ในการเดินทางแต่ละครั้งเราอาจจะไปเพราะแรงบันดาลใจบางอย่าง แต่ทุกการเดินทางมักทําให้ได้ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เสมอ เหมือนเช่นครั้งนี้ทริปที่เริ่มต้นจากภาพยนตร์ญี่ปุ่นเรื่องหนึ่งที่เราประทับใจจนนึกอยากชิม ISE-EBI แบบในเรื่องบ้างก็เลยปักหมุดมาเมืองอิเสะ (Ise) ทำให้กลายเป็นจุดเริ่มของทริปครั้งนี้ และวางแผนท่องเที่ยวต่อตามเส้นทางนี้ด้วย ซึ่งหนึ่งในสถานที่ที่ได้ไปและประทับใจมากคือ ศาลเจ้าอิเสะ (Ise Jingu) หรือชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า The Grand Shrine of Ise ศาลเจ้าใหญ่แห่งเมืองอิเสะ ตามความเชื่อว่าศาลเจ้าแห่งนี้เป็น “บ้านเกิดของชาวญี่ปุ่น” หรือ “อิเสะซัง (Ise-san)” ตั้งอยู่ในภูมิประเทศที่มีลักษณะเป็นป่าสนซีดาร์เก่าแก่ใจกลางเมืองอิเสะ (Ise) โดยมีศาลเจ้าหลักที่แยกเป็น 2 ส่วน คือ ศาลเจ้าชั้นนอก (Gegu) กับ ศาลเจ้าชั้นใน (Naiku) และอีก 125 ศาลเจ้าย่อยที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน โดยมีธรรมเนียมที่ถือปฎิบัติสําหรับการไปสักการะศาลเจ้าอิเสะว่าให้ไปสักการะที่ศาลเจ้าชั้นนอกก่อนแล้วจึงค่อยไปสักการะศาลเจ้าชั้นใน ดังนั้นเช้านี้เราจึงเริ่มต้นด้วยการเดินจากที่พักที่อยู่ใกล้กับสถานีอิเสะชิ (Iseshi Station) ไปสักการะ Toyokei Grand Shrine หรือศาลเจ้าชั้นนอกก่อน ซึ่งเป็นวันที่อากาศสดใส และมีแสงแดดแรงมาก แต่ก็เหมาะกับอากาศหนาวๆ ของฤดูกาลนี้ โดยระหว่างทางที่เดินเราก็ Snap รูปไปด้วย Ricoh GR กล้องที่ถ่ายภาพได้สนุกมากๆ ก็เลยทําให้รู้สึกว่าระยะทางที่เดินนี้ไม่ไกลมาก… เราเดินมาเจอกลุ่มเด็กนักเรียนใส่หมวกสีแดงกําลังตั้งแถวฟังคุณครูอย่างตั้งใจดูน่ารักดีก็เลยยกกล้อง Ricoh GR ขึ้นมา Snap

เมื่อเดินผ่านกลุ่มเด็กนักเรียนมาก็ถึงทางม้าลาย ซึ่งศาลเจ้าชั้นนอกจะอยู่ฝั่งตรงข้าม ระหว่างรอสัญญาณไฟก็สังเกตว่าเป็นถนนที่มีขนาดใหญ่มาก และเมื่อมองตรงข้ามไปก็เห็นต้นไม้สูงใหญ่มากมาย ทําให้รู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ตั้งแต่ก่อนข้ามถนนกันเลย !

เมื่อข้ามถนนมาแล้ว และเดินต่อเข้าไปก็จะพบสะพานชื่อว่าฮิโยเกะบาชิ (Hiyokebashi) ที่เราต้องเดินข้ามก่อนเข้าไปยังบริเวณด้านใน ซึ่งตามหลักคําสอนของชินโตเชื่อว่าก่อนเข้าไปยังพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์จะต้องมีการชําระล้างเพื่อความบริสุทธิ์ก่อน และน้ํา คือตัวแทนของการชําระล้าง ดังนั้นการเดินข้ามสะพานที่มีน้ําอยู่ด้านล่างก็ถือเป็นพิธีกรรมของการชําระล้างความบริสุทธิ์

พอข้ามสะพานมาก็จะมีที่ล้างมือล้างปาก อันมีความหมายถึงการชําระล้างจิตใจก่อนเข้าศาลเจ้า จากนั้นก็จะพบกับเสาโทริอิ ซึ่งของศาลเจ้าอิเสะจะมีรูปแบบเฉพาะเรียกว่า อิเสะ โทริอิ (Ise Torii) โดยมีลักษณะเด่นตรงที่เป็นสีของไม้ตามธรรมชาติ ทำให้มีความแตกต่างจากเสาโทริอิของที่อื่นๆ ที่มักทาเคลือบเสาโทริอิเป็นสีแดง เมื่อเดินลอดผ่านเสาอิเสะ โทริอิไปตามถนนที่โรยกรวดก็สังเกตได้ว่า บริเวณพื้นที่รอบๆ รายล้อมไปด้วยต้นไม้ที่ส่วนมากจะเป็นต้นสนซีดาร์ขนาดใหญ่ที่ดูแล้วน่าจะมีอายุนับร้อยปี ซึ่งเราพอทราบมาบ้างว่าศาลเจ้าอิเสะจะมีการรื้อออก และสร้างใหม่ทุก 20 ปี โดยจะนําต้นสนซีดาร์ที่มีขนาด และได้ลักษณะตามข้อกําหนดมาใช้ในการก่อสร้าง โดยจะปลูกทดแทนใหม่หมุนเวียนไป แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้งานก็เลยต้องมีการใช้ต้นไม้จากแหล่งอื่นๆ ด้วย (อาจจะเพราะต้นไม้เติบโตไม่ทันที่จะได้ตามลักษณะของข้อกำหนด) ซึ่งพิธีการสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ที่เพิ่งผ่านไปล่าสุดเป็นครั้งที่ 62 เมื่อปี ค.ศ. 2013 ดังนั้นพิธีการก่อสร้างศาลเจ้าหลังใหม่ที่จะมีขึ้นในครั้งหน้าจะเป็นครั้งที่ 63 จะอยู่ในปี ค.ศ. 2033 

