

 

ไม่ว่าเราจะเริ่มจากจุดไหนก็ตาม ทุกอย่างเริ่มต้นจากความเชื่อ
อย่างตัวเกตุ คืออยากทำงานเพื่อสังคม อยากให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งมันไปทางเดียวกัน

 

Q. การค้นหาแพชชั่นการทำงาน

เราพยายามค้นหามาตั้งแต่สมัยมหาวิทยาลัยปี 3 ปี 4 แล้วค่ะ จนตอนเรียนปริญญาโทก็ไม่เจอ ผ่านมาจนปริญญาเอก ดรอปเรียนแล้วก็ยังไม่รู้เลยค่ะว่าจะทำอะไร แต่รู้คร่าวๆ แค่ว่าเวลาที่เราได้ทำงานพิเศษหลายๆ อย่างตอนอยู่ญี่ปุ่นเนี่ย ไม่ว่าจะงานขาย งานล่าม งานสอนภาษาไทยให้คนญี่ปุ่นเราก็ชอบ
ชอบทุกงานเลยค่ะ แล้วรู้สึกว่าทำงานอะไรก็ได้ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีความสุข เราแฮปปี้หมดค่ะ

หลังจากที่กลับมาเมืองไทยได้ 3 วัน ก็ได้ไปร่วมงานปาร์ตี้นักเรียนทุนญี่ปุ่นค่ะ แล้วบังเอิญเจอรุ่นพี่ที่เป็น
อาจารย์จุฬาฯ ซึ่งไม่รู้จักกันมาก่อน เขาก็ถามเราว่าสนใจจะเป็นอาจารย์ไหม เพราะขาดอาจารย์ภาคการตลาดพอดี เราเลยส่ง CV ไปวันนั้นแล้วก็ได้เป็นอาจารย์พิเศษเลยค่ะ จึงกลายเป็นว่าเรากลับไทยมา 3 วันแล้วได้งานเลย

ส่วนตัวคิดว่ามันเป็นเรื่องของโชคชะตาและจังหวะค่ะ ถามว่าเลือกงานอาจารย์เพราะอะไร จริงๆ ตอนจะกลับไทยก็มองแล้วว่าอยากทำงานสอน แต่อยากสอนโรงเรียนแบบแนวทางเลือกเพราะจะได้ช่วยเหลือคนได้ แต่เพราะจังหวะชีวิตจึงทำให้โชคดีที่ได้มาเป็นอาจารย์คณะนี้ ฉะนั้นถ้าถามว่าตัวเองมีแพชชั่นอะไรไหมในการทำงาน คิดว่าคงเป็นเพราะเราทำงานทุกอย่างอย่างเต็มที่ อยากให้คนที่เป็นลูกค้าหรือคนที่รับงานมีความสุข พอเราคิดแบบนี้ปุ๊บ ไม่ว่าเราจะทำงานไหนเราก็จะทำได้ดี นี่ยังเชื่อมั่นว่าถ้าวันนั้นไม่เจอรุ่นพี่ ไม่ได้เป็นอาจารย์ สมมติไปเป็นล่าม คิดว่าคงทำได้ดีไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายมาสอนน้องๆ ถึงวิธีการเป็นล่ามที่ดีเหมือนกัน คือกลับมาที่งานสอน งานเผยแพร่เพื่อสังคมอยู่ดี

ด้วยเหตุนี้เราเลยรู้สึกว่าไม่ว่าจะเริ่มสตาร์ทจากตรงไหน แต่ถ้าเรามีความเชื่อ อย่างตัวเกตุ คืออยากทำงานเพื่อสังคม อยากให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งมันไปทางเดียวกัน จึงคิดว่าไม่ว่าเราจะเริ่มจากจุดไหนก็ตาม
ทุกอย่างเริ่มต้นจากความเชื่อ เกตุเริ่มจากที่เป็นอาจารย์ใช่ไหมคะ แล้วยิ่งเห็นผลลัพธ์ที่ได้ทำไป เราสอนแล้วเด็กรักวิชานั้นมากกว่าเดิม มันทำให้เรามั่นใจมากขึ้นเพราะเห็นผลลัพธ์ที่ดีกลับมา เราก็ยิ่งรู้สึกดีใจและอยากสอนให้ดีขึ้น มีคุณธรรมมากขึ้น พอทำไปเด็กแฮปปี้ได้เลยยิ่งเป็นลูปที่ดีขึ้นเรื่อยๆ จากนั้นเราเลยรู้สึกว่าทำไมเราต้องสอนแค่ในรั้วมหาวิทยาลัยล่ะ อีกทั้งมีเพื่อนๆ คนอื่นๆ มาติดต่อให้ไปช่วยเขียนด้วย พอผลงานออกมาปรากฏว่างานของเรามีประโยชน์ต่อผู้อื่นอีก มีผู้อ่านที่เปลี่ยนชีวิตเพราะบทความเรา จึงทำให้อยากเขียนอีกจนมาถึงทุกวันนี้ค่ะ

