DAISUKE OSADA & KEIICHI KUSANAGI สองมือเก๋าแห่งวงการร้านอิซะกะยะในเมืองไทย
สารบัญ
- Q. นากิยะจะอายุครบ 12 ปีในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าร้านมีความเป็นมาอย่างไร
- Q. ร้านที่ญี่ปุ่นกับเมืองไทยมีจุดที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
- Q. ปกติแล้วร้านสาขาโตเกียวจะเน้นไปที่อาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง เมื่อต้องมาเจอแบบนี้ลำบากไหม
- Q. ทำไมถึงเลือกมาเปิดร้านที่เมืองไทย ทั้งๆที่มีอีกหลายประเทศที่น่าสนใจ
- Q. ใช้เวลานานแค่ไหนในการตัดสินใจเปิดร้าน
- Q. สิ่งที่คิดว่าลำบากที่สุดในการเลือกเปิดร้านอาหารที่เมืองไทย
- Q. วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านได้รับผลกระทบบ้างไหม
- Q. สัดส่วนลูกค้าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
- Q. หลังจากร่วมงานกันบริหารร้านอิซะกะยะมานาน ได้วางเป้าหมายอะไรต่อไปในอนาคต
- Q. เห็นว่าทั้งคู่รู้จักกันมานาน ก่อนที่จะทำธุรกิจร้านอาหารร่วมกัน
- Q. ใครเป็นคนเริ่มออกไอเดียทำธุรกิจร้านอิซะกะยะ
- Q. มีสิ่งที่ไม่ชอบหรือรู้สึกไม่สะดวกสบายตอนอยู่เมืองไทยบ้างไหม
- Q. แล้วมีเรื่องอะไรที่คิดว่าสนุกบ้าง
- Q. รู้สึกชอบอะไรในเมืองไทยมากที่สุด
- Q. หมายถึงเพื่อนคนไทยหรือ
- Q. แล้วสิ่งที่ไม่ชอบละ มีบ้างไหม
- Q. ช่วยเล่าที่มาของงาน Natsu Matsuri ในวันที่ 6 สิงหาคมหน่อยได้ไหม
- Q. อยากแนะนำให้คนไทยไปเที่ยวที่ไหนในญี่ปุ่นเป็นพิเศษ
ในเมืองไทย นอกจากอาหารไทยแล้ว อาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากก็คืออาหารญี่ปุ่น แต่การที่จะเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นในไทยก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะมีการแข่งขันสูงมากเช่นกัน ขนาดเจ้าดังๆจากญี่ปุ่นมาเปิดเอง หากไม่เก่งพอก็อาจจะต้องพับฐานกลับไปอย่างรวดเร็ว แต่นากิยะ (Nagiya) กลับเป็นร้านอิซะกะยะสไตล์ญี่ปุ่นที่สามารถเติบโตในประเทศไทยได้อย่างมั่นคง โดยที่ยังรักษามาตรฐานรสชาติแบบญี่ปุ่นแท้ๆ มาตลอด 7 ปีที่เปิดในเมืองไทย โดยที่ยังมีโครงการใหญ่ คือจัดงาน Natsu Matsuri ที่สาขาพระโขนงเพื่อเป็นการสร้างสีสันให้กับย่านพระโขนงอีกด้วย ไปดูกันว่าเคล็ดลับความสำเร็จของคุณไดซุเกะ โอะซะดะ (Daisuke Osada) และคุณเคอิชิ คุซะนะงิ (Keiichi Kusanagi) สองผู้บริหารเครือนากิยะคืออะไรกัน
Q. นากิยะจะอายุครบ 12 ปีในวันที่ 6 สิงหาคมนี้ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าร้านมีความเป็นมาอย่างไร
D: เมื่อสัก 14-15 ปีก่อน ตอนผมเดินทางไปเที่ยวยุโรป ก็คิดขึ้นมาว่า ถ้าในต่างประเทศมีร้านอาหารญี่ปุ่นอร่อยๆคงดีนะ พอกลับประเทศญี่ปุ่น เลยคิดว่าต้องเริ่มจากการทำร้านอาหารอร่อยๆในญี่ปุ่นให้ได้ก่อน จึงเริ่มเปิดร้านที่เขตซุงินะมิ (Suginami) ที่โตเกียวครับ จนปัจจุบันเรามีนากิยะ 3 สาขา และโทระโยชิ (Torayoshi) 3 สาขาในญี่ปุ่น แล้วหลังจากนั้นจึงค่อยมาเปิดที่เมืองไทย ตอนนี้มีสาขาอยู่ญี่ปุ่นกับไทย ซึ่งในไทยก็มีนากิยะ 6 สาขา และโทระโยชิ 1 สาขาครับ
