9 นิสัยที่ติดตัวมาจากญี่ปุ่น
สารบัญ
9 นิสัยที่ติดตัวมาจากญี่ปุ่น (ตอนที่ 1)
ลืมมองซ้าย-ขวา ขณะข้ามทางม้าลาย
ที่ญี่ปุ่น เวลาจะข้ามทางม้าลาย (แม้ไม่มีสัญญาณไฟคนข้าม) เกือบร้อยทั้งร้อย รถจะหยุดให้หมด ภาพที่ผู้คนเดินข้ามถนน โดยไม่ได้หันมองซ้ายขวาดูรถ (หรือแม้แต่ก้มหน้าเล่นมือถือ) เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ประจำ กระนั้นเชียว อุบัติเหตุที่เกิดจากรถชนคนข้ามบนทางม้าลายก็มีน้อยมากๆ
ถ่ายรูปชู 2 นิ้ว
อันที่จริงการถ่ายรูปชู 2 นิ้วมีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางสันติภาพด้วย แต่เดี๋ยวจะยาวเกิน เอาเป็นว่ามันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรมการโพสท่าถ่ายรูป” ของคนญี่ปุ่นไปแล้ว ด้วยเหตุผลง่ายๆ มันดูน่ารัก ดูเด็กลง เป็นกันเองดี เป็นวิธีที่น่าจะง่ายที่สุดแล้วที่ทำให้การโพสท่าถ่ายรูป “ดูมีอะไร” มากขึ้น 555 แม้คุณจะเป็นคนที่โพสท่าถ่ายรูปไม่เก่ง ขอแค่ชู 2 นิ้วและยิ้มหน่อยๆ ก็…ถือว่าผ่าน!
ยืนบนบันไดเลื่อน
แถบคันโต-ยืนซ้าย แถบคันไซ-ยืนขวา เราไม่รู้ว่า Unwritten Rule นี้มาจากไหน แต่ผู้คนก็ทำกันมานานแล้ว เพื่อเปิดทางให้คนที่รีบผ่านไปได้ด้วยดี (การตรงต่อเวลาที่ญี่ปุ่นถือเป็นเรื่องที่ซีเรียสมาก) เมื่อยืนบนบันไดเลื่อนใน BTS/ MRT/ ARL/ ในสนามบิน/ ในห้าง ทุกที่ที่มีบันไดเลื่อน ก็พยายามจะยืนชิดฝั่งหนึ่ง ถ้ามีป้ายบอกให้ยืนฝั่งไหนก็ต้องทำตามอย่างเคร่งครัด
ติดการโค้งในทุกๆ เรื่อง
ข้อนี้เชื่อว่าใครที่อยู่ญี่ปุ่นมานาน หัวต้องอ่อนลงแน่ๆ เพราะมีสถานการณ์ที่ต้องโค้งอยู่บ่อยๆ ยิ่งได้เห็นเหล่าพนักงานตามสถานที่ต่างๆ โค้งต้อนรับเราอย่างสุภาพ นานวันเข้ากลายเป็น “ภาพชินตา” และเกิดการเรียนรู้และสามารถทำตามได้ไม่ยาก ซึ่งนั่นก็กลายเป็นนิสัยที่ติดตัวไปแล้วเวลากลับมาไทยหรือไปที่อื่นๆ เวลาจ่ายเงินซื้อของกับพนักงานเซเว่นเสร็จ ก็โค้งขอบคุณเล็กน้อยก่อนไป / โค้งขอบคุณพร้อมเดินเข้าลิฟต์เมื่อมีคนกดลิฟต์รอ / ลงจากพี่วินมอไซต์ฯ ก็โค้งให้เล็กน้อย ฯลฯ กลายเป็นติดการโค้งในบริบทเหล่านี้แทนที่การ “พนมมือยกมือไหว้” (ที่อาจดูทางการไปหน่อย ^^)
ต่อคิวในทุกสถานการณ์
ที่ญี่ปุ่นคนเข้าคิวต่อแถวกันแทบทุกเรื่องจริงๆ ถือว่าเสียมารยาทสุดๆ หากมีใครคนหนึ่งพยายาม “แซงคิว” นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ติดตัวไปแล้วเมื่อกลับมา เช่น ต่อคิวขึ้นรถเมล์, (มองหา) คิวซื้อข้าวเหนียวหมูปิ้ง 555, ต่อคิวขึ้นวินมอไซต์ฯ, ลงจาก BTS สยามก็ต่อคิวลงบันไดเลื่อน, บางครั้งยังเผลอต่อคิวรอข้ามทางม้าลายเลย (คือมีคนยืนรออยู่ก่อน เราต้องตามหลังเค้า 555) หลังๆ เมื่อเห็นผู้คนยืนออกันเยอะๆ สัญชาตญาณจะคอยเตือนว่า “หางแถวอยู่ไหน?” ฮ่าๆๆ