Toyokei Grand Shrine (Geku) ศาลเจ้าชั้นนอกที่มีประวัติความเป็นมากว่า 1,500 ปี ตามหลักคําสอนของชินโตเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราจะมี Kami ซึ่งมีสถานะเหนือกว่ามนุษย์จะคอยคุ้มครองดูแลอยู่ โดยศาลเจ้าอิเสะชั้นนอกเป็นที่สถิตของ Kami หรือเทพ Toyouke ที่คอยดูแลเกี่ยวกับการเกษตรให้ได้ผลผลิตที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ และคอยพิทักษ์ปกป้องมนุษย์ให้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยบันดาลให้มีสิ่งจําเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ 3 ประการก็คือ อาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ และที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นเทพที่ผู้คนในท้องถิ่นนี้มีความเคารพนับถือกันเป็นอย่างมาก

สําหรับบริเวณของที่ตั้งตัวอาคารหลักของศาลเจ้าชั้นนอกจะมีลักษณะเป็นรั้วกั้นแบ่งเขตเป็นชั้นๆ เมื่อเดินลอดผ่านเสาโทริอิที่ประตูด้านนอกเข้าไปแล้วต่อจากบริเวณนี้ไป “ห้ามถ่ายรูป” และจะเข้าไปได้ถึงส่วนของพื้นที่ในรั้วชั้นที่หนึ่งเท่านั้น แต่ก็มีข้อยกเว้นสำหรับใครที่อยากจะเข้าไปถึงชั้นด้านใน เพราะศาลเจ้าอิเสะจะมีการรื้อและสร้างใหม่ทุก 20 ปี ดังนั้นเรียกว่าสำหรับบุคคลทั่วไปแล้วการจะเข้าไปได้ถึงส่วนชั้นที่ 2 จะมีโอกาสเพียงครั้งเดียวในทุก 20 ปี และตามระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อไปถวายหินที่จะมาเป็นส่วนประกอบของพื้นกรวดรอบอาคาร โดยจะเปิดในช่วง 6 เดือนก่อนที่จะถึงพิธีย้ายเครื่องสักการะต่างๆเสร็จ และหลังจากนี้เมื่อเข้าสู่พิธีการต่อไปแล้วก็จะไม่อนุญาตให้ใครเข้าไปได้อีก จะยกเว้นเพียงนักบวชสูงสุด หรือผู้ที่เกี่ยวข้องเฉพาะในการประกอบพิธีและองค์จักรพรรดิเท่านั้น !

ตัวอาคารหลักของศาจเจ้าชั้นนอกมีลักษณะภายนอกที่ดูเรียบง่ายและสง่างามตามลักษณะงานสถาปัตยกรรมไม้แบบโบราณขั้นสูงท่ามกลางพื้นที่โดยรอบที่เป็นป่าที่มีต้นสนซีดาร์ขนาดใหญ่มากมายที่สัมผัสได้ถึงความสดชื่นจากอากาศบริสุทธิ์ที่รายล้อมตัวเรา

ความเขียวขจีของต้นไม้โดยเฉพาะมอสที่เกาะบริเวณโคนต้นที่ดูสดใส ชวนให้อยากเดินเข้าไปใกล้ๆ เพื่อถ่ายรูป ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ทําให้ชอบใช้กล้อง Ricoh GR ตรงที่มีความคล่องตัวสูง ทําให้เข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายตามที่เราต้องการในทันที แถมยังได้ภาพถ่ายที่มีคุณภาพดีอีกด้วย ซึ่งที่ได้เข้าไปใกล้ๆ ต้นไม้ทําให้เราได้มีโอกาสพิจารณาธรรมชาติมากขึ้น และได้สูดอากาศบริสุทธิ์สดใสที่ต้นไม้ผลิให้กับเรา

ก่อนที่เราจะได้มาที่นี่จริงๆ แม้จะรู้ว่าศาลเจ้ามีอาณาบริเวณกว้างใหญ่มีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย แต่ความรู้สึกก็ยังว่างเปล่าเพราะยังไม่เคยมาสถานที่จริง ดังนั้นพอเราได้มาถึงที่นี่การได้สัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองจึงเติมเต็มความรู้สึกเราได้อย่างแท้จริง ซึ่งก็ไม่ต่างจากที่เรารู้สึกกับกล้อง Ricoh GR แม้จะบอกว่ากล้องนี้ถ่ายรูปสนุกขนาดไหน หรือมีคุณภาพที่ดียอดเยี่ยมแค่ไหน หากยังไม่เคยมีโอกาสได้ใช้กล้องจริงๆ ก็ยากจะเข้าใจในประสิทธิภาพ และปรัชญาของ Ricoh GR กล้องอินดี้สัญชาติญี่ปุ่นตัวนี้ได้ว่ามีดีตรงไหนถึงได้รับความนิยมจากนักถ่ายภาพทั่วโลก และมีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 30 ปี