Q. ร้านที่ญี่ปุ่นกับเมืองไทยมีจุดที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
D: ในครั้งแรกตั้งใจว่าจะเอารูปแบบร้านที่ญี่ปุ่นมาเปิดที่เมืองไทยเหมือนกัน แต่พอเปิดไปได้สักระยะหนึ่ง เมนูอาหารก็ค่อยๆเพิ่มขึ้น เพราะว่าที่ญี่ปุ่นคือร้านอิซะกะยะจริงๆ แต่พอมาเปิดที่เมืองไทย คนไทยเขาไม่ได้มองว่านากิยะคือร้านอิซะกะยะอย่างเดียวเท่านั้น ทำให้สาขาที่เมืองไทยมีเมนูอาหารที่สาขาญี่ปุ่นไม่มี อย่างเช่น ซูชิหรือซาชิมิ ซึ่งเป็นเมนูหลักของร้านอาหารญี่ปุ่นในเมืองไทย แต่ถ้าเป็นร้านอิซะกะยะในญี่ปุ่น จะไม่ได้เสิร์ฟอาหารประเภทนี้นะครับ
Q. ปกติแล้วร้านสาขาโตเกียวจะเน้นไปที่อาหารประเภทใดประเภทหนึ่ง เมื่อต้องมาเจอแบบนี้ลำบากไหม
D: ช่วงแรกๆก็คิดว่าน่าจะลำบากนะครับ แต่สตาฟฟ์ไทยเรียนรู้งานได้เร็วมาก เลยไม่ค่อยมีปัญหาอะไรครับ
Q. ทำไมถึงเลือกมาเปิดร้านที่เมืองไทย ทั้งๆที่มีอีกหลายประเทศที่น่าสนใจ
D: ตอนนั้นลองดูหลายๆประเทศนะครับ ทั้งนิวยอร์ก ทั้งฮ่องกง แต่พอดีช่วงนั้นผมเรียนทำอาหารไทยด้วย ก็เลยสนิทกับเจ้าของร้านอาหารไทย แล้วตามเขามาเที่ยวที่นี่ เลยรู้สึกว่าประเทศไทยมีอะไรน่าสนุกนะ ลองเปิดร้านอาหารที่นี่ก็คงดีเหมือนกัน
Q. ใช้เวลานานแค่ไหนในการตัดสินใจเปิดร้าน
D: ไม่แน่ใจเหมือนกันครับว่าจะเริ่มนับตั้งแต่ตอนไหนดี (หัวเราะ) เพราะตอนแรกคิดว่าอยากลองใช้ชีวิตที่นี่ก่อน เพื่อลองทำอะไรหลายๆอย่าง ทั้งดูตลาด เรียนภาษาไทย เรียนทำอาหารไทย พยายามพูดคุยกับคนอื่นให้มากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจด้วยว่าเมืองไทยเป็นอย่างไร รวมถึงมองหาทำเลเปิดร้าน คิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีนะครับ หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เตรียมการต่างๆ เพื่อเปิดร้าน รวมๆแล้วก็ประมาณ 2 ปีนั่นละครับ แต่หากผมอยู่ในยุคปัจจุบัน คงใช้เวลาน้อยกว่านี้ เพราะเดี๋ยวนี้มีบริษัทช่วยสนับสนุนธุรกิจร้านอาหารเยอะครับ
รู้สึกว่าประเทศไทยมีอะไรน่าสนุกนะ
ลองเปิดร้านอาหารที่นี่ก็คงดีเหมือนกัน
Q. สิ่งที่คิดว่าลำบากที่สุดในการเลือกเปิดร้านอาหารที่เมืองไทย
D: คงเป็นเรื่องสถานการณ์การเมืองและความไม่แน่นอนครับ เพราะที่ผ่านมาก็มีปัญหาเกิดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องน้ำท่วมด้วย พูดง่ายๆ คงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยาก หากเป็นที่ญี่ปุ่น ปัญหาหลักคือเรื่องภัยพิบัติต่างๆ แต่ที่เมืองไทย มีเรื่องที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเยอะมาก จนบางครั้งก็ต้องก้มหน้ายอมรับเพราะไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เป็นเรื่องที่เหนือการควบคุมจริงๆครับ
