3 สิ่ง ‘ควร’ ทำเมื่อมาญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ร่วง…
สารบัญ
Autumn is for…
3 สิ่งที่ ‘ควร’ ทำเมื่อมาญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ร่วง…
ฤดูใบไม้ร่วงของญี่ปุ่นคือ ช่วงเดือนตุลาคมจนถึงประมาณต้นเดือนธันวาคม เป็นฤดูที่ธรรมชาติเปลี่ยนสีจากสีเขียวของหน้าร้อน เป็นสีแดง ส้ม เหลือง น้ำตาล เดินไปไหนก็ชวนให้นึกว่าเราเป็นตัวละครเอกในภาพยนตร์ Autumn Sonata อากาศเย็นกำลังสบาย แต่งหน้าแล้วไม่ละลาย บรรยากาศโรแมนติก เหมาะกับการออกไปนอกเมืองเพื่อถ่ายรูปกับใบไม้สีแดง สัมผัสธรรมชาติที่สวยเหมือนภาพวาด และทำกิจกรรมพร้อมหาของกินอร่อยๆ ที่เป็นของเฉพาะฤดูกาล
มาดูกันว่าคนญี่ปุ่นเขาทำอะไรกันในฤดูใบไม้ร่วง..
1. ออกนอกเมืองไปชมใบไม้เปลี่ยนสี หรือที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า โคโย (紅葉)
ถึงเราจะสามารถเห็นใบไม้เปลี่ยนสีได้เป็นหย่อมๆ ตามถนนหนทางในเมือง แต่มันเทียบไม่ได้การถูกโอบล้อมด้วยธรรมชาติสีแดงๆเหลืองๆ 360 องศา พร้อมสูดอากาศบริสุทธิ์ โดยแต่ละที่ในญี่ปุ่นจะมีเวลาที่ใบไม้เปลี่ยนสีไม่เหมือนกัน ถ้าไปทางเหนือแถวๆ ฮอกไกโด ใบไม้จะเริ่มเปลี่ยนสีก่อนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม สำหรับโตเกียวและเกียวโต ใบไม้จะเริ่มเปลี่ยนสีช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน เต็มที่จริงๆ ก็ช่วงปลายเดือนไปจนถึงต้นเดือนธันวาคม สำหรับตารางที่บอกช่วงเวลาใบไม้เปลี่ยนสีในที่ต่างๆ ของปีนั้น สามารถดูได้จาก Autumn Color Report ช่วยให้มั่นใจว่าจะได้เห็นใบไม้เปลี่ยนสีในที่ๆ จะไปแน่ๆ
สำหรับคนที่จะมาเมืองใหญ่อย่างโตเกียว แล้วคิดว่าไม่มีเวลาออกนอกเมือง ก็ยังสามารถเห็นใบไม้เปลี่ยนสีได้ตามสวนสาธารณะใหญ่ๆ ที่แนะนำก็มี สวนโยะโยะงิ (Yoyogi Park) ใกล้ๆ กับศาลเจ้าเมจิจิงกุ (Meiji Jingu) สวนชินจุกุเกียวเอ็ง (Shinjuku Gyoen) และสวนริกุงิเอ็ง (Rikugien Garden)
สำหรับคนที่จะไปแถวเกียวโตนี่แทบจะหาดูใบไม้เปลี่ยนสีได้ทุกที่ โดยเฉพาะที่วัดคิโยะมิสุเดระ (Kiyomizu Temple) หรือที่คนไทยเรียกว่า “วัดน้ำใส”
2. กินอาหารฤดูใบไม้ร่วง
ไหนๆ มาญี่ปุ่นทั้งที แถมเป็นฤดูที่มีของพิเศษประจำฤดูออกมามากมาย เราก็ควรจะแอ๊บกินอาหารตามฤดูแบบเจ้าถิ่นดูบ้าง ว่ากันว่าการใช้ชีวิตตามฤดูกาล โดยการกินของที่มีมากในฤดูนั้น จะทำให้เราแข็งแรง เพราะเป็นการใช้ชีวิตที่สอดคล้องกับวงจรธรรมชาติ แถมของที่ออกตามฤดูกาลย่อมเป็นของที่ดีที่สุดของเวลานั้นด้วย คล้อยตามกันรึยัง? ถ้าคล้อยตามแล้วตามมาทางนี้เลย
- เห็ดมัตสึทาเกะ (松茸/Matsutake) ถึงจะเป็นของตามฤดูกาล แต่เป็นเห็ดที่ขึ้นยากและขึ้นในปริมาณน้อย ในช่วงเวลาจำกัด ทำให้ราคาค่อนข้างสูง เห็ดมัตสึทาเกะมีกลิ่นค่อนข้างแรง ซึ่งชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร วิธีปรุงที่นิยมคือ นำมาย่างเฉยๆ หรือหั่นผสมใส่ลงในหม้อข้าว หรือนึ่งในหม้อชาดินเผาแล้วดื่มน้ำพร้อมกินเนื้อไปด้วย (แบบนี้จะใช้เห็ดน้อยหน่อยเพราะหั่นเป็นแผ่นบางๆ)
เห็ดมัตสึทาเกะที่โตในญี่ปุ่นจะแพงกว่าของนำเข้า เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่ากลิ่นของเห็ดจะหายไประหว่างการขนส่ง ดังนั้นของที่ปลูกในประเทศ เก็บแล้วนำมาขายทันทีน่าจะดีกว่า ในช่วงนี้ถ้าไปร้านอาหาร ให้ลองมองหาเมนูพิเศษที่เป็นแผ่นแทรก บางร้านจะมีเมนูเห็ดมัตสึทาเกะออกมาในเวลาจำกัดให้ลิ้มลองกัน
