เดินไป-ทำไป ใครเขาทำกัน?
สารบัญ
เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม ไม่เอานะ ไม่เดินไปทำไป
ญี่ปุ่นเป็นสังคมที่ละเอียดอ่อน มีวัฒนธรรมและทัศนคติแนวคิดบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองและอาจดูแตกต่างจากชาวบ้านเขาหน่อย แม้แต่การ “เดินไป–ทำไป” ก็มีบางเรื่องที่พยายามหลีกเลี่ยง บ้างเป็น Common Sense เพราะไปกระทบคนอื่นได้ บ้างก็ดูเป็นมารยาทภาพลักษณ์ทางสังคม แม้จะไม่ใช่กฎหมายซะทีเดียว(และก็อาจมีคนญี่ปุ่นบางคนเผลอทำไป) แต่โดยภาพรวมนี่เป็นเรื่องที่ควรพิจารณาหลีกเลี่ยง มาดูกันครับๆ
ไม่เดินไป-สูบบุหรี่ไป (歩きたばこ- อารุคิทาบาโกะ)
แม้สังคมญี่ปุ่นจะสูบบุหรี่จัดมาแต่ไหนแต่ไร และเปอร์เซ็นต์คนที่สูบบุหรี่ต่อจำนวนประชากรอยู่ในระดับสูง แต่เรื่องดีคือ พวกเขาจะไม่เดินสูบบุหรี่เอ้อระเหยไปตามท้องถนน จะสูบเป็นจุดๆ ไป เพราะหลายสถานที่มักจัดทำ Smoking Area สูบบุหรี่ไว้ให้หลายที่มาก ทั้งบริเวณสถานีรถไฟ บริเวณตึกอาคาร ร้านอาหาร–ร้านกาแฟ บางแห่งก็มีแบ่งโซนสูบกับไม่สูบ ฯลฯ เป็นต้น มาพร้อมในรูปแบบทั้ง Indoor เป็นห้องมิดชิด และ Outdoor หลบมุมข้างนอก
เนื่องด้วยตามท้องถนนในญี่ปุ่นโดยเฉพาะย่านสถานีรถไฟใหญ่ มักคลาคล่ำไปด้วยผู้คน ที่เดินเบียดเสียดกัน การจุดบุหรี่สูบครั้งหนึ่งอาจไปกระทบคนอื่นได้เป็นร้อย (และมีโอกาสที่ไฟบุหรี่จะบังเอิญไปจี้โดนคนอื่นด้วยนะ) เพราะฉะนั้นสูบตาม Smoking Area ที่จัดไว้ให้ดีกว่านะ
ไม่เดินไป-กินไป (歩き食べる-อารุคิทาเบรุ)
ข้อนี้อาจจะดูแปลกและชวนตกใจหน่อยสำหรับคนไทยแบบเราๆ เพราะที่ญี่ปุ่นคนมักจะไม่ค่อยเดินไป-กินไป (ยกตัวอย่าง ซอฟต์ครีม) พวกเขามักจะหาที่กินอย่างเป็นกิจลักษณะ หรือยืนกินบริเวณหน้าร้านที่ซื้อมาเท่านั้น เมื่อกินเสร็จแล้วจึงค่อยไปต่อ ข้อนี้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ง่ายๆ อย่างเช่น ที่วัดเซนโจจิ (วัดอาซากุสะ) จะมีร้านขายซอฟต์ครีมที่เวลาเราซื้อแล้ว เจ้าของร้านจะขอความร่วมมือให้เรายืนกินตรงหน้าร้านให้หมดก่อนค่อยเดินต่อ
เหตุผลหลักเป็นเพราะ การเดินไป-กินไป ของกินนั้นมีโอกาสหกตกลงพื้นจนสร้างความสกปรกได้ เดือดร้อนคนอื่นอีก และการเดินไป-กินไป เมื่อกินเสร็จในภายภาคหน้า เราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะมี ‘ถังขยะ’ ให้ทิ้งด้วยหรือเปล่า (ญี่ปุ่นบางสถานนี่หาถังขยะยากมากครับ) ถ้ากินให้เสร็จตั้งแต่ที่ร้านก็ทิ้งถังขยะของทางร้านได้เลย หมดห่วง
ไม่เดินไป-เล่นมือถือไป (歩きスマホ – อารุคิ–สุมาโฮะ)
ได้ยินตอนแรกอาจคิดว่าเป็นการจำกัดสิทธิส่วนบุคคล ถือเป็นประเด็นที่ค่อนข้างใหม่ในญี่ปุ่นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง และกำลังรณรงค์กันอยู่การไม่เดินไป-เล่นมือถือไปนี้ มักจะเจาะจงเฉพาะในย่านที่ผู้คนพลุกพล่าน โดยเฉพาะในสถานีรถไฟ ที่ผู้คนล้านแปดเดินเบียดเสียดกัน