 

Q. งานที่บ่งบอกคาแร็กเตอร์ของตัวเองที่สุด

งานที่ทำงานอยู่มีจุดเชื่อมโยงกันคือเรื่องการถ่ายทอดสื่อสาร ในส่วนของนักเขียน อาจจะมีมุมแก่นๆ หน่อย ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเขียนให้กับ Marumura เราเป็นคนชอบเขียนระบายในเฟซบุ๊ก เขียนเยอะจนมีพี่คนหนึ่งบอกว่าเพื่อนเขาจะเปิดเว็บ Marumura กำลังหานักเขียนอยู่ เขาก็เลยชวนเราไปเขียน ดังนั้นผู้อ่านที่ติดตามเกตุวดีใน Marumura ก็จะได้เห็นความแก่นเซี๊ยวของเรา จนบางคนอ่านแล้วเข้าใจผิดคิดว่ากระเทยเขียนก็มีค่ะ(หัวเราะ) หรือพอเห็นชื่อเราแล้วนึกว่าเป็นนักเขียนรุ่นป้าแต่ใช้ภาษาได้แซ่บก็มีเหมือนกัน ถือว่าเป็นอีกมุมหนึ่งที่เราได้แสดงออกผ่านงานเขียน รู้สึกชอบที่ได้แสดงตัวตนหลายๆ ด้าน ถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รู้จัก รวมถึงตามเว็บไซต์หรือเพจอื่นๆ ด้วยค่ะ

งานเขียนคืองานที่รู้สึกว่าเป็นคาแรคเตอร์เราที่สุดค่ะ เพราะถ้ามันมีอิมแพคแล้วคนจะแชร์กันทำให้คนอื่นๆ ได้อ่านด้วย นอกจากนี้ยังสามารถปรับคาแรคเตอร์ไปได้ตามสไตล์การเขียน ทำให้รู้สึกสนุกเหมือนกับได้คุยกับตัวเองด้วยค่ะ  พอลองมาดูจุดเชื่อมโยงของอาชีพทั้งหมดที่ทำนั้น มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ “การสื่อสาร” อะไรที่ทำให้เราสามารถสื่อสารเกี่ยวกับญี่ปุ่น แล้วทำให้คน 2 ชาติเข้าใจกันมากขึ้น นั่นคือหน้าที่ของเกตุ มันทำให้รู้จักตัวเองมากขึ้นและเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นค่ะ

 

 

“อนาคต” ในอีก 50 ปี :

Q. เมืองไทยในอีก 50 ปี

หลายคนเป็นห่วงอนาคตของเมืองไทย มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ มากมาย ส่วนตัวรู้สึกแฮปปี้มาก
กับสังคมไทย อยากให้มันไปในทางที่ดีขึ้น เพราะว่าคนยุคใหม่มีการศึกษามากขึ้น อย่างตอนเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ทุกคนช่วยกันออกมากวาดถนน ช่วยกันทำความสะอาด เราก็รู้สึกว่าคนไทยมีจิตสำนึก เหมือนเราเห็นผู้ประกอบการไทยเริ่มคิดเพื่อสังคมมากขึ้น

ตอนแรกเราเชื่อว่าญี่ปุ่นนั่นแหละที่ทำเพื่อสังคม คนไทยยังคิดถึงกำไร แต่กลายเป็นว่ามีลูกเพจหลายๆ คนมาแสดงความคิดเห็นว่า บ้านเราก็ทำอย่างนี้อยู่นะ มันเหมือนคอนเฟิร์มความเชื่อมั่นของเรา เรารู้สึกดีว่ายังมีหลายๆ คนในสังคมไทยที่อยากทำดีเหมือนกัน อยากพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วด้วยสื่อมันเหมือนกับช่วยกันรวมพลังซึ่งกันและกัน เลยรู้สึกว่าวันข้างหน้าคงเป็นสังคมที่คิดถึงกันและกันมากขึ้น เราต้องมองโลกในแง่ดีค่ะ

 

