ยุคสมัยใหม่ของตะวันตกส่งผลต่อสถาปัตยกรรมฝั่งตะวันออกอย่างไม่มีอะไรหลีกเลี่ยงได้ รวมถึงสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

 

โชชิคุเคียว (Chochikukyo) สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นยุคสมัยใหม่

 

ทั้งนี้ทั้งนั้นเกิดจากผลพวงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมจากศตวรรษที่ 19 ทำให้เกิดยุคสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 20 ราวช่วงปี พ.ศ. 2433 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 5 ของสยาม ส่งผลต่อสถาปัตยกรรมให้แสวงหาความงามใหม่ที่ตอบสนองกับบริบทของช่วงเวลานั้น รูปลักษณ์ของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่พบเห็นจากตะวันตกคือมีการลดทอนรูปทรงจากอดีต ลดการประดับประดาและตอบสนองการใช้สอย ทำให้รูปทรงมีความเรียบง่าย มีความงามแบบจักรกลตอบสนองการผลิตซ้ำแบบอุตสาหกรรม แม้แต่ในญี่ปุ่นที่ห่างจากยุโรปคนละฟากโลก ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกระแสนี้ไปได้

 

บ้าน "โชชิคุเคียว (Chochikukyo)"

 

สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern Architecture) ได้เบ่งบานในญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือหลังปี พ.ศ. 2488 จนส่งผลต่อยอดพัฒนากับงานสถาปัตยกรรมร่วมสมัยญี่ปุ่นในปัจจุบัน แต่ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 สถาปัตยกรรมญี่ปุ่นก็ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังที่เราเห็นอาคารลูกผสมแบบฝรั่งปนญี่ปุ่นในเมืองต่างๆ ทั้งเมืองหลวงที่โตเกียวและทางแถบคันไซก็ปรากฏอยู่จำนวนไม่น้อย รวมถึงเมืองเกียวโตด้วยเช่นกัน ห่างออกไปจากตัวเมืองเกียวโต ลงมาทางใต้ 18 กิโลเมตร มีบ้านขนาดย่อมหลังหนึ่งตั้งอยู่บนเนินรอผู้สนใจด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมได้มาเยี่ยมเยือนบ้านหลังนี้ชื่อว่า ‘โชชิคุเคียว’ ออกแบบโดย โคจิ ฟุจิอิ ตัวเขาจบการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยหลวงของญี่ปุ่น Tokyo Imperial University ที่เคยกระจายอยู่ทั้งญี่ปุ่นและเขตแดนในปกครองของญี่ปุ่นคือเกาหลีใต้และไต้หวัน ปัจจุบันคือมหาวิทยาลัยโตเกียวที่เป็นสถาบันการศึกษาชั้นนำของญี่ปุ่นและของโลก

 

โชชิคุเคียว (Chochikukyo) เป็นสถาปัตยกรรมแบบประเพณีของญี่ปุ่นกับความสมัยใหม่ของตะวันตก

 

โชชิคุเคียวสร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2471  เป็นการปะทะกันระหว่างสถาปัตยกรรมแบบประเพณีของญี่ปุ่นกับความสมัยใหม่ของตะวันตก รูปแบบบ้านดั้งเดิมของญี่ปุ่นบ้านไม้ที่รายล้อมด้วยบานโชจิ มีลักษณะเรียงกันเป็นห้องต่อห้อง ไม่มีทางเดินเชื่อมภายใน จนถึงช่วงยุคสมัยใหม่บ้านในญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิพลตะวันตก ได้เริ่มมีทางเดินภายในคอยเชื่อมแต่ละส่วนใช้สอยแทรกเข้ามา ที่โชชิคุเคียวก็เช่นกัน ทางเดินแบบตะวันตกได้เชื่อมทุกส่วนใช้สอยเข้าด้วยกัน แต่ระบบการสร้างพื้นที่ในแต่ละห้องยังใช้ระบบพิกัดจากเสื่อทะทะมิอยู่แบบเดิม จึงเป็นรูปแบบการจัดแปลนที่มีพัฒนาการสู่ความเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไป

 

บ้านโชชิคุเคียว

 