- ปลาซัมมะ ( さんま/Sanma) เป็นปลาที่มีโปรตีนคุณภาพดี มีโอมก้า-3 ไขมันไม่อิ่มตัวในปริมาณสูง เมื่อไหร่ที่เริ่มเห็นเมนูปลาซัมมะย่างเสิร์ฟพร้อมไชเท้าบดและมะนาวเสี้ยวในร้านอาหาร ก็เป็นสัญญาณว่าฤดูใบไม้ร่วงมาถึงแล้ว ปลาซัมมะมีรูปร่างยาวๆผอมๆคล้ายกับดาบ ในตัวปลาจะมีไส้ที่ค่อนข้างขมและมีก้างเล็กๆค่อนข้างเยอะ เวลากินแนะนำให้หั่นปลาออกครึ่งหนึ่งตามแนวยาว แล้วดึงก้างตามแนวสันหลังออกก่อนจะทำให้กินได้ง่ายขึ้น
- ลูกพลับ หรือคะกิ (柿/Kaki) ในภาษาญี่ปุ่น มีให้กินกันอย่างเหลือเฟือในฤดูนี้ ถ้าจะซื้อกลับไปกินที่โรงแรม แนะนำให้ซื้อจากซูเปอร์ ราคาที่เคยเห็นจะเริ่มจากลูกละ 100 กว่าเยน ซึ่งถูกกว่าที่เมืองไทยมากๆ แถมเนื้อลูกพลับจะหวาน กรอบ บางพันธุ์ก็ไม่มีเมล็ดทำให้กินง่าย นอกจากลูกพลับก็ยังมีผลไม้ตามฤดูกาลอย่างอื่นเช่น สาลี่ องุ่น เกาลัด ที่ราคาจะไม่แพงแถมรสชาติดี ยังไงลองขอยืมมีดปอกผลไม้จากทางโรงแรม แล้วซื้อไปกินเป็นของหวานหลังเดินชมเมืองเหนื่อยๆก็ไม่เลว
3. ไปอาบน้ำแร่พร้อมชมวิวนอกเมือง
พออากาศเริ่มเย็น บรรดาเรียวกังหรือที่พักสไตล์ญี่ปุ่นนอกเมืองก็จะเริ่มคึกคัก ชาวญี่ปุ่นจะเริ่มออกไปชมธรรมชาติ สัมผัสอากาศเย็นๆ พอตกเย็นก็อาบน้ำแร่อุ่นๆ เป็นการผ่อนคลายร่างกายและจิตใจที่ไร้วัตถุเข้ามาเกี่ยวข้อง อุณหภูมิในฤดูใบไม้ร่วงจะอยู่ที่ประมาณ 10 กว่าองศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เพอร์เฟ็กสำหรับการจุ่มตัวลงในบ่อน้ำอุ่นๆ (ถึงร้อนจี๋) เป็นอย่างมาก เรียวกังบางที่จะมีบ่อน้ำแร่ด้านนอก ที่แช่ไปมองต้นไม้ใบหญ้าบนเขาไปได้พร้อมๆ กัน เรียกว่า โระเท็มบุโระ ( 露天風呂/rotenburo) ขอแนะนำให้ลองแช่บ่อด้านนอกนี้ดู อาจจะหนาวนิดตอนย่องไปที่บ่อ แต่พอแช่แล้วจะให้ความรู้สึกเชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติต่างจากการแช่บ่อด้านในอย่างลิบลับทีเดียว
การอาบน้ำแร่เป็นเทคนิคผิวสวยอย่างหนึ่งของชาวญี่ปุ่น เพราะเป็นการอุ่นร่างกายในฤดูที่อากาศเย็น ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี ร่างกายขับของเสียออกทางเหงื่อ รูขุมขนปิดเล็กลง ทำให้ผิวพรรณดูผ่องใสขึ้น แถมจิตใจก็ได้ผ่อนคลายจากโลกของวัตถุ คน การช็อปปิ้ง (และโซเชียลมีเดีย) ซึ่งครอบงำชีวิตคนเมืองจนแทบลืมหูลืมตาไม่ขึ้น อาบน้ำเสร็จก็แต่งชุดยูกาตะที่ทางโรงแรมจัดไว้ให้ แล้วเดินเล่นในโรงแรม เข้าร้านขายของที่ระลึกซื้อของฝากท้องถิ่น กดนมสดจากตู้ขายอัตโนมัติดื่ม ไม่ก็ออกไปดูสวน หรือกินอาหารแล้วเม้าท์กัน เป็นกิจกรรมอิงพลังธรรมชาติง่ายๆ แต่ทำให้เราได้ผ่อนคลายทั้งกายและใจ
สำหรับคนที่จะมาโตเกียว แหล่งอาบน้ำแร่ที่ไปได้ง่ายที่สุดคือ บริเวณฮะโกะเนะ (箱根/Hakone) โดยนั่งรถไฟ Odakyu Romance Car จากสถานีชินจุกุ ใช้เวลาประมาณ 1.5 ชั่วโมง จะวางแผนเป็นทริปออกนอกเมือง 1 คืนเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศก็ไม่เลว
ใครกำลังจะมาญี่ปุ่นช่วงนี้ก็ลองดูกันนะว่าข้อไหนน่าสนใจ หรือใครที่ยังไม่มีแพลนมา แต่อ่านแล้วชักอยากจะมาดูใบไม้เปลี่ยนสีของญี่ปุ่นสักที ลองแชร์โพสต์นี้เก็บไว้ก่อน เผื่อตอนมาจะได้งัดออกมาดูได้ ฝากติดตามบทความต่อไปด้วยนะคะ