Q. วันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านได้รับผลกระทบบ้างไหม
K: ก็ไม่เท่าไหร่นะครับ เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ต่อให้ดื่มไม่ได้ คนเราก็ต้องกินข้าวอยู่ดีนั่นละครับ แล้วลูกค้าคนไทยที่ไม่ดื่มก็มีเยอะ เลยไม่ได้รับผลกระทบอะไรมาก
Q. สัดส่วนลูกค้าตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
K: ถ้ามองคร่าวๆแล้ว คิดเป็นคนไทยกับคนญี่ปุ่นครึ่งต่อครึ่งนะครับ แต่ระยะหลังๆ ก็มีลูกค้าชาติอื่นมากินอาหารที่นี่เหมือนกัน อย่างชาวตะวันตกหรือชาวเกาหลีครับ
Q. หลังจากร่วมงานกันบริหารร้านอิซะกะยะมานาน ได้วางเป้าหมายอะไรต่อไปในอนาคต
K: เป้าหมายต่อไปเหรอครับ ตอนนี้ร้านของเรายังเป็นที่รู้จักแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น ในอนาคตอยากขยายสาขาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นครับ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากลองเปิดสาขาในต่างจังหวัดดู เคยคิดว่าอยากเปิดที่โคราช แต่พอมาคิดอีกทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะแค่คิดเรื่องการจัดหาวัตถุดิบ ก็แอบหนักใจขึ้นมาเลยครับ
Q. เห็นว่าทั้งคู่รู้จักกันมานาน ก่อนที่จะทำธุรกิจร้านอาหารร่วมกัน
K: ก็…รู้จักกันมาตั้งแต่ 3 ขวบแล้วครับ พวกเราโตมาในจังหวัดอิบะระกิ แล้วบ้านก็อยู่ใกล้กัน ที่ญี่ปุ่นเขามีการจัดระบบการศึกษาตามเขต ดังนั้น ไม่ว่าจะสมัยประถมหรือมัธยมศึกษา ก็ได้เรียนที่เดียวกัน แม้จะมีช่วงแยกกันอยู่พักหนึ่งสมัยมัธยมฯ แต่สุดท้ายก็กลับมาจอกันอยู่ดี
Q. ใครเป็นคนเริ่มออกไอเดียทำธุรกิจร้านอิซะกะยะ
D: คุซะนะงิครับ เขาสุดยอดเลยนะครับ สมัยเรียนวิชาเขียนเรียงความตอนประถม เขาเขียนว่าอยากเปิดร้านยะกิโทะริ ตอนนี้ฝันก็เป็นจริงแล้วครับ
K: เอาจริงๆ ตอนเขียนเรียงความ ผมไม่รู้จะเขียนอะไร เลยเขียนสิ่งอยากกินตอนนั้นลงไปครับ
D: แต่หลังจากนั้นก็ได้ไปทำงานในร้านยะกิโทะริจริงๆนะครับ
K: ใช่ครับ หลังจากเข้าไปทำงานในร้านนั้นแล้ว โอซะโนะก็ค่อยมาชวนเปิดร้านของตัวเองกันครับ
D: ผมยังไม่คิดว่าตัวเองจะทำร้านได้เลยครับ ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ต้องเริ่มเรียนรู้ทุกอย่าง ตั้งแต่พูด อิรัชไชมะเสะ (ยินดีต้อนรับ) หลังจากนั้นไม่นาน ก็ต้องมาเมืองไทยอีก ช่วงนั้นเรียกได้ว่าเดินทางไปกลับเป็นว่าเล่นเหมือนกันครับ
Q. มีสิ่งที่ไม่ชอบหรือรู้สึกไม่สะดวกสบายตอนอยู่เมืองไทยบ้างไหม
K: อืม…ชินแล้วครับ สภาพแวดล้อมทุกวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เลยรู้สึกว่าไม่มีอะไรเป็นพิเศษครับ
Q. แล้วมีเรื่องอะไรที่คิดว่าสนุกบ้าง
K: สนุกทุกวันเลยครับ (หัวเราะ)