อย่างไรก็ตามประสบการณ์ก็คือ ความทรงจําที่ไม่มีวันหายไป ยิ่งมีภาพถ่ายเป็นไดอารี่ด้วยก็ยิ่งเติมความรู้สึกประทับใจเข้าไปอีก เราคิดว่าการเดินทางที่สนุกมีองค์ประกอบหลายอย่าง แม้สถานที่จะสวยงาม แต่หากไม่มีกล้องคู่ใจที่ทําให้เราได้ภาพสวยๆ กลับมาเป็นที่ระลึกก็คงน่าเสียดายไม่น้อย และ Ricoh GR คือคําตอบของเรา เพราะสร้างความรู้สึกที่ดียามที่ได้ใช้งาน ทําให้เรามีความสุขกับการถ่ายรูปช่วยเราเก็บภาพความทรงจําเหล่านี้ และยังแชร์ให้กับคนอื่นๆ ให้ได้รับความสุขไปกับเราด้วย

ตอนที่เราได้เข้าไปยืนใกล้ๆ ต้นไม้ต้นหนึ่งได้เห็นผิวของต้นไม้เป็นเปลือกไม้ที่มีลวดลายสวยงามมากก็เลยถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก และเมื่อถ่ายรูปที่ต้นไม้เสร็จ พอมองลงที่พื้นก็เห็นใบไม้บนก้อนกรวดพอดีก็เราชอบก้อนกรวดที่ญี่ปุ่น เพราะรู้สึกว่ามีสีสันที่สวยงามและน่ารักดี เลยอดไม่ได้ที่จะเก็บภาพกลับมา

คงเพราะที่นี่มีลักษณะของป่าที่มีต้นไม้ใหญ่มากมายก็เลยทําให้เราพบ ไลเคน (Lichen) พืชโบราณที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ก่อนที่จะมีการวิวัฒนาการเกิดพืชชั้นสูงหรือพืชมีดอก ไลเคนมีลักษณะเป็นแผ่น (Crustose) โดยมีด้านที่จะแนบสนิทกับเปลือกไม้หรือวัตถุที่เกาะอยู่ ทั้งนี้ไลเคนเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ด้วย เพราะไลเคนไม่สามารถเจริญเติบโตได้ในที่ที่มีมลพิษ เนื่องจากไม่มีชั้นผิวป้องกันตัวได้ ดังนั้นจึงพบไลเคนที่ขึ้นตามเปลือกผิวต้นไม้หรือก้อนหินที่อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์เท่านั้น ซึ่งที่ศาลเจ้าอิเสะเราจะเห็นไลเคนตามผิวต้นไม้มากมายรวมทั้งมอสชนิดต่างๆ อีกด้วย ใครชอบปลูกมอสที่นี่มีให้ดูเยอะเลย

ท้องฟ้าสวยมากวันนี้สีเข้มสดใสเป็นวันที่เหมาะมากสําหรับการมาเดินเที่ยวชมศาลเจ้าอิเสะ และเรากำลังจะออกจากที่ศาลเจ้าชั้นนอกเพื่อไปยังศาลเจ้าชั้นใน ที่ห่างออกไประยะทาง 6 กิโลเมตร ซึ่งมีรถเมล์วิ่งให้บริการอยู่ เราจึงไปรอที่ป้ายรถเมล์หมายเลข 2 และนั่งรถไม่นานก็มาถึงส่วนของศาลเจ้าอิเสะชั้นใน

 

Imperial Shrine (Naiku) : ศาลเจ้าอิเสะ (ชั้นใน) มีประวัติความเป็นมากว่า 2,000 ปี

“ ศาลเจ้าอิเสะ (ชั้นใน) ที่สถิตแห่ง Amaterasu Omikami
เทพีแห่งดวงอาทิตย์ที่เคารพนับถือว่าเป็นต้นกําเนิดราชวงศ์ญี่ปุ่น ”

ตั้งแต่อดีต Amaterasu Omikami ได้รับการบูชาอยู่ในพระราชวังอิมพีเรียลโดยจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ซึ่งจะมีสัญลักษณ์ตัวแทนในการเคารพบูชา และส่งต่อกันเมื่อมีการสืบทอดอํานาจด้วยสิ่งของ 3 อย่าง ได้แก่ เครื่องประดับอัญมณี ดาบ และกระจกศักดิ์สิทธิ์ทรงกลมที่ถือเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนสําคัญของเทพีอามาเทราสึ (Amaterasu) ในรัชสมัยของจักรพรรดิองค์ที่ 10 พระนามว่า ซุยจิน (Sujin) ได้มีการย้าย Holy Mirror หรือกระจกศักดิ์สิทธิ์นั้นออกมาจากพระราชวังอิมพีเรียล และต่อมาในสมัยจักรพรรดิ ซุยนิน (Suinin) องค์ที่ 11 ได้มีรับสั่งให้เจ้าหญิงยามาโตฮิเมะ โนะ มิโคโตะ (Yamatohime-no-mikoto) แสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อประดิษฐาน และสักการะเทพีอามาเทราสึอย่างถาวร ซึ่งมีตํานานเล่าขานว่า เจ้าหญิงใช้เวลาในการแสวงหานานถึง 20 ปี จนเสด็จมาถึงบริเวณที่ตั้งของศาลเจ้าอิเสะในปัจจุบันก็ได้ยินเสียงกระซิบจากเทพีอามาเทราสึกล่าวว่า โปรดปรานสถานที่แห่งนี้ เพราะมีความเงียบสงบร่มรื่นดี และให้จัดสร้างศาลเจ้าขึ้นที่นี่ ดังนั้นเพื่อถวายความศรัทธาแด่เทพีอามาเทราสึหรือเทพีแห่งพระอาทิตย์ จึงได้มีการก่อสร้างขึ้นเมื่อ 4 ปีก่อนคริสตกาล หรือตรงกับ พ.ศ. 539 นับเป็นระยะเวลานานกว่า 2,000 ปีแล้ว ศาลเจ้าอิเสะชั้นในเป็นศาลเจ้าที่มีความสําคัญต่อราชวงศ์ญี่ปุ่นและชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