Q. ญี่ปุ่นในอีก 50 ปี

คงมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นแล้วกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุค่ะ และคงมีพวกหุ่นยนต์ AI เดินขวักไขว่กันเต็มถนน สำหรับเราแล้วพอได้ไปญี่ปุ่นหลายๆ ครั้ง กลับรู้สึกว่าเมืองไทยเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าญี่ปุ่นเสียอีก ญี่ปุ่นเขาจะค่อยๆ ปรับ แต่ที่เมืองไทยจะเห็นห้างนู้นห้างนี้สร้างใหม่เร็วมาก มันยังมีความบูมให้เห็นอยู่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงไปตามการเติบโตของเศรษฐกิจและสังคม ประเทศไทยกำลังเติบโตอยู่เลยเปลี่ยนแปลงเร็ว แต่ญี่ปุ่นนิ่งมาสักระยะหนึ่งแล้ว คิดว่าอีก 50 ปีข้างหน้าเขาก็ยังคงความเป็นญี่ปุ่นแบบนี้อยู่ค่ะ

คนญี่ปุ่นเขาถูกปลูกฝังให้นึกถึงคนอื่น มีความสามัคคี ภูมิใจในชาติตัวเอง รูปแบบภายนอกอาจจะเปลี่ยนไป เช่น เอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น อย่างละครโนเขาก็นำเอาเทคโนโลยีแบบกราฟิกยิงไปที่จอแล้วหน้ากากจะเปลี่ยนเอง ซึ่งตรงนี้ทำให้เรารู้สึกชอบเพราะว่าเขารู้ว่า “อะไรควรรักษา อะไรควรเปลี่ยน” โดยที่แก่นยังเหมือนเดิม แต่วิธีการพรีเซนต์เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่ประเทศไทยจะพยายามรักษาทุกอย่างให้เหมือนเดิม ซึ่งบางครั้งถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนไปตามสังคม ก็อาจเป็นเรื่องน่าเสียดายนะคะ

 

Q. งานเขียนบทความ(ของตนเอง) ในอีก 50 ปี

ตอนนั้นอาจจะให้หุ่นยนต์มาช่วยเขียนแล้วก็ได้ค่ะ ประมาณว่านึกปุ๊บเขียนออกมาเลย(หัวเราะ) แต่ก็คงยังอยากถ่ายทอดความเป็นตัวเอง มุมมองตัวเองออกมาอยู่เหมือนเดิมนะคะ อาจจะไม่ใช่แค่เรื่องญี่ปุ่นอย่างเดียว แต่ปลุกใจผู้คนให้ออกมาทำความดีกันมากขึ้น ทำเพื่อคนอื่นกันมากขึ้นค่ะ

 

Q. เกตุวดีในอีก 50 ปี

ก็..คงจะทำเพื่อคนอื่นมากขึ้นค่ะ เพราะตอนนี้รู้สึกว่าคนคุยกันเรื่องเงิน เรื่องความสำเร็จจากรายได้ และเรื่องชื่อเสียงค่อนข้างเยอะ แต่ในอีก 50 ปีข้างหน้า เราอยากเป็นคนที่ยอมรับความแตกต่างและเข้าใจซึ่งกันและกัน เช่น บางคนเรียนเลขไม่เก่งเลยแต่ว่าทำงานอย่างอื่นได้ดีมาก แทนที่จะมานั่งเอาความคิดกรอบเดียวกันมาใส่ทุกคนให้เหมือนกัน อยากให้ทุกคนยอมรับความแตกต่างและเรียนรู้ซึ่งกันและกันแทน เพราะนั่นคือสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาว่า “เราไม่สามารถทำทุกอย่างเก่งได้คนเดียว มันต้องมีความหลากหลาย” ค่ะ

 

Q. สิ่งที่อยากให้คงอยู่ในอีก 50 ปี

คงจะเป็น “หัวใจที่คิดถึงผู้อื่น” ค่ะ อย่างบทความเรื่องหนึ่งที่เคยเขียนเกี่ยวกับร้านอาหารเพื่อคนเป็น
อัลไซเมอร์ มีคนอ่านแล้วเกิดแรงจูงใจ อยากทำอะไรดีๆ ให้ผู้อื่นด้วย แม้ว่าเทคโนโลยีจะทำให้คนห่างเหินกันมากขึ้น แต่สิ่งที่ทุกคนยังคงมีอยู่ก็คือความรัก ความอบอุ่น ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับมนุษย์มาตั้งแต่ตอนแรกเกิดแล้ว ถึงการแสดงออกทางความรักอาจจะเปลี่ยนไปบ้าง แต่ถึงอย่างไร ความรักและความปรารถนาดีต่อกัน ก็ยังเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์อยู่ดี จึงอยากให้สิ่งเหล่านี้แหละอยู่ต่อไปอีก 50 ปีค่ะ

 

ติดตามผลงานได้ที่ 

Facebook: @japangossip
Twitter: @Gadewadee_Maru
Instagram: @gadewadee_marumura
Website: gademaru.wordpress.com

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