D: สำหรับผม คงเป็นเรื่องความอบอุ่นน่ะครับ ทั้งสภาพอากาศและการแสดงออกของผู้คน ที่มากกว่าญี่ปุ่น
K: เรื่องความสบาย ง่ายๆ ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่ชอบ อยู่ที่นี่แล้วรู้สึกผ่อนคลายสบายใจดีครับ
Q. รู้สึกชอบอะไรในเมืองไทยมากที่สุด
D: ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวมากหน่อย ก็คงเป็นเรื่องนวดแผนไทยครับ เพราะที่เมืองไทยราคาถูกมาก ต่างกับที่โตเกียวลิบลับเลย ราคาถูกจนไปนวดบ่อยมากเลยครับ
K: ส่วนผมคงเป็นเรื่องสถานที่ อยู่ที่นี่แล้วมีเพื่อนเพิ่มขึ้นเยอะมากเลยครับ
Q. หมายถึงเพื่อนคนไทยหรือ
K: เพื่อนคนญี่ปุ่นนี่ละครับ พอได้เจอและพูดคุยกันแล้วกลับสนิทกันง่ายมากขึ้น คงเป็นเพราะเราอยู่ในต่างประเทศด้วย ถ้าเป็นร้านอิซะกะยะในญี่ปุ่น คงมีโอกาสคุยกับคนแปลกหน้าได้ยากเล็กน้อย แต่พออยู่เมืองไทย เจอคนญี่ปุ่นเหมือนกันก็คุยกันง่ายขึ้น คงเพราะอุ่นใจว่าเป็นคนชาติเดียวกันด้วยน่ะครับ
D: คงเพราะอยู่ในละแวกเดียวกันด้วยครับ เลยคุยกันง่ายมากเลย
Q. แล้วสิ่งที่ไม่ชอบละ มีบ้างไหม
D & K: อืม… ไม่มีนะครับ
K: กลายเป็นว่าอาจจะไม่ชอบญี่ปุ่นมากกว่าก็ได้ครับ (หัวเราะ)
Q. ช่วยเล่าที่มาของงาน Natsu Matsuri ในวันที่ 6 สิงหาคมหน่อยได้ไหม
K: อย่างที่บอกครับว่า ถ้านับตั้งแต่เริ่มเปิดร้านแรกที่ญี่ปุ่น ตอนนี้ร้านนากิยะจะครบรอบ 12 ปีพอดี วันที่ผมเห็นร้านสาขาพระโขนงนี้ ก็คิดว่ามีพื้นที่กว้างขวางมาก น่าจะทำอะไรสนุกๆได้ ความจริงคือผมอยากจัดเทศกาลฤดูร้อนมานานแล้วล่ะครับ วันครบรอบปีนี้ก็ตรงกับวันอาทิตย์พอดี คิดว่านี่เป็นจังหวะที่เหมาะสมเลยลองชวนร้านค้าในละแวกพระโขนงมาจัดงานร่วมกัน เพราะถ้าเราจัดอยู่ร้านเดียวก็คงไม่สนุก อีกอย่าง จะได้เป็นการช่วยกันโปรโมตร้านด้วยครับ
งานเทศกาลแบบนี้น่าจะจัดเป็นครั้งแรกในย่านพระโขนงนะครับ เพราะยังไม่ค่อยเห็นใครจัดเทศกาลฤดูร้อนแบบนี้กันสักเท่าไหร่เลย ซึ่งในงานนี้ นอกจากการออกร้านของร้านค้าต่างๆแล้ว ก็ยังมีกิจกรรมที่จำลองเทศกาลฤดูร้อนเหมือนที่ญี่ปุ่นเลยครับ มีการโชว์แล่ปลาทูน่า การแสดงตลกญี่ปุ่น คอนเสิร์ตขนาดเล็ก และยังมีบูธให้เด็กๆ ได้เล่นอีกด้วยครับ งานมีวันที่ 6 สิงหาคม เวลา 12:00-23:00 น. ถ้ามีเวลา มาร่วมสนุกในงานเทศกาลนี้ด้วยกันนะครับ ก็หวังว่าพวกผมจะมีส่วนทำให้พระโขนงเป็นย่านยอดนิยมแห่งใหม่ได้นะครับ ขอบคุณครับ
Q. อยากแนะนำให้คนไทยไปเที่ยวที่ไหนในญี่ปุ่นเป็นพิเศษ
D: ผมคิดว่าโตเกียวน่าจะเหมาะนะครับ เพราะมีครบทุกอย่างเลย เป็นเมืองที่บอกคาแร็กเตอร์ญี่ปุ่นในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณไปเที่ยวย่านอาซะกุสะ ก็จะได้สัมผัสวัฒนธรรมเอะโดะด้วยครับ แต่ถ้าคุณชอบวัฒนธรรมเก่าแก่ ของเก่า เกียวโตก็เป็นทางเลือกที่ดีเหมือนกันครับ
ข้อมูลร้านนากิยะ (Nagiya)
Facebook: @Nagiya.Thailand.TH
Instagram: nagiya_thailand
Website: www.nagiya-bkk.com