จากตํานานความเชื่อต่างๆ ตอนนี้เรากลับมาสู่ทริปการเดินทางของเรากันดีกว่า สําหรับการไปศาลเจ้าอิเสะ นอกจากธรรมเนียมการสักการะที่ให้ไปที่ศาลเจ้าชั้นนอกก่อนมาศาลเจ้าชั้นใน ในส่วนการเข้าไปสักการะศาลเจ้าชั้นในก็มีธรรมเนียมปฎิบัติกันอยู่เหมือนกันก็คือ ให้เข้าไปศาลเจ้าชั้นใน โดยให้เดินเข้าไปทางถนนโอฮาไรมาจิ (Oharai-machi) กับตลาดโอคาเกะ (Okage-yokocho) ตามแบบอย่างในสมัยโบราณ เนื่องจากที่นี่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้คนที่เดินทางมาสักการะศาลเจ้าได้มีจุดแวะพักหรือรับประทานอาหารก่อนเข้าสู่ศาลเจ้าชั้นใน แต่ถ้าใครที่มีเวลาน้อยจะเลือกวิธีเดินทางที่สะดวกก็น่าได้เช่นกัน ส่วนเราก็อดไม่ได้ที่อยากทําตามแบบฉบับเดิม การเดินผ่านถนนโอฮาไรมาจิ โดยพยายามไม่หยุดแวะใช้เวลากับร้านค้าต่างๆ ก่อนมากนัก แม้จะตัดใจจากร้านค้าต่างๆ ได้ยาก แต่เราก็พยายามทำเวลาให้ได้ตามที่ตั้งใจว่าจะเข้าไปสักการะศาลเจ้าชั้นในก่อนแล้วค่อยกลับมาที่นี่ เพื่อใช้เวลาแบบชิลล์ๆ สบายๆ ในตอนท้ายน่าจะดีกว่า และอีกอย่างเมื่อวานเราก็แวะมาเดินเล่นไปรอบหนึ่งแล้วด้วย ซึ่งวันนี้เรามีเวลาอยู่ที่อิเสะถึงแค่ช่วงบ่ายๆ เพราะต้องเดินทางกลับนาโกย่า (Nagoya) แล้ว !

วันนี้อากาศสดใสต่างจากเมื่อวานที่ฝนตกทั้งวัน ทําให้มีนักท่องเที่ยวมาเดินที่ Oharai-machi และ Okage-yokocho กันมากมายจริงๆ

จากถนนโอฮาไรมาจิก็มาถึงทางเข้าศาลเจ้าชั้นใน จะเห็นเสาโทริอิขนาดใหญ่ที่ดูเรียบง่ายแต่สง่างาม ซึ่งเมื่อลอดผ่านไปก็จะพบกับสะพานอุจิบาชิ (Ujibashi) ความยาวประมาณ 100 เมตร ที่พาดข้ามแม่น้ําอิซูซุ (Isuzu River) ซึ่งเป็นไปตามหลักความเชื่อของชินโตเกี่ยวกับการเดินข้ามสะพานที่มีน้ําอยู่ด้านล่าง ซึ่งถือว่าเป็นการชําระล้างเพื่อความบริสุทธิ์ก่อนเข้าพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสําหรับสะพานอุจิบาชิที่ถือกันว่าเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับแดนสวรรค์ เพราะศาลเจ้าชั้นในเป็นที่สถิตย์ของเทพีสูงสุดอามาเทราสึ !

ทุกคนที่เดินมาถึงทางเข้าศาลเจ้าก็จะหยุดเพื่อชื่นชมความงามของ Ise Torii ที่มีความพิเศษที่เป็นสีไม้ตามธรรมชาติ ซึ่งการออกแบบก่อสร้างงานทุกอย่างของที่นี่จะมีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Ise Jingu

แม่น้ํา Isuzu (อิซูซุแปลว่า กระดิ่ง 50 อัน) ชื่อของแม่น้ำตั้งชื่อตามจํานวนกระดิ่ง 50 อัน ที่ใช้เป็นเครื่องชี้จุดตอนที่จะสร้างศาลเจ้าอิเสะ แม่น้ํานี้มีขนาดลําน้ําที่กว้างใหญ่ และวิวทิวทัศน์ที่งดงามมาก

เมื่อข้ามสะพานมาแล้วก็จะพบกับอาณาบริเวณที่มีต้นไม้ใหญ่ สวนญี่ปุ่นที่มีต้นซากุระและต้นบ๊วย เมื่อเดินเข้ามาก็เห็นว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกําลังถ่ายรูปอยู่ เราก็เลยเดินไปร่วมวงกับเขาด้วย ซึ่งการได้มีโอกาสเห็นดอกไม้สวยๆ ทั้งที่ยังไม่เข้าสู่ฤดูกาลจริงๆ จะรู้สึกดีใจและตื่นเต้น เพราะเหมือนเป็นความโชคดีในสิ่งที่เราไม่ได้คาดหวัง แต่กลับได้รับมา ทำให้วันนี้เป็นวันที่พิเศษมากขึ้นไปอีก

จะเห็นว่ามีธงญี่ปุ่นโบกสะบัดอยู่ ศาลเจ้าแห่งนี้มีความสําคัญต่อราชวงศ์และประเทศญี่ปุ่นมาก

