ทางเดินสีเหลืองสำหรับผู้พิการทางสายตา
–
สังเกตไหมครับ ทางเดินตามท้องถนนในญี่ปุ่น โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองและรอบๆสถานีรถไฟ จะเป็นแถบเหลืองๆ ตามพื้นขนานไปกับฟุตปาธ สิ่งนี้เรียกว่า ‘เดินทางสำหรับผู้พิการทางสายตา’ (Tactile Paving) หรือที่คนญี่ปุ่นเรียกกันว่า 点字ブロック (Tenji Burokku)
ทางเดินนี้เป็นนวัตกรรมที่ชาวญี่ปุ่นนามว่าเซะอิชิ มิยะเกะ (Seiichi MIYAKE) เป็นผู้คิดค้นขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก! เมื่อปี ค.ศ. 1965 โดยแรกเริ่มนั้นได้ทดลองใช้แห่งแรกที่ ‘โรงเรียนสอนคนตาบอด’ แห่งหนึ่ง ที่เมืองโอะกะยะมะ (Okayama) เมื่อเห็นถึงผลลัพธ์ที่ดี ผู้พิการสายตาสามารถคลำหาทางได้จากผิวสัมผัสที่มี ‘ความนูน’ ของทางเดินนี้ จากนั้นก็ขยายการใช้งานจากโรงเรียนไปสู่สถานที่สำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟ และไปสู่ระดับเมือง ระดับภูมิภาค ก่อนแพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่นดังทุกวันนี้ (รวมถึงหลายๆ ประเทศในโลกด้วย แต่ความครอบคลุมอาจน้อยกว่าญี่ปุ่น)
–
–
โดยหลักๆ แล้วผิวสัมผัสนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ ได้แก่ แบบแท่ง (ทางเดินยาว) กับแบบปุ่ม ซึ่งทำ ‘หน้าที่’ ต่างกันคือ แบบแท่ง = ตัวชี้นำทางเดิน สังเกตว่าใน 1 บล็อคจะมีเส้นนูนๆ อยู่ 4 ขีดด้วยกัน เมื่อวางติดๆ กันเป็นทางเดิน ก็สามารถนำทางได้
–
–
แถมช่องว่างระหว่าง ‘ร่อง’ ของแบบแท่งนี้ สามารถวางล้อรถเข็นของผู้ใช้ Wheelchair ลงไปได้ด้วยช่วยอำนวยการเข็นสัญจรได้ระดับหนึ่งเลยล่ะ
–
–
ส่วนแบบปุ่ม = เตือนให้หยุด มักอยู่ห่างออกไปประมาณ 30 ซม.จากจุดที่ต้องการให้หยุดเช่นเมื่อเดินมาจะถึงทางม้าลาย
–
–
อีกทั้งยังใช้ได้เมื่อถึง ‘ทางเลี้ยว’ เช่น (ภาพประกอบด้านล่าง) เป็นทางเดินตรงยาว และจู่ๆก็เลี้ยวขวา ก่อนเลี้ยวเราก็ต้องหยุด…ก่อนจะหันแล้วเลี้ยวยังไงล่ะ
–
–
เมื่อพูดถึง ‘ประโยชน์’ ของทางเดินนี้ แน่นอนว่ามีไว้ ‘นำทาง’ ผู้พิการทางสายตาไปตามท้องถนน ให้พวกเขาสามารถ ‘ออกมาใช้ชีวิต’ ในบ้านเมืองที่ตนอยู่ได้ (จริงๆ ยังมีประโยชน์อำนวยไปถึงผู้อาวุโสที่สายตาเริ่มเสื่อมสภาพแล้วด้วย)
–
–
นอกจากจะนำทางบนฟุตปาธตามท้องถนนแล้ว ยังพา ‘ข้ามทางม้าลาย’ ได้ด้วย โดยผิวสัมผัสต่างระดับที่พาข้ามทางม้าลายนี้ เรียกว่า ‘Escort Zone’ คือทางเดินจะ ‘พาด’ ผ่านทางม้าลายไปเลย (ส่วนใหญ่จะเป็นสีออกเทาๆ กลมกลืนไปกับถนน)
–
–
นำทางเพื่อป้อนเข้าสู่ระบบขนส่งมวลชน เช่น พาขึ้นลิฟต์ พาเข้าสู่ชานชาลารถไฟ พาไปรอขึ้น ณ ป้ายรถเมล์
–
–
จุดหนึ่งที่น่าชื่นชมมากๆ คือ ‘ตำแหน่ง’ มักถูกออกแบบให้วางอยู่ ‘ชิดขอบด้านใน’ ของทางเดิน เพื่อความปลอดภัย โดยบางแห่งสามารถเรียงลำดับได้ดังนี้: ทางจักรยาน (บางแห่งอนุญาตให้ขี่บนทางเท้าได้) ทางคนเดินเท้าปกติ ผู้พิการทางสายตา (+ผู้ใช้รถเข็นต่างๆ)
–
–
ส่วนสาเหตุที่เป็น ‘สีเหลือง’ ล่ะ? จริงอยู่ที่ว่าสีอาจไม่มีผลต่อผู้พิการทางสายตา แต่มีผลต่อผู้สูงวัยในญี่ปุ่น…ซึ่งมีอยู่มหาศาล! คนเราเมื่อแก่ชรา สายตาก็เสื่อมสภาพตามธรรมชาติ สีเหลืองนี้เป็นหนึ่งในสีที่สะดุดตามนุษย์มาก (+ให้ความรู้สึก Soft) และเป็นสีที่ ‘ตัด’ กับสีผิวฟุตปาธ (ซึ่งมักมีสีออกเทาๆ) ได้เตะตาดี แต่ทั้งนี้ เมื่อเข้าสู่พื้นที่เอกชนภายในอาคารสถานที่ต่างๆ เช่น ตึกออฟฟิศ โรงแรม ฯลฯ เพื่อความเหมาะสมของทั้งความสวยงามและการใช้งาน ทางเดินผิวต่างสัมผัสนี้จะถูกเปลี่ยนไปใช้วัสดุ ‘สแตนเลส’ สีเงินแทน (แต่มีอยู่ 4 ขีดเหมือนเดิม)
–
–
สำหรับคนทั่วไปแล้ว Tactile Paving ทางเดินผู้พิการทางสายตานี้ มีส่วนช่วยในการ ‘แต่งแต้ม’ เพิ่มความสวยงามให้แก่สภาพแวดล้อมที่มันพาดผ่าน ~
–
–
ทุกวันนี้ Tactile Paving มีมาตรฐานเดียวทั่วประเทศญี่ปุ่น และได้สร้างครอบคลุมในระดับหนึ่งแล้วโดยเฉพาะในเขตตัวเมืองรอบๆ สถานีรถไฟ สำหรับผมแล้ว มันคือเครื่องชี้วัดที่จับต้องได้ ว่าสังคม (หรือรัฐบาล) ญี่ปุ่น พยายามคิดคำนึงถึงผู้คน ‘ทุกประเภท’ พวกเขาให้ความสำคัญกับประชาชนแม้ว่าจะมีความแตกต่างกันทางด้านกายภาพก็ตาม เพราะทุกคน ‘เท่าเทียม’ กัน!