พับขยะก่อนทิ้ง
นอกจากคนญี่ปุ่นจะแยกขยะก่อนทิ้งแล้ว คนญี่ปุ่นมักจะ “พับ” ขยะนั้นๆ (ถ้าพับได้) ก่อนทิ้งด้วย เหตุผลก็เช่น เมื่อขยะถูกพับแล้ว จะ “กินเนื้อที่” ในถังขยะน้อยกว่า ทำให้เราสามารถทิ้งขยะได้มากขึ้นในความจุของถังขยะขนาดเท่าเดิม (ลองไปทดลองทำดูได้ครับ) อ้อ ถ้าเป็นขวดภาชนะต่างๆ เช่น ขวดนม ก็มักจะล้างน้ำข้างในขวดสักหน่อยก่อนทิ้ง เพื่อล้างกลิ่นไม่ให้แรงจนเกินไปนัก
เดินเร็ว (มาก)
เพราะคนญี่ปุ่นเดินกันเร็วมาก ทุกอย่างเร่งรีบ จึงต้องทำเวลาไปเสียหมด การเดินเอื่อยๆ ท่ามกลางคลื่นมวลชนที่เร่งฝีก้าว (เช่น ในสถานีรถไฟช่วงเร่งด่วน) ตัวเราอาจไปกีดขวางทางเดินคนอื่นได้ และนั่นทำให้ตัวเราต้องเดินเร็วขึ้นไปโดยปริยาย นานวันเข้าก็กลายเป็นนิสัยติดตัวที่ “เดินเร็ว…แม้จะไม่ได้รีบ!” 555
ไม่เดินไปกินไป
สังเกตได้ว่าทางเท้าในญี่ปุ่นนั้นสะอาดมากๆ (จนลงไปนอนได้ ฮ่าๆๆ) เหตุก็เพราะผู้คนพยายามช่วยกันรักษาความสะอาด หนึ่งในวิธีนั้นก็คือการไม่เดินไปกินไป (เกี่ยวข้องกับภาพลักษณ์ด้วยนะ) ผู้คนมักจะยืนกินหน้าร้านหรือหาจุดกินเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อกินเสร็จแล้วจึงค่อยไปต่อ เชื่อว่าเป็นนิสัยที่คนที่อาศัยอยู่ญี่ปุ่นนานๆ “เคยชิน” เมื่อกลับมาก็มักจะหลีกเลี่ยงการเดินไปกินไป เช่น ซื้อผลไม้เสียบและค่อยนำกลับขึ้นมากินในออฟฟิศ / ร้านที่มีที่นั่งก็จะนั่งกินจนหมดก่อนค่อยไป / ของกิน Take Away อย่างเช่น ไอศครีม Dairy Queen ก็อาจลำบากหน่อย จนบางทีก็ตัดสินใจไม่ซื้อเพราะไม่สะดวก ฮ่าๆๆ
กิน Food Court เสร็จ เก็บจานเอง
ศูนย์อาหาร Food Court ในญี่ปุ่นส่วนใหญ่ใช้นโยบาย “เมื่อกินเสร็จแล้ว ต้องนำภาชนะไปเก็บเอง” โดยจะมี “จุดคืนภาชนะ” ตั้งอยู่เป็นเรื่องเป็นราว มีป้ายบอก / มีที่วางชัดเจน / อาจมีก๊อกน้ำล้างมือพร้อมทิชชู่ ฯลฯ ไม่ใช่แค่ Food Court แต่ที่ญี่ปุ่นมีร้านอาการหลากหลายประเภทเลยที่เลือกใช้วิธีนี้ เช่น ร้านยืนกินทั่วไป/ ร้านขนมปัง/ Doutor/ Starbucks/ Sukiya/ และ McDonald’s & KFC นี่ก็ชัดเจนที่ต้องเก็บเอง ทำให้เราติดนิสัย “ช่วยตัวเอง” ณ ฟู้ดคอร์ทต่างๆ เมื่อกินเสร็จ จะพยายามหาจุดคืนภาชนะหรือแม่บ้านที่เข็นรถมาเก็บ ^^