เมื่อเดินต่อไปสักพักก็จะเจอกับ Temizusha ที่สําหรับล้างมือและปาก สําหรับชําระล้างเพื่อความบริสุทธิ์ก่อนเข้าไปสักการะศาลเจ้าหลัก แต่ถ้าเดินต่อไปอีกหน่อยไม่ไกลนักจะมีทางไปยังริมแม่น้ําอิซูซุ ก็จะมีตลิ่งที่เราสามารถลงไปล้างมือและปากแทน Temizusha ได้เหมือนกับที่ผู้แสวงบุญในสมัยก่อนใช้และมีความเชื่อกันว่าแม่น้ําอิซูซุนั้นมีความศักดิ์สิทธิ์สามารถใช้ชําระล้างเพื่อความบริสุทธิ์ได้

เมื่อเดินไปที่ตลิ่งริมแม่น้ำอิซูซุก็มีผู้คนพอสมควรที่เข้ามาในบริเวณนี้ซึ่งเป็นจุดที่มีวิวรอบๆ สวยงามมาก มีความร่มรื่น สังเกตต้นไม้ที่ยังพอเหลือสีสันของใบไม้เปลี่ยนสีทําให้คิดว่าถ้ามาตรงช่วงฤดูกาลพอดีที่นี่คงสวยมากเลย แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามเมื่อรวมกับบรรยากาศโดยรอบก็รับรู้ถึงความสงบที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ และสายน้ําที่ไหลไปตามลําน้ําที่มีความสวยงาม เมื่อลองตวัดน้ําล้างมือก็สัมผัสกับความเย็นใสที่สร้างความสดชื่นขึ้นในทันที หากนี่คือพิธีกรรมของการชําระล้างเพื่อความบริสุทธิ์ ก็คิดว่าเราได้บรรลุผลนั้นแล้วโดยดุษฎี

ที่จริงบริเวณนี้มีร่มเงาจากต้นไม้ใหญ่ๆ รายล้อม ทําให้การเก็บภาพที่จะให้เห็นรายละเอียดต่างๆ อาจจะยากหน่อยเพราะหากต้องการบรรยากาศที่สะท้อนความร่มรื่นภาพก็ควรมีความมืดสว่างไปตามที่เป็นจริง แต่โชคดีที่เราใช้กล้อง Ricoh GR ที่มีชื่อเสียงที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถเก็บรายละเอียดของโทนแสง และเงาของภาพได้ดีมากอยู่แล้ว ภาพที่ได้จึงถูกใจเสมอ และจากตรงที่ยืนอยู่เราก้มมองลงที่สายน้ํา เห็นแสงแดดที่ลอดผ่านร่มเงาไม้ใหญ่ลงมาไปกระทบกับก้อนหินที่อยู่ใต้ผิวน้ํา แสงแดดได้ช่วยดึงสีสันของก้อนหินที่มีอยู่ให้โดดเด่นสดใสขึ้นมาจากเงามืดเป็นภาพที่รู้สึกสวยงามมาก และเมื่อเรารู้สึกถึงความงดงามบางอย่างเราย่อมอยากจะบันทึกภาพไว้แต่ว่า… แม้ว่าน้ำในแม่น้ำจะใสมาก แต่ก็มีสายลมพัดที่ทําให้เกิดระลอกคลื่นบนผิวน้ำ การบันทึกภาพความงามจากธรรมชาติที่เรียบง่ายเช่นนี้ไม่ง่ายอย่างที่ตาเห็น ดังนั้นอุปกรณ์ที่เราใช้จึงเป็นตัวช่วยที่สําคัญมากที่สุด ! แน่นอนว่ากล้อง Ricoh GR ก็ทําให้เราได้ภาพตามที่เราต้องการเช่นเคย แม้จะเป็นกล้องคอมแพคขนาดเล็กๆ แต่กลับมีประสิทธิภาพที่ดี และใหญ่เกินตัวไปมาก

เราใช้เวลาในการถ่ายรูปและสัมผัสความเงียบสงบที่ริมแม่น้ำสักพัก จากนั้นเราก็เดินต่อไปตามเส้นทางที่เมื่อยิ่งเดินลึกเข้าไปก็ยิ่งสัมผัสถึงความร่มรื่น มีต้นไม้ขนาดใหญ่มากมาย โดยเฉพาะต้นสนแต่ละต้นที่สวยงาม ตลอดเส้นทางก็จะสัมผัสได้ถึงอากาศที่บริสุทธิ์สดใส แม้ที่นี่จะกว้างใหญ่การเดินทางเท้าเข้าไปด้านในก็มีระยะทางไกลพอสมควร แต่เราไม่รู้สึกเหนื่อยเลย กลับมีความสุขกับการเดินไป Snap ภาพไปด้วยอย่างรื่นรมย์

ในที่สุดเราเดินมาถึงอาคารหลักของศาลเจ้าอิเสะชั้นในที่สถิตย์แห่งเทพีอามาเทราสึ ซึ่งจะมีบันไดทางขึ้นที่สร้างจากก้อนหิน เมื่อเดินขึ้นไปแล้วก็เช่นกันทุกคนสามารถไปได้ถึงเพียงชั้นด้านนอกของอาคารเท่านั้น และเราเมื่อเดินลอดผ่านเสาโทริอิเข้าไปแล้วก็จะเป็นส่วนบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป ซึ่งจะว่าไปเราคิดว่าก็เป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะการไม่ให้ถ่ายรูปทําให้มีความสงบ ซึ่งช่วยให้เราสามารถซึมซับสิ่งที่เราเห็น และสัมผัสตรงหน้าได้ดีถือเป็นการให้ความเคารพต่อสถานที่ ที่นับถือว่าเป็นเขตแดนอันศักดิ์สิทธิ์