นอกจากอิทธิพลตะวันตกในการแปลนแล้วรูปแบบของการรับตะวันตกเข้ามายังมีในเรื่องของรูปแบบหน้าต่าง จากแต่เดิมการออกแบบหน้าต่างจะอยู่ที่ผนังระหว่างช่วงเสา เนื่องจากข้อจำกัดด้านเทคนิคก่อสร้าง ในยุคนั้นที่อิทธิพลสมัยใหม่ได้แพร่มายังญี่ปุ่น  บ้านหลังนี้ได้พัฒนาการเปิดหน้าต่างให้เป็นแบบเปิดมุมแบบอาคาร Bauhaus โรงเรียนออกแบบหัวก้าวหน้าในเยอรมัน และยังมีการใช้ชายคาที่เรียบบางกว่าบ้านแบบอื่นในยุคเดียวกัน ส่งผลให้ภาพรวมของบ้านนี้มีลักษณะเรียบบาง ดูเบา และความเรียบง่ายเหล่านี้คือลักษณะที่เราเห็นได้ง่ายจากสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

 

โชชิคุเคียว (Chochikukyo) มีการวางแนวบ้านให้มีลักษณะขวางตะวัน เพื่อรับแสงแดดพร้อมความอบอุ่นจากอากาศเย็น

 

นอกจากเรื่องความน่าสนใจของการออกแบบแล้ว แนวคิดเรื่องการให้สถาปัตยกรรมอยู่กับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ได้ถูกนำมาใช้ที่บ้านหลังนี้ด้วยเช่นกันสถาปนิกออกแบบด้วยคิดถึงเรื่องการออกแบบที่ลดการใช้พลังงานในบ้าน อย่างการวางแนวบ้านให้มีลักษณะขวางตะวันคือ หันด้านยาวให้กับทิศตะวันออก-ตก เพื่อรับแสงแดดพร้อมความอบอุ่นจากอากาศเย็นตลอดหลายเดือนของญี่ปุ่น ต่างกับบ้านเราที่นิยมหันด้านสกัด หรือด้านแคบไปยังทิศตะวันออก-ตก เพื่อลดความร้อนเข้ามายังตัวบ้าน ในพื้นที่หน้าต่างเปิดมุมถูกวางไว้ยังทิศใต้ ทำให้รับแสงแดดเข้ามามากตลอดวันในช่วงหลายเดือนต่อปี เมื่อเทียบกับบ้านญี่ปุ่นแบบโบราณแล้ว บ้านนี้จะมีความสลัวน้อยกว่า และในฤดูร้อนอันแสนสาหัสของญี่ปุ่น

 

Chochikukyo

 

สถาปนิกยังคิดถึงการเพิ่มความเย็นด้วยการใช้ท่อฝังดิน เพื่อดึงความเย็นจากดินด้านล่างเข้ามายังช่องเปิดใต้พื้น พร้อมกับออกแบบให้ตัวเรือนมีช่องทางระบายอากาศร้อนตามธรรมชาติ ที่อากาศร้อนจะไหลเวียนจากที่ต่ำสู่ที่สูง นอกจากนี้ยังเพิ่มความละมุนในการสัมผัสธรรมชาติ ด้วยการเลือกใช้วัสดุอย่างไม้ที่มีผิวสัมผัสไม่หยาบ อบอุ่น ทำให้มีบรรยากาศเข้ากันไปกับบ้านทั้งหลัง ยิ่งการเลือกใช้ผนังภายนอกเป็นผนังดินฉาบแบบบ้านญี่ปุ่นโบราณที่มีโทนสีนวล ยิ่งเพิ่มความกลมกลืนกันไปทั้งหลัง

หากอยากพบรอยต่อของความทันสมัยกับประเพณีในญี่ปุ่นผ่านงานสถาปัตยกรรม ขอแนะนำให้มาชมบ้านหลังนี้

การเดินทางมายังโชชิคุเคียว สามารถขึ้นรถไฟ JR มาลงสถานีโอยามะซากิ (Oyamazaki Station)จากตัวเมืองเกียวโต จากนั้นสามารถเดินมายังโชชิคุเคียวเพียง 5 นาที และในพื้นที่ใกล้เคียงกันยังมี งาน Oyamazaki Museum หรือ Asahi Beer Oyamazaki Villa Museum ที่ออกแบบโดย ทาดาโอะ อันโดะ ตั้งอยู่ไม่ไกล สามารถเดินถึงกันได้

info
Chochikukyo
Website : www.chochikukyo.com

LIKE & SHARE

ชอบเรื่องนี้จนต้องบอกต่อ