เมื่อเดินไปก้มหน้าเล่นมือถือไป อาจไปกีดขวางทางเดินคนอื่นที่กำลังรีบเร่งอยู่ และเนื่องด้วยมองไม่เห็นชัดเพราะก้มหน้าเล่นมือถืออยู่ อาจเกิดการกระแทกชนกันได้ไม่ว่าเราจะไปชนหรือผู้อื่นมาชนเราก็ตาม ข้อนี้ประเทศไทยก็ควรรณรงค์ด้วยเหมือนกันนะ
ปัจจุบันนี้บางสถานีก็มีติดป้ายรณรงค์ขอความร่วมมือไม่เดินไป-เล่นมือถือไป สังเกตได้ง่ายๆ เลย เพราะนอกจากตัวหนังสือแล้วมักมาเป็นรูปภาพที่เข้าใจง่าย ^^
ไม่เดินไป-ล้วงกระเป๋า (กางเกง) ไป
ข้อนี้เฉพาะสำหรับคุณผู้ชายใส่ชุดไปทำงาน ซึ่งดูจะแตกต่างจากสังคมตะวันตกอย่างที่อังกฤษ (เช่น ลอนดอน) เวลาพักเที่ยงในย่านธุรกิจ เรามักจะเห็นมนุษย์เงินเดือนเดินออกมาหาอะไรกินกัน ไม่ทราบว่าอย่างไรแต่ดูเป็น Style ของคนที่นี่คือ ผู้ชายมักเดินล้วงกระเป๋ากางเกงทั้งสองข้างกันทั้งนั้น บ้างล้วงเดี่ยว บ้างล้วงกันเป็นกลุ่ม เด็กหนุ่มล้วงกระเป๋าเดินคุยเคียงข้างผู้ใหญ่รุ่นพ่อ เป็นภาพที่พบเห็นได้ทั่วไปมากๆ
ในขณะที่มุมมองของคนญี่ปุ่น (และคาดว่าประเทศแถบบ้านเรา) ซึ่งเป็นสังคมที่ให้คุณค่ากับความสุภาพ “สำรวม” อาจมองว่าการเดินล้วงกระเป๋า (แม้จะไม่ได้ดูแย่อะไรขนาดนั้น) แต่ก็อาจดูไม่สุภาพสำรวมเท่าที่ควร?
โดยเฉพาะเวลาออกไปสังสรรค์กันเป็นหมู่คณะ ที่จะมีทั้งวัยผู้ใหญ่จนไปถึงเด็กหนุ่มเพิ่งเข้าทำงาน ในสังคม Hierarchy ระดับขั้นแบบญี่ปุ่น การที่เด็กหนุ่มเดินล้วงกระเป๋าเท่ๆ เคียงข้างผู้อาวุโสกว่าอาจดูไม่ดีนัก? (ขณะที่สังคมตะวันตกไม่ค่อยซีเรียสมาก ฮ่าๆๆๆ)
และเพราะมนุษย์เงินเดือนญี่ปุ่นหลายคน ไม่ได้คิดกับตัวเองแบบ Individual ปัจเจกชนขนาดนั้น แต่ผูกตัวเองเข้ากับองค์กรที่ตนทำงานอยู่ด้วย ภาพลักษณ์ที่ตนแสดงไปก็เหมือนเป็นภาพลักษณ์องค์กรไปในตัว กังวลว่าลูกค้าหรือใครมาเห็นเข้าจะดูไม่ดีนั่นเอง ><
ไม่เดินไป-เปิดเพลง (+ลำโพง speaker) ฟังไป
สำหรับเดินภายในสวนสาธารณะ ยกตัวอย่างเช่นที่สวนลุมพินีบ้านเรา เวลาไปออกกำลังกายเดินเล่นในสวนอาจเห็นบางคนอาม่าอาแปะ เดินไป-เปิดเพลง พร้อมเปิดลำโพง speaker ฟังไป คนรอบตัวเรา ก็จะได้ยินไปด้วย ซึ่งบางทีก็ให้ความรู้สึกที่ครึกคริ้นดีนะ ^^ ฮ่าๆๆ
แต่เนื่องจากสังคมญี่ปุ่นให้คุณค่ากับ “ความเป็นส่วนตัว” ค่อนข้างสูง และให้คุณค่ากับ ‘ความเงียบ’ (สังเกตได้ในรถไฟจะเงียบมากๆ) การเปิดเพลงลักษณะนี้จึงควรงดเว้นโดยสิ้นเชิง
ทั้งนี้อาจรวมถึงการเปิดดูคลิปวิดีโอใดๆ ก็ตามในที่สาธารณะข้างนอก ก็ไม่ควรเปิดลำโพง speaker ออกมาให้ได้ยิน ถือเป็นการเอาใจเขา มาใส่ใจเราเนอะ ^^
สิ่งที่ไม่ควรเดินไป–ทำไป ทั้ง 5 ข้อนี้ สะท้อนถึงแนวคิดการเป็นสังคม การอยู่ร่วมกันในสังคม จะทำอะไรต้องคิดถึงส่วนรวม ควรให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ในสิ่งที่ตนทำและสิ่งที่สื่อออกไป (แม้บางครั้งอาจจะดูเยอะจนเครียดไปเสียหน่อย) แต่ในภาพรวมคือพยายาม “การไม่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น” ได้เป็นอย่างดี น่าจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเรียนรู้และสามารถนำมาปรับใช้ในสังคมไทยได้ไม่มากก็น้อย