หลังจากที่สักการะเสร็จเรียบร้อย เราก็เดินชมบริเวณในส่วนของศาลเจ้าชั้นใน ซึ่งมีต้นไม้ขนาดใหญ่อยู่มาก มีความร่มรื่น อากาศดีบริสุทธิ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นต้นสนซีดาร์ที่มีอายุเป็นร้อยๆ ปีขึ้นไป เราสามารถเดินเข้าไปโอบกอดต้นไม้ได้ด้วยเหมือนการได้รับการส่งต่อพลังธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่นี้ อากาศที่รายล้อมตัวเราก็เสมือนพลังงานบริสุทธิ์ที่ช่วยผ่อนคลายจิตใจ และเมื่อเราใช้กล้อง Ricoh GR บันทึกภาพเป็นเตัวแทนความรู้สึกที่เมื่อใดก็ตามที่เรากลับมาดูรูปเหล่านี้ก็ช่วยให้เราย้อนรําลึกถึงได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

เราใช้ระบบมาโครประสิทธิสูงของกล้อง Ricoh GR เก็บความงดงามของต้นสนซีดาร์ที่ผ่านกาลเวลามาเป็นร้อยๆ ปีจนเกิดเป็นลวดลายของเปลือกไม้ที่สวยงาม

สภาพแวดล้อมของป่าขนาดใหญ่ที่สร้างอากาศบริสุทธิ์ทําให้เราพบเห็นไลเคนที่ขึ้นเกาะอยู่ตามต้นไม้ที่มีรูปลักษณ์ที่น่าสนใจ… ทําให้นึกอยากเก็บภาพลวดลายของไลเคนไว้

ไลเคน คือ สิ่งมีชีวิตที่เกิดจากเชื้อรา (Fungus) และสาหร่าย (Algae) มาอยู่รวมกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน (Mutualism) และดํารงอยู่ได้เฉพาะสถานที่ที่มีความเหมาะสมขององค์ประกอบหลักตามธรรมชาติจึงทําให้ไลเคนเป็นตัวชี้วัดคุณภาพอากาศทางชีวภาพได้ด้วย เพราะไลเคนมีความไวต่อมลพิษทางอากาศ…

ไลเคนจะขึ้นกระจายหรือจับตัวเป็นกลุ่มๆ ตามลําต้นของต้นไม้ที่เห็นมีกลุ่มไลเคนที่น่าสนใจขึ้นในตําแหน่งที่อยู่ที่สูงหน่อย ซึ่งเราโชคดีที่กล้อง RICOH GR ขนาดตัวเล็กและเบา (แต่แข็งแรงเพราะทําจากวัสดุแมคนีเซียมอัลลอยด์) ก็เลยทําให้เราสามารถชูมือที่ถือกล้องขึ้นถ่ายมาโครไลเคนใกล้ๆ ได้ตามที่ต้องการได้แถมยังได้ภาพไลเคนที่คล้ายรูปหัวใจ 2 ดวงที่เชื่อมต่อกันมาด้วย

ภาพไลเคนนี้ราวกับจะบอกเราว่า “ไลเคนก็เหมือนความรัก” เมื่อราและสาหร่ายที่มีความแตกต่างกัน มาจับคู่อยู่ร่วมด้วยกันก็มีการปรับตัวพึ่งพาอาศัย และดูแลกัน ซึ่งต่างก็มีหน้าที่ความรับผิชอบของตน อย่างเช่น ราเปรียบเสมือนบ้านที่ช่วยป้องกันภัยให้ความชุ่มชื้นกับสาหร่ายที่รากมายึดเกาะ ส่วนสาหร่ายที่สามารถสังเคราะห์แสงสร้างอาหารได้ก็ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงตนเองและราไปด้วยพร้อมกัน ดังนั้นไลเคนรูปหัวใจนี้เลยเหมือนภาพสะท้อนความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นของทั้งคู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกันไปตลอด และไม่อาจจะขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไปได้

แม้จะเสียดายที่ได้เวลาต้องออกจากศาลเจ้าอิเสะแล้ว เพราะเราจะไปต่อที่ถนนโอฮาไรมาจิ และระหว่างทางที่เดินกลับออกไปก็พบกลุ่มเด็กๆ นักเรียนมาทัศนศึกษาสวมหมวกสีเหลืองดูร่าเริงสดทีเดียวก็เลยยกกล้อง Ricoh GR ขึ้นมา Snap เก็บภาพความน่ารักนี้ไว้สักหน่อย

 

Oharai-machi และ Okage-yokocho

จากบริเวณศาลเจ้าชั้นใน เราเดินกลับเข้ามายังถนนโอฮาไรมาจิ ที่ตลอดแนวถนนจะมีร้านค้ามากมาย และร้านอาหารที่เราหมายตาไว้ก็อยู่ตรงหน้าพอดี ร้านนี้มีเมนูน่าสนใจหลากหลาย เราเลือกที่จะสั่งเมนูพิเศษของร้านที่มีกุ้งอิเสะชุบแป้งทอดรวมอยู่ในชุดด้วย

ก่อนอาหารจะมาเสิร์ฟเราก็ Snap บรรยากาศภายในร้านที่เป็นลักษณะบ้านเรือนไม้แบบเก่าย้อนยุค ซึ่งที่จริงร้านค้าและอาคารในถนนย่านนี้มีความคลาสสิคดูสวยงาม ใครที่ชอบความเป็นญี่ปุ่นๆ แบบโบราณก็คงหลงรักสถานที่นี้ได้ไม่ยากเหมือนเราเช่นกัน

เก้าอี้สําหรับเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุที่อาจจะไม่สะดวกในการนั่งกับพื้นราบ ซึ่งก็เป็นการบริการที่รู้สึกได้ถึงความใส่ใจในรายละเอียดต่างๆ ได้ดีรู้สึกประทับใจก็เลยบันทึกไว้เป็นไดอารี่ภาพ

อาหารที่สั่งก็เสิร์ฟมาเป็นแบบถาดไม้ไผ่สานทรงกลมอย่างที่เห็น มีอาหารหลายอย่าง พร้อมกุ้งชุปแป้งทอดด้วย แม้ว่าขนาดกุ้งจะไม่ใหญ่แบบในเรื่อง “The Chef of South Pola” หรือเหมือนของร้าน “Kagetu” ที่เราไปดินเนอร์มาเมื่อคืนนี้ที่เราได้ลิ้มลองกุ้งมังกรอิเสะชุปแป้งทอดในแบบเทมปุระ และแม้ว่าเชฟของร้านมีฝีมือในการทําแป้งได้บางกรอบอร่อยมาก แต่เรายังไม่ได้ชิมกุ้งชุปเกล็ดขนมปังทอดที่เป็นเมนูจากภาพยนตร์ที่เราประทับใจจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจมาเที่ยวที่อิเสะในครั้งนี้ พอที่ร้านมีเมนูนี้ก็เลยทําให้มื้อนี้ได้ปิดท้ายทริปอย่างสมบูรณ์แบบสําหรับเรา

(สามารถย้อนอ่านเรื่องราวของแรงบันดาลใจของการมาเยือนเมืองอิเสะได้ที่ลิงค์ด้านล่างบทความนี้)

หลังจากที่อิ่มอร่อยไปกับเมนู และบรรยากาศสไตล์ท้องถิ่นรวมทั้งอัธยาศัยที่ดีมีน้ําใจของพนักงานที่ร้านที่เราชื่นชมแล้ว เราก็พอมีเวลาเดินเที่ยวในย่านนี้ต่อกันอีกหน่อย ซึ่งเป็นถนนที่มีร้านค้าน่าสนใจมากมาย วันนี้เหมาะกับการเดินเล่นเที่ยวมากๆ เพราะท้องฟ้าแจ่มใสดีแม้อากาศจะค่อนข้างหนาว แต่ก็มีแสงแดดที่ทําให้รู้สึกอบอุ่นขึ้น

ถ้าไม่มีภาพจากกล้อง Ricoh GR เราก็คงลืมไปแล้วแต่พอเห็นรูปนี้ก็นึกได้ว่า ตอนที่เราเดินผ่านหนุ่มๆ กลุ่มนี้ที่มายืนออกันที่หน้าร้านๆ หนึ่ง ทีแรกนึกว่ามาซื้ออะไรกันเป็นร้านยอดฮิตหรือเปล่า เราเลยยืนสังเกตการณ์เพราะอยากรู้ว่าขายอะไรนะเผื่อว่าน่าสนใจหรือดูน่าอร่อย แต่ปรากฎว่าจริงๆ แล้วมีคนหนึ่งในกลุ่มนี้มาจีบสาวที่เป็นพนักงานขายก็เลยเหมือนมีเพื่อนๆ กองเชียร์มาช่วยลุ้น และเสียดายที่เราต้องรีบกลับก็เลยอดลุ้นต่อให้จบว่าจะ Happy Ending หรือเปล่านะ

เราเดินทางกลับนาโกย่าจากสถานีรถไฟอิเสะชิ (Iseshi Station) ด้วยรถไฟด่วน Vita Cas ของ Kintetsu เหมือนตอนขามาเช่นเคย ซึ่งใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงก็ถึงสถานีรถไฟนาโกย่า (Nagoya Station) และเราพักที่โรงแรมใกล้ๆ สถานีเพื่อความสะดวกในการเดินทางต่อในวันพรุ่งนี้ที่เราจะไปยังหมู่บ้านเมืองมรดกโลกชิราคาวาโกะ (Shirakawa-go) ด้วยรถบัสที่ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมง

ยิ่งเจอโควิด-19 ที่ทําให้เราเดินทางไม่ได้ก็ยิ่งรู้สึกว่าโชคดีที่เราบันทึกภาพไดอารี่ของเรามาตลอด เพราะใครจะรู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นเช่นใด การได้นั่งดูรูปและเล่าเรื่องราวต่างๆ ก็ทําให้คลายความคิดถึงญี่ปุ่นได้อยู่เหมือนกันนะ แม้ว่าบางจังหวะก็รู้สึกว่าอยากออกเดินทางไปญี่ปุ่นแล้วนะ อยากกลับไปยังที่ๆ ประทับใจ และสถานที่ใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน หากโอกาสมาถึงเราตั้งใจว่าจะพกกล้อง Ricoh GR ให้ผู้ร่วมทางได้ Snap ภาพด้วยจะได้ช่วยกันบันทึกภาพเป็นไดอารี่ เพื่อความทรงจําที่ดีของเราตลอดไป

ส่วนตอนนี้ได้ยินว่า Ricoh GR มีรุ่นสีพิเศษ คือ GRIII SE เราก็เลยถือโอกาสซื้อกล้อง Ricoh GR อีกตัวให้ผู้ร่วมทางคนพิเศษไปทําความคุ้นเคย ถือเป็นการซ้อมมือเตรียมไว้ก่อน พอถึงเวลาสําคัญที่ได้ออกเดินทางกันอีกครั้งก็จะสนุกกับการ Snap ด้วยกล้อง Ricoh GR ได้ทันที

และก่อนจากกันวันนี้เราอยากแชร์ร้านอาหารที่ไปชิมแล้วประทับใจมากๆ เผื่อเป็นไอเดียสําหรับใครที่แวะพักแถวสถานีรถไฟนาโกย่าแบบเรา ซึ่งหากจะเดินทางไปเที่ยวในแถบนี้การเลือกพักในบริเวณสถานีรถไฟนี้น่าสนใจ เพราะที่นี่เป็นจุดที่เชื่อมต่อการเดินทางที่สะดวกมากๆ ทริปนี้เรามีเวลาที่นาโกย่าน้อยเพราะใช้เวลาในการจัดการตั๋วเดินทางต่างๆ มากกว่าเลยไม่มีเวลาที่จะไปสํารวจในส่วนอื่นๆ ของเมืองเท่าใดนัก ได้แต่หวังว่าจะมีโอกาสกลับมาอีก ซึ่งการได้ไปเจอร้านอาหารที่ถูกใจอย่างไม่คาดคิดก็ถือเป็นประสบการณ์ที่โชคดีสําหรับเรา

NAGOYA IMAIYA ร้าน Yakitori หรือไก่ย่างเสียบไม้ที่เลือกใช้ไก่บ้านสายพันธุ์ฮินาอิ (Hinai) จากจังหวัดอาคิตะ (Akita) ที่มีรสชาติดีและปรุงโดยพ่อครัวมืออาชีพที่ฝึกฝนมาแบบเฉพาะทางที่เรียกว่า Ultimate Yakitori ซึ่งหลังจากได้ลิ้มลองแล้วเราติดใจรสชาติอาหารของร้านนี้ที่ทําออกมาได้ดีมากๆ และเมนูที่เราอดรู้สึกทึ่งไม่ได้ก็คือ เนื้อไก่ส่วนอกเสียบไม้ย่าง เพราะปกติเป็นเมนูที่ไม่ชอบ แต่ก็เป็นเนื้อไก่ส่วนที่ตัดสินฝีมือและคุณภาพของเนื้อไก่ได้ดีเช่นกัน สําหรับเมนูนี้ก็เป็นเมนูแนะนําของร้านด้วย เราก็เลยต้องลองสักหน่อย…

เมื่อได้ลองแล้วก็รู้สึกติดใจ เพราะรสชาติดีโดยเฉพาะฝีมือการปรุงที่ทําให้เนื้อไก่ส่วนอกมีความชุ่มฉ่ำ และหนังไก่ที่ย่างออกมาได้กรอบให้รสสัมผัสที่ดี โดยเฉพาะเมื่อรวมเป็นคําเดียวกันก็ยิ่งสร้างความอร่อยล้ําจนต้องสั่งเมนูนี้ซ้ำอีกหลายรอบ !

นอกจากยากิโทริที่ร้านยังมีเมนูอื่นๆ ที่ใช้ไก่เป็นส่วนประกอบหลักอีกมากมาย คิดว่าถ้ามีโอกาสจะกลับไปลองชิมเมนูอื่นๆ อีก

สรุปสําหรับทริปนี้ ! แม้จะเกิดขึ้นเพราะอยากตามหาและลิ้มลอง ISE-EBI หรือ กุ้งมังกรอิเสะก็เลยวางแผนการเดินทางมา อีกทั้งถือโอกาสท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ที่ดูน่าสนใจสําหรับเราไปด้วย ซึ่งเราเลือกพักที่เมืองนาโกย่า เพราะเป็นจุดเชื่อมต่อในการเดินทางได้สะดวก สามารถเดินทางโดยรถไฟไปเมืองโทบะที่จองร้านอาหารไว้สําหรับการลิ้มลองกุ้งมังกรอิเสะ และยังได้ไปสักการะ Ise Jingu ที่ยิ่งใหญ่ของเมืองอิเสะ นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้พบร้านอาหารใหม่ๆ ที่อร่อยถูกใจเพิ่มขึ้น ทําให้อดคิดไม่ได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้นมาจากความเชื่อมโยงกัน และทําให้เราได้รับประสบการณ์ต่างๆ จากความเกี่ยวเนื่องกันนี้ซึ่งรวมไปถึงการมีกล้อง Ricoh GR คุณภาพสูงที่ถ่ายภาพได้อย่างสนุกถูกใจ ทําให้เราอยากถ่ายรูปมากขึ้นก็เลยกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้เราอยากออกไปเที่ยว เพื่อจะได้ถ่ายรูป และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ

สำหรับช่วงสถานการณ์ Covid-19 ที่ทําให้ไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ บางครั้งก็มีช่วงเวลาที่รู้สึกทรมานใจกับการรอคอยโอกาสที่จะกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง และอยากหาตัวช่วยที่จะบรรเทาอาการ #คิดถึงญี่ปุ่น ซึ่งพอได้กลับมาดูรูปถ่ายต่างๆ มากมายจากทริปที่ผ่านมาแล้วก็รู้สึกขึ้นมาว่า “โชคดีจัง” ที่เรามีกล้อง Ricoh GR ที่ถ่ายรูปสวย และตอบโจทย์ความคล่องตัว ทําให้เราสามารถบันทึกภาพตลอดเวลาที่ต้องการ ซึ่งก็เลยกลายเป็นไดอารี่ภาพถ่ายที่เก็บทุกรายละเอียดของการเดินทางของเราไว้ได้ และเมื่อเวลาที่ได้ดูรูปแต่ละใบที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกได้ดีนั้น ก็เหมือนทําให้เราได้กลับไปสัมผัสบรรยากาศของญี่ปุ่นนั้นอีกครั้ง ซึ่งช่วยให้คลายความคิดถึงญี่ปุ่นได้อยู่เหมือนกันนะ

เรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจของการมาเยือนเมืองอิเสะ สามารถย้อนอ่านได้ที่: www.kiji.life/ricoh-gr-ise-ebi-trip/

ข้อมูลเพิ่มเติม
ศาลเจ้าอิเสะ: www.isejingu.or.jp
ร้าน Nagoya Imaiya: www.dd-holdings.jp

กล้อง Ricoh GRIII รุ่น Special Edition ที่เรารอพกไปญี่ปุ่นคราวหน้า ใครสนใจตามไปดูกันได้ที่นี่: 
www.eastenterprise.net/ricoh-gr-se-ft